เรียนถามข้อสงสัย

 
guy
วันที่  21 ส.ค. 2554
หมายเลข  19540
อ่าน  1,438

พระให้พร อายุ วรรณะ สุขะ พละ หลังจากรับบิณฑบาตรแล้ว ในที่สาธารณะหรือหน้าบ้าน

ถือว่าเป็นการแสดงธรรมในที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ มีบางท่านบอกว่าเป็นการให้พรแบบ

พ่อแม่ให้พรลูก ไม่ได้เป็นการแสดงธรรม ช่วยอธิบายให้ด้วยครับ


Tag  ให้พร  
  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 21 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น บทที่ว่า อายุ วรรณะ สุขะ พละ นั้น คำเต็มๆ คือ "ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ เจริญแก่บุคคลผู้กราบไหว้เป็นปกติ ผู้อ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญเป็นนิตย์" เป็นพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของกุศลธรรม ว่า ให้ผลเป็นสุขเท่านั้น ผู้ที่กล่าว ก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้แสดงธรรม เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะกล่าว ก็ต้องดูความเหมาะสมในหลายๆ อย่างด้วย เช่น เมื่อนั่งอยู่บนแผ่นดิน ไม่ควรแสดงธรรมแก่ผู้ไม่เป็นไข้ที่นั่งอยู่บนอาสนะ, เมื่อผู้แสดงธรรม นั่งอยู่บนอาสนะต่ำ ไม่ควรแสดงธรรมแก่คนผู้ไม่เป็นไข้ซึ่งนั่งอยู่บนอาสนะสูง, ผู้แสดงธรรม ยืนอยู่ ไม่ควรแสดงธรรมแก่คนผู้ไม่เป็นไข้ ผู้นั่งอยู่ เป็นต้น ซึ่งเป็นพระบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ถ้าพระภิกษุล่วงละเมิด ก็เป็นอาบัติ มีโทษอยู่เหนือตน แม้แต่ในขณะที่พระภิกษุออกบิณฑบาตก็เช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่แล้วบทที่ท่านกล่าว ก็ไม่พ้นไปจากบทที่ได้ยกมาข้างต้น ซึ่งก็คือ การแสดงธรรม นั่นเอง ถ้าแสดงธรรมแก่ผู้มีอิริยาบถที่สบายกว่า (คือ ผู้แสดง ยืน ผู้ฟั่ง นั่ง) เป็นการไม่เคารพธรรม เป็นอาบัติสำหรับพระภิกษุ คฤหัสถ์ เมื่อได้ศึกษาพระวินัยเข้าใจบ้างแล้ว ก็จะไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นเหตุให้พระท่านต้องอาบัติ ก็สามารถเกื้อกูลพระภิกษุได้ เป็นการป้องกันไม่ให้ท่านต้องอาบัติในข้อนี้ได้ด้วยการกราบเรียนท่านว่าไม่ขอรับพร หรือ ถ้าไม่สามารถกราบเรียนท่านได้ ก็ไม่ควรนั่งรับพร ควรยืนประนมมือ ก็ป้องกันให้พระภิกษุไม่ต้องอาบัติข้อนี้

การกล่าวธรรม สามารถกล่าวได้ แสดงได้แต่ต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัยเท่านั้น เมื่อได้ศึกษาพระธรรมวินัยเข้าใจแล้วว่า สิ่งใด ผิด ไม่ถูกต้อง ก็ควรจะทำให้ถูกต้องยิ่งขึ้น ไม่ควรจะทำผิดต่อไป ครับ. ขอเชิญคลิกอ่านข้อความที่เกี่ยวกับประเด็นนี้เพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ พระเดินบิณฑบาตให้พรต้องอาบัติไหมครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 21 ส.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 22 ส.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 22 ส.ค. 2554

การศึกษาพระวินัยมีประโชยน์ มีส่วนช่วยรักษาพระวินัย ช่วยให้ท่านไม่ต้องอาบัติ และ

ไม่ว่าจะเป็นเพศบรรชิตหรือคฤหัสถ์ ความเป็นผู้มีมิตรดี สหายดี เป็นอาหารของศีลค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pat_jesty
วันที่ 22 ส.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
guy
วันที่ 23 ส.ค. 2554

