ข้อความเตือนสติเรื่องเวปุลปัพพตสูตร

 
wittawat
วันที่  5 ต.ค. 2554
หมายเลข  19855
อ่าน  3,560

ขอเชิญคลิกอ่านพระสูตร..

เวปุลลปัพพตสูตร .. ความเป็นไปของภูเขาเวปุลละ

ข้อความเตือนสติจากชั่วโมง สนทนาพระสูตร

ข้อความเตือนสติที่มาจากส่วน สนทนาที่เกี่ยวข้องกับพระสูตร

. ประโยชน์ของเวปุลลปัพพตสูตร อุปมาความไม่เที่ยงของธรรมโดยภูเขา

ทรงอุปมาสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ที่มนุษย์ที่เคยอยู่ในกาล ที่ภูเขาชื่ออย่างนั้นๆ สูงเท่านั้นๆ ในสมัยพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นๆ ถ้ายังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็ต้องมีการเกิดและตาย แต่ที่เกิดและตายจริงๆ ทุกขณะ คือ ขณะนี้เอง มีสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะเกิด แล้วดับ ความไม่เที่ยง ซึ่งเป็นเพียงขณะจิตเท่านั้นสำหรับผู้มีปัญญาอบรมแล้วก็พอที่สามารถหน่าย คลายกำหนัดจากสังขารธรรมได้

๒. ความหมายของสังสาระ สังสารวัฏฏ์

หมายถึง การท่องเที่ยว ซึ่งโดยสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ คือ ความเป็นไปของสภาพธรรม คือ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ เกิด ดับ สืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย เช่น ในขณะนี้ มีความเกิดขึ้นของสภาพธรรม มีจิตเจตสิกเกิดขึ้น และก็ยังมีรูปเกิดขึ้นเป็นไปตามสมุฏฐานของตนๆ ก่อนที่จะมีจิตเห็นเกิดขึ้นก็ต้องมีจักขุทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน ดับไปแล้ว จักขุวิญญาณจึงเกิด ก็ท่องเที่ยวไปอย่างนี้ จากจิตขณะหนึ่งไปสู่จิตอีกขณะหนึ่ง เป็น สังสาระ แต่เมื่อเกิดดับสืบต่อกันยาวนาน สังสารวัฏฏ์ ก็ยาวนานด้วย

๓. สังขารธรรมเป็นอย่างไร?

สังขารธรรมไม่ใช่ขณะอื่น เป็นขณะนี้ และสังขารเดี๋ยวนี้ ก็คือ เห็น เพราะเกิด ถ้าไม่มีปัจจัย ปรุงแต่งก็ไม่เกิดขึ้นเห็น เสียงก็เป็นสังขาร เพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง ซึ่งต้องอาศัยมหาภูตรูปจึงเกิดได้ แต่ขณะนี้สังขารเกิดดับอยู่ก็ไม่รู้ ก็เพราะมีอวิชชาความไม่รู้อยู่ มีเห็น มีสิ่งที่ปรากฏทางตา มีกาย มีแข็งที่กระทบ มีรู้แข็ง แต่ไม่ปรากฏความหน่ายในโลกที่เกิดดับเลย ถ้ายังไม่รู้ว่า แข็ง เป็นต้น เป็นธรรม ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะหน่ายในสังขารธรรม

๔. สิ่งหนึ่งสิ่งใดมีจริงหรือไม่?

ที่กล่าวว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ภูเขาไม่มี จริงๆ แล้วมีภูเขา แต่ไม่ใช่เที่ยงที่เป็นภูเขา แต่เป็นธาตุ เป็นธรรมที่เกิดดับสืบต่อ กระทั่งมีนิมิตสันฐาน ให้ทรงจำไว้ว่า สิ่งนั้น ชื่อนั้น ชื่อนี้

