สติปัฏฐาน ๔ อย่างเดียว โดยไม่ทำสมถะก่อน จะข้ามขั้นตอนไหม

 
นักท่องเที่ยว
วันที่  28 ก.ค. 2554
หมายเลข  18822
อ่าน  5,160

ถ้าเปรียบ สติปัฏฐาน ๔ คือ เรียน ป. ๑ เลย คือใช้ปัญญาเลย แล้วเปรียบ สมถกรรมฐาน คือ อนุบาล คืออบรมให้จิตสงบ เช่น พุทโธ แล้วถ้าเราเริ่มเข้าไปเรียน ป. ๑ เลย แบบนี้จะข้ามขั้นตอนไหมครับ

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 28 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง ผู้ที่ศึกษาพระธรรมโดยละเอียดรอบคอบ ย่อมได้สาระจากพระธรรมวินัย โดยมากจะเข้าใจกันว่า การเจริญสติปัฏฐาน จะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน คือ อบรมให้ได้ฌานจึงจะเจริญสติปัฏฐานได้

ดังนั้น เรามาเข้าใจคำว่า สมถะที่ควบคู่กับการเจริญวิปัสสนา คือ อย่างไรครับ

- สมถะ กับสมถกรรมฐาน (สมถภาวนา) ไม่เหมือนกันนะครับ ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน

สมถะ หมายถึงสภาพธรรมที่สงบ สงบจากกิเลส

ส่วน สมถภาวนา หมายถึงการอบรมเจริญความสงบจากกิเลส มีการเจริญพุทธานุสสติ เป็นต้น จะเห็นนะครับว่าต่างกัน

สมถะ คือ สภาพธรรมที่สงบจากกิเลสขณะนั้น คำถามจึงมีว่าจำเป็นไหมจะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน ถึงจะเจริญวิปัสสนาได้ คำตอบคือไม่จำเป็น เพราะ สมถภาวนาและวิปัสสนานั้น เป็นคนละส่วน แยกกันเลยครับ

ผู้ที่อบรมสมถภาวนา เช่น เจริญฌาน แต่ไม่มีความเข้าใจในเรื่องการเจริญวิปัสสนา หรือ หนทางการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ แม้จะได้ฌาน แต่ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริง และไม่มีทางบรรลุธรรมได้เลยครับ ดังเช่น พวกฤาษี ดาบส อาจารย์พระโพธิสัตว์ มี อาฬารดาบส อุททกดาบส ก็อบรมสมถภาวนา ได้ฌาน แต่ไม่รู้หนทางการดับกิเลส ไม่เข้าใจการเจริญวิปัสสนา ก็ไม่บรรลุอะไรเลยครับ แต่ผู้ที่อบรมเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว แต่ไม่ได้อบรมสมถภาวนา ได้บรรลุธรรมมีไหมครับ คำตอบ คือ มี มีมากด้วยครับ ดังเช่น นางวิสาขา ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านบรรลุธรรม โดยการเจริญสมถภาวนาก่อนไหมครับ คำตอบคือ ไม่ แต่ท่านฟังพระธรรม จากพระพุทธเจ้า ปัญญาที่เคยสะสม การเจริญวิปัสสนา หรือการรู้ความจริงในสภาพธรรมในอดีตชาติ ก็เกิดขึ้นรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ทำให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสภาพธรรมและเป็นอนัตตาครับ ซึ่งการเจริญสมถภาวนาไม่สามารถรู้ความจริงเช่นนี้ได้เลยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 28 ก.ค. 2554

ดังนั้นประเด็นคือ ไม่จำเป็นจะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน ถึงจะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ครับ หากมีคำแย้งว่า ต้องมีสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไปเป็นธรรมคู่กัน ตามที่ผมได้อธิบายแล้วว่า สมถะ กับ สมถภาวนานั้นต่างกัน

สมถะ หมายถึง สภาพธรรมที่สงบจากกิเลส ซึ่งพระพุทธเจ้าได้แสดงองค์ของ สมถะ และวิปัสสนาว่าเป็นอย่างไรบ้างดังนี้

มรรค มี องค์ ๘ มี สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ นี่คือการเจริญมรรค อันเป็นหนทางดับกิเลส คือ วิปัสสนานั่นเองครับ

คำถามมีว่า มรรคมีองค์ ๘ มีสมถะหรือเปล่าครับ หรือ มีแต่วิปัสสนาอย่างเดียว คำตอบคือ มีทั้ง องค์ธรรมของสมถะ และมีวิปัสสนาด้วย พระพุทธเจ้าแสดงธรรมที่เป็นคู่กันในการอบรมปัญญา คือ สมถะและวิปัสสนา ดังนั้นในอริยมรรคมีองค์ ๘ ตามที่กล่าวมามีทั้งสมถะและวิปัสสนาด้วย มีอย่างไร

