พระเดินบิณฑบาตให้พรต้องอาบัติไหมครับ .

 
ทรง
วันที่  27 ก.ค. 2554
หมายเลข  18815
อ่าน  23,395

พระเดินบิณฑบาตให้พรต้องอาบัติไหมครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 27 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

พระที่ท่านเดินบิณฑบาต เมื่อคฤหัสถ์ถวายอาหารเสร็จแล้วให้พร คือ การแสดงธรรม แต่มุ่งแสดงธรรมเพื่อประจบ เพื่อให้ตระกูลรักไม่ถูกต้อง และแม้แสดงธรรม (ให้พร) คือ การกล่าวอนุโมทนากถา แสดงธรรม การเคารพธรรมเป็นสิ่งที่สมควรเพราะพระธรรมเป็นสิ่งที่เลิศ การแสดงธรรมจึงต้องอยู่ในอิริยาบถที่สมควรสำหรับผู้แสดงและผู้ที่ฟัง ครับ

ดังนั้น การที่พระท่านยืนให้พร แสดงธรรม แต่ผู้ฟังนั่งรับพร หรือ ฟังพระธรรม ขณะนั้นพระภิกษุชื่อว่าไม่เคารพพระธรรม เพราะพระภิกษุอยู่ในอิริยาบถที่สูงกว่า สบายกว่า ไม่ควรแสดงธรรมกับบุคคลที่มีอิริยาบถต่ำกว่า คือ คนที่ถวายบิณฑบาตนั่ง แต่พระภิกษุยืนแสดงธรรมในขณะนั้น เท่ากับว่าพระภิกษุรูปนั้นไม่เคารพธรรม ต้องอาบัติทุกกฎที่แสดงธรรมในขณะนั้นครับ แต่ถ้าท่านให้พรแสดงธรรมอยู่ เรายืนฟังพระธรรมในขณะนั้น ท่านไม่ต้องอาบัติทุกกฎในเรื่องการไม่เคารพธรรมครับ เพราะอยู่ในอิริยาบถที่สมควร แล้วทั้งสองฝ่ายในการแสดงและฟังพระธรรมครับ

ปาทุกาวรรค สิกขาบทที่ ๑๐

[๘๗๓] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์ (กลุ่มภิกษุไม่ดี) ยืนแสดงธรรมแก่บุคคลผู้นั่งอยู่. . .

พระอนุบัญญัติ

๒๑๕. ๗๐. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรายืนอยู่จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บไข้ผู้นั่งอยู่.

สิกขาบทวิภังค์

อันภิกษุผู้ยืนอยู่ ไม่พึงแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้นั่งอยู่ ภิกษุใดอาศัย ความไม่เอื้อเฟื้อ ยืนแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้นั่งอยู่ ต้องอาบัติทุกกฏ.

ดังนั้น ทางที่ดีเมื่อเราใส่บาตรเสร็จก็บอกท่านว่าไม่ต้องให้พรก็ได้ เพราะการแสดงธรรมก็ควรหาที่ทีเหมาะสม ไม่ใช่ตามละแวกบ้าน หากเหตุไม่จำเป็นครับ และหากท่านจะให้พรแสดงธรรมจริงๆ ตรงนั้น ควรยืนไม่ควรนั่ง ท่านก็จะไม่ต้องอาบัติทุกกฎในเรื่องการไม่เคารพธรรมครับ และที่สำคัญการที่บุคคลทั้งหลายใส่บาตรแล้วจะได้บุญมากๆ เพราะได้รับพรครับ เพราะพรคือความดีของบุคคลนั้นเองที่กระทำอยู่ อันมีกุศลประการต่างๆ ซึ่งขณะที่ใส่บาตรบุญก็สำเร็จแล้ว ให้พรตัวเองแล้ว ไม่ต้องไปรับพรเพื่อได้บุญอีกครับ หากหวังการฟังพระธรรมก็ควรหาที่ที่เหมาะสมและเป็นผู้เคารพธรรมตั้งใจฟัง และอยู่ในอิริยาบถที่เหมาะสมทั้งผู้แสดงธรรมและผู้ฟังธรรมครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

พระภิกษุให้พรตอนเราใส่บาตรผิดวินัยหรือไม่

อยากทราบเรื่องพระวินัยที่ห้ามพระท่านแสดงธรรมขณะที่ใส่บาตร

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 27 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

