อนุสัย และ อาสวะ ต่างกันอย่างไร

 
วิริยะ
วันที่  1 ส.ค. 2554
หมายเลข  18846
อ่าน  61,525

ขอเรียนถามว่า อนุสัย และ อาสวะ ต่างกันอย่างไร คะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 1 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

อนุสัยกิเลส หมายถึง กิเลสอย่างละเอียดที่ตามนอนเนื่องอยู่ในจิตไม่ปรากฏตัวออกมา หรือเป็นกิเลสที่มีกำลังที่ยังละไม่ได้ จะละได้ด้วยปัญญาระดับมรรคจิตครับ

อนุสัย มี ๗ ประการคือ

๑. กามราคานุสัย หมายถึง โลภะ ความติดข้องในกาม

๒. ปฏิฆานุสัย หมายถึง โทสะ ความโกรธ

๓. ทิฏฐานุสัย หมายถึง ความเห็นผิด

๔. วิจิกิจฉานุสัย หมายถึง ความสงสัย

๕. มานานุสัย หมายถึง ความถือตัว ความสำคัญตัว

๖. ภวราคานุสัย หมายถึง โลภะ ความติดข้องในภพ

๗. อวิชชานุสัย หมายถึง โมหะ ความไม่รู้

อาสวกิเลส หมายถึง อกุศลธรรมชนิดหนึ่งที่มีสภาพหมักหมมไว้ในขันธสันดาน เหมือนกับสุราซึ่งเป็นเครื่องหมักดองที่เก็บไว้นานๆ มีอำนาจทำให้เมาและหลงใหลได้ อาสวะยังเป็นสภาพที่ไหลไป ไหลไปสู่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สามารถไหลไปได้จนถึงภวัคคพรหม เมื่อว่าโดยภูมิ แต่เมื่อว่าโดยธรรม ก็ไหลไปได้จนถึงโคตรภู ทำให้สังสารวัฏฏ์เจริญสืบต่อไป

อาสวะมี ๔ อย่าง คือ ...

๑. กามาสวะ เครื่องหมักดองคือความยินดีในกาม ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต ๘ ดวง

๒. ภวาสวะ เครื่องหมักดองคือความยินดีในภพ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง

๓. ทิฏฐาสวะ เครื่องหมักดองคือความเห็นผิด ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง

๔. อวิชชาสวะ เครื่องหมักดองคือความไม่รู้ ได้แก่ โมหเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

ชื่อว่าอนุสัยด้วยอรรถว่าอะไ

ชื่อว่าอาสวะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 1 ส.ค. 2554

ความต่างกันของอนุสัยกิเลสและอาสวกิเลส

อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสที่ละเอียด นอนเนื่องในสันดาน ไม่ปรากฏให้รู้ได้ แต่เป็นพืชเชื้อให้มีการเกิดขึ้นของกิเลสอย่างกลาง เช่น ความโกรธในใจ ดังนั้น อนุสัยกิเลส จึงเป็นกิเลสที่ละเอียดที่สุดที่ไม่ปรากฏแต่ก็เป็นเหตุให้กิเลสระดับอื่นๆ เกิดขึ้นครับ ส่วนอาสวกิเลสเป็นกิเลสที่เกิดขึ้น อันเป็นการแสดงถึงลักษณะของกิเลสที่สะสมมานาน เหมือนการหมักดองไว้นานมาก จึงทำให้มีการเกิดขึ้นของกิเลสทีเป็นอาสวะ ดังนั้น อนุสัยกิเลสจึงเป็นกิเลสที่ละเอียดกว่าอาสวะ เพราะอนุสัยกิเลสไม่ปรากฏให้รู้ นอนเนื่องอยู่ในสันดาน ในจิตที่เกิดขึ้นนั่นเองครับ แต่อาสวะกิเลส เป็นกิเลสที่เกิดขึ้นแล้วในใจ เช่น ขณะที่ยินดี พอใจ ติดข้อง เกิดขึ้น ก็เป็นอาสวกิเลสที่เป็น กามาสวะ เป็นต้น