พระพุทธเจ้า แสดงว่า ฝ่ายของวิปัสสนา มี ๒ อย่างคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ นี่คือฝ่ายวิปัสสนา ส่วน ๖ ประการหลังคือ สัมมาวาจา .. สัมมาสมาธิ เป็นฝักฝ่ายของสมถะนั่นเองครับ

แม้ขณะที่เจริญวิปัสสนา เจริญมรรค อย่างเดียว ไม่ได้เจริญสมถภาวนาก่อน หรือไม่ได้เจริญสมถภาวนาเลย ขณะที่เจริญวิปัสสนาอย่างเดียวก็มีทั้งสมถะและวิปัสสนาเกิดพร้อมกันอยู่แล้วครับ ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะนั้นมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ เกิดพร้อมกัน ถามว่ามีสมถะไหมในขณะนั้น มีครับ คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ เป็นฝักผ่ายของสมถะ คือ สภาพธรรมที่สงบจากกิเลส และมีฝักผ่ายวิปัสสนาในขณะนั้นด้วย คือ สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะครับ

เรื่อง มรรคหรือสติปัฏฐาน (วิปัสสนา)

เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา แม้ไม่ได้อบรมสมถภาวนา

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 373

อนึ่ง โลกุตรมรรคใด พร้อมทั้งโลกิยมรรค ถึงซึ่งการนับ ว่าเป็นทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทา (ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์) มรรคนั้นแลเป็นทั้งวิชชาและจรณะ เพราะสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะทรงสงเคราะห์ไว้ด้วยวิชชา ธรรมที่เหลือสงเคราะห์ไว้ด้วยจรณะ

อนึ่ง มรรคนั้นเป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา เพราะความที่สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะทั้ง ๒ เหล่านั้น ทรงสงเคราะห์ไว้ด้วยวิปัสสนาญาณ. ธรรมนอกจากนี้ สงเคราะห์ไว้ด้วยสมถญาณ.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 28 ก.ค. 2554

จะเห็นนะครับว่า ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ที่เป็นการเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว มีทั้ง สมถะและวิปัสสนาเกิดพร้อมกันอยู่แล้ว ดังนั้นจะต้องเข้าใจใหม่ว่า จะต้องไปทำสมถภาวนาก่อนถึงจะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ อันนี้ไม่ใช่ครับ

เพราะเราจะต้องเข้าใจคำพูดที่ว่า ธรรมที่เป็นคู่กัน คือ สมถะและวิปัสสนา สมถะในที่นี้ไม่ได้มุ่งหมายถึงการเจริญฌานเท่านั้น สมถะในที่นี้ มุ่งหมายถึงสภาพธรรมที่สงบ เป็นฝักฝ่ายสมถะ ก็เกิดอยู่แล้วในขณะเจริญวิปัสสนา ฝักฝ่ายสมถะก็คือสัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิครับ

ตามที่กล่าวแล้ว สมถะ หมายถึง ความสงบจากกิเลสด้วย ดังนั้นขณะที่สติปัฏฐานเกิด เจริญวิปัสสนา ขณะนั้นจิตก็สงบจากกิเลสด้วยในขณะนั้น จึงเป็นทั้ง สมถะและวิปัสสนาในขณะที่สติปัฏฐานเกิดครับ

ธรรม จึงเป็นเรื่องละเอียด หากไม่เริ่มจากปัญญาความเข้าใจถูกก่อน ซึ่งพระพุทธองค์ก็ได้แสดงสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ ปัญญา) ไว้เป็นประการแรก ดังนั้นการฟังพระธรรมให้เข้าใจก่อน เพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา ย่อมจะทำให้สามารถเข้าใจหนทางดับกิเลสที่ถูกต้องว่า คือ การรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ โดยไม่จำเป็นจะต้องเริ่มจากอนุบาล คือ สมถภาวนาก่อน เพราะอนุบาลจริงๆ คือ เริ่มจากการฟังพระธรรมให้เข้าใจในเรื่องการเจริญวิปัสสนาก่อนครับ ถึงจะถึง ป. ๑ ป. ๒ คือการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ได้ครับ

ดังนั้น เบื้องต้นของการอบรมปัญญา จึงไม่ใช่การเจริญสมถภาวนาก่อนครับ เพราะสมถและวิปัสสนาเกิดพร้อมกัน ในขณะที่เจริญวิปัสสนาอยู่แล้วตามที่กล่าวมาครับ

