ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๐๐๕
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมในแต่ละครั้งรวบรวมเป็นธรรมเตือนใจสั้นๆ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย เพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อความที่สั้น แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์อยู่ในตัว ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
[ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕]
[๑] พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นไปเพื่อละกิเลส ดังนั้น ในการศึกษาพระธรรม ความเป็นผู้ตรงจึงควรที่จะมีเป็นอย่างยิ่ง คือ ศึกษาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อละคลายความไม่รู้ พร้อมทั้งน้อมประพฤติปฏิบัติตามเพื่อขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง ไม่ใช่ศึกษาเพื่ออย่างอื่น
[๒] แต่ละบุคคลย่อมรู้ตัวเองว่ามีคนที่ไม่ชอบตนเองอยู่บ้างเป็นแน่ จะเป็นที่รักของทุกคนคงเป็นไปไม่ได้ คนที่ไม่ชอบเราคงต้องมีบ้าง แต่จะมีมากหรือน้อยนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถึงแม้ว่าบางทีเราอาจจะเป็นบุคคลที่ดีจริง มีเมตตา มีกรุณากับบุคคลอื่น ไม่หวังร้าย ไม่ประทุษร้ายต่อบุคคลอื่น แต่ความดีของเราถึงอย่างนั้นก็ยังไม่สามารถที่จะป้องกันอกุศลจิตของคนอื่น ไม่ให้คิดร้ายหรือว่าโกรธเคืองต่อเราได้ เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าเราจะเป็นคนดีสักเท่าไหร่ก็ตาม คนที่ไม่ชอบเราหรือคนที่ริษยาเราเพียงเล็กน้อย นิดหน่อยก็ต้องมี เพราะฉะนั้น ดีที่สุด คือ เราไม่ควรประทุษร้ายแม้แก่บุคคลที่เป็นข้าศึกต่อเรา
[๓] บางคนอาจจะคิดว่า คนที่โกรธก่อน น่าจะเป็นคนเลวกว่า แต่เวลาที่เมื่อคนอื่นโกรธเราแล้ว แล้วเราก็โกรธเขาบ้าง ทำไมเราถึงจะเป็นคนเลวกว่าบุคคลนั้น ความคิดอย่างนี้อาจจะมีได้ แต่ที่ถูกแล้วควรที่จะได้พิจารณาว่า เพราะเหตุว่าเวลาที่บุคคลใดโกรธ ก็เป็นอกุศลของบุคคลนั้น แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังโกรธตอบสภาพของจิตที่เป็นอกุศลในขณะนั้น (ใครจะเลวกว่ากัน?) แล้วถ้ามีการโกรธตอบ มีการโต้ตอบกัน ก็จะไม่เป็นประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น
[๔] คนพาลถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้ ได้ยินแต่อสัทธรรม จึงไม่รู้ ไม่เห็นสิ่งที่ควรเว้นหรือสิ่งที่ควรกระทำ จึงถือเอาผิดจากความจริง เพราะขาดปัญญา จึงไม่รู้ ไม่เห็นตามความเป็นจริง การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ ย่อมไม่ดีตามไปด้วย
[๕] พระธรรม เป็นเครื่องเตือนที่ดี ให้เป็นผู้ระมัดระวังแม้ในการพูด (โดยต้องระวังที่จิตใจของตนเอง เมื่อจิตใจสะอาด คำพูดก็สะอาด แต่เมื่อจิตใจไม่สะอาด คำพูดก็ไม่สะอาด) เพราะการพูดในบางครั้งดูเหมือนว่าไม่ได้พูดส่อเสียดให้ผู้อื่นแตกแยกกัน แต่ถ้าพูดถึงบุคคลอื่นในทางที่ไม่มีประโยชน์ คำพูดดังกล่าวย่อมไม่เกิดประโยชน์ทั้งคนพูดและคนฟัง ก็ไม่ควรที่จะพูด ควรพูดเฉพาะคำที่จริง ไพเราะ เป็นประโยชน์ ถูกกาลเทศะ และ พูดด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตาเท่านั้น
[๖] การแสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ทำให้ไม่เห็นว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏชั่วคราวแล้วก็หมดไป ย่อมเป็นการแสวงในสิ่งที่ไม่ประเสริฐ เพราะ ได้มาแล้วทำให้ติดข้องยินดีพอใจ และที่สำคัญ เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว บุคคลไม่สามารถนำเอาทุกอย่างเหล่านี้ไปในภพหน้าได้ เลย ต้องทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้ มีแต่การสะสม ทั้งที่ดีและไม่ดีเท่านั้นจะติดตามไปได้
[๗] ไม่ว่าจะมีความประพฤติผิด ประพฤติไม่ดี เป็นโจรผู้ร้าย หรือมีชีวิตที่มืดมา สักเพียงใดก็ตาม ถ้ามีอะไรที่จะทำให้ผู้นั้นเกิดความเลื่อมใสในทางที่ถูกแม้เพียงชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ควรที่ละโอกาสนั้น เพราะกุศลที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะสั้นๆ นั้น มีค่าที่สุดในชีวิต