๕. อรรถของ มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยว ไปมาอยู่

ถ้าไม่มีอวิชชาก็ไม่ต้องมีการท่องเที่ยวไปมาเลย แต่ขณะนี้มีสภาวธรรมอยู่แล้ว ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ก็เกิดมาพร้อมความไม่รู้ มีชีวิตอยู่ ทั้งวันด้วยความไม่รู้ และติดข้อง เป็นอย่างนี้เรื่อยไปทั้งวัน และต่อๆ ไปอีก ก็มีความไม่รู้กั้นไว้ ให้ไม่ให้เป็นอิสระจาก สังสารวัฏฏ์ ซึ่งไม่มีอะไรที่จะดับอนันตรปัจจัยของจิต เจตสิกนั้นได้ นอกจากปัญญาที่ถึงความเป็น อรหัตตมรรค ดับกิเลสทั้งหมดไม่เหลือ ซึ่งเมื่อถึงขณะสุดท้ายของชาตินั้น ก็ปรินิพพานไม่มีนามธรรม รูปธรรมเกิดอีกเลย

๖. ที่มาของการเกิด

มีคำอุปมาว่า ถ้าถูกลูกศร อาบยาพิษ แล้วไปหาว่าใครยิง ต้องตายเป็นเสียก่อน เพราะฉะนั้น ขณะนี้ถูกย่ำยีด้วยกิเลส ไม่มีประโยชน์ที่จะคิดเรื่องที่มาของการเกิด หรือชาติแรก ชาติก่อน เพราะ ทั้งหมดหมดไปแล้ว ความเป็นจริงคือ เกิดมาแล้วรู้อะไรบ้าง จริงๆ แล้ว เกิดมาพร้อมความไม่รู้ ก่อนเกิดก็ไม่รู้ เกิดมาแล้วก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นชาตินี้ สิ่งสำคัญคือ ต้องรู้ต้องเข้าใจธรรม (ปัญญา) ซึ่งเป็นเครื่องรักษาที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพิษลูกศรคือกิเลส จึงเป็นประโยชน์ ถ้าศึกษาเข้าใจธรรมจากที่ทรงแสดง วันหนึ่งความเข้าใจที่เพียงพอ ก็เป็นปัจจัยให้ประจักษ์สภาพธรรมที่จะสามารถดับคลายเหตุแห่งสังสารวัฏฏ์ได้

๗. เดือดร้อนในสิ่งที่เกิดดับ

มีประโยชน์อะไร จากหลับสนิท ไม่มีอะไรปรากฏแล้วมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ และเมื่อปรากฏก็เดือดร้อน ในสิ่งที่น้อยที่สุด ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่มี ที่ปรากฏ เกิดขึ้นแล้วดับไม่กลับมาอีกเลย ที่ยังเดือดร้อนอยู่ในสิ่งที่มีแล้วหามีไม่ก็เพราะยังมีอวิชชา ที่ไม่รู้ตามความเป็นจริง

๙. ความประมาทเป็นหนทางสู่ความตายอย่างไร?

ฟังให้เข้าใจว่ามีธรรม เพื่อจะได้ไม่ประมาท ซึ่งความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย ตายจากคุณธรรมทั้งปวง และนำไปสู่ทุคติ

๑๐. ประโยชน์ของการฟัง?

ประโยชน์ของการฟัง ไม่ใช่การแข่งกันท่องชื่อ หรือว่าใครรู้เยอะกว่ากัน แต่คือความเข้าใจ ตัวจริงของธรรม เหมือนชื่อยา ท่องได้ทั้งหมด แต่รักษาโรคไม่ได้ เพราะไม่รู้จักต้น ไม่จักส่วนที่ใช้รักษา

๑๑. ทำไมต้องฟังให้เข้าใจยิ่งขึ้น?

กำลังฟังขณะนี้เข้าใจแค่ไหน เช่น ฟังว่าทุกอย่างเป็นธรรมแล้ว เมื่อถามก็ตอบได้ว่าขณะนี้ก็เป็นธรรม และถ้าฟังต่อไปอีกก็ตอบได้ยิ่งขึ้น แสดงว่าความเข้าใจที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ และยังมีสิ่งใหม่ๆ ให้เข้าใจขึ้นอีก ความเข้าใจของคนที่เริ่มต้นฟังก็ต่างจากคนที่ฟังนานแล้ว เพราะฉะนั้น รู้ว่าทุกอย่าง เป็นธรรม กระทั่งฟังเข้าใจยิ่งขึ้นว่า คำนี้เป็นคำจริงแน่นอนไม่ผิดเลย คือ ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด

๑๒. สิ่งที่มีสาระแท้จริงคืออะไร?

