ทำอย่างไร ให้ใจสงบ

 
ทอม
วันที่  31 ส.ค. 2554
หมายเลข  19623
อ่าน  6,499

เป็นคนโมโหร้าย หงุดหงิดง่าย รู้ว่าไม่ดี พยายามจะไม่โกรธ แต่ก็ทำไม่ได้ ควรทำอย่างไรดี


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 31 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ความโกรธ ความเครียด เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ความโกรธและความเครียด ที่เกิดขึ้นจะต้องมีเหตุจึงเกิดขึ้นได้ ครับ เหตุให้เกิดความโกรธ ความเครียด คือ กิเลสที่สะสมมามากและมีอยู่ จึงเป็นปัจจัยให้เกิดความโกรธและเครียด สมกับคำว่า ปุถุชน คือ ผู้หนาด้วยกิเลส เมื่อมีกิเลสมาก เมื่อมีเหตุปัจจัย กิเลสก็เกิดขึ้น มีความโกรธและเครียด เป็นต้น

สัจจะ ความจริงแสดงไว้ว่า สภาพธรรมทั้งหลาย เป็นอนัตตา อกุศลก็เป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ครับ คือ บังคับที่จะไม่ให้อกุศล มีความเครียดและโกรธ จะไม่เกิดก็ไม่ได้ เพราะจะต้องเกิด เมื่อเหตุพร้อม ดังนั้นเราจะต้องเข้าใจความจริงตรงนี้ คือ ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม เมื่อเข้า ใจความเป็นอนัตตา ก็เข้าใจความจริงที่เกิดขึ้น

โกรธเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เครียดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ไม่ต้องจัดการ แต่เข้าใจสิ่งที่เกิดแล้ว ตรงนี้สำคัญมากครับ เพราะเราไม่ชอบอารมณ์ความเครียด เพราะทำให้ไม่สบายใจ รวมทั้งความโกรธที่นำมาซึ่งเวทนา ความรู้สึกไม่สบายใจ แต่เราก็ต้องเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงถึงความจริงแล้วว่าเป็น อนัตตาและห้ามไม่ได้เลยครับ ความเข้าใจแม้ตรงนี้ ก็จะเบาเพราะไม่มีตัวตนที่จะพยายามจัดการ จะไม่ให้เกิด เพราะยิ่งอยากด้วยโลภะ ต้องการอีกที่จะไม่ให้โกรธ เครียด และสภาพธรรมคือโกรธก็เกิดได้อีก และเครียดก็เกิดอีก ก็ยิ่งเครียดเข้าไปใหญ่ครับ เพราะเราหวัง ไม่อยากให้โกรธ เครียดเกิด แต่เพราะไม่เป็นไปตามหวัง โทสะก็เกิดอีกครับ เพราะเราไม่ได้เข้าใจความจริงว่า เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไมได้นั่นเองครับ ดังนั้นถ้าเราเข้าใจตรงนี้ ก็สบายๆ ด้วยความเข้าใจว่าอกุศลก็เกิดเป็นปกติธรรมดาอยู่แล้ว ยิ่งจัดการ ยิ่งบังคับ ก็ยิ่งจะผิดหวัง ยิ่งจะไม่เข้าใจความจริงในสิ่งที่เกิดแล้วนั่นเองครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 31 ส.ค. 2554

ไม่ต้องพยายามครับ แต่ค่อยๆ เข้าใจตามที่ได้กล่าวมา แค่คิดเลิกจะทำ จะห้าม แค่นั้นก็เบาไปเปราะหนึ่งแล้วครับ เบาเพราะไม่หวัง เบาเพราะไม่ต้องการที่จะให้ไม่เครียด ไม่โกรธ แล้วเข้าใจในสิ่งที่เกิดว่าเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงและเป็นธรรมดาจริงๆ ที่จะต้องเกิดอกุศลครับ ซึ่งในชีวิตประจำวัน เกิดอกุศลเป็นปกติ แต่ไม่รู้ตัว ไม่ใช่เฉพาะ ความเครียด ความโกรธที่เป็นโทสะเท่านั้น ความติดข้องที่เป็นโลภะ ความไม่รู้ที่เป็นโมหะ กิเลสเหล่านี้เกิดมากกว่าความไม่สบายใจ โกรธ มากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี เศร้าหมองเพราะเป็นกิเลสเหมือนกัน แต่เราไม่ได้เดือดร้อนกับยินดี ชอบในความติดข้องที่เกิดขึ้นอีกครับ และเราก็ไม่คิดจะพยายามไปจัดการกับโลภะ และโมหะด้วย ดังนั้นก็เมื่ออกุศลก็เกิดเป็นปกติอยู่แล้ว (โลภะ โมหะ) และเราก็ไม่ได้จะพยายามละเสียด้วยทั้งโลภะและโมหะ ดังนั้นโทสะ คือ ความเครียด และความโกรธก็เป็นปกติเช่นกันที่จะต้องเกิดครับ ก็ทำเหมือนโลภะและโมหะที่เกิดอยู่และเราก็ไม่คิดจะพยายามละ โทสะก็ไม่ต้องคิดละ เพราะอะไร เพราะละไมได้ เนื่องจากปัญญาน้อยมาก ผู้ที่จะไม่เกิดโทสะ คือ พระอนาคามี ดังนั้นสำคัญคือเข้าใจในสิ่งที่เกิดแล้วครับ นี่แหละครับหนทางละกิเลสและหนทางการอบรมปัญญาที่ถูกต้อง คือ เข้าใจในสิ่งที่เกิดแล้ว

