ที่มา...ที่ไป ของอบายมุข ๖
ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง.....
ในสิงคาลกสูตร ทีฆนิกาย แสดงอบายมุข ๖ ประการ คือ
การเสพน้ำเมา คือ สุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑
การเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในเวลากลางคืน ๑
การเที่ยวดูมหรสพ ๑
การเล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑
การคบคนชั่วเป็นมิตร ๑
ความเกียจคร้าน ๑
ทั้ง ๖ ประการนี้เป็นทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ และในขณะจิตที่เป็นไปกับสิ่งเหล่านี้ จิตย่อมเป็นอกุศล และถ้าหมกมุ่นกับสิ่งเหล่านี้ อกุศลย่อมเจริญ ฯลฯ
พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดงไว้หรือไม่ ว่า
๑. อะไรเป็นเหตุของความเจริญ (ที่นำมา) แห่งอบายมุข ๖.?
๒. อะไรเป็นเหตุของความเสื่อมไป (ที่นำออกไป) แห่งอบายมุข.?
ปล. ดูข่าว แล้ว เศร้าใจ การดูข่าวนั้น เป็นอบายมุขใช่ไหม ถ้ายังเลิกไม่ได้ ควรพิจารณาอย่างไร.?
ขอบพระคุณมากค่ะ.
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สิงคาลกสูตร เป็นพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงถึงข้อประพฤติปฏิบัติที่ดีที่เหมาะสม และข้อที่ควรเว้น อันเหมือนเข็มทิศ และทางดำเนินชีวิต ของผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ครับ
พระธรรม ที่พระองค์ทรงแสดง ย่อมเป็นไปเพื่อละคลายอกุศล และความเจริญขึ้นของกุศลธรรม การได้รับประโยชน์ในโลกนี้ คือการดำรงชีวิตด้วยความสุข ในปัจจุบัน และประโยชน์ในโลกหน้า คือ ย่อมนำมาซึ่งความสุขในโลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง คือถึงการดับกิเลส แม้ในเรื่อง อบายมุข ๖
คำว่า อบายมุข หมายถึง ทางแห่งความเสื่อม ทางแห่งความพินาศ
สำหรับอบายมุข ๖ นั้น พระองค์ทรงแสดงถึง ความเสื่อมโภคทรัพย์ ทรัพย์สิน แต่ในความเป็นจริง พระธรรมมีนัยและอรรถลึกซึ้ง พระสูตร จึงลึกซึ้งด้วยอรรถ ไม่ใช่เพียงแค่ความเสื่อมในโภคทรัพย์เท่านั้น แม้ความเสื่อมในประโยชน์สุขในโลกนี้ เช่น เสื่อมเสียชื่อเสียง อายุ เสื่อมญาติ ฯลฯ ความเสื่อมประการต่างๆ ก็เพราะ อบายมุข ๖ ประการ และที่สำคัญที่สุด ทำให้เสื่อมจากคุณธรรม เสื่อมจากคุณความดี และเสื่อมจากปัญญาในขณะที่เจริญอบายมุข ๖ ครับ
เมื่อเสื่อมจากคุณความดี สิ่งที่เจริญขึ้น คือ อกุศลกรรมธรรม และ สิ่งที่ชั่วร้ายประการต่างๆ รวมทั้ง ผลของกรรมที่ไม่ดี ก็มีโอกาสให้ผลมากขึ้น เพราะการกระทำที่ไม่ดีใน ปัจจุบันด้วย
ซึ่งกระผมขอนำพระธรรมเรื่อง อบายมุข แต่ละข้อ ว่าเป็นอย่างไร เพื่อจะได้ตอบคำถาม
๑. อะไรเป็นเหตุของความเจริญ (ที่นำมา) แห่งอบายมุข ๖.?
๒. อะไรเป็นเหตุของความเสื่อมไป (ที่นำออกไป) แห่งอบายมุข.?
