โสภณเจตสิกที่ตรงกันข้ามกับมานะเจตสิก
โสภณเจตสิกที่ตรงกันข้ามกับมานะเจตสิกคืออะไร
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
โสภณ (ดีงาม) + เจตสิก (สภาพที่ประกอบกับจิต) เจตสิกที่เกิดกับโสภณจิต หมายถึง เจตสิกที่ดีงาม ไม่มีโทษ และเกิดกับจิตได้ทั้ง ๓ ชาติ คือ กุศลชาติ วิบากชาติ และกิริยาชาติ
โสภณเจตสิกมี ๒๕ ดวงหรือประเภท ได้แก่ โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง (ดู โสภณสาธารณเจตสิก) วิรตีเจตสิก ๓ ดวง ได้แก่ ...สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันตะ ๑ สัมมาอาชีวะ ๑ อัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวง ได้แก่ ...กรุณา ๑ มุทิตา๑ และ ปัญญาเจตสิก ๑ ดวง
ส่วนมานะ เป็นเจตสิก ที่เป็นอกุศลเจตสิก ดังนั้น มานะจึงไม่ใช่โสภณเจตสิก ที่เป็นเจตสิกฝ่ายดีครับ เพราะมานะเจตสิกเป็นอกุศลเจตสิก อกุศลเจตสิก ไม่เกิดร่วมกับโสภณเจตสิกและโสภณจิตใดๆ เลย ซึ่งโสภณเจตสิกที่ตรงกันข้ามกับมานะเจตสิก โดยไม่ตรงนั้นไม่มีครับ ไม่ใช่มีเจตสิกฝ่ายดีจำเพาะเจาะจงที่ตรงกันข้ามกับมานะเจตสิกครับ เพียงแต่ว่าสภาพธรรมฝ่ายดี ที่เป็นลักษณะคือ ความอ่อนน้อม ถ่อมตน ก็เป็นสภาพธรรมที่ดี ที่ตรงกันข้ามกับมานะ เพราะขณะนั้น ไม่มีการเปรียบเทียบ แต่อ่อนน้อมในสิ่งที่ควรอ่อนน้อม เป็นต้น
ส่วนการลดมานะได้ในชีวิตประจำวัน ก็ไม่พ้นจากความเข้าใจถูก คือ การเจริญขึ้นของปัญญา เพราะเมื่อมีปัญญา ก็ย่อมไม่เปรียบเทียบ เพราะขณะที่เปรียบเทียบ สำคัญตนประการต่างๆ ด้วยการไม่เห็นตามความเป็นจริง ต่อเมื่อใดเป็นปัญญาทีเ่กิดขณะนั้นเห็นตามความเป็นจริง ไม่เปรียบเทียบ สำคัญตนครับ ซึ่งมานะ ความสำคัญตน เป็นกิเลสที่ละเอียดมาก พระอรหันต์เท่านั้นที่ดับได้ครับ ซึ่งหนทางก็คือ ฟังพระธรรมต่อไปปัญญาเจริญขึ้นก็ค่อยๆ ลดละกิเลสประการต่างๆ ในชีวิตประจำวันไปเองครับ เพราะเป็นหน้าที่ของธรรมไม่ใช่เรา ขออนุโมทนาครับ
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
กราบอนุโมทนาอาจารย์ค่ะ ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ
อาจารย์คะ แล้วคนที่บ้ายอ ชอบสรรเสริญ อันนี้เกี่ยวกับมานะด้วยหรือเปล่าค่ะ
เรียนความเห็นที่ 2 ครับ
คนที่บ้ายอ ชอบคำชม คำสรรเสริญ เป็นโลภะ แต่ไม่ใช่มานะครับ ถ้าเป็นมานะ ต้องมีลักษณะเปรียบเทียบ มีความสำคัญตน เปรียบเทียบว่าเราดีกว่า เสมอ หรือต่ำกว่าคนอื่น แต่ขณะที่ชอบคำชม บ้ายอ ขณะนั้น เพียงเป็นความติดข้อง พอใจในคำชมและก็ต้องการคำชม เป็นโลภะะ แต่ไม่ใช่มานะครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า มานะ คือ อะไร? ถึงจะเข้าใจถึงธรรมที่ตรงกันข้ามกับมานะได้ ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงเลย ทั้งมานะ และ ธรรมที่ตรงกันข้ามกับมานะ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว กุศลธรรมทั้งหมด ย่อมตรงกันข้ามกับอกุศลธรรม
