ทิฏฐิกับมานะ

 
มนัสสกังขา
วันที่  17 ส.ค. 2554
หมายเลข  18964
อ่าน  31,537

ทิฏฐิกับมานะ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 17 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

การเข้าใจความหมายของคำว่า ทิฏฐิและมานะ ว่าคืออะไร แตกต่างกันอย่างไร

ย่อมจะทำให้เข้าใจได้ว่า ทำไม ทิฏฐิและมานะจึงไม่เกิดร่วมกัน ในขณะเดียวกัน ครับ.

ทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด โดยทั่วไปเมื่อเป็นทิฏฐิเจตสิก จะหมายถึง ความเห็นผิด ดังนั้น ขณะใด มีความเห็นที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง เช่น ขณะที่มีความคิด ความเห็น ว่าสภาพธรรมเที่ยง มีสัตว์ บุคคลจริงๆ ตายแล้วไม่เกิดอีก ขณะที่มีความเห็น ความคิดเช่นนั้น ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต ที่เกิดพร้อมกับความเห็นผิด มีความเห็นผิดที่เป็นทิฏฐิเจตสิกในขณะนั้นครับ พระโสดาบันดับทิฏฐิเจตสิก คือ ความเห็นผิดได้เป็นสมุจเฉท.

มานะ คือ ความสำคัญตน สำคัญกว่าดีกว่าเขา เสมอเขา ต่ำกว่าเขา ขณะที่เปรียบเทียบมีการสำคัญตนเช่นนี้ ขณะนั้น มีมานะเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต ครับ

พระอรหันต์เท่านั้น ที่สามารถดับมานะได้จนหมดสิ้น เป็นสมุจเฉท.

ส่วนในภาษาไทยที่เรามักใช้พูดกันว่า มีทิฏฐิมานะ หมายถึง ความไม่ยอม อันเป็นความสำคัญตน ที่เป็นมานะ แต่ไม่ใช่ทิฏฐิที่เป็นความเห็นผิดครับ

ดังนั้น คำว่าทิฏฐิ ในภาษาไทยที่ใช้กันกับในภาษาธรรมต่างกัน ครับ เพราะทิฏฐิในภาษาธรรม หมายถึงความเห็นผิดครับ เมื่อใช้คำว่า ทิฏฐิมานะ ร่วมกันในภาษาไทยก็อาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเกิดพร้อมกัน และเป็นสภาพธรรมเดียวกัน เมื่อได้เข้าใจความหมาย ก็จะเห็นว่าต่างกันครับ.

เหตุ-ผลที่ทิฏฐิ กับ มานะ ไม่เกิดพร้อมกัน เหตุผลเป็นดังนี้ครับ

ขณะที่มีความสำคัญตนเปรียบเทียบ เช่น เราดีกว่าเขา ขณะนั้นเป็นมานะ แต่ขณะที่มีมานะ ขณะนั้นไม่ได้มีความคิดเห็นว่า สัตว์ตายแล้วไม่เกิด สัตว์ตายแล้วเกิดอีก ผลของบุญและบาปไม่มี นั่นคือ ขณะนั้นไม่มีความคิดเห็นที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง ครับ

ดังนั้นขณะที่มีมานะ สำคัญตนเปรียบเทียบ ไม่ได้มีความเห็นผิด ที่เป็นทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยครับ โดยนัยตรงกันข้าม ขณะที่มีความคิดเห็นว่า สัตว์ตายแล้วเกิดอีก ตายแล้วไม่เกิด ผลของกรรมไม่มี บุญไม่มี บาปไม่มี ขณะที่คิดอย่างนั้น ขณะนั้นไม่ได้เปรียบเทียบสำคัญตนกับใคร ว่าเราเหนือกว่า เสมอ หรือต่ำกว่าเขานั่นเองครับ

ดังนั้น ขณะที่ทิฏฐิ ความเห็นผิดเกิดขึ้น ขณะนั้น ไม่มีมานะที่เป็นความสำคัญตน เกิดร่วมด้วย ครับ.

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

ทิฏฐิและมานะ ต่างกันหรือไม่

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 17 ส.ค. 2554

ขออนุญาตเรียนสอบถามเพิ่มเติมครับว่า

ในกรณีของพระโสดาบันที่ท่านละสักกายทิฏฐิได้แล้ว

แต่มานะท่านยังละไม่ได้

ความสำคัญตนของท่านยังมี คำว่า "ตน" ของท่านนั้น ท่านเข้าใจว่าอย่างไร?

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 17 ส.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

ความเป็นตน เป็นเรา มี ๓ อย่าง คือ ด้วยโลภะ มานะ ทิฏฐิ

ดังนั้น พระโสดาบัน ท่านละความเห็นผิด ที่เป็นทิฏฐิได้แล้ว แต่ท่านยังละความเป็นเรา เป็นตน ที่เป็นโลภะ และมานะไม่ได้

แต่ มานะความสำคัญตน ของพระโสดาบันกับปุถุชน ย่อมแตกต่างกันแน่นอนครับ คือ ระดับกิเลสต่างกัน

ข้อความในพระไตรปิฎก แสดงไว้ว่า พระโสดาบันดับความสำคัญตนที่เ่ป็นความเข้าใจผิดได้ คือ ท่านไม่สำคัญตนผิด ว่าตัวท่านเป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ แต่ท่านก็ยังสำคัญตนได้ ว่าท่านเป็นพระโสดาบัน เพียงแต่ท่านไม่สำคัญตนผิด ครับ ไม่เข้าใจผิดว่าท่านเป็นพระอริยบุคคลขั้นอื่นครับ และความสำคัญตน ด้วยมานะของท่าน เมื่อเกิดมานะเกิดขึ้น ท่านก็ไม่สำคัญผิดว่า เป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล เป็นเราที่มีมานะ ต่างกับปุถุชนครับ

ขออนุโมทนา.