อบายมุข ทางแห่งความเสื่อม ความพินาศของโภคทรัพย์และความเสื่อมประการอื่นๆ ได้แก่ เสื่อมจากกุศลธรรม และ เสื่อมปัญญา มี ๖ ประการ คือ
1. การเสพน้ำเมา คือ สุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะทั้งหลาย และ เสื่อมจากคุณธรรมและปัญญา โทษของการดื่มสุรา อันนำมาซึ่งความเสื่อม มีประการต่างๆ ดังนี้
1.1 ความเสื่อมทรัพย์ อันผู้ดื่มพึงเห็นเอง
การดื่มสุรา นำมาซึ่งความเสื่อมทรัพย์ เพราะไม่รู้จักพอ ย่อมใช้จ่ายทรัพย์ในการดื่มสุรา เมื่อมีการเมาสุรา ก็อาจทำทรัพย์สินของผู้อื่นให้เสียหาย และ ต้องจะชดใช้ทรัพย์ หรือเป็นหนี้ ทำให้เสื่อมจากทรัพย์ ดังนั้น จากคำถาม คือ อะไรเจริญ อะไรเสื่อม.? จากอบายมุข ได้แก่การดื่มสุรา คือ หนี้เจริญ แต่เสื่อมทรัพย์ ครับ
1.2 ก่อการทะเลาะวิวาท
เมื่อดื่มสุรา ย่อมขาดความยั้งคิด ก็ย่อมทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท จากคำถาม ว่าอะไรที่เจริญขึ้น อะไรเสื่อม การทะเละวิวาท ทำให้อกุศลเจริญขึ้น เพราะการทะเลาะวิวาท เจริญการแตกความสามัคคี กุศลธรรมเสื่อม เพราะการดื่มสุรา และการทะเลาะวิวาท ครับ
1.3 เป็นบ่อเกิดแห่งโรค
การดื่มสุรา ทำให้เกิดโรคต่างๆ ดังนั้น จากคำถาม อะไรเจริญ อะไรเสื่อมจากอบายมุข คือ การดื่มสุรา โรคเจริญขึ้น เพิ่มขึ้น ความไม่มีโรคเสื่อม สุขภาพเสื่อม ครับ
1.4 เป็นเหตุให้เสื่อมเสียชื่อเสียง
การดื่มสุรา ย่อมทำให้ประพฤติไม่ดี และเป็นการกระทำที่ไม่สมควร ก็มีแต่คนว่า เสียชื่อเสียง ดังนั้นจากคำถาม สิ่งที่เจริญเมื่อมีการดื่มสุรามากขึ้น คือ เจริญด้วย ชื่อเสียงที่ไม่ดี เสื่อมเสียจากชื่อเสียงที่ดี
1.5 เป็นเหตุไม่รู้จักละอาย
การดื่มสุรา เป็นเหตุให้หลงลืมสติ กล้าในสิ่งที่ไม่ควรกล้า เพราะฉะนั้น สิ่งที่เจริญ คืออกุศลธรรม คือ ไม่มีหิริ โอตตัปปะ สิ่งที่เสื่อม คือ คุณธรรมความดี คือ เสื่อมจาก หิริ โอตตัปปะ
1.6 ทอนกำลังปัญญา
ผู้ที่ดื่มสุรา ย่อมทำให้หลงลืมสติได้ง่าย ปัญญาที่จะเกิด ก็ไม่เกิด และก็ทำให้เสื่อมจากปัญญาด้วยครับ เพราะฉะนั้น จากคำถามที่ว่า สิ่งใดเจริญขึ้นเมื่อประพฤติอบายมุข คือ ดื่มสุรา ได้แก่ การเจริญความไม่มีสติ เจริญอกุศลธรรม คือ ความหลงลืมสติ
ส่วนคำถามที่สองที่ว่า อะไรเสื่อมไปจากการประพฤติอบายมุข คือ ดื่มสุรา สิ่งที่เสื่อมคือ ปัญญาที่จะเกิด ก็ไม่เกิดในขณะนั้นครับ