เพียงแต่ท่านผู้ถาม ไม่พยายามที่จะละ นั่นก็เบาแล้วเพราะเข้าใจว่าเป็นอนัตตา และเมื่อศึกษาละเอียดขึ้น ก็ให้เข้าใจความจริงในขั้นการฟังว่า อกุศลที่เกิดขึ้น เป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เราครับ สบายๆ นะครับ ด้วยการไม่พยายามที่จะละ แต่เข้าใจสิ่งทีเกิดแล้วว่าเป็นธรรมดาที่กิเลสเกิดและเป็นแต่เพียงธรรมเท่านั้นครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 31 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิตของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะผู้ที่ยังเต็มไปด้วยกิเลสนานาประการ มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็น ต้น ย่อมไม่สงบเพราะมีอกุศลธรรมเกิดขึ้น ขณะใดที่จิตเป็นอกุศล ขณะนั้นย่อมไม่สงบ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะขณะที่โทสะเกิด ซึ่งเป็นความโกรธ หรือ ความเครียด เท่านั้น ที่ไม่สงบ แต่หมายรวมถึงอกุศลธรรมทุกประเภทไม่สงบ ในทางตรงกันข้าม ขณะใดที่กุศลธรรมเกิดขึ้น ขณะนั้นสงบ กล่าวคือ สงบจากอกุศล ซึ่งไม่ใช่เรื่องทำด้วย เพราะธรรมเป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ แต่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เท่านั้น
ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความเป็นไปของจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) และ เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) ว่า เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ สำหรับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้รับแนะนำในวินัยของพระอริยะ ย่อมมีความติดข้องยินดีพอใจรักชอบในอารมณ์ที่ดี และย่อมมีความชัง ความเกลียดหรือความไม่พอใจในอารมณ์ที่ไม่ดี เป็นอกุศลธรรม ไม่สงบแล้วในขณะนั้น แต่สำหรับอริยสาวกผู้ได้สดับ ได้รับแนะนำในวินัยของพระอริยะ ได้อบรมเจริญปัญญาจนดับกิเลสได้ทั้งหมด เป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านย่อมไม่รักและไม่ชังในอารมณ์ที่มากระทบ ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย เป็นผู้มีจิตที่สงบอย่างแท้จริง ดังนั้น การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก เห็นถูกไปตามลำดับ ก็จะเป็นเหตุให้กุศลธรรมประการต่างๆ เจริญขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ตามระดับขั้นของความเข้าใจ ซึ่งจะทำให้จิตสงบจากกิเลส สงบจากอกุศล จนกว่าจะถึงความเป็นผู้สงบจากกิเลสโดยประการทั้งปวงเมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เห็นประโยชน์สูงสุดของปัญญา เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นสภาพธรรมที่จะดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้ในที่สุด ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Graabphra
วันที่ 1 ก.ย. 2554

เป็นความคิดส่วนตัวผมเองครับ

นึกถึงการให้ ให้คนอื่นสบายใจ สบายกาย จากการกระทำของเรา ถ้าเขาเสียใจ ดีใจ ก็เพราะกิเลส และวิบากของเขาเอง ขอให้เขาสบายใจเร็วๆ เขาอาจเคยเป็นผู้มีพระคุณ อาจเคยช่วยเราจากความตาย เคยเป็นพี่น้อง เคยบวชด้วยกัน เคยฟังธรรมมาด้วยกัน หรืออาจเคยสละชีวิตเพื่อเรามาแล้ว เรายังไม่มีโอกาสตอบแทนเขาเลย ชาตินี้มีโอกาสตอบแทน แม้ไม่รู้จักกันเลย ก็ไม่เป็นไร