[๘] ในชาติที่ผ่านๆ อกุุศลก็มากมายอยู่แล้ว แล้วในชาตินี้ควรหรือไม่ที่จะเป็นผู้ที่ไม่รู้ต่อไปด้วยการสะสมอกุศลมากขึ้นในชีวิตประจำวัน? เพราะเหตุว่าเมื่อสะสมอกุศลมากขึ้นๆ จนกระทั่งมีกำลังมาก ย่อมสามารถล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนได้ทั้งนั้น เป็นคนชั่ว เป็นคนเลวทรามได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นใคร ก็ตาม
[๙] ธรรม ยาก แต่รู้ได้แน่ แต่ต้องเป็นผู้ตรง แม้ว่าเพียงเริ่มต้น ก็จะต้องตรง เมื่อได้ยินได้ฟังอะไร ก็เพื่อพิจารณาไตร่ตรองเพื่อความเข้าใจจริงๆ
[๑๐] คำพูดที่มีประโยชน์ ยิ่งกล่าวมาก ยิ่งมีประโยชน์ ส่วน สิ่งที่ไม่มีประโยชน์นั้นไม่พูดได้ เป็นดีที่สุด
[๑๑] เมื่อสำคัญว่าได้เข้าใจในสิ่งที่ไม่เข้าใจ นั่นเป็นเครื่องกั้นของการเจริญขึ้นแห่งปัญญา
[๑๒] ปุถุชน ก็คือ ปุถุชน ซึ่งเป็นผู้ยังหนาแน่นด้วยกิเลส ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล แต่จากอันธพาลปุถุชน ก็เริ่มเป็นกัลยาณปุถุชน ได้ ด้วยการฟังพระธรรม เริ่มขัดเกลากิเลส น้อมประพฤติในสิ่งที่ดีงาม จนกว่าจะถึงความเป็นพระอริยบุคคล ไม่ใช่ว่าจะเป็นพระอริยบุคคล โดยไม่รู้อะไรเลย
[๑๓] กุศล เป็น กุศล ไม่เห็นว่าอกุศลดีกว่ากุศล
[๑๔] ใครจะรัก ใครจะชัง ใครจะไปเปลี่ยนแปลงได้ แต่ใจเรา ล่ะ เป็นอย่างไร?
[๑๕] ถึงแม้ว่าคนอื่นเขาจะร้าย แต่ใจเราไม่ร้าย ได้หรือไม่?
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ ๔ ได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม...ครั้งที่ ๔
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
... เมื่อจิตใจสะอาด คำพูดก็สะอาด แต่เมื่อจิตใจไม่สะอาด คำพูดก็ไม่สะอาด ...
ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในธรรมเตือนใจดีๆ ของอ.คำปั่นครับ
และขออนุโมทนาที่พี่เล็ก นพรัตน์กลับมาสนทนาในเวปอีกครั้งครับ
"เมื่อสำคัญว่าได้เข้าใจในสิ่งที่ไม่เข้าใจ นั่นเป็นเครื่องกั้นของการเจริญขึ้นแห่งปัญญา"
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น และทุกท่านค่ะ
... ปันธรรมเพื่อให้ผู้อื่นเกิดปัญญา-ปัญญ์ธรรม ...
ขออนุโมทนาค่ะ
@ คำพูดที่มีประโยชน์ ยิ่งกล่าวมาก ยิ่งมีประโยชน์ ส่วน สิ่งที่ไม่มีประโยชน์นั้นไม่พูดได้ เป็นดีที่สุด
@ ปัญญาเห็นถูก กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล ฯลฯ ค่ะ
@ ใครจะรัก ใครจะชัง ใครจะไปเปลี่ยนแปลงได้ แต่ใจเรา ล่ะ เป็นอย่างไร?
@ ถึงแม้ว่าคนอื่นเขาจะร้าย แต่ใจเราไม่ร้าย ได้หรือไม่?
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น ที่ได้นำข้อคิดดีๆ ปันธรรม - มาแบ่งปันให้ได้อ่านได้ศึกษาและพิจารณาร่วมกัน ทำให้ได้พิจารณาถึงอกุศลของตนเองว่าชั่วร้ายนัก เรามักโกรธอกุศลของผู้อื่นเสมอ เสียประโยชน์ทั้งสองฝ่ายจริงๆ และเรายังเป็นผู้เสียประโยชน์มากกว่าอีก เลวกว่าอีก - ปัญญ์ธรรม
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ. คำปั่น ที่ได้แบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) และ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าด้วยค่ะ
ขออนุโมทนาในธรรมทานที่ คุณกำปั่น ได้นำเรียบเรียงนำมาลงให้สมาชิกได้อ่านเตือนสติครับ
พระธรรม เป็นเครื่องเตือนที่ดี ให้เป็นผู้ระมัดระวังแม้ในการพูด (โดยต้องระวังที่จิตใจของตนเอง เมื่อจิตใจสะอาด คำพูดก็สะอาด แต่เมื่อจิตใจไม่สะอาด คำพูดก็ไม่สะอาด) เพราะการพูดในบางครั้งดูเหมือนว่าไม่ได้พูดส่อเสียดให้ผู้อื่นแตกแยกกัน แต่ถ้าพูดถึงบุคคลอื่นในทางที่ไม่มีประโยชน์ คำพูดดังกล่าวย่อมไม่เกิดประโยชน์ทั้งคนพูดและคนฟัง
น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ
อาจารย์สุจินต์ท่านแจ้งได้แจ่มแจ้งยิ่งนักขอรับ ด้วยแต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาจากพระปัญญา ซึ่งรู้ว่าสัตว์โลกไม่รู้ เพราะฉะนั้น ความรู้จะไม่มีเลยถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดงธรรม เพราะฉะนั้น แต่ละคำ ฟังไว้ เพื่อที่จะค่อยๆ เข้าใจจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ความจริงได้ตามลำดับ กราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