ซึ่งในความเป็นจริง โทษของการดื่มสุรา มีมากมาย หลายนัย ดังนั้น การดื่มสุรา นำมาซึ่งความเจริญขึ้นของอกุศลธรรม และนำมาซึ่งความเสื่อมของกุศลธรรม นำมาซึ่งผลที่ไม่น่าปรารถนา นำมาซึ่งความเจริญในสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา เช่น ทำให้ตกนรก และเมื่อกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นเหตุให้เป็นบ้า ครับ
2.การเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในเวลากลางคืน มีโทษ ๖ อย่าง คือ
- ผู้นั้นชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาตัว
- ผู้นั้นชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาบุตรภรรยา
- ผู้นั้นชื่อว่าไม่รักษาทรัพย์สมบัติ
- ผู้นั้นเป็นที่ระแวงของคนอื่น
- คำพูดอันไม่เป็นจริงในที่นั้นๆ ย่อมปรากฏในผู้นั้น
- อันเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากแวดล้อม ดังนั้นการเที่ยวไปในกลางคืน ก็ทำให้เจริญอกุศลธรรม เช่นกัน และนำมาซึ่งความเสื่อมของกุศลธรรม และจากโทษ ๖ ประการที่กล่าวมา ก็นำมาซึ่งความเจริญคือสิ่งที่ไม่ดีกับตนและครอบครัว และทำให้เสื่อมจากความปลอดภัยกับตนและครอบครัวครับ
ทำเสื่อมโภคทรัพย์ เมื่อมีการเที่ยวกลางคืน และสิ่งที่เจริญ คือ ความเป็นหนี้เพราะการใช้จ่ายในการเที่ยวกลางคืน ครับ
3. การเที่ยวดูมหรสพ
รำที่ไหนไปที่นั่น ขับร้องที่ไหนไปที่นั่น ดนตรีที่ไหนไปที่นั่น เสภาที่ไหนไปที่นั่น เพลงที่ไหนไปที่นั่น เถิดเทิงที่ไหนไปที่นั่น
จากข้อความในอรรถกถา อธิบายว่าเมื่อรู้ว่ามีการแสดงที่ไหนก็รีบไปที่นั่น โดยละทิ้งการงานที่ควรจะทำ แทนที่งานจะเสร็จก็ทิ้งงานไป ทำให้งานนั้นเสียหายครับ เพราะความเป็นผู้ติดในการดูมหรสพ การดูการแสดง เป็นต้น ซึ่งความเจริญที่ได้จากการดูมหรสพ คือ เจริญด้วยอกุศล เจริญในสิ่งที่ไม่ดีกับตน ในความหมกมุ่นกับการละเล่น
ส่วนความเสื่อมที่เกิดจากการดูมหรสพ คือ การเสื่อมจากโภคทรัพย์ ทรัพย์สมบัติ เพราะต้องมีการใช้เงินในการดูการแสดง ถึงไม่มีการใช้เงิน แต่ก็ทิ้งการงาน ที่ควรทำ อันเป็นงานที่จะเป็นรายได้ ก็ไม่ได้ทำ เพราะทิ้งไปดูการละเล่นเสีย ก็ทำให้เสื่อมจากโภคทรัพย์เพราะไม่ทำการงาน และความเสื่อมที่สำคัญ คือ เจริญอกุศลเพิ่มขึ้น ด้วยความหมกมุ่นที่มีมากนั่นเองครับ นี่คือ สิ่งที่เจริญและเสื่อมจากการดูมหรสพ หรือการละเล่นครับ
ซึ่งกระผมขออนุญาตตอบคำถามสุดท้ายในคำถามที่ว่า
การดูข่าวนั้น เป็นอบายมุขใช่ไหม ถ้ายังเลิกไม่ได้ ควรพิจารณาอย่างไร.?