ดังนั้น อาสวกิเลส จึงเป็นกิเลสอย่างกลางที่เกิดขึ้นในใจ กิเลสจึงมีหลายระดับ ทั้งอย่างหยาบ คือ ล่วงออกมาทางกาย วาจา กิเลสอย่างกลางที่เกิดขึ้นในใจ แต่ยังไม่ล่วงออกมาทางกาย วาจา และกิเลสอย่างละเอียดที่ไม่ปรากฏให้รู้ได้ แต่ก็มีสะสมอยู่ในจิต ซึ่งอาสวะเป็นกิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว ไหลไปตามสภาพธรรมประเภทต่างๆ เป็นกิเลสอย่างกลาง ส่วนอนุสัยกิเลส เป็นกิเลสอย่างละเอียด ไม่ปรากฏให้รู้แต่สะสมอยู่ที่จิต ดังนั้น อนุสัยกิเลส จึงเป็นกิเลสที่ละเอียดกว่าอาสวกิเลสครับ ตามเหตุผลที่กล่าวมา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

อนุสัย กับ อาสวะ ต่างกันอย่างไร

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pat_jesty
วันที่ 2 ส.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nong
วันที่ 2 ส.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
วิริยะ
วันที่ 2 ส.ค. 2554

เรียนถามความเห็นที่ 1

อยากทราบว่า โทสะ หรือความโกรธ รวมอยู่ใน อวิชชาสวะ หรือไม่ อย่างไรคะ

ขอบพระคุณอย่างสูง

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 2 ส.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

ความโกรธที่เป็นโทสะ เป็นโทสเจตสิก จึงไม่รวมอยู่ในอวิชชาสวะ เพราะ อวิชชาสวะ คือ ความไม่รู้ที่เป็นโมหเจตสิก ไม่ใช่ โทสเจตสิกครับ

ดังนั้น ความโกรธจึงไม่เป็นอาสวกิเลส ไม่เป็นอวิชชาสวะ แต่โทสะ ความโกรธ เป็นอนุสัย เรียกว่า ปฏิฆานุสัยครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วิริยะ
วันที่ 2 ส.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 6

การที่มนุษย์เราโกรธ ริษยา หงุดหงิด ความรู้สึกเหล่านี้ จึงเป็นอนุสัยกิเลสหรืออย่างไรคะ จะละได้ต่อเมื่อเป็นพระอริยบุคคลระดับพระอรหันต์ ถูกหรือไม่ อย่างไร

ขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 2 ส.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 7 ครับ

กิเลสที่เกิดขึ้นมาที่จิต ปรากฏให้รู้ได้ เช่น ความโกรธที่เกิดขึ้นในใจ กิเลสที่เกิดขึ้นในใจที่ปรากฏให้รู้ได้ ขณะนั้นไม่ใช่อนุสัยกิเลส เพราะปรากฏให้รู้แล้ว เกิดขึ้นแล้ว แต่อนุสัยกิเลสเป็นกิเลสที่นอนเนื่องในจิต ไม่ปรากฏให้รู้ แต่เป็นเหตุให้เกิดกิเลสที่เกิดขึ้นในใจ คือ ความโกรธ ซึ่งกิเลสที่เกิดขึ้นในใจแล้ว มีความโกรธ เป็นต้น จะไม่เกิดขึ้นเลย หากไม่มีกิเลสที่ละเอียดที่เป็นอนุสัยกิเลส ที่นอนเนื่องในสันดาน ในจิตนั่นเองครับ เปรียบเหมือนการที่ขณะนี้กำลังเป็นโรค มีโรคปรากฏเกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น เป็นไข้หวัด แต่การเป็นไข้หวัดจะมีไม่ได้เลย ถ้าไม่มีเชื้อไวรัส ดังนั้น เพราะมีเชื้อไวรัสที่สะสมอยู่ในร่างกาย บางคราวก็ยังไม่เป็นหวัด ก็ไม่รู้ว่ามีเชื้อไวรัส แต่เมื่อเป็นหวัดเมื่อไหร่ก็รู้ได้ทันทีว่า มีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกาย จึงปรากฏการเป็นไข้หวัดเกิดขึ้นครับ ความโกรธ ความโลภ อกุศลที่เกิดขึ้นในใจเกิดขึ้นในขณะนี้ ปรากฏให้รู้ได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เพราะมีอนุสัยกิเลสประการต่างๆ ที่เป็นกิเลสละเอียดนั่นเองครับ ซึ่งอนุสัยกิเลสไม่ปรากฏให้รู้ แต่ก็มีอยู่ อันเป็นเหตุให้เกิดกิเลสที่เกิดขึ้นในใจ มีประการต่างๆ เช่น ความโกรธ ความโลภ เป็นต้นครับ

