ธรรมะ คือ

 
น้ำใส
วันที่  13 ส.ค. 2554
หมายเลข  18933
อ่าน  13,660

ธรรมะ คือ ธรรมดา

ธรรมชาติ (สิ่งที่มีอยู่แล้วตลอดเวลา)

สัจจะ (ความจริง) ความถูกต้อง ความดี ความงาม

ความจริงที่ปรากฏอยู่ตลอดเวลา

กฎธรรมชาติ

ความถูกต้อง

สิ่งที่สมบูรณ์

สิ่งที่มีอยู่จริงตลอดเวลา

ปัญญา

ทรงอยู่ในสภาพตามความเป็นจริง (สภาวธรรม)

ธรรมชาติของจิตใจ

สิ่งที่สมบูรณ์อยู่ในตัวอยู่แล้วตลอดเวลา ไม่ต้องสร้างขึ้นมาและ

ไม่สามารถทำให้หายไปได้

สิ่งที่มีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้ามาค้นพบ และนำมาเผยแพร่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 14 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

คำว่า ธรรม มีหลายความหมาย หมายถึง สภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูปและนิพพาน ธรรม หมายถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้

ธรรม หมายถึง ปริยัติ เช่น พระไตรปิฎก มี พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และ พระอภิธรรมปิฎก ก็ชื่อว่า ธรรม ธรรม หมาย ถึงปัญญา ธรรม หมายถึง ปกติ เช่น มีความแก่เป็นปกติ เกิดเป็นปกติ ตายเป็นปกติ ธรรม หมายถึง สภาวะ คือลักษณะของสภาพธัมมะของสภาวธรรมต่างๆ เช่น สภาวธรรมของกุศล อกุศล กิริยา ฯลฯ ธรรม หมายถึง จตุสัจจธรรม คือ อริยสัจจ์ ๔ ตามที่เราได้เข้าใจกัน เข้าใจคำว่า ธรรม หมายถึง เข้าใจลักษณะของสภาวธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิก รูปและนิพพาน

แต่คำว่า ธรรม หมายถึงธรรมชาตินั้น จะต้องเข้าใจให้ละเอียดว่า ธรรมชาติในที่นี้หมาย ถึง จิต เจตสิก รูปและนิพพาน ไม่ได้หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำเท่านั้น (ตามที่ชาวโลกเข้าใจ) ครับ ส่วนคำว่าธรรมชาติ ตามที่ชาวโลกเข้าใจกัน ก็คือ ต้นไม้ ภูเขา ทุกๆ สิ่ง แต่ชาวโลกไม่ได้รู้ สัจจะ-ความจริง ว่า มีสิ่งที่มีจริง ที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมด้วย จึงสำคัญว่า ทุกสิ่งเป็นธรรมชาติก็คือบัญญัติต่างๆ ที่เป็นเรื่อราว เช่น บ้าน คน สัตว์ ต้นไม้ ภูเขา ฯลฯ ดังนั้น เมื่อได้ยินใครกล่าวว่า ธรรม คือ ธรรมชาติ นั่น ก็ไม่ตรง ไม่ถูกต้อง เพราะ ธรรม หมายถึงสิ่งที่มีจริงที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม คือ จิต เจตสิก รูปและนิพพานด้วย ไม่ใช่ธรรมคือธรรมชาติที่เป็น ต้นไม้ ภูเขา สัตว์ สิ่งของ ที่เป็นบัญญัติเท่านั้นครับ ดังนั้น การศึกษาธรรม จะต้องเป็นผู้ละเอียด เพราะไม่ใช่ ธรรมคิดเอง แต่พระพุทธองค์ทรงประจักษ์ความจริงที่ของสภาพธรรมที่มีจริง จึงเข้าใจ คำว่า "ธรรม" ได้ละเอียด กว้างขวางกว่า ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ... ธัมมะคืออะไร?

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 14 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาัสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรม คือ สิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกประการ เป็นสภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตนๆ ไม่มีใครจะไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรม ได้ มีทั้งสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม (จิต เจตสิก และพระนิพพาน) และ รูปธรรมธรรม ซึ่ง ไม่ต้องไม่หาที่ไหนเพราะมีจริงทุกขณะ ทุกขณะเป็นธรรม ไม่พ้นไปจากธรรม กล่าวคือ จิต เจตสิก และ รูป แต่ละอย่างแต่ละประการ เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ไม่ปะปนกัน หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลในสภาพธรรมเหล่านั้นไม่ได้เลยจริงๆ

ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวัน (ในแต่ละภพในแต่ละชาติ) ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับไป ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงขณะที่จุติเกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ นั้น มีแต่นามธรรมกับรูปธรรม เท่านั้น ถ้ายังไม่ได้ศึกษาก็ยังไม่รู้ไม่เข้าใจแต่เมื่อได้ศึกษาแล้ว ก็จะมีความเข้าใจว่า มีธรรมอยู่ตลอดเวลา ทั้งทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่พ้นหกทางนี้เลย จึงต้องอดทนที่จะฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ด้วยความละเอียด ต่อไป เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง ว่า เป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่มีจริงและกำลังปรากฏ ซึ่งมีให้ศึกษาอยู่ทุกขณะจริงๆ สิ่งสำคัญ คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Sam
วันที่ 14 ส.ค. 2554

ธรรมะโดยนัยหนึ่ง แยกได้เป็นบัญญัติธรรมและปรมัตถธรรม โดยบัญญัติธรรม ได้แก่การทำเครื่องหมายให้เข้าใจตรงกัน เช่นการใช้ภาษาต่างๆ ในโลกเพื่อการสื่อสารกัน บัญญัติธรรมที่ประเสริฐคือพระธรรมที่ทรงแสดงและมีการจารึกไว้ด้วยภาษาบาลี และมี การแปลเป็นภาษาต่างๆ พระธรรมเป็นบัญญัติธรรมที่เราควรศึกษาเพื่อปัญญาขั้นต้นคือ ความเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟังหรือได้ศึกษา ส่วนปรมัตถธรรมนั้น คือสิ่งที่มีอยู่จริงโดยไม่ต้องใช้ภาษาหรือคำอะไรมาเรียก เลย เช่น สภาพแข็งมีจริง แม้ไม่พูดว่าแข็งด้วยภาษาใดๆ แต่สภาพแข็งนั้นก็ปรากฎกับกายได้ และมีสภาพอื่นๆ เช่น สี เสียง กลิ่น รส ฯลฯ ที่เป็นปรมัตถธรรม

พระธรรมคือบัญญัติธรรมที่อธิบายลักษณะของปรมัตถธรรม ซึ่งหากได้ศึกษา พระธรรมจนมีปัญญาขั้นต้นคือความเข้าใจขั้นการฟังที่มากและมั่นคงพอแล้ว ปัญญาก็จะ เริ่มระลึกศึกษาลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมตรงตามที่ทรงบัญญัติแสดงไว้ ตามกำลัง ปัญญาที่สะสมมา ทำให้เกิดความรู้แจ้งความเป็นธรรมะของชีวิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pat_jesty
วันที่ 14 ส.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
คนไทยพบธรรม
วันที่ 15 ส.ค. 2554

ขอขอบพระคุณครับและขออนุโมทนาบุญด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
bauloy
วันที่ 17 ส.ค. 2554

ขอขอบพระคุณทุกท่านที่มีจิตอันเป็นกุศลครับ ...

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