สิ่งที่มีสาระแท้จริงไม่ใช่เรื่องราวของธรรม แต่คือความจริงในชีวิตประจำวัน ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ละทาง มีธรรมอยู่แล้ว ทั้งรูปธรรมนามธรรม ฟังจนกว่าจะเข้าใจว่าธรรมคือ อะไร เกิดที่ใด เกิดเมื่อไร จึงเป็นเหตุให้ปัญญาเกิดได้

๑๓. เครื่องพิสูจน์ความรู้และความไม่รู้

การฟังเป็นเครื่องพิสูจน์ความไม่รู้ของตนด้วยว่าสะสมมามากน้อยเพียงใด จากความเข้าใจว่า ขณะนี้คือธรรม เมื่อฟังยิ่งขึ้นก็ทราบว่าไม่เที่ยง รู้ว่าธรรมเกิดปรากฏแล้วจึงดับ แต่ถ้ายังไม่ใช่ปัญญา ที่อบรมเข้าถึงลักษณะของธรรม ก็ยังไม่สามารถที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมเพราะฉะนั้นความเข้าใจสภาพธรรมที่ละเอียดเพิ่มขึ้นเพียงใด ก็คือ เครื่องวัดความเข้าใจจากการฟัง

๑๔. ความหมายของน้อมไปสู่ธรรม

น้อมไปสู่ธรรม หมายถึง จิตและเจตสิก ที่กำลังรู้สภาพธรรม เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย เมื่อมีความเข้าใจขึ้น ก็น้อมไปสู่การรู้ยิ่งขึ้น ออกจากความไม่รู้ทีละเล็กทีละน้อย เข้าไปสู่ความเข้าใจมากขึ้น

๑๕. การเพิ่มขึ้นทีละน้อยของความเข้าใจ

ไม่ใช่เรื่องการพยายามให้เห็นถูก แต่เข้าใจขึ้นก็เป็นอนัตตาที่เพิ่มทีละเล็กละน้อย เหมือนน้ำที่ใส่ในโอ่งวันละหยด ยากที่โอ่งจะเต็ม แต่เมื่อไรที่เต็มก็คือ รู้ทั่วทั้งหมดว่าเป็นธรรม ขณะนี้มีธรรมแต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม จนกว่าจะฟังแล้วเข้าใจ คลายความสงสัย คลายความหลงลืมว่า ขณะนี้เป็นธรรม ไม่เป็นอย่างอื่น นอกจากธรรมที่มีลักษณะอย่างนี้

๑๖. ประโยชน์ของการมีสิ่งที่ปรากฏ

ขณะนี้ทุกขณะไม่เที่ยง ให้ทราบตามความจริงว่าขณะนี้เอง สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เกิดแล้ว ดับแล้ว ไม่ว่ายุคสมัยใด ก็เปลี่ยนแปลงความจริงนี้ไม่ได้ ขณะนี้ที่มีสิ่งปรากฏก็เพื่อศึกษา เข้าใจยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพื่อรอการประจักษ์การเกิดดับสภาพธรรม ซึ่งมีได้ด้วยปัญญาที่เจริญขึ้นเท่านั้น

๑๗. ประโยชน์ของการสะสมความเข้าใจ

ความไม่รู้ในสิ่งที่มีจริงมีนาน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัญญาที่เริ่มเข้าใจ แม้เพียงเล็กน้อย สามารถรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏในขั้นการฟัง สะสมมากขึ้น กระทั่งสามารถเข้าใจลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏ เมื่อละคลายความไม่รู้สภาพธรรมก็ปรากฏตามความเป็นจริง คือ เกิดขึ้นและดับไป