นี่เป็นเหตุผลอันสำคัญที่คฤหัสถ์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาพระวินัย คือ เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่นำมาซึ่งโทษแก่ใครๆ เลย มีแต่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลทั้งแก่ตนเอง และ แก่ผู้อื่น ด้วย สำหรับประเด็นเรื่องการให้พรของพระในขณะที่ออกรับบิณฑบาตในตอนเช้า ก็เช่นเดียวกัน เมื่อได้ศึกษาพระวินัยอย่างถูกต้องแล้ว จะเข้าใจว่า การให้พรของพระนั้น เป็นการแสดงธรรม ถ้าแสดงธรรมแก่ผู้มีอิริยาบถที่สบายกว่า เป็นการไม่เคารพธรรม และในขณะที่บิณฑบาต ถ้าพระส่งเสียงดังในระแวกบ้าน ก็เป็นอาบัติสำหรับพระภิกษุ ด้วยเมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว คฤหัสถ์ผู้มีปัญญา ก็จะไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นเหตุให้พระท่านต้องอาบัติ ก็สามารถเกื้อกูลพระภิกษุได้ เป็นการป้องกันไม่ให้ท่านต้องอาบัติในข้อนี้ได้ด้วยการกราบเรียนท่านว่าไม่ขอรับพร (เพราะคำที่พระท่านกล่าวนั้น เป็นธรรม แปลความได้ว่า ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณ สุข พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีปกติกราบไหว้ มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์ ซึ่งเป็นการให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของกุศลธรรม ว่าให้ผลเป็นสุขเท่านั้น) ความเข้าใจจะเจริญขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ไม่ขาดการฟังพระธรรม ครับ.

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
suchadeedee
วันที่ 27 ก.ค. 2554

พยายามอ่านแล้ว ผมเข้าใจว่าถ้าพระยืนแล้วแสดงธรรมแก่คนที่นั่ง พระย่อมอาบัติ เพราะไม่เหมาะสม อันนี้พอเข้าใจ แต่ถ้าคนนั่งเขานั่งพนมมือก็ย่อมแสดงว่าเขาเคารพ น่าจะยิ่งกว่ายืนพนมมือเสียอีกแล้วพระจะอาบัติหรือ ยังงงอยู่ คือมันทะแม่งๆ

จึงอยากทราบว่า สิกขาบทนี้ ที่พระฉัพพัคคีย์ยืนแสดงธรรมแก่บุคคลผู้นั่ง บุคคลที่นั่งนี้ เขานั่งอย่างไร คือนั่งแล้วพนมมือหรือเปล่าหรือนั่งแบบไหน นั่งเฉยๆ หรือเปล่า และการให้พรของพระ ผมพยายามเปิดดูความหมายซึ่งมีความหมายประมาณว่าขอบคุณ ประมาณนี้ถือเป็นการแสดงธรรมด้วยหรือ คือพยายามหาเหตุผลน่ะครับ ท่านใดพอจะอธิบายให้กระจ่างได้บ้างครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 27 ก.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

ดังนั้น การที่พระยืนแสดงธรรม คฤหัสถ์นั่งฟังธรรม พระอาบัติ เพราะเหตุว่า อิริยาบถของผู้แสดง กับผู้ฟังไม่เหมาะสมครับ จึงเน้นที่อิริยาบถเป็นสำคัญ แม้ผู้ที่นั่งจะพนมมือก็ตาม แต่อิริยาบถ ไม่เหมาะสม ของผู้ฟังครับ เพราะพระยืนอยู่ ไม่ควรแสดงธรรมกับบุคคลที่นั่งฟังครับ เพราะผู้ที่แสดงธรรมควรอยู่ในอิริยาบถที่สบายกว่าหรือเสมอกันกับผู้ที่ฟังพระธรรมครับ เพราะพระธรรมเป็นของเลิศ ผู้แสดงควรเคารพพระธรรม ดังนั้น อิริยาบถจึงต้องเหมาะสมกับผู้ที่แสดงและผู้ฟังครับ เช่น ถ้าภิกษุนอนอยู่ แสดงธรรมกับคนที่นอน หรือ คนที่ยืนอยู่ก็ได้ เพราะการนอน เป็นอิริยาบถที่สบายกว่า การยืน เป็นต้น แต่ถ้าภิกษุยืนแสดงธรรม คนฟังนั่ง อริยาบถนั่งสบายกว่า อิริยาบถยืนดังนั้น ไม่ควรยืนแสดงธรรม กับผู้ที่นั่งฟังธรรม ดังนั้น การนั่งแสดงธรรมกับ บุคคลที่ยืนได้ นั่งกับนั่งด้วยกันได้ครับ ดังนั้นอิริยาบถก็ต้องเหมาะสมด้วยครับ