ขอบพระคุณมากครับ มีเรื่องเรียนถามเพิ่มเติมดังนี้

1 คำว่า "สหรคต" ต่างกับ "สหคตํ" ไหมครับอย่างไร

2 คำว่า "โสมนัส" กับ "โทมนัส" จะต่อด้วย สสหคตํ แต่ อุเปกขา จะต่อด้วย สหคตํ เป็นแบบนี้ใช่ไหมครับ มีเหตุผลไหมครับ

3 คำว่า "โสภณเภทนัย" "โลกเภทนัย " "ฌานเภทนัย" "สัมปยุตเภทนัย" "สังขารเภทนัย" อ่านว่า โส-พะ-นะ-เพ-ทะ-นัย , โล-กะ-เพ-ทะ-นัย , ยา-นะ-เพ-ทะ-นัย , สัม-ปะ-ยุด-ตะ-เพ-ทะ-นัย , สัง-ขา-ระ-เพ-ทะ-นัย ถูกต้องไหมครับ

4 อักษร กลมสีดำที่อยู่ใต้ตัวอักษร " ฺ " จะเป็นจุดสีดำเสมอใช่ไหมครับ แล้วอ่านเป็นตัวสะกด " ัง " เสมอไปหรือเปล่าครับ ส่วนตัวอักษร กลมสีขาว " ํ " จะอยู่บนพยัญชนะเสมอ แล้วอ่านเป็นตัวสะกด " ัง " เสมอไปหรือเปล่าครับ แล้วใช้ต่างกันอย่างไรครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 23 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เรียนความคิดเห็นที่ ๖ ครับ

๑. คำว่า "สหรคต" ต่างกับ "สหคตํ" ไหมครับอย่างไร

คำว่า สหรคต กับ สคหตํ มีความหมายเหมือนกัน คำว่า สหรคต เป็นคำไทยที่แผงมาจาก สหคตํ ซึ่งเป็นภาษาบาลี แปลตามศัพท์ คือ ไปพร้อมกัน หรือ ที่คุ้นกันที่สุด คือ เกิดร่วมด้วย หรือ เกิดร่วมกับ เช่น โทมนสฺสสหคตํ ปฏิฆสมฺปยุตฺตํ แปลว่า จิตที่ประกอบพร้อมด้วยปฏิฆะ (โทสะ) มีโทมัสเวทนาเกิดร่วมด้วย หรือ เกิดร่วมกับโทมนัสเวทนา ซึ่งได้แก่อกุศลจิตประเภทที่มีโทสะเป็นมูลเท่านั้น

๒. คำว่า "โสมนัส" กับ "โทมนัส" จะต่อด้วย สสหคตํ แต่ อุเปกขา จะต่อด้วย สหคตํ เป็นแบบนี้ใช่ไหมครับ มีเหตุผลไหมครับ จริงๆ ทั้ง ๓ คำ จะต่อด้วย สหคตํ ทั้งหมด เพราะเหตุว่า เทวนา ๒ อย่าง คือโสมนัส กับ โทมนัส นั้น ถ้าเขียนตามภาษาบาลีก็จะเป็น โสมนสฺส กับ โทมนสฺสดังนั้น เมื่อมาอยู่หน้า สหคตํ จึงเป็น โสมนสฺส สหคตํ กับ โทมนสฺส สหคตํแต่ถ้าเป็นอุเปกฺขา ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า เป็น อุเปกฺขาสหคตํ ๓. คำว่า "โสภณเภทนัย" "โลกเภทนัย " "ฌานเภทนัย" "สัมปยุตเภทนัย" "สังขารเภทนัย" อ่านว่า โส-พะ-นะ-เพ-ทะ-นัย , โล-กะ-เพ-ทะ-นัย , ยา-นะ-เพ-ทะ-นัย , สัม-ปะ-ยุด-ตะ-เพ-ทะ-นัย , สัง-ขา-ระ-เพ-ทะ-นัย ถูกต้องไหมครับ