๑๘. ความเห็นถูกขึ้นเพื่อละความสงสัย

ขณะนี้ฟังเรื่องราวของธรรม เพื่อปัญญาค่อยๆ สะสมความเห็นถูก เพิ่มความเข้าใจขึ้นว่า สภาพธรรมเป็นอย่างนี้ ที่จะเห็นว่าจากไม่มีอะไรปรากฏ แล้วเริ่มปรากฏแล้ว เพียงเล็กน้อยแล้ว หมดไป ไม่กลับมาอีก เป็นจริงอย่างนี้ตลอด และไม่มีทางอื่นเลย นอกจากสะสมความเห็นถูก เพื่อละความติดข้อง ละความสงสัยซึ่งมีเหตุมาจากความไม่รู้

๑๙. เครื่องบั่นทอนสังสารวัฏฏ์

ไม่มีใครทราบล่วงหน้าว่าความตายจะมาถึงเมื่อไร ถ้ายังไม่มีการดับกิเลสเป็นสมุทเฉท ก็ต้องมีการเกิดแล้วตาย และจากโลกนี้ไป สู่ที่ใดก็ไม่ทราบ ต่อไปจะอยู่ที่ไหน ไม่มีใครรู้ แต่ต้องมีปัจจัยจึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจึงควรที่จะไม่ประมาท ที่จะศึกษาอบรมเจริญปัญญา เจริญกุศลทุกประการขัดเกลายิ่งๆ ขึ้นไป เพราะประโยชน์ของปัญญา คือ เป็นเครื่องบั่นทอนสังสารวัฏฏ์ เพราะ สังสารวัฏฏ์ของคนพาลผู้ไม่รู้สัจจธรรมย่อมยาวนาน

๒๐. ความต่างของปัญญาที่ฟังและการประจักษ์แจ้งธรรม

ความเข้าใจขั้นฟัง ขั้นพิจารณา แต่ไม่ได้ประจักษ์การเกิดดับ ก็เข้าใจว่าทุกอย่างหมดไป เพราะสภาพธรรมเกิดแล้วต้องดับ แต่ถ้าปัญญาเจริญโดยรู้ว่าเป็นธรรม สะสมการรู้ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง ปัญญาสามารถคมกล้าที่จะรู้การเกิดดับด้วยปัญญานั้น

๒๑. เข้าใจธรรมที่เป็นอดีตได้อย่างไร?

ความไม่รู้ทราบอดีตไม่ได้ ต้องเป็นปัญญาที่จะทราบได้ ขณะที่คิดเดี๋ยวนี้เองก็เป็นอดีตไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่เกิดที่เกิดขึ้นก็เป็นปัจจุบัน จะรู้จักธรรมที่เป็นอดีต[1]ได้ ก็เมื่อขณะที่กำลังรู้สภาพธรรม ในปัจจุบันที่หมดไป เพราะฉะนั้นจะรู้จักอดีต ก็เมื่อรู้ความจริงที่เป็นปัจจุบัน และถ้ารู้จักอดีตแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยเรื่องอดีตชาติเพราะว่าก็เป็นอย่างนี้ เป็นสิ่งที่มีแล้วไม่มี แล้วก็มีแล้วไม่มี สืบต่อไป อย่างนี้มานานแสนนาน ถ้าไม่เข้าใจขณะนี้ ก็ไม่เข้าใจอดีตไม่ว่าสมัยใด เพราะล่วงเลยการรู้อดีตที่เป็น อดีต จริงๆ ในขณะนี้

๒๒. รู้รูปขณะก่อนได้อย่างไร?