ในการแสดงธรรมและฟังพระธรรม แม้จะมีการยกมือพนมมือในขณะที่นั่ง พระแสดงธรรม แต่ก็ยังเป็นอิริยาบถที่เป็นั่งอยู่ดี แต่ของพระเป็นยืน ซึ่ง การนั่งเป็นอิริยาบถที่สบายกว่านั่นเองครับ อิริยาบถที่สบายกว่า จึงควรเป็นของผู้ที่แสดงธรรมครับ ดังนั้น สิกขาบทนี้จึงไม่ได้พูดถึงการพนมมือ แต่มุ่งหมายถึงอิริยาบถของผู้แสดงและผู้ฟังเป็นสำคัญครับ เพราะอิริยาบถก็เป็นการแสดงถึง การเคารพพระธรรมได้เช่นกัน ด้วยการเลือกอิริยาบถที่เหมาะสมครับ

ส่วนในเรื่องของการแสดงธรรม กินความหมายแค่ไหน อย่างไร คำว่า แสดงธรรม ธรรม คือ คำสอนของพระพุทธเจ้า จะยาว หรือ จะสั้น หากเป็นคำของพระพุทธเจ้า ก็ชื่อว่าเป็นธรรม เพราะเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังนั้น ใครก็ตาม ที่กล่าวคำสอนของพระพุทธเจ้า จะมากจะน้อยให้ผู้อื่นฟังก็ชื่อว่าแสดงธรรมครับ เช่น พระที่ท่านมักกล่าวเมื่อใส่บาตรเสร็จ

อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจ วุฑฺฒาปจายิโน จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุข พล.

"ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ เจริญแก่บุคคลผู้กราบไหว้เป็นปกติ ผู้อ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญเป็นนิตย์"

นั่นก็เท่ากับว่าท่านแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะมีในคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง ดังนั้น หากภิกษุยืนแสดงธรรม กับผู้นั่งอยู่ ต้องอาบัติทุกกฎครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
แสงจันทร์
วันที่ 4 ส.ค. 2554

ถ้าเราธรรมเนียมที่ประเทศไทยการนั่งคุกเข่า พนมมือรับพร ถือว่าเป็นการเคารพ ส่วนมีประเทศอื่น เขาสมมติว่าการยืนเป็นการไม่เคารพหล่ะ เรามุ่งเอาความตั้งใจไม่ได้หรือ ไม่ยึดติดรูปแบบมากเกินไปได้หรือเปล่า

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
แสงจันทร์
วันที่ 4 ส.ค. 2554

เพราะสังเกตว่ามีหลายมีหลายสิกขาบท ที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุโลมให้เหมาะสมกับภูมิประเทศต่างๆ เช่นเรื่อง การอาบน้ำ การอุปสมบทในปัจจันตชนบท เป็นต้น

ขออนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 5 ส.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 5 และ 6 ครับ

สำหรับสิกขาบทข้อนี้ ในเรื่องอิริยาบถ อธิบายถึงอิริยาบถที่เหมาะสม ว่า ผู้ที่แสดงธรรมต้องมีอิริยาบถที่เหมาะสมคือสบายกว่า ผู้ที่ฟังพระธรรมครับ เช่น ผู้ที่แสดงธรรมยืน ผู้ฟังพระธรรมนั่ง อิริยาบถนั่ง สบายกว่าอิริยาบถยืน ดังนั้น ผู้ที่แสดงพระธรรมอันเป็นของเลิศ ควรอยู่ในอิริยาบถที่สบายกว่าหรือเสมอกันคัรบ ดังนั้นถ้าผู้แสดงธรรมยืน ผู้ที่ฟังควรยืนด้วยเช่นกัน หากผู้แสดงธรรมนั่ง ผู้ฟัง นั่งเสมอกันหรือยืนก็ได้ครับ

ดังนั้น อิริยาบถ ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสังคม ค่านิยม ความเชื่อ อิริยาบถนั่งย่อมสบายกว่าอิริยาบถยืนครับ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้แสดงสิกขาบทข้อนี้ ยกเว้นไว้ว่า ภิกษุยืนแสดงธรรมได้ กับผู้ฟังที่นั่ง ด้วยป่วยไข้อยู่ แต่ถ้าไม่ป่วยไข้ ผู้ฟังนั่งอยู่ ตัวพระภิกษุยืนแสดง พระภิกษุต้องอาบัติทุกกฎเพราะอยู่ในอิริยาบถที่ไม่สมควรครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
jaturong
วันที่ 31 ส.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
nopwong
วันที่ 14 ก.พ. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
danai2523
วันที่ 28 ต.ค. 2557

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