การละกิเลส อนุสัยกิเลส ก็ต้องเป็นไปตามระดับปัญญา ซึ่งต้องเป็นปัญญาระดับสูงถึงความเป็นพระอริยบุคคลเท่านั้นครับ

พระโสดาบัน ดับอนุสัยได้ ๒ คือ ทิฏฐานุสัย ๑ วิจิกิจฉานุสัย ๑

พระอนาคามี ดับอนุสัยเพิ่มอีก ๒ คือ กามราคานุสัย ๑ ปฏิฆานุสัย ๑

พระอรหันต์ ดับอนุสัยได้เพิ่มอีก ๓ คือ ภวราคานุสัย ๑ มานานุสัย ๑ อวิชชานุสัย ๑

อนุสัยทั้งหมด ๗ พระอรหันต์ดับได้ทั้งหมด

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
วิริยะ
วันที่ 2 ส.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 8

ดิฉันพยายามจะค้นหาว่า ความโกรธอยู่ในข้อใด ในอาสวะ ๔ ข้อที่ท่านได้ให้รายละเอียดมา และคำอธิบายในความเห็นที่ 8 นั้น ทำให้มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น จึงขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาด้วยค่ะ ยังมีข้อสงสัยอื่นอยากเรียนถามเพิ่มเติม คือ ได้ยินคำว่า อา-สะ-ยา-นุ-สะ-ยะ จากการฟังธรรม ไม่บ่อยนัก แต่ยังไม่เข้าใจ และค้นหาไม่พบในกระดานสนทนา

ขอความกรุณาอธิบายด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 2 ส.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 9 ครับ

การสะสมนั้น แบ่งเป็น ๒ ฝ่าย คือ อาสยะ เป็นการสะสมทั้งฝ่ายกุศลและอกุศลครับ คือกุศลหรืออกุศลใดๆ ที่เกิดแล้ว ดับไป ไม่สามารถจะออกไปจากจิต เก็บสะสมสืบต่อในขณะต่อๆ ไป ทำให้แต่ละคนมีอัธยาศัยต่างๆ เช่น ชอบให้ทาน มักโกรธ ดังนั้น อาสยานุสยะ จึงเป็นการสะสมทั้งที่เป็นฝ่ายดีและไม่ดี ส่วน อนุสัย หมายเฉพาะการสะสมฝ่ายอกุศลเท่านั้น เช่น ความโกรธ ความโลภ เป็นต้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
วิริยะ
วันที่ 2 ส.ค. 2554

เรียน ถามความเห็นที่ 10

นิวรณธรรม มีความเกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไรกับ อาสวกิเลส

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
paderm
วันที่ 2 ส.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 11 ครับ

นิวรณ์ คือ ธรรมเป็นเครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี หมายถึง อกุศลธรรม ๕ ประการ ที่เป็นเครื่องกางกั้นไม่ให้กุศลจิตเกิดขึ้น ได้แก่ ...

๑. กามฉันทะ ความพอใจ ความกำหนัดในกาม

๒. พยาปาทะ ความโกรธขุ่นเคือง

๓. ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน

๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

๕. วิจิกิจฉา ความสงสัยลังเลใจ

ขณะใดที่จิตเป็นอกุศล มีความยินดีพอใจ ที่เป็นโลภะ ขณะนั้นเป็นนิวรณ์ปิดกั้นไม่ให้กุศลเกิดขึ้น ขณะที่โลภะเกิด เป็นกามฉันทนิวรณ์ ดังนั้น กามฉันทนิวรณ์ เป็นอาสวกิเลสด้วย เป็นกามาสวะ

อาสวกิเลสมี ๔ อย่างคือ

๑. กามาสวะ ความยินดี พอใจในรูป เสียง ... สิ่งที่กระทบสัมผัส ฯลฯ (โลภะ)

๒. ภวาสวะ ความยินดี พอใจในภพ (โลภะ)

๓. ทิฏฐาสวะ ความเห็นผิด

๔. อวิชชาสวะ ความไม่รู้ (โมหะ)

ดังนั้น นิวรณ์ ๕ ประการ บางประการ เป็นอาสวกิเลส บางประการ ไม่เป็นอาสวกิเลส

กามฉันทนิวรณ์ เป็น กามาสวะ พยาปาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ และ วิจิกิจฉานิวรณ์ไม่เป็นอาสวกิเลส ดังนั้น นิวรณ์ ๕ ประการ กามฉันทนิวรณ์เท่านั้นที่เป็นอาสวกิเลสครับ