ขณะนี้มีรูปที่กำลังปรากฏ ซึ่งไม่ต้องใช้คำว่ารูปก็ได้ และไม่ใช่รูปเดียวกับรูปที่ปรากฏ ในขณะก่อน ซึ่งจะรู้ได้ต้องด้วย ปัญญาที่อบรมแล้ว ที่รู้การเกิด การดับการที่รูปกำลังเกิด จึงสามารถที่จะรู้รูปในขณะก่อน ซึ่งเป็นความไม่เที่ยงได้ ความจริง คือ แม้การเกิดดับที่นับไม่ถ้วน อย่างนี้ ก็ยังไม่ทราบแม้ขณะเดียว เพราะฉะนั้นตั้งต้นด้วยการฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจว่าขณะนี้เป็น ธรรม

๒๓. ความหมายของเบื่อหน่ายในสังขารธรรม

ถ้าไม่ทราบว่าขณะนี้ธรรมเกิดดับ เพียงเข้าใจเรื่องราวของธรรม จะเป็นปัญญาที่สมบูรณ์ที่เบื่อหน่ายสังขารธรรมไม่ได้ แม้เพียงครั้งเดียวของการประจักษ์การเกิดดับ ก็ไม่เป็นปัญญาที่เบื่อ[2] แต่ต้องรู้จักลักษณะของธรรม ทีละอย่างก่อน คือสติที่ระลึกลักษณะของรูปธรรม กระทั่งเป็นปัญญา ที่ประจักษ์การเกิดดับ อบรมบ่อยๆ เนืองๆ เป็นปัญญาที่อบรมแล้วที่รู้ความจริงของสังขารธรรม จึงเป็นปัจจัยให้มีปัญญาที่หน่ายจากการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นสิ่งที่เที่ยง จึงจะสามารถประจักษ์ในวิสังขารธรรมได้ ซึ่งไม่ใช่ความเบื่อหน่ายตามภาษาชาวบ้าน

๒๔. หน่ายคลายกำหนัดจากสิ่งที่ปรากฏ

ทางตา ทุกคนมีเห็นและก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ยังไม่หน่าย เห็นแล้วก็ยังชอบในสิ่งที่เห็น ทางหู ได้ยินมาตั้งแต่เด็ก เดี๋ยวก็ได้ยินเสียงนั้น เสียงนี้ ก็ยังไม่มีการหน่ายเสียงที่ปรากฏ ให้ได้ยิน จากไม่มีเสียงแล้วก็มีเสียง แค่ได้ยินแล้วก็หมดไป แล้วก็มีเสียงปรากฏอีก แค่ได้ยินแล้ว ก็หมดไปอีก เป็นอย่างนี้ตลอดหน่ายหรือไม่? เพราะฉะนั้นถ้าจะหน่ายก็หน่ายจากสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ที่ปรากฏได้ ต้องเป็นปัญญาที่สามารถรู้ความจริง ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่าทุกอย่าง เช่น เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง แข็งบ้าง คือ ธรรม

๒๕. ศึกษาเพื่อเข้าใจพระปัญญาคุณ

การศึกษาธรรม ที่เข้าใจจริงๆ จะทำให้เห็นพระมหากรุณาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อความหมดจดจากกิเลส ซึ่งมีหนาแน่นมากทุกคน หากไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถนำกิเลสออกได้

. ละกิเลสได้ด้วยความเข้าใจตรง

ที่จะละกิเลสได้เป็นเรื่องแสนยาก แม้ฟังมาก ต้องเป็นผู้ที่ตรงเห็นถูก ในความจริงขณะที่ กำลังมีปรากฏขณะนี้ ไม่ใช่คิดเรื่องอื่น พูดถึงเห็น มีเห็น เห็นกำลังปรากฏ นั่นคือ ตรง ปัญญาเข้าใจ ก็รู้จักสิ่งที่มีจริง ที่กำลังฟัง และปรากฏซึ่งทำกิจ เช่น เห็น เกิดแล้วก็เห็น ห้ามไม่ให้ทำกิจเห็นไม่ได้ บังคับเปลี่ยนแปลงธรรมใดๆ ไม่ได้ แต่สามารถมีความเห็นถูกตามความเป็นจริงอย่างนี้

๒๗. ความเข้าใจที่น้อมไปสู่ความไม่เกิดเป็นประโยชน์อย่างไร?

