ทอดกฐิน ต้องมีภิกษุอย่างต่ำกี่รูป

 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่  22 ต.ค. 2554
หมายเลข  19923
อ่าน  46,442

ในการทอดกฐิน บ้างก็ว่าต้องมีพระภิกษุอย่างต่ำ ๕ (ห้า) รูป แต่บ้างก็ว่า เพียง ๔ (สี่) รูปก็รับได้ ขอทราบว่า ในพระไตรปิฎกมีกำหนดจำนวนพระภิกษุที่จะรับกฐินได้ไว้ หรือไม่ว่าอย่างต่ำต้องมีกี่รูป

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 23 ต.ค. 2554

วินัยกรรมเรื่องกฐินเป็นเรื่องที่ละเอียดมากครับ คือ เป็นสังฆกรรมที่สงฆ์ต้องร่วมกันทำตั้งแต่การจะให้ผ้ากับผู้รูปใด การกราน เป็นต้นขณะที่สงฆ์ลงมติให้ผ้ากฐิน สงฆ์ ๔ รูป ให้ผ้าแก่ภิกษุ ๑ รูป สังฆกรรมนี้ใช้ภิกษุ รวมเป็น ๕ รูป ในขณะที่กรานเป็นต้นก็นัยนี้ เหมือนกัน สรุปคือ สังฆกรรมเกี่ยวกับกฐิน อย่างน้อยต้องใช้พระภิกษุ ๕ รูปขึ้นไป สมดัง

ข้อความในพระวินัยปิฎก มหาวรรค กฐินขันธกะ ดังนี้

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 229

ว่าด้วยผู้ได้กรานกฐิน

วินิจฉัยในคำว่า เอวญฺจ ปน ภิกฺขเว กฐินํ อตฺถริตพฺพํ นี้ พึงทราบดังนี้:-

ในมหาปัจจรี แก้ว่า ถามว่า ใครได้กรานกฐิน ใครไม่ได้

ตอบว่า ว่าด้วยอำนาจแห่งจำนวนก่อน ภิกษุ ๕ รูปเป็นอย่างต่ำย่อมได้กราน อย่างสูงแม้แสนก็ได้ หย่อน ๕ รูป ไม่ได้ ว่าด้วยอำนาจภิกษุผู้จำพรรษา ภิกษุผู้จำพรรษาในปุริมพรรษาปวารณาในวันปฐมปวารณาแล้ว ย่อมได้ ภิกษุผู้มีพรรษาขาด หรือจำพรรษาในปัจฉิมพรรษา ย่อมไม่ได้ แม้ภิกษุที่จำพรรษาในวัดอื่นก็ไม่ได้ และภิกษุทั้งปวงผู้จำพรรษาหลัง เป็นคณปูรกะของภิกษุผู้จำพรรษาต้นก็ได้ ...

ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมเรื่องกฐินที่ ...

กฐิน ในพระพุทธศาสนา [ตอนที่ ๑]

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 23 ต.ค. 2554

ที่เรียนถามประเด็นนี้เนื่องจากในพระไตรปิฎก (จัมเปยยขันธกะ พระวินัยปิฎก มหาวรรคภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๑๘๗) มีพระพุทธพจน์ว่า สงฆ์จตุรวรรค (คือสี่รูป) ทำสังฆกรรมได้ทุกอย่าง ยกเว้นสังฆกรรมเพียง ๓ อย่าง คือ อุปสมบท ปวารณา และอัพภาน นั่นหมายความว่า ภิกษุสี่รูปย่อมสามารถรับกฐินได้ (เพราะกฐินไม่ได้อยู่รายการยกเว้นทั้ง ๓ เรื่องนั้น)

ข้อความที่ยกมาตอบใน ความคิดเห็นที่ 1 นั้น เป็นมติของคัมภีร์ อรรถกถา ซึ่งมีน้ำหนักรองลงมาจากพระไตรปิฎก และมีหลักอยู่ว่า ถ้าอรรถกถาแย้งกับพระไตรปิฎก ต้องยึดตามพระไตรปิฎกเป็นหลัก

ขอความกรุณาท่านผู้รู้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวนี้ด้วยครับ

ขอขอบพระคุณ และอนุโมทนาอย่างยิ่งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
prachern.s
วันที่ 24 ต.ค. 2554