ต้องไม่ลืมและปรับความเข้าใจใหม่ว่า อนุบาล คือ การฟังพระธรรมให้เข้าใจในเรื่องของสภาพธรรม หรือ เรื่องการเจริญวิปัสสนาครับ เริ่มจากคำว่าธรรมคืออะไร

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 28 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นความจริง ก่อนอื่นเมื่อกล่าวถึงอะไรนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง ก็ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนแต่อย่างใด แม้แต่ สมถะ กับ สติปัฏฐาน ก็เช่นเดียวกันควรจะได้ศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ไม่ใช่เป็นการไปทำอะไรที่ผิดปกติใดๆ ทั้งสิ้น หรือ ไม่ใช่ว่าไปทำอะไรแล้วก็จะเป็นสมถะ หรือ เป็นสติปัฏฐาน ไปหมด ซึ่งควรที่จะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง

ในเบื้องต้น ควรจะได้เข้าใจว่า "สติปัฏฐาน" เป็นการระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏ เป็นการระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ไม่พ้นจากสติไปได้ สติย่อมมีอย่างแน่นอน โดยไม่มีตัวตนที่ระลึก หรือไปเจาะจงอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ต้องมีสภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ของสติ คือ เป็นสิ่งที่มีจริงที่กำลังมีในขณะนั้น มีสติซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ระลึก และ มีปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ย่อมเป็นกุศลจิต [ในขณะที่กุศลจิตเกิด ก็สงบจากอกุศล ในขณะนั้น] เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา และมีสติที่เป็นสภาพธรรมที่ระลึกด้วย เพราะสภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้นั้นก็เป็นธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน สิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันนี้เอง ที่สามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไร แต่รู้ยาก เพราะสะสมอวิชชา ความไม่รู้มาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์

ประการที่สำคัญ นั้น ก่อนที่จะไปถึงสติปัฏฐาน ขอให้ฟังให้เข้าใจ ขอให้กลับมาเริ่มต้นใหม่เพื่อจะได้เริ่มสะสมความเข้าใจที่ถูกต้องตั้งแต่ในขณะนี้ เพราะเหตุว่าพระธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก ต้องอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ ฟังพระธรรมให้เข้าใจในสภาพธรรม ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม อย่างมั่นคงว่า ทุกอย่างเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ สัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นความเข้าใจในความจริงอย่างมั่นคง จึงจะเป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิด แต่อย่าลืมว่าธรรม เป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ ครับ.

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเิติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ ครับ ...

ก่อนจะถึง ... สติ-ปัฏฐาน

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 29 ก.ค. 2554

การศึกษาธรรม ต้องเริ่มที่ความเข้าใจที่ถูกต้อง ถ้ายังไม่มีความเข้าใจ อย่าเพิ่งไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ เพราะไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง

หนทางที่ถูกต้องคือการอบรมปัญญาตามลำดับขั้น ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วิริยะ
วันที่ 13 ต.ค. 2554

เรียนถามค่ะ

การเจริญวิปัสสนา ก็คือการเจริญสติปัฏฐาน ใช่หรือไม่

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
khampan.a
วันที่ 13 ต.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ 7 ครับ สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจ การเจริญวิปัสสนา เป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อเห็นแจ้ง เห็นแจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ สภาพธรรมที่เห็นแจ้ง คือ สติและปัญญา ส่วนสภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ของสติและปัญญา ก็คือ สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ขึ้นอยู่กับว่าสภาพธรรมใดจะปรากฏ, การเจริญสติปัฏฐาน คือ การเจริญสติและปัญญา ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงที่จะเป็นฐานหรือที่ตั้งให้สติและปัญญาเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ของสติและปัญญา นั้น ก็คือ สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

ดังนั้น การเจริญวิปัสสนากับ การเจริญสติปัฏฐานพยัญชนะต่างกัน แต่อรรถเหมือนกัน คือ เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กลังปรากฏ ตามความเป็นจริง ดังนั้น การเจริญวิปัสสนา ก็คือ การเจริญสติปัฏฐาน นั่นเอง ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

... วิปัสสนากับสติปัฏฐาน

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณวิริยะ และ ทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เซจาน้อย
วันที่ 16 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
เข้าใจ
วันที่ 21 มิ.ย. 2555

กราบขอบพระคุณอาจารย์ผเดิม, อาจารย์คำปั่นที่ให้ความรู้ถูกความเข้าใจถูก และ ขออนุโมทนากับอาจารย์และทุกๆ ท่านด้วยครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
นิคม
วันที่ 18 เม.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