สิ่งของต่างๆ ถ้ามีโอกาสให้ก็จะให้เพื่อตอบแทน ทำงานมีเงินก็เพื่อคนอื่นสุขสบาย ใจเตรียมพร้อม ข้าวของเงินทองอาจหายไปพริบตาเพื่อช่วยคนหลายคน

ลมหายใจนี้ อย่าให้เขาไม่สบายกาย ไม่สบายใจ

การกระพริบตา อย่าให้เขาไม่สบายกาย ไม่สบายใจ

ความคิดนี้ อย่าให้เขาไม่สบายกายไม่สบายใจ

การเคลื่อนไหวร่างกายนี้ อย่าให้เขาไม่สบายกาย ไม่สบายใจ

ความคิดที่จะพูดอะไร อย่าให้เขาไม่สบายกาย ไม่สบายใจ

เมื่อกำลังพูดอะไร ก็อย่าให้เขาไม่สบายกาย ไม่สบายใจ

หากเผลอไป หลงลืมไป ก็ขออภัย ไม่ได้ตั้งใจให้เขาไม่สบายกาย ไม่สบายใจ จากการเคลื่อนไหวร่างกาย การกะพริบตา ลมหายใจ การคิดจะพูด เมื่อกำลังพูด...

ถ้าเขากำลังตกเหว เรามีโอกาสยื่นมือไปช่วยเขาได้ ก็ควรช่วยเขา ไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไร

ผิดพลาดประการใดก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 1 ก.ย. 2554

ผู้ที่จะดับความโกรธได้ต้องเป็นพระอนาคามี ส่วนปุถุชนก็เป็นปกติธรรมดาที่ยังมีโลภะ โทสะ โมหะ จะละคลายอกุศล ก็ต้องมีสติ มีปัญญา ถ้าไม่อยากมีโทสะ ก็ต้องอบรมเจริญเมตตา ขณะที่เมตตาเกิด ขณะนั้นไม่เครียด จิตเป็นกุศล สงบจากกิเลสชั่วขณะค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Graabphra
วันที่ 1 ก.ย. 2554
ขอบพระคุณท่านผู้เป็นกัลยาณมิตร ท่านที่สละเวลาตอบคำถามเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น ขอให้มีสุขภาพร่างกายแข็งนะครับ และขออนุโมทนาทุกๆ ท่านครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pat_jesty
วันที่ 1 ก.ย. 2554

ความเข้าใจธรรมะเท่านั้น จะช่วยขัดเกลาจิตใจให้อกุศลเบาบางลงได้ เนื่องด้วยมีความเข้าใจถูกเห็นถูก ความโกรธ ความเครียดนั้นเกิดขึ้นแล้ว เรา...จะทำอะไรได้

ทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว จึงปรากฏให้รู้ได้ ไม่มีใครสามารถจัดการอะไรได้เลย เพราะทุกอย่างก็เป็นเพียงธรรมะแต่ละลักษณะที่เกิดขึ้นทำกิจต่างๆ กัน

ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
miran
วันที่ 2 ก.ย. 2554

๒. ทุติยอาฆาตวินยสูตร

ว่าด้วยธรรมระงับความอาฆาต ๕ ประการ

ดูที่นี่ครับ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๓๓๙


ขอบคุณครับ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
bsomsuda
วันที่ 2 ก.ย. 2554

"..อกุศลที่เกิดขึ้น

เป็นแต่เพียงธรรม..ไม่ใช่เราครับ

สบายๆ นะครับ..ด้วยการไม่พยายามที่จะ"

"ธรรม เป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับบัญชาได้

แต่กิดขึ้น..เป็นไป..ตามเหตุตามปัจจัย

..สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ..ไปตามลำดับ

ก็จเป็นเหตุห้..

กุศลธรรมประการต่างๆ เจริญขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน

ตามระดับขั้นของความเข้าใจ

ซึ่งจะทำให้จิตสงบจากกิเลส สงบจากอกุศล"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาคุณผเดิม อ.คำปั่น และทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
nong
วันที่ 17 ม.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ ชอบความคิดเห็นส่วนตัวของความเห็นที่ 4

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