เรียน นาวาอากาศเอก ทองย้อย ครับ

ตามที่ท่านยกข้อความในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ จัมเปยยขันธกะ แสดงสงฆ์ จตุรวรรค กระทำสงฆกรรมได้หลายประเภท เว้นเพียง ๓ สงฆกรรม ตามที่กล่าวก็ถูกต้อง และไม่ขัดแย้งกับอรรถกถาในกฐินขันธกะ ที่แสดงจำนวนภิกษุ ๕ รูป ในการกรานกฐิน อย่าลืมว่า การกรานกฐินจะสำเร็จนั้น ถ้ามีภิกษุ ๕ รูป ภิกษุบุคคล ๑ รูป กรานกฐิน สงฆ์ ๔ รูป อนุโมทนา และลำดับตั้งแต่การให้ผ้าเป็นต้น สงฆ์มีมติให้ผ้าแก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนั้น สงฆกรรมเกี่ยวกับกฐิน จะต้องมีภิกษุ ๕ รูป การกรานกฐินจึงสำเร็จ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 25 ต.ค. 2554

เพื่อความเข้าใจตรงกัน ขออนุญาตเรียนด้วยความเคารพ ดังนี้

ข้อ ๑

ก. คัมภีร์ชั้นบาลีบอกว่า ภิกษุสี่รูปสามารถรับกฐินได้

ข. คัมภีร์ชั้นอรรถกถาบอกว่า ภิกษุสี่รูปรับกฐินไม่ได้ อย่างต่ำต้องห้ารูปจึงจะรับได้ จะใช้หลักเหตุผลอย่างไรจึงเห็นว่า คัมภีร์ชั้นบาลีกับคัมภีร์ชั้นอรรถกถา ไม่ขัดแย้งกัน

ข้อ ๒ มีคัมภีร์ชั้นบาลีตรงไหนบ้างที่ระบุว่า ภิกษุสี่รูปรับกฐินไม่ได้ อย่างต่ำต้องห้ารูปจึงจะรับได้

กระผมต้องการได้หลักความรู้ในประเด็นทั้งสองข้อนี้ก่อน ส่วนการกรานกฐินจะสำเร็จได้ด้วยภิกษุกี่รูป หรือด้วยเหตุผลอะไร เป็นขั้นการแสดงความเห็น น่าจะเอาไว้แสดงเมื่อได้หลักความรู้ทั้งสองข้อข้างต้นนั้นเป็นที่ยุติแล้ว ขอท่านผู้รู้กรุณาเสนอหลักความรู้ในข้อ ๑ และข้อ ๒ ข้างต้นนั้นก่อนครับ

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาล่วงหน้าไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
prachern.s
วันที่ 26 ต.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 4 ครับ

ส่วนตัวผมเข้าใจในเรื่องนี้ว่า พระบาลีแสดงมุ่งไปที่จำนวนของพระภิกษุที่กระทำสังฆกรรมนั้นๆ แต่ข้อความในอรรถกถามุ่งอธิบายการกรานกฐินสำเร็จจริงอยู่การรับผ้ากฐิน จำนวนภิกษุไม่ครบ ๕ ก็รับได้ แต่การกรานกฐินต้อง ๕ รูปขึ้นไป และอรรถกถาที่ท่านอธิบายนั้นท่านเข้าใจพุทธประสงค์อย่างแท้จริง มิได้ขัดแย้งกับพระพุทธพจน์ เพราะว่าอรรถกถาในยุคต้นๆ ท่านล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้นดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่พระอรหันต์จะอธิบายขัดแย้งกับพระบาลี เว้นไว้แต่ผู้ศึกษาเข้าใจผิดเอง และยังไม่พบหลักฐานในขั้นบาลีที่กล่าวถึง ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
คนวัดใหญ่
วันที่ 27 ต.ค. 2554

ขออภัยท่านอาจารย์ทั้งสองท่านนะครับ พอดีผมมีข้อสงสัยเกี่ยวกับกฐินเพิ่มเติม ไม่อยากตั้งหัวข้อใหม่ เรื่องก็มีอยู่ว่า พระอาจารย์ที่ผมรู้จักรูปหนึ่ง ท่านจะทอดกฐินวันที่ ๑ ที่จะถึงนี้ แต่มีเหตุบังเอิญว่า โยมบิดาเสียชีวิต ต้องเดินทางไปงานศพกลับมาไม่ทันกฐินที่วัดตนเอง ในกรณีนี้ สามารถไปอนุโมทนากฐินที่วัดบ้านเกิดซึ่งจะทอดในวันที่ ๔ ตุลาคม ได้หรือไม่ และจะได้อานิสงส์กฐินหรือเปล่าครับ ความจริงผมก็อ่านในคัมภีร์บริวาร คัดมาดังนี้

ถ. สงฆ์สวดปาติโมกข์ คณะสวดปาติโมกข์ บุคคลสวดปาติโมกข์ หรือ?