ความจริงที่เกิดดับขณะนี้ แม้ปรากฏเป็นทุกข์ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ก็ยังไม่หน่าย ก็ยังพอใจที่จะเกิดต่อไปอีก เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องเห็นถูก ที่ความเข้าใจค่อยๆ น้อมไปสู่ภาวะที่ไม่เกิด ซึ่งขณะนั้น เบาสบายแน่นอน เพราะไม่เห็น ได้ยิน คิดนึกเรื่องราวในสิ่งที่ปรากฏที่ไม่รู้จบทุกขณะ เพราะความ ไม่รู้ในความชั่วคราวของธรรม

. สังขารธรรมจะสงบได้อย่างไร?

การที่จะสงบระงับสังขารธรรมได้ ต้องด้วยปัญญาเท่านั้นที่จะเห็นลักษณะของสังขารธรรม ตามความเป็นจริง รวมทั้งรู้ปัจจัยให้เกิดสังขารธรรม และเห็นว่าสังขารธรรมเกิดแล้วดับแล้วไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เมื่อมีปัจจัยก็เกิดอีก เพราะฉะนั้นการฟัง คือ การอบรมความเห็นถูก ในสภาพธรรมตามความเป็นจริงเท่านั้นที่จะสามารถดับอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องได้ กระทั่งสังขารธรรมสงบระงับไม่กลับมาอีก

๒๙. ข้อความในพระไตรปิฎกทั้งหมดเพื่อแสดงให้เข้าใจอะไร?

พระผู้มีพระภาคเจ้าทุกพระองค์ทรงตรัสรู้ธรรม ทรงแสดงธรรม เพื่อให้รู้ความจริงเห็นความจริงของธรรม แต่เราลืมว่าข้อความในพระไตรปิฎกทั้งหมดเป็นธรรม ลืมเพราะทรงจำไว้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นขณะที่ฟังธรรม คิดว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ภูเขา ณ กาลเวลาหนึ่ง หรือว่าเข้าใจตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมที่ไม่เที่ยงและไม่ว่าสิ่งนั้น จะถูกเรียกว่าอะไรทั้งหมดก็ เกิดดับ หมดไปแล้ว ไม่เที่ยง

๓๐. ปิฎกทั้งสามสอดคล้องกันคือเพื่อเข้าใจธรรม

ถ้ากล่าวถึงธรรม ต้องเป็นอภิธรรม เพราะธรรมมีความลึกซึ้ง จึงเป็นอภิธรรม เช่น ขณะนี้ทุกคนรู้ว่า เห็น ได้ยินเป็นธรรม แม้รู้อย่างนี้ ก็ยังไม่ประจักษ์ความเป็นจริงว่าเป็นธรรม ซึ่งเกิดดับ เพราะฉะนั้นความลึกซึ้งทั้งหมดของธรรมจึงเป็นอภิธรรมทั้งพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรมต้องประกอบกัน โดยนัยของพระวินัยเพื่อกำจัดกิเลส ก็คือกำจัดความไม่รู้ด้วย และพระวินัยก็ละเอียดลึกซึ้งมาก ซึ่งก็เป็นธรรม เพราะหากไม่มีธรรมก็ไม่มีกิเลส ก็ไม่มีการกำจัดกิเลส เพราะฉะนั้นการฟังธรรมทั้งหมดจากพระไตรปิฎกก็เพื่อเข้าใจธรรม

๓๑. หลงลืมความจริงที่คิด

คิดก็เป็นธรรม คิดเรื่องราวต่างๆ เช่น คนนั้นเป็นอย่างนี้ แต่ไม่รู้เลยว่าขณะนั้นไม่ใช่เราที่คิด แต่เป็นธรรมที่คิด

๓๒. อนุสัยนอนเนื่องอย่างไร?

