จิต มีสติเป็นเครื่องประกอบ

 
govit2553
วันที่  28 ส.ค. 2554
หมายเลข  19592
อ่าน  1,311

จิต มีสติเป็นเครื่องประกอบ หมายความว่าอย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 28 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สติเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตสิก สติเป็นเจตสิกฝ่ายดี คือ เมื่อจิตที่ดีเกิดขึ้น จะ

ต้องมีเจตสิก คือ สติเจตสิกเกิดขึ้นร่วมด้วยเสมอ เช่น ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นจะ

ต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอครับ เมื่อสติเจตสิก เป็นสภาพธรรมฝ่ายดีแล้ว ก็จะไม่

เกิดกับจิตที่เป็นอกุศลเลยครับ คือ ไม่เกิดกับอกุศลจิตไม่ว่าประเภทใดๆ เลย ซึ่งจิตเมื่อ

เกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย อกุศลจิตที่เกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกเกดิร่วมด้วมเสมอ

ซึ่ง การจะเป็นอกุศลจิตได้ ก็เพราะมีเจตสิฝ่ายไม่ดี เป็นอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่ง

อกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเสมอเมื่อ อกุศลจิตเกิดขึ้น คือ โมหเจตสิก และเมื่อจิตเป็น

โลภะ ก็มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าจิตเป็นโทสะ ก็มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย และ

เมื่อมีความติดข้องที่มีกำลัง ก็เป็นความยึดถือที่เป็นอุปาทาน ยึดถือ ถือมั่นด้วยความติด

ข้อง และขณะใดที่มีความเห็นผิดที่มีกำลัง ยึดมั่นไม่ปล่อย ขณะนั้นเป็นอุปาทาน ยึดมั่น

ด้วยความเห็นผิดครับ ซึ่งจากที่กล่าวมา ขณะจิตที่เป็นอกุศลจิต จะไม่มีสติ เจตสิกเกิด

ร่วมด้วยเลยครับ เพราะสติเจตสิกเกิดกับจิตที่ดีงามเท่านั้น ไม่เกิดกับจิตที่เป็นอกุศลจิต

เมื่อไม่เกิดกับอกุศลจิต ก็ไม่เกิดร่วมกับอกุศลเจตสิกด้วยครับ ไม่ว่าจะเป็นโลภเจตสิก

โทสเจตสิก โมหเจตสิก อุปาทาน ทีเป็นความยึดมั่นด้วยโลภะและทิฏฐิ รวมทั้งอกุศล

เจตสิก อกุศลธรรมประการอื่นๆ สติเจตสิกก็ไม่เกิดร่วมด้วยเลยครับ ที่สำคัญ สติเจตสิก

ทำหน้าที่ระลึก ระลึกเป็นไปในทางที่ดี ขณะที่สติเจตสิกเกิดขึ้นย่อมระลึกเป็นไปในทาง

ที่เป็นกุศล เช่น ระลึกที่จะให้ ระลึกที่จะงดเว้นจากบาป เป็นต้น แต่เมื่ออกุศลจิต อกุศล

เจตสิกเกิดขึ้น สติไม่เกิด คือ ไม่ระลึกเป็นไปในทางที่ดีเลย แต่คิดผิด เข้าใจผิดครับ