ต. สงฆ์หาได้สวดปาติโมกข์ไม่ คณะหาได้สวดปาติโมกข์ไม่ แต่บุคคลสวดปาติโมกข์, สงฆ์หาได้สวดปาติโมกข์ไม่ คณะหาได้สวดปาติโมกข์ไม่ แต่บุคคลสวดปาติโมกข์ ได้ชื่อว่า สงฆ์ไม่ได้สวดปาติโมกข์ คณะไม่ได้สวดปาติโมกข์ แต่บุคคลสวดปาติโมกข์. หรือ เพราะ ความสามัคคีแห่งสงฆ์ เพราะความสามัคคีแห่งคณะ เพราะบุคคลสวด ได้ชื่อว่า สงฆ์สวด ปาติโมกข์ คณะสวดปาติโมกข์ บุคคลสวดปาติโมกข์ ฉันใด สงฆ์หาได้กรานกฐินไม่ คณะ หาได้กรานกฐินไม่ แต่บุคคลกรานกฐิน, เพราะสงฆ์อนุโมทนา เพราะคณะอนุโมทนา เพราะ บุคคลกราน ได้ชื่อว่า สงฆ์กรานกฐิน คณะกรานกฐิน บุคคลกรานกฐิน ฉันนั้นเหมือนกัน

อ่านอรรถกถาแล้วก็ได้งง ไปตามๆ กัน ที่ผมติดใจมากก็คือ คำว่า "สงฆ์กรานกฐิน คณะกรานกฐิน บุคคลกรานกฐิน" ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด คิดว่า ๓ คำนี้แยกกันชัดเจน คำว่า "สงฆ์ คณะ บุคคล" ผมเข้าใจว่า

๑. สงฆ์ คือ ภิกษุผู้จำพรรษาในอาวาสนั้น (แม้มีเพียงรูปเดียว) แต่ในอรรถกถา อนุโลมให้สามเณรอายุครบ แต่บวชในพรรษาหลังได้กราน และ อานิสงส์ด้วย

๒. คณะ คือ ภิกษุผู้จำพรรษาหลัง ตามอรรถกถา ถือเป็นคณะปูรกะ และ ภิกษุูผู้อยู่ในอาวาสอื่น

๓. บุคคล คือ ภิกษุผู้รับผ้าและกรานกฐิน

ผมไม่เข้าใจ ตกลงคำว่า สงฆ์ กับคำว่า คณะ นี่ มันเป็นความหมายเดียวกัน หรือแยกกันเด็ดขาด เพราะถ้าเป็นความหมายเดียวกัน อาจารย์ผม ก็จัดอยู่กลุ่มที่เป็นคณะเพราะมาจากอารามอื่น แต่ในคัมภีร์ก็บอกว่า "คณะได้กราน" เมื่อคัมภีร์ชั้นต้นบอกว่า "คณะได้กราน" แล้วคณะจะไม่ได้อานิสงส์ได้อย่างไร

ขอรบกวนอาจารย์ทั้งสอง ช่วยให้ความกระจ่างด้วยครับจะเป็นพระคุณอย่างสูง

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 27 ต.ค. 2554

ก็เห็นจะต้องตั้งประเด็นใหม่ คือ คัมภีร์ชั้นบาลี (พระไตรปิฎก) ว่า สงฆ์จตุรวรรค (คือสี่รูป) ทำสังฆกรรมได้ทุกอย่าง ยกเว้นสังฆกรรมเพียง ๓ อย่าง คือ อุปสมบท ปวารณา และอัพภาน หมายความว่า

๑. ภิกษุสี่รูปทำสังฆกรรมอุปสมบทไม่ได้ (ปกติอย่างน้อยต้องสิบรูป แต่ในปัจจันตชนบทคือถิ่นที่หาภิกษุยาก อย่างน้อยต้องห้ารูป)

๒. ภิกษุสี่รูปทำสังฆกรรมปวารณาไม่ได้ (อย่างน้อยต้องห้ารูป)

๓. ภิกษุสี่รูปทำสังฆกรรมอัพภานไม่ได้ (อย่างน้อยต้องยี่สิบรูป)

ถ้าคัมภีรืชั้นบาลี (พระไตรปิฎก) จะบอกว่า สงฆ์จตุรวรรค (คือสี่รูป) ทำสังฆกรรมได้ทุกอย่าง ยกเว้นสังฆกรรมเพียง สี่ อย่าง คือ อุปสมบท ปวารณา อัพภาน และกรานกฐิน ก็จะไม่มีข้อสงสัย เพราะเราก็เข้าใจต่อไปได้เลยว่า