มานะ ในทางโลกเข้าใจกันว่าเป็นความพยายามบากบั่นขยันหมั่นเพียร แต่ในทางธรรม มานะ เป็นความสำคัญตน เป็นความทะนงตน ถือตน เป็นเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) ประเภทหนึ่ง เป็นอกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิตเท่านั้น มานะ เป็นความถือตนทะนงตน ซึ่งไม่มีใครชอบอย่างแน่นอน ผู้ที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ มานะก็ยังมี แต่ว่าความหยาบ ความเบาบางก็แตกต่างกันออกไป เมื่อศึกษาในเรื่องของมานะ ซึ่งเป็นอกุศลเจตสิกประเภทหนึ่ง ทำให้เห็นว่าอกุศลในชีวิตประจำวันมีมากจริงๆ แล้วแต่ว่าใครจะสะสมหนักมากไปในทางใด หรือว่า ใครจะสามารถขัดเกลาให้เบาบางลงได้ในแต่ละทาง ซึ่งธรรมที่ขัดเกลามานะ ก็จะต้องเป็นกุศลธรรมเท่านั้น ที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวันมี ความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นต้น เพราะขณะนั้น จิตใจอ่อนโยน ไม่หยาบกระด้าง และประการสำคัญ การอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเริ่มจากการฟัง การศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สามารถไปถึงซึ่งการดับกิเลสได้ รวมถึงกิเลสที่กำลังกล่าวถึง คือ มานะ ด้วย กิเลสทั้งหลายที่มีนั้น ต้องเป็นผู้มีปัญญา ถึงจะดับได้ ถ้าไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถดับกิเลสใดๆ ได้เลย ครับ.
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความต่อไปนี้เพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น ครับ
มานะ [ธรรมสังคณี]
โทษของมานะ [มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์]
ใจเจียม ด้วยไม่มีมานะ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
"ธรรมที่ขัดเกลามานะ ก็จะต้องเป็นกุศลธรรมเท่านั้น ที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวันมี ความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นต้น.."
"ถ้าไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถดับกิเลสใดๆ ได้เลย"
"ปัญญาเจริญขึ้น ก็ค่อยๆ ลดละกิเลสประการต่างๆ ในชีวิตประจำวันไปเองครับ เพราะเป็นหน้าที่ของธรรม ไม่ใช่เรา"
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณผเดิม อ.คำปั่น และทุกท่านค่ะ
กราบอนุโมทนาอาจารย์ และทุกๆ ท่านค่ะ
ขอบพระคุณอย่างสูง ดิฉันว่าการดูถูกคนก็เป็นมานะ ค่ะ
จะลดมานะ ต้องมีปัญญา คือ การอบรมเจริญกุศลทุกประการ ในพระไตรปิฏกก็มีแสดงไว้ เช่น เจ้าศากยะที่ออกบวช ท่านเหล่านั้นมีความสำคัญตนเป็นกษัตริย์ต้องการลดมานะ จึงให้พระอุบาลีซึ่งเป็นช่างกัลบก บวชก่อน ตนเองก็บวชทีหลัง เพราะผู้บวชทีหลังต้องให้ความเคารพผู้บวชก่อน ท่านเหล่านั้นก็มีความอ่อนน้อมถ่อมตนกับพระอุบาลี เป็นการขัดเกลากิเลส ขัดเกลามานะของตนเองค่ะ