จะเห็นได้ว่ากิเลสบางประเภทไม่เป็นอาสวะแต่ก็เป็นอนุสัย เช่น โทสะ ไม่เป็นอาสวกิเลส แต่เป็นอนุสัยกิเลส บางประเภทเป็นอนุสัยกิเลสไม่เป็นอาสวกิเลส บางประเภทเป็นนิวรณ์แต่ไม่เป็นอาสวกิเลส เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม หลากหลายนัย ตามลักษณะของกิเลสและแบ่งกองของกิเลสไว้เป็นประเภทท้งหมด ๙ กอง

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

อกุศล ๙ กอง

เพื่อให้สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัย ความเข้าใจที่สะสมมาต่างกัน ได้เข้าใจความละเอียดของกิเลสประเภทต่างๆ ให้เห็นความจริงของกิเลสและโทษของกิเลสที่มีลักษณะต่างๆ กัน เช่น อาสวะ ไหลไปกับสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ ทาง ตา หู ... และเป็นเครื่องหมักดองที่สะสมมาหรือนิวรณ์ เป็นอกุศลที่ปิดกั้นความดีไม่ให้เกิด เพราฉะนั้น กิเลสแต่ละประเภทจึงแสดงลักษณะต่างๆ กันเพื่อให้เห็นโทษและพิจารณาแล้วอบรมปัญญาและฟังพระธรรมดับกิเลสที่เป็นโทษประการต่างๆ นั่นเองครับ นี่คือประโยชน์ของการศึกษาเรื่องกิเลสประการต่างๆ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 2 ส.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
วิริยะ
วันที่ 2 ส.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 12

ดิฉันจะค่อยๆ เรียนรู้ และทำความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อยตามลำดับค่ะ เท่าที่ได้กรุณาอธิบายและให้รายละเอียดมา ช่วยให้มีความเข้าใจมากขึ้น มิฉะนั้น ดิฉันก็จะคิดวนเวียนอยู่ในหัว หาคำตอบไม่ได้ จะคิดเองก็ไม่ได้เช่นกัน

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
paderm
วันที่ 2 ส.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 14 ครับ

หากมีข้อสงสัยอะไรเพิ่มเติมก็สอบถามสนทนาได้ครับ ประโยชน์ของการสนทนาธรรม คือสิ่งที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ก็ทำให้เข้าใจขึ้น สิ่งที่เข้าใจบ้างแล้วก็ทำให้เข้าใจเพิ่มขึ้น ชัดเจนขึ้น

ขออนุโมทนาที่เข้าใจและร่วมสนทนาธรรมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
khampan.a
วันที่ 2 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับอนุสัยกิเลส"

อนุสัยกิเลสเป็นกิเลสที่ละเอียดมาก เพราะเหตุว่า กิเลสมี ๓ ระดับ คือ กิเลสขั้นหยาบ เราเห็นได้จากการประพฤติทุจริตล่วงศีล แสดงให้ทราบว่า กิเลสนั้นหยาบและมีกำลัง, กิเลสที่ไม่ถึงกับล่วงศีลที่ออกมาเป็นกายทุจริต วจีทุจริต เมื่อเกิดแล้วแต่ยังไม่แสดงออกให้รู้ได้ในขณะนั้นๆ เป็นกิเลสขั้นกลาง เช่น ความขุ่นใจ มี แต่ไม่พูด ไม่แสดงออกทางกาย ทางวาจา หรือ โลภะ มี แต่ไม่แสดงออก ก็ไม่มีผู้อื่นรู้ว่ามีโลภะ กิเลสที่เกิดขึ้นทำกิจการงานร่วมกับจิต กิเลสขั้นกลางนี้เป็นกิเลสที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตแต่ยังไม่ถึงกับล่วงศีลหรือกระทำทุจริตกรรม แต่กิเลสขั้นหยาบและกิเลสขั้นกลางจะเกิดได้ก็เพราะเหตุว่ามีกิเลสขั้นละเอียด ซึ่งไม่มีใครรู้เลยนอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงตรัสรู้ว่าการที่จะดับกิเลสหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นอย่างเด็ดขาด) ได้นั้น ต้องดับอนุสัยกิเลสซึ่งเป็นพืชเชื้อที่เป็นเหตุให้กิเลสขั้นกลาง และกิเลสขั้นหยาบเกิดขึ้นได้

สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ กิเลสที่เป็นระดับที่ละเอียดมาก คือ อนุสัยกิเลส ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ส่วนพระอรหันต์ ไม่มีอนุสัยกิเลส และไม่มีกิเลสระดับใดๆ ทั้งสิ้น พระอรหันต์ไม่ว่าจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส ท่านไม่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลส เพราะท่านดับกิเลสได้ทั้งหมดแล้ว แต่ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ย่อมหวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลสประการต่างๆ มี โลภะ โทสะ เป็นต้น

จึงแสดงให้เห็นว่า กิเลสที่ปรากฏให้รู้ได้ในชีวิตประจำวัน ก็เป็นกิเลสขั้นกลาง กับ ขั้นหยาบ และที่รู้ว่ายังมีกิเลสขั้นละเอียดอยู่ ก็เพราะมีกิเลสขั้นกลาง คือขณะที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิต และกิเลสขั้นหยาบ คือล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจา นั่นเอง, เพราะยังมีกิเลสขั้นละเอียด จึงเป็นเหตุให้มีกิเลสขั้นกลางและกิเลสขั้นหยาบ, กิเลสขั้นละเอียดจะหมดไปได้นั้น เมื่อมีการอบรมเจริญปัญญา รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ เมื่อปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรม กิเลสขั้นละเอียดก็จะหมดสิ้นไปเป็นสมุจเฉทและหมดไปตามลำดับมรรคด้วย กล่าวคือ

โสตาปัตติมรรค ดับ ทิฏฐานุสัย และ วิจิกิจฉานุสัย อนาคามิมรรค ดับ กามราคานุสัย และ ปฏิฆานุสัย อรหัตตมรรค ดับ มานานุสัย ภวราคานุสัย และ อวิชชานุสัย พระอรหันต์เท่านั้น ที่เป็นผู้ไม่มีอนุสัยกิเลสนอนเนื่องอยู่ในจิตอีกต่อไป

กว่าจะดำเนินไปถึงการดับอนุสัยกิเลสได้นั้น ต้องเริ่มที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ไม่ขาดการฟังพระธรรม และจะต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เพียงแค่ชาติเดียวหรือสองชาติเท่านั้น ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
khampan.a
วันที่ 2 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับอาสวะ"

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ทรงแสดงไว้อย่างละเอียดตลอด ๔๕ พรรษาเพื่อประโยชน์ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกของผู้ฟัง ผู้ศึกษา เกิดความเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นปัญญาของตนเอง

สำหรับในเรื่องของอกุศลธรรม ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดำนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงแสดงจำแนกไว้หลายหมวดหมู่ เพื่อให้สัตว์โลกได้เข้าใจ และเห็นโทษของอกุศลธรรม ตามความเป็นจริง หนึ่งในนั้น คือ หมวดของอาสวะ ๔ ประการ