ขณะที่โลภมูลจิตเกิด ก็มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าโลภะไม่เกิด โลภะนั้นก็ยังมีอยู่ในจิต เพราะยังไม่ได้ดับไปอย่างแท้จริง ยังมีพืชเชื้ออยู่ ถ้าดับหมดไปจริงๆ ก็เกิดขึ้นมาอีกไม่ได้เลย ซึ่งอกุศลถ้าไม่เกิด ก็ไม่ทราบว่ามี แต่ถ้าเกิดก็คือ ทำกิจการงานนั้นๆ เช่นโลภะก็ติดข้อง ซึ่งเกิดร่วมพร้อมกับ อหิริกะ อโนตตัปปะ เป็นต้น และดับพร้อมจิต แต่อนุสัยไม่ได้เกิดดับ แต่มีอยู่ในจิต เป็นกิเลสที่ละเอียด นอนเนื่องอยู่ในจิตทุกขณะ ซึ่งเป็นอย่างนี้มามากกว่าแสนโกฏิกัปป์ที่จะดับได้ก็ต่อเมื่อมรรคจิตเกิด ทำกิจดับอนุสัยตามสมควรแก่อริยมรรคกล่าวคือ

โสตาปัตติมรรคจิต ดับทิฏฐานุสัย และ วิจิกิจฉานุสัย,

อนาคามิมรรคจิต ดับกามราคานุสัย และ ปฏิฆานุสัย,

อรหัตตมรรคจิต ดับ ภวราคานุสัย มานานุสัย และ อวิชชานุสัย

๓๓. ความประพฤติที่สุดของศีล

ถ้าเข้าใจธรรมก็สามารถรู้ได้ว่า เพราะอะไรจึงเป็นพระวินัย เพื่อใคร ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะสิกขาบท ของพระภิกษุ แม้ธรรมอื่นๆ ก็มีด้วย เช่น ศีลของคฤหัสถ์ ที่วิรัติไม่ฆ่า บางคนคิดว่าเป็นข้อห้าม แต่ ไม่มีใครห้ามกิเลสไม่ให้เกิดได้ ศีลจึงไม่ใช่เรื่องเผิน และความประพฤติที่สุดของศีล คือ เห็นความเสียภายในจิต ว่าเป็นอกุศล จึงวิรัติทุจริต ไม่เพียงแต่เกรงผลในนรก แต่สามารถรู้ความละเอียดของจิตขณะนั้นว่าเป็นอกุศลทั้งทางกาย วาจาที่ไม่ดี หากไม่มีปัญญาจะบริสุทธิ์ไม่ได้

๓๔. อารักขโคจรที่เกิดขึ้นเพราะความเข้าใจ

ถ้าเข้าใจตามธรรมที่ทรงแสดงที่ลึกซึ้ง สามารถจะทำให้ผู้ไม่ประมาทเห็นพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่เว้นแม้กาลเดียว จะอยู่ที่ไหน คิดอะไร เมื่ออกุศลเกิด ก็สามารถให้อารักขโคจร เกิด ที่จะละอกุศลนั้นด้วย หิริ โอตัปปะ ที่เห็นโทษของอกุศล

---------------------------------------

[1] สามารถศึกษาความละเอียดของอดีต อนาคต ปัจจุบันได้ จากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาคปัญญา เล่ม ๓ กล่าว แบ่งโดย ๔ นัย คือ อัทธาปริจเฉท (ก่อนปฏิสนธิในชาตินี้เป็นอดีต หลังปฏิสนธิแล้วเป็นอนาคต ตั้งแต่ปฏิสนธิกระทั่งจุติของชาตินี้ คือ ปัจจุบัน) สันตติปริจเฉท (กำหนด อดีต อนาคต ปัจจุบัน โดย ฤดู และ อาหารที่ยังมิได้แปลก) สมยปริจเฉท (แบ่งตามกาลที่กามพจรเสวยอารมณ์แห่งละวิถีๆ ฝ่ายมหัคคตจิต ก็คือ การเข้าสู่สมาบัติแต่ละครั้ง คือปัจจุบัน อารมณ์ที่ดับแล้ว คืออดีต และอารมณ์ที่ยังไม่เกิดและจะเกิด คืออนาคต) และขณปริจเฉท (แบ่งละเอียดที่สุดโดยขณะจิต คือ อุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ นี้คือ ปัจจุบัน จิตเบื้องหน้าที่ยังไม่เกิด คือ อนาคต และจิตที่ดับไปแล้ว คือ อดีต ดังนี้)