๔. ภิกษุสี่รูปกรานกฐินไม่ได้ (อย่างน้อยต้องห้ารูป)

คำถามคือ ทำไมคำว่า และกรานกฐิน จึงไม่ปรากฏในรายการยกเว้นเหมือนกับอุปสมบท ปวารณา และอัพภาน ซึ่งภิกษุสี่รูปทำไม่ได้ และ ซึ่งทำให้เข้าใจว่า กรานกฐินนั้นภิกษุสี่รูปก็ทำได้

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
คนวัดใหญ่
วันที่ 27 ต.ค. 2554

คัมภีร์บริวารยกตัวอย่างการสวดปาฏิโมกข์มาเป็นต้นแบบของ กรานกฐิน ในการสวดพระปาฏิโมกข์ พระสงฆ์จากอารามอื่นก็มาร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าจะอธิบายความในเนื้อหาที่ว่า "เพราะสงฆ์อนุโมทนา เพราะคณะอนุโมทนา เพราะบุคคลกราน ได้ชื่อว่า สงฆ์กรานกฐิน คณะกรานกฐิน บุคคลกรานกฐิน ฉันนั้นเหมือนกัน" จะไม่เป็นการอธิบายความเกินเลยคัมภีร์ชั้นต้นเหรอครับ ผมมีความรู้น้อยมาก เพิ่งเริ่มศึกษา ขอท่านอาจาย์ได้เมตตา ให้ความกระจ่างด้วยครับ จะได้เป็นเครื่องประดับสติปัญญาต่อ

ขอบพระคุณอาจารย์ล่วงหน้าด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
prachern.s
วันที่ 28 ต.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 6 ครับ

ขอแสดงความเห็นส่วนตัวเท่าที่ผมเข้าใจนะครับ เข้าใจว่า พระภิกษุรูปนั้นท่านไม่ได้อยู่กรานกฐินในวัดที่ท่านจำพรรษา ก็ไม่ได้อานิสงส์กฐิน แม้ว่าท่านจะไปร่วมกรานกฐินที่วัดบ้านเกิด ซึ่งตัวท่านไม่ได้จำพรรษาที่นั่น ก็ไม่ได้อานิสงส์กฐินอยู่ดี ส่วนคำว่า สงฆ์ คณะ บุคคล โดยมากเมื่อกล่าวถึงคำว่า สงฆ์ หมายถึงพระภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป คณะ หมายถึงจำนวนพระภิกษุ ๒ หรือ ๓ รูป บุคคล หมายถึงพระภิกษุรูปเดียว และคำว่าคณะกรานกฐิน คงจะหมายถึงจำนวนพระภิกษุ ๓ รูปจำพรรษาในอาวาส นิมนต์ภิกษุจากอาวาสอื่นอีก ๒ รูป มาเพื่อร่วมกรานกฐิน อย่างนี้ชื่อว่า คณะกรานกฐิน พระภิกษุในอาวาสนี้ ๓ รูปได้อานิสงส์กฐิน อีก ๒ รูป ไม่ได้อานิสงส์

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
prachern.s
วันที่ 28 ต.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 7 ครับ

ผมมีความเห็นว่า ควรสอบถามพระมหาเถระผู้เป็นวินัยธร ต่อไป หรือค้นในคัมภีร์ ชั้น ฎีกา ต่อไปว่า ท่านอธิบายในเรื่องนี้อย่างไร ครับ ส่วนตัวผมเข้าใจตามคำอธิบายการกรานกฐินในพระบาลี ซึ่งจะสอดคลองกับอรรถกถาในกฐินขันธกะ คือ พระภิกษุผู้กรานกฐิน เมื่อกระทำผ้ากฐินเสร็จแล้วคือกรานกฐินแล้วจากนั้นเข้าไปหาสงฆ์ สงฆ์ในที่นี้ต้อง ๔ รูปขึ้นไป สงฆ์อนุโมทนา กฐินชื่อว่าสงฆ์ได้กรานแล้ว ดังมีข้อความจาก ปริวาร ว่า