ตามที่ผมได้อธิบายไปแล้ว ในข้อความอรรถกถาเกี่ยวกับการดูมหรสพ-การละเล่นว่า รำที่ไหน ไปที่นั่น ติดตามที่จะดู และเมื่อใดที่ทำให้เสียการงาน ละทิ้งการงานเสียนี่คือทำให้เสื่อมครับ เสื่อมจากการงานที่ควรทำ และเสื่อมจากรายได้ที่ควรได้จากการงาน แต่การดูข่าว หากเราทำหน้าที่การงานให้เสร็จสมบูรณ์ให้เรียบร้อยแล้ว ก็แบ่งมาดูข่าว นี่เท่ากับว่า เราไม่เสื่อมในเรื่องการงานครับ เพราะเราแบ่งเวลา และทำสิ่งที่สำคัญคือ ทำการงานให้เสร็จก่อน ไม่ว่าจะเป็นงานบ้าน งานที่เป็นอาชีพ เป็นต้น ก็ทำใ้ห้เสร็จเรียบร้อยก่อน จึงกระทำอย่างอื่น อันนี้ ชื่อว่าไม่เสียประโยชน์ทางโลก คือ โภคทรัพย์ การดำเนินชีวิต และการงานไม่เสียประโยชน์ครับ ไม่จัดเป็นอบายมุขได้ เพราะไม่นำมาซึ่งความเสื่อมทรัพย์ และการงานครับ
แต่เมื่อว่าโดยละเอียด ก็ต้องเสื่อมจากกุศลธรรม และเจริญอกุศลธรรมแน่นอนครับ ซึ่งเป็นธรรมดาของปุถุชน ที่ย่อมเกิดกิเลสเป็นธรรมดา แต่ที่สำคัญ เราก็แบ่งเวลาให้กับสิ่งที่มีประโยชน์ด้วย คือการฟังพระธรรม การศึกษาพระธรรม การเข้าเวปฯ การสอบถามเพื่อเจริญขึ้นของปัญญา เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ในการใช้ชีวิตประจำวัน แม้แต่การดูข่าว ปัญญาก็สามารถเกิดรู้ความจริงได้ เพราะในชีวิตประจำวันไม่พ้นไปจากสภาพธรรมเลย เมื่อมีสภาพธรรม ก็สามารถอบรมปัญญา รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ครับ
ซึ่งตัวอย่างเช่น ในสมัยพุทธกาล ท่านพระสารีบุตร กับท่านพระมหาโมคคัลลานะ เป็นเพื่อนกัน ยังไม่ได้พบพระธรรม ต่างก็ไปดูมหรสพด้วยกันทั้งคู่ ปัญญาของท่านเกิดโดยพิจารณาด้วยความเห็นถูก ในขณะที่ดู ว่า ตัวละครแต่คนก็ต้องตายไปเป็นธรรมดา ควรแสวงหาสัจจธรรม นี่แสดงให้เห็นว่า ปัญญา สามารถเกิดได้ครับ เพียงแต่ว่าเราจะต้องรู้ว่า ควรแบ่งเวลาและทำการงานให้เสร็จ แล้วก็ดูข่าวเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่ติดมากจนไม่ทำการงานครับ
4. การเล่นการพนัน มีโทษ ๖ ประการคือ
- ผู้ชนะย่อมก่อเวร
- ผู้แพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป
- ความเสื่อมทรัพย์ในปัจจุบัน
- ถ้อยคำของคนเล่นการพนัน ซึ่งไปพูดในที่ประชุมฟังไม่ขึ้น
- ถูกมิตรอมาตย์หมิ่นประมาท
- ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย เพราะเห็นว่า ชายนักเลงเล่นการพนัน ไม่สามารถจะเลี้ยงภรรยา