[2] วิปัสสนาที่มีกำลังอ่อน ซึ่งได้แก่ สังขารปริจเฉทญาณ (นามรูปปริจเฉทญาณ รู้ความต่างของรูปนาม ตามจริง) กังขาวิตรณญาณ (ปัจจยปริคคหญาณ รู้ปัจจัยของสภาพธรรม) สัมมสนญาณ (รู้การเกิดดับสืบต่อของธรรมอย่างเร็ว) มัคคมัคคญาณ (อุทยพยญาณ คือ ปัญญาที่พิจารณาการเกิดดับของธรรมโดยทั่วทุกทวาร ที่พ้นแล้วจากวิปัสสนูปกิเลส) ย่อมเป็นปัจจัยให้แก่ วิปัสสนาที่มีกำลังกล้า ได้แก่ ภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวานุปัสสนาญาณ นิพพิทาญาณ (ปัญญาทั้ง ๓ คือ ปัญญาที่สะดุ้งกลัวเห็นภัย เห็นโทษ และเหนื่อยหน่าย ตามลำดับ) มุญจิตุกัมยตาญาณ (ปัญญาที่ปรารถนาความพ้นจากสังขารธรรม) ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ (ปัญญาที่แสวงหาอุบายพ้นจากสังขารธรรม) สังขารุเปกขาญาณ (ปัญญาที่พิจาณาย่ำยีสังขารธรรมโดยอนุปัสสนา ๓ เห็นตามความเป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และซึ่งสมบูรณ์พร้อมที่จะสละสังขาร เพื่อมีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่หากมีนิพพานเป็นอารมณ์ไม่ได้ ก็ยังมีสังขารเป็นอารมณ์ต่อไป) ศึกษาความละเอียดได้จาก วิสุทธิมรรค เล่ม ๓ ภาคปัญญา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
nong
วันที่ 6 ต.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เซจาน้อย
วันที่ 9 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
jaturong
วันที่ 3 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่ 10 ก.พ. 2555

ขอบคุณมากครับ และ อนุโมทนากุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Thanapolb
วันที่ 25 ก.พ. 2555

ขอบคุณมากเช่นกันครับ และ อนุโมทนากุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nakul63
วันที่ 30 ต.ค. 2555
ขอบพระคุณครับอ่านแล้วได้ความมั่นใจว่าถูกทางแน่ การประจักษ์ สังขารธรรมพร้อมละคลายตัวตนวิสังขารธรรมย่อมปรากฏ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
papon
วันที่ 15 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
peem
วันที่ 7 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 15 ธ.ค. 2557

สาธุ อนุโมทนา และ ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
เจียมจิต
วันที่ 29 พ.ย. 2560

๑๙. เครื่องบั่นทอนสังสารวัฏฏ์

ไม่มีใครทราบล่วงหน้าว่าความตายจะมาถึงเมื่อไร ถ้ายังไม่มีการดับกิเลสเป็นสมุทเฉท ก็ต้องมีการเกิดแล้วตาย และจากโลกนี้ไป สู่ที่ใดก็ไม่ทราบ ต่อไปจะอยู่ที่ไหน ไม่มีใครรู้ แต่ต้องมีปัจจัยจึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจึงควรที่จะไม่ประมาทที่จะศึกษาอบรมเจริญปัญญา เจริญกุศลทุกประการขัดเกลายิ่งๆ ขึ้นไป เพราะประโยชน์ของปัญญา คือ เป็นเครื่องบั่นทอนสังสารวัฏฏ์ เพราะ สังสารวัฏฏ์ของคนพาลผู้ไม่รู้สัจจธรรมย่อมยาวนาน

ขอกราบอนุโมทนาอย่างสูง เป็นบุญแท้ๆ ที่ได้อ่านได้เห็น และอนุโมทนาทุกท่านด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 10 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