อาสวะ เป็นอกุศลธรรมที่บางเบาไหลไปอย่างรวดเร็ว ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ ซึ่งไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวัน อาสวะเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่รู้ เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่พ้นไปจากความติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งก็มีจริงในชีวิตประจำวัน แต่เราก็ไม่รู้เลยว่าติดข้องแล้วในขณะนั้น หลังเห็น หลังได้ยิน เป็นต้น นี้คือ ลักษณะของอาสวะที่ ๑ คือกามาสวะ, อาสวะที่ ๒ คือ ภวาสวะ ความติดข้องยินดีพอใจในภพ ในขันธ์ ในความมีความเป็น, ขณะที่มีความเห็นผิดเกิดขึ้น ก็เป็นทิฏฐาสวะ ซึ่งเป็นอาสวะที่ ๓ และที่ร้ายไปกว่านั้น เป็นไปด้วยความไม่รู้ เป็นอาสวะ ที่ ๔ คือ อวิชชาสวะ ทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด แต่เป็นอกุศลธรรม ที่จะต้องละด้วยปัญญา บุคคลที่จะละอาสวะได้ทั้งหมดอย่างเด็ดขาด ก็จะต้องเป็นพระอรหันต์เท่านั้น พระอรหันต์เป็นผู้ที่สิ้นอาสวะแล้ว ชื่อหนึ่งของพระอรหันต์ คือ พระขีณาสพ หมายถึง ผู้มีอาสวะสิ้นไปแล้ว หรือ ผู้สิ้นอาสวะ นั่นเอง แต่กว่าจะไปถึงการเป็นพระอรหันต์ ก็จะต้องมีการดับอาสวะเป็นขั้นๆ กล่าวคือ ทิฏฐาสวะ พระโสดาบัน ดับได้, ความติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งเป็นกามาสวะ พระอนาคามี ดับได้, ส่วน ภวาสวะ กับ อวิชชาสวะ พระอรหันต์ ดับได้ ซึ่งเมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว พระอรหันต์เป็นผู้ดับอาสวะทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด แสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องยากจริงๆ กว่าจะดับอกุศลธรรมเหล่านี้ได้ ซึ่งจะต้องค่อยๆ สะสมปัญญาไป ชีวิตไม่มีอะไรเป็นพึ่งอย่างแท้จริงได้ นอกจากปัญญา เท่านั้น การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เท่านั้นที่จะเป็นเหตุให้ปัญญาเจริญขึ้น ปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูก จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจากการฟังพระธรรม แล้วจะฟังพระธรรมจากใคร? คำตอบ คือ จะต้องเข้าไปอาศัยบุคคลผู้ที่มีปัญญา เมื่อคบหากับบุคคลผู้มีปัญญาแล้ว ก็จะได้มีโอกาสฟังความจริง ฟังพระธรรมจากบุคคลนั้น เมื่อมีการฟังเกิดขึ้น ก็มีการใส่ใจ มีการพิจารณาไตร่ตรอง ซึ่งจะเป็นเครื่องเกื้อกูลให้มีการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม โดยเป็นกิจหน้าที่ของธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้น ไม่ใช่มีตัวตนที่ไปปฏิบัติหรือไปทำ ซึ่งจะต้องเกื้อกูลกันตั้งแต่ต้น กว่าจะถึงการสิ้นอาสวะ ต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระอรหันต์ทั้งหลายท่านดับอาสวะได้หมดสิ้น เป็นตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า การอบรมเจริญปัญญาไม่ไร้ผลอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น ในฐานะที่ยังเป็นผู้มีกิเลสอยู่มากมาย ก็จะต้องฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาต่อไป จนกว่าวันนั้นจะมาถึงจริงๆ เมื่อนั้นก็จะเป็นผู้สิ้นสุดการเดินทางในสังสารวัฏฏ์ แต่ขณะนี้ยังไปไม่ถึงตรงนั้น ก็จะต้องสะสมเหตุทีดีต่อไป ไม่ประมาทในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม แล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ต่อไป ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
วิริยะ
วันที่ 2 ส.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 16 และ 17

ขอขอบพระคุณที่ได้กรุณาอธิบายค่ะ ดิฉันเกิดความเข้าใจขึ้นว่า พระธรรมนั้น ไม่ว่าจะเริ่มศึกษาจากคำไหน หมวดใด ดูเหมือนจะเชื่อมโยงกันไปหมด จึงไม่สงสัยแล้วว่า ทำไมท่านอาจารย์สุจินต์จึงได้กล่าวอยู่บ่อยครั้งว่า ธรรมเป็นเรื่องละเอียด ต้องค่อยๆ ศึกษาและเข้าใจไปตามลำดับขั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
aurasa
วันที่ 5 ส.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ ในความรู้ที่ท่านวิทยากรและเพื่อนธรรม ได้นำตอบปัญหา ด้วยความกระจ่างยิ่ง
 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
orawan.c
วันที่ 5 ส.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 15 พ.ค. 2557

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนากุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ

ด้วยความเคารพยิ่ง จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
Mayla
วันที่ 28 ม.ค. 2559

ขอกราบอนุโมทนาบุญ เพิ่งได้เข้ามาอ่านบทความสนทนาธรรมและทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับอนุสัย อาสวะ เป็นครั้งแรก และจะศึกษาต่อไปเพื่อสติปัญญา

กราบสาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
Guest
วันที่ 7 พ.ย. 2559

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
thilda
วันที่ 7 มิ.ย. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
Monk
วันที่ 11 ก.ย. 2561

อนุโมทนา ... ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
namkhang.k@gmail.com
วันที่ 20 ก.พ. 2562

สาธุ สาธุ สาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 27  
 
peem
วันที่ 22 ก.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 28  
 
Thanyathorn
วันที่ 5 ก.พ. 2564

ขอบพระคุณ ขออนุโมทนา สาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 29  
 
chatchai.k
วันที่ 6 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 30  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 26 ธ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 31  
 
ก.ไก่
วันที่ 1 มี.ค. 2565

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