การเล่นการพนันก็ทำให้เจริญความเป็นหนี้ เจริญศัตรู (ผู้ชนะก่อเวร) เจริญชื่อเสียงไม่ดี และเจริญอกุศล และทำให้เสื่อมทรัพย์ เสื่อมจากคำพูดที่น่าเชื่อถือ เสื่อมจากการได้คู่ครองที่ดี เป็นต้นครับ
5. การคบคนชั่วเป็นมิตร
โทษของการคบมิตรชั่ว คือ ตัวเองก็ไม่ดีตามไปด้วย เช่นทำให้เป็นนักเลงสุรา เล่นการพนัน ทำสิ่งที่ไม่ดีต่างๆ ตามไปด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เจริญของการคบมิตรชั่ว คือ อกุศลธรรมเจริญขึ้น เพราะมิตรชั่วย่อมแนะนำสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่เป็นอกุศลธรรม และมิตรที่ไม่ดี ที่เข้าใจธรรมผิด ก็อาจทำให้คนเสพคุ้น เจริญความเห็นผิดตามไปด้วย เป็นโทษมาก พระองค์ถึงตรัสมงคลข้อที่ 1 ไว้ก่อนครับว่า ไม่คบคนพาลนั่นเอง ทำให้เจริญ ชื่อเสียงที่ไม่ดี่ ถ้ามีเพื่อนไม่ดี แม้เราจะไม่เป็นอย่างนั้น คนอื่นก็ต้องคิดว่า เราก็เป็นอย่างเขา อยู่ในวงสุรา เราไม่ดื่ม แต่มีเพื่อนที่ดื่ม คนก็ต้องเข้าใจว่าเราก็เป็นนักดื่มสุราเช่นกัน ก็ทำให้เจริญในชื่อเสียงที่ไม่ดี
ส่วนที่ทำให้เสื่อมจากการคบมิตรชั่ว คือ เสื่อมจากความดี จากกุศลธรรม เสื่อมจากปัญญา เสื่อมจากความเห็นถูก เสื่อมจากการเกิดในสุคติ เพราะมีการทำบาป เป็นต้น
6. ความเกียจคร้าน
ความเกียจคร้าน ไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ โดยหาเหตุผลต่างๆ ที่จะไม่ทำการงาน ย่อมทำให้เสื่อมจากการงาน และก็ทำให้เสื่อมจากโภคทรัพย์ด้วย เพราะงานนั้นไม่สำเร็จครับ
สรุป อบายมุข ๖ ประการ เป็นทางของความเสื่อม ความพินาศของโภคทรัพย์ ทำให้เสื่อมจากความดี เสื่อมจากปัญญา เสื่อมจากสุคติโลกสวรรค์ เสื่อมจากความสุขในโลกนี้ โลกหน้าด้วยครับ แต่ความเจริญที่ได้จากอบายมุข ๖ คือ เจริญอกุศลธรรม เจริญความเห็นผิด และโทษอื่นๆ อีกมากมายครับ
การศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ก็จะค่อยๆ งดเว้นการประพฤติที่ไม่สมควร และก็จะค่อยๆ ดำเนินไปในวิถีชีวิตที่งาม ที่ประเสริฐขึ้น ตามกุศลธรรมและปัญญาที่เจริญขึ้นนั่นเอง ครับ
๑. อะไรเป็นเหตุของความเจริญ (ที่นำมา) แห่งอบายมุข ๖.?
กิเลสประการต่างๆ และ อโยนิโสมนสิการ การคิดโดยไม่แยบคาย ย่อมนำมาซึ่งอบายมุข
๒. อะไรเป็นเหตุของความเสื่อมไป (ที่นำออกไป) แห่งอบายมุข.?