และสติเป็นธรรมเครื่องกั้นกระแสของกิเล ส ขณะที่สติเจตสิกเกิด จิตขณะนั้นไม่เป็น

อกุศล กั้นกระแสของกิเลสในขณะนั้นครับ

สรุปคือ ไม่ว่าอกุศลเจตสิกและอกุศลจิตประเภทใดเกดิก็ตาม สติเจตสิกจะไม่เกิดร่วม

ด้วย ตามเหตผลที่กล่าวมาครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 28 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น สติ เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เป็นโสภณสาธารณเจตสิก ที่เกิดกับจิตทีดีงามทุกประเภท ไม่มีเว้น รวมถึง เกิดร่วมกับกุศลจิต ด้วย สติ ซึ่งป็นสภาพธรรมฝ่ายดี จะไม่เกิดร่วมกับ อกุศลจิต อย่างเด็ดขาด จะไม่เกิดร่วมกับ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงนั้น เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่มีใครสามารถไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ให้เป็นอย่างอื่นไปได้ สติ ก็เช่นเดียวกัน เป็นธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศล ในทานบ้าง ศีล บ้าง ภาวนาบ้าง ถ้าไม่มีสติ กุศลจิตรวมถึงเจตสิกฝ่ายดีอื่นๆ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ขณะที่เป็นอกุศล ไม่มีสติ ชีวิตในวันหนึ่งๆ ที่เต็มไปด้วยอวิชชา ความหลง ความไม่รู้ โลภะ ความติดข้องยินดีพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือ โทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ เป็นต้น ขณะนั้นหลงลืมสติ ไม่เป็นกุศล ไม่สามารถที่จะพิจารณาสภาพธรรมในชีวิตประจำวันได้ตามความเป็นจริง จนกว่าสติจะเกิดเมื่อใด มีการระลึกได้แม้ในเหตุในผล ในความถูกต้อง ในความเหมาะควรในชีวิตประจำวันขณะใด ขณะนั้นก็เป็นการเกิดขึ้นของสติ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นยุคใด สมัยใด การที่กุศลธรรมจะเกิดขึ้นได้นั้น ก็เพราะสติเกิดขึ้น ครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nong
วันที่ 28 ส.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 28 ส.ค. 2554

ขณะที่หลงลืมสติ จะเพลิดเพลินไปกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ตลอดเวลา

ที่สติไม่เกิด ถ้าสติเกิดเป็นเครื่องกั้นอกุศลทั้งหลาย ทั้งโลภะ โทสะ โมหะ ชั่ว

สั้นๆ สติเกิดนิดเดียวก็ดับไป อกุศลก็เกิดต่อเป็นปกติในชีวิตประจำวันค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ประไพ
วันที่ 28 ส.ค. 2554

ดิฉันเอง ได้พบกับสภาพธรรม นี้แล้วด้วยตัวเองค่ะ ไม่เพลิดเพลินกับรสชาติ ไม่ทำงานด้วย โลภะ โทสะ โมหะ ครอบงำ อกุศลก็ไม่เกิด แต่อยากจะทราบว่า สภาพธรรมนี้ ก็ขึ้นอยู่กับกฏไตรลักษณ์ ใช่หรือไม่คะ

ขออนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
govit2553
วันที่ 29 ส.ค. 2554

พระอรหันต์ มีช่่วงหลงลืมสติ หรือไม่

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 29 ส.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

สภาพธรรมที่เป็นการทำงาน คือ จิต เจตสิก รูปที่ดำเนินไปเกิดขึ้นและดับไป จึงไม่พ้นไป

จากไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตาครับ

ส่วนจากคำกล่าวที่ผู้ถามได้กล่าวในเรือ่งการทำงานนั้น

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ... สภาวธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 29 ส.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

พระอรหันต์ท่านดับกิเลสแล้ว ไม่มีอกุศลเกิดขึ้นเลย ดังนั้น โดยทั่วไป เมื่อใช้คำว่า

หลงลืมสติ มุ่งหมายถึง จิตที่เป็นอกุศล คือ อกุศลจิตแกิดขึ้น ทำให้หลงลืมสตินั่นเอง

ดังนั้นพระอรหันต์จึงเป็นผู้ไม่หลงลืมสติ คือ ไม่เกิดอกุศลจิตเลยครับ แต่หากเราพูด

โดยละเอียด แม้จิตชาติวิบาก เช่น เห็น ได้ยิน ไม่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แม้พระ

พุทธเจ้าก็มีการเห็น ก็ไม่มีสติเจตสิกเกิดในขณะนั้น แต่จะกล่าว่าเพราะไม่มีสติเจตสิก

จึงเป็นผู้หลงลืมสติไม่ไ่ด้ครับ เพราะในความเป็นจริง ความเป็นผู้หลงลืมสติ มุ่งหมาย

ถึงอกุศล พระอรหันต์และพระพุทธเจ้า ไม่มีอกุศลเกิดขึ้นแล้ว จึงกล่าวได้ว่าเป็นผู้ไม่

หลงลืมสติครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