ที่กล่าวมา ผิด ๑ คำ คือ ฌานเภทนัย ต้องอ่านว่า ชา-นะ-เพ-ทะ-นัย ทั้งหมดนั้น แสดงถึงการจำแนกจิต ดังนี้ คือ โสภณเภทนัย จำแนกจิต ว่า จิตประเภทใด เป็นโสภณจิต และจิตประเภทใดเป็นอโสภณจิต โลกเภทนัย จำแนกจิต ว่า จิตประเภทใดบ้างที่เป็นโลกิยจิต และ จิตประเภทใดที่เป็นโลกุตตรจิต ฌานเภทนัย จำแนกจิตว่า จิตประเภทใดที่เป็นฌานจิต และ จิตประเภทใด ที่ไม่ใช่ฌานจิต สัมปยุตตเภทนัย จำแนกจิตว่า จิตประเภทใดบ้างที่เป็นสัมปยุตตจิต คือ ประกอบด้วยทิฏฐิ ปฏิฆะ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา และ ญาณ คือ ปัญญา จิตประเภทใดที่เป็นวิปปยุตตจิต ซึ่งได้แก่ ทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต อเหตุกจิต และ ญานวิปปยุตต-จิต สังขารเภทนัย จำแนกจิต ว่า จิตประเภทใด มีกำลังกล้า และ จิตประเภทใด มีกำลังอ่อน ซึ่งจะต้องค่อยๆ ศึกษาไป เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องจริงๆ เพราะธรรม ไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่มีจริงทุกขณะ

๔. อักษร กลมสีดำที่อยู่ใต้ตัวอักษร " ฺ " จะเป็นจุดสีดำเสมอใช่ไหมครับ แล้วอ่านเป็นตัวสะกด " ัง " เสมอไปหรือเปล่าครับ ส่วนตัวอักษร กลมสีขาว " ํ " จะอยู่บนพยัญชนะเสมอ แล้วอ่านเป็นตัวสะกด " ัง " เสมอไปหรือเปล่าครับ แล้วใช้ต่างกันอย่างไรครับ แยกอธิบาย ดังนี้ อักษร กลมสีดำที่อยู่ใต้ตัวอักษร " ฺ " จะเป็นจุดสีดำเสมอใช่ไหมครับ แล้วอ่านเป็นตัวสะกด " ัง " เสมอไปหรือเปล่าครับ จุดที่ว่านั้น คือ " ฺ " (จะสีดำ หรือ จะสีไหนก็ได้) ไม่ได้แทน " ัง " ครับควรพิจารณา ดังนี้ ถ้าคำนั้น ไม่มีสระ ต้องแทนไม้หันอากาศและจุดดำอยู่ใต้พยัญชนะตัวใด ก็ให้ตัวนั้นเป็นตัวสะกด เช่นคำว่า สงฺฆสฺส อ่านว่า สัง-คัด-สะ แต่ถ้ามี สระ อยู่แล้ว จุดดำอยู่ใต้ตัวใด ก็ให้ตัวนันเป็นตัวสะกดเท่านั้น เช่น คำว่า สิสฺส มีสระ อิ อยู่แล้ว จุดดำอยู่ใต้ ส ก็ให้แทนตัวสะกด อ่านว่า สิด-สะ (แปลว่าลูกศิษย์) ส่วนตัวอักษร กลมสีขาว " ํ " จะอยู่บนพยัญชนะเสมอ แล้วอ่านเป็นตัวสะกด" ัง " เสมอไปหรือเปล่าครับ ไม่เสมอไป ครับ ถ้า " ํ " ซึ่งก็คือตัว นิคคหิต อยู่บนพยัญชนะ โดยที่ไม่มี สระอิ และ สระอุ ถึงจะแทน " ัง " ได้ เช่น สงฺฆํ อ่านว่า สัง-คัง แต่ถ้าอยู่บนพยัญชนะโดยมีสระอิ หรือ สระอุ สัญลักษณ์ที่ว่า คือ " ํ " ต้องแทน ง สะกด เท่านั้น เช่น กึ (ก ตามด้วย สระอิ ตามด้วย นิคคหิต) อ่านว่า กิง (แปลว่าอะไร) และ เช่น สิยุ โดยที่มีตัวนิคคหิตอยู่บน ยุ ก็อ่านว่า สิ-ยุง (แปลว่า พึงเป็น) ค่อยๆ ฝึกอ่านไป นะครับ แต่ความเข้าใจธรรม สำคัญที่สุด ครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณ guy และทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
guy
วันที่ 23 ส.ค. 2554

ขอบพระคุณมากครับ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของอาจารย์คำปั่นด้วยครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