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 17 ส.ค. 2554

เรียนท่านอาจารย์ผเดิม ความเห็นที่ 3

แสดงว่า "ตน" ของท่านพระโสดาบัน สำคัญในความเป็นธาตุ ขันธ์ เท่านั้น ใช่ไหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 17 ส.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

ตามที่กล่าวแล้วครับว่า ความป็นเรา เป็นตน มี ๓ คือ ด้วย โลภะ มานะ และทิฏฐิ

ดังนั้นพระโสดาบันท่านจะไม่เข้าใจผิดว่า ขันธ์ ๕ เป็นตน เป็นเรา ด้วยความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลจริงๆ เพราะท่านรู้แล้วว่า มีแต่ธรรม

ดังนั้นท่านสามารถมี เรา ที่เป็นตนด้วยโลภะได้ เช่น มีหลานเราด้วยความติดข้อง เราเก่งด้วยมานะ เป็นตน เป็นเรา ด้วยมานะ

ดังนั้นจากที่ผู้ถาม ถามว่า

แสดงว่า "ตน" ของท่านพระโสดาบัน สำคัญในความเป็นธาตุ ขันธ์ เท่านั้น ใช่ไหมครับ

- พระโสดาบัน ท่านรู้ว่า ตนของท่าน หรือ ร่างกายที่เรียกว่า เป็นตัวท่าน เป็นตนก็ด้วยความเข้าใจถูก ว่าเป็นเพียงธาตุ ขันธ์ ๕ เป็นแต่เพียงธรรม ครับ

ถูกต้องแล้วครับ ตามที่ผู้ถามได้แสดงมาว่า ตนของท่านพระโสดาบัน สำคัญในความเป็นธาตุ คือ ท่านเข้าใจถูกว่า เป็นธาตุและขันธ์ แต่ท่านยังมีเราด้วยโลภะ และมานะได้ ครับ

ขออนุโมทนา.

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 17 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเริ่มต้นที่ว่า ทั้งทิฏฐิและมานะ เป็นธรรมที่มีจริง

ทิฏฐิอ (ความเห็นผิด) เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่ตรงตามความเป็นจริง เป็นอกุศลเจตสิกประการหนึ่ง ที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต ประเภทโลภมูลจิต

ส่วนมานะ เป็นความสำคัญตน เป็นความทะนงตน ถือตน เป็นอกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต ประเภทโลภมูลจิต เช่นเดียวกัน

เวลาที่มิจฉาทิฏฐิเกิด ก็เกิดร่วมกับโลภมูลจิต และ เวลาที่มานะเกิด ก็เกิดร่วมกับโลภมูลจิตเช่นเดียวกัน แต่ทั้งคู่ คือมิจฉาทิฏฐิ และมานะ จะไม่เกิดพร้อมกัน เพราะในขณะที่เห็นผิดนั้น ไม่ได้มีการสำคัญตน ไม่ได้มีความสำคัญตนแต่อย่างใด แต่จะเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความจริง เท่านั้น

ทั้งมิจฉาทิฏฐิ และมานะนั้น เป็นอกุศลเจตสิก ที่จะถูกดับได้อย่างเด็ดขาด เมื่อถึงถึงความเป็นพระอริยบุคคล กล่าวคือ ความเห็นผิด พระโสดาบันดับได้ ส่วนมานะ พระอรหันต์ดับได้อย่างเด็ดขาด ไม่เกิดอีกเลย

ขอเพิ่มเติม ในประเด็นเรื่อง "ตน" เพื่อประโยชน์ในการพิจารณา ดังนี้

การศึกษาพระธรรม ต้องเป็นผู้มีความละเอียดรอบคอบ ที่สำคัญคือ เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง พยัญชนะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงใช้ในการแสดงพระธรรมเทศนานั้น ส่องให้ผู้ฟังเข้าถึงตัวจริงของสภาพธรรม ในพระไตรปิฎก จะพบคำว่า ตน อยู่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ตั้งตนไว้ชอบ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน, มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนั้น ไม่ใช่ตัวตน แต่แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทั้งหมดเลย ไม่ใช่มีตัวตนจริงๆ เพราะเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ แล้วจะเป็นตัวตนได้อย่างไร ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วิริยะ
วันที่ 17 ส.ค. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pat_jesty
วันที่ 17 ส.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 17 ส.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมและอาจารย์คำปั่นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
หลานตาจอน
วันที่ 18 ส.ค. 2554
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
wannee.s
วันที่ 18 ส.ค. 2554

โดยสภาพธรรมของทิฏฐิและมานะก็ต่างกัน

ความเห็นผิดก็อย่างหนึ่ง ความสำคัญตนก็อีกอย่างหนึ่ง ไม่เกิดพร้อมกันแน่นอน ไม่ใช่เข้าใจชื่อ แต่ต้องเข้าใจลักษณะที่มีจริงๆ ของเขา เช่น ขณะที่มีความสำคัญตนว่าเก่งกว่า ดีกว่า ให้รู้ว่าเป็นธรรมะที่มีจริง ไม่่ใช่เรา ต่างกับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมะว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
nong
วันที่ 18 ส.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
มนัสสกังขา
วันที่ 21 ส.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
thilda
วันที่ 12 พ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
peem
วันที่ 20 ส.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