ปัญญา ความเห็นถูก การคิดแยบคายอันเกิดจากการฟังพระธรรม ย่อมค่อยๆ คลายจากการประพฤติอบายมุข จนถึงความเป็นพระอริยเจ้า ย่อมงดเว้นจากอบายมุขทั้งปวง ครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ
กถาว่าด้วยอบายมุข ๖ [สิงคาลกสูตร]
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของคำสอน ก็เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นไปเพื่อความเจริญยิ่งขึ้นในกุศลธรรม เพื่อถอยกลับจากอกุศลทั้งหลายทั้งปวง บุคคลผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วยความจริงใจ ย่อมได้รับประโยชน์จากพระธรรม ตามระดับขั้นของความเข้าใจ
สำหรับ อบายมุข ทั้ง ๖ ประการนี้ คือ การดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท, การเที่ยวกลางคืน, การเที่ยวดูมหรสพ, การเล่นการพนัน, การคบคนชั่วเป็นมิตร และ ความเกียจคร้านในการทำงาน พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงไว้ เพื่อให้พุทธบริษัทได้เห็นโทษ ว่าเป็นไปเพื่อความเสื่อมจากประโยชน์มากมาย เนื่องจากว่าอบายมุขทั้ง ๖ เป็นทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ เสื่อมจากกุศลธรรม และขณะใดที่จิตเป็นไปกับสิ่งเหล่านี้ จิตย่อมเป็นอกุศล ถ้าหมกมุ่นกับสิ่งเหล่านี้มากเข้าๆ อกุศลย่อมเกิดมากขึ้น ทำให้เป็นผู้เหินห่างหรือเบือนหน้าหนีจากกุศลธรรม จึงเป็นเหตุให้เสื่อมจากประโยชน์ในทางโลกและเสื่อมจากคุณธรรมความดีงาม อย่างสิ้นเชิง
-ดูหนังดูละคร ดูทีวี ดูข่าว ส่วนใหญ่แล้ว ขณะนั้นเป็นไปกับด้วยความเพลิดเพลินติดข้องยินดีพอใจ และเป็นไปกับด้วยอกุศลธรรมประการอื่นๆ ด้วย เช่น เกิดความเศร้า เสียใจ เป็นต้น เป็นอกุศลธรรม ขณะใดก็ตาม ที่อกุศลธรรมเกิดขึ้น ขณะนั้น กุศล เกิดไม่ได้ แต่ถ้าเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ว่าอะไรจะปรากฏ อย่างนี้ ไม่ใช่ความเสื่อม เพราะขณะนั้น มีความรู้ความเข้าใจธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง จึงขึ้นอยู่กับสภาพจิตเป็นสำคัญ
-เหตุแห่งอบายมุข ไม่พ้นไปจากอกุศลธรรม ไม่พ้นไปจากกิเลสที่เกิดขึ้นพอกพูนขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่เห็นโทษของความเสื่อมจากกุศลธรรมในชีวิตประจำวัน
-ส่วนการดับอบายมุข ต้องเป็นเรื่องของปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก เริ่มเห็นโทษตั้งแต่ต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านเว้นจากอบายมุข ซึ่งเป็นทางเสื่อมโดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้น ผู้ที่หวังความเจริญในชีวิต หวังความเจริญในกุศลธรรม ก็ควรเว้นจากอบายมุข เหมือนอย่างพระอริยเจ้า ด้วย และควรอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความจริงใจ ครับ .
[ปล. สมัยเป็นสามเณร กระผม เคยจำบทกลอน (หรือคำผูก? ง่ายแก่การจำ และการถ่ายทอดแก่เด็ก,เยาวชน) เกี่ยวกับอบายมุข ๖ เตือนใจดีมาก เหมาะสำหรับทุกคน ซึ่งคงจะเป็นประโยชน์บ้าง ไม่มากก็น้อย ดังนี้
อบายมุข ๖
หนึ่ง ชอบสุราเป็นอาจิณ ไม่ชอบกินข้าวปลาเป็นอาหาร
สอง ชอบเที่ยวยามวิกาล ไม่รักบ้าน รักลูก รักภรรยาตน
สาม ชอบเที่ยวดูการละเล่น ไม่ละเว้น บาร์คลับ ละคร โขน
สี่ ชอบคบคนชั่ว มั่วกับโจร ย่อมไม่พ้นอาญาตราแผ่นดิน
ห้า ชอบเล่นม้า กีฬาบัตร สารพัด ถั่วไพ่ไฮโล สิ้น
หก ชอบเกียจคร้านการทำกิน
มีทั้งสิ้น หกอย่างนี้ ไม่ดีเลย]
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...