พระวินัยปิฎก ปริวาร เล่ม ๘ - หน้าที่ 740

อธิบายการกรานกฐิน

[๑,๑๔๗]  คำว่า พึงรู้จักการกรานกฐิน นั้น มีอธิบาย ถ้าผ้ากฐินบังเกิดแก่สงฆ์ สงฆ์พึงปฏิบัติอย่างไร ภิกษุผู้กรานพึงปฏิบัติอย่างไร ภิกษุผู้อนุโมทนาพึงปฏิบัติอย่างไร สงฆ์พึงให้ผ้ากฐินแก่ภิกษุผู้กราน กฐินด้วยญัตติทุติยกรรม ภิกษุผู้กรานกฐินนั้น พึงซักขยำให้สะอาดแล้ว กะ ตัด เย็บ ย้อม ทำพินทุกัปปะแล้วกรานกฐินในวันนั้นเทียว ถ้าประสงค์จะกรานกฐินด้วยผ้าสังฆาฏิ พึงถอนผ้าสังฆาฏิผืนเก่าเสีย พึงอธิษฐานผ้าสังฆาฏิผืนใหม่ เปล่งวาจาว่า

ข้าพเจ้ากรานกฐินด้วยผ้าสังฆาฏิผืนนี้ ถ้าประสงค์จะกรานกฐินด้วยผ้าอุตราสงค์ พึงถอนผ้าอุตราสงค์ผืนเก่าเสีย พึงอธิษฐานผ้าอุตราสงค์ผืนใหม่ เปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้ากรานกฐินด้วยผ้าอุตราสงค์ผืนนี้ ถ้าประสงค์จะกรานกฐิน ด้วยผ้าอันตวาสก พึงถอนผ้าอันตวาสกผืนเก่าเสีย พึงอธิษฐานผ้าอันตรวาสกผืนใหม่ เปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้ากรานกฐินด้วยผ้าอันตรวาสกผืนนี้ อันภิกษุผู้กรานกฐินนั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ประคองอัญชลีกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า กฐินของสงฆ์กรานแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ขอท่านทั้งหลายอนุโมทนาเถิด ภิกษุผู้อันโมทนาเหล่านั้น พึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ประคองอัญชลี กล่าวอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ กฐินของสงฆ์กรานแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม เราทั้งหลายอนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 31 ต.ค. 2554

ขอสรุปเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันดังนี้ครับ

คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎก อธิบายว่า

วินิจฉัยในคำว่า เอวญฺจ ปน ภิกฺขเว กฐินํ อตฺถริตพฺพํ นี้ พึงทราบดังนี้:-

ในมหาปัจจรีแก้ว่า ถามว่า ใครได้กรานกฐิน ใครไม่ได้ ตอบว่า ว่าด้วยอำนาจแห่งจำนวนก่อน. ภิกษุ ๕ รูปเป็นอย่างต่ำย่อมได้กราน, อย่างสูงแม้แสนก็ได้ หย่อน ๕ รูป ไม่ได้ ว่าด้วยอำนาจภิกษุผู้จำพรรษา ภิกษุผู้จำพรรษาในปุริมพรรษาปวารณาในวันปฐมปวารณาแล้ว ย่อมได้ ภิกษุผู้มีพรรษาขาด หรือจำพรรษาในปัจฉิมพรรษา ย่อมไม่ได้ แม้ภิกษุที่จำพรรษาในวัดอื่นก็ไม่ได้. (คัดมาจาก ความคิดเห็นที่ 1)

ถ้ายึดตามมติของอรรถกถา ก็ได้หลักปฏิบัติที่ชัดเจนแน่นอน คือ

๑. จะรับกฐินได้ต้องมีภิกษุอย่างน้อยห้ารูป ต่ำกว่าห้ารูปรับกฐินไม่ได้ ดังนั้น วัดไหนมีพระจำพรรษาไม่ถึงห้ารูป ไม่มีสิทธิ์รับกฐิน

๒. ทั้งห้ารูปนี้จะต้องจำพรรษาในวัดเดียวกันด้วย นิมนต์มาจากวัดอื่นเพื่อให้ครบห้ารูปใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จำพรรษาวัดหนึ่ง ไปอนุโมทนากฐินอีกวัดหนึ่ง ย่อมใช้ไม่ได้

๓. ถ้าวัดนั้น (อย่าลืมว่ายังคงเป็นวัดเดียวกันนั่นเอง) มีภิกษุจำพรรษาหลังอยู่ด้วย และถ้าภิกษุที่จำพรรษาแรกมีไม่ครบห้ารูป สามารถนิมนต์ภิกษุที่จำพรรษาหลังมาร่วมเพื่อให้ครบห้ารูปได้ แต่ภิกษุที่จำพรรษาหลังจะไม่ได้รับอานิสงส์กฐิน เพราะภิกษุที่จำพรรษาหลังไม่มีสิทธิ์รับกฐินอยู่แล้ว

๔. แต่ถ้าในวัดนั้นมีสามเณรอยู่มาตั้งแต่พรรษาต้น แล้วอายุครบบวช และบวชหลังจากเข้าพรรษาต้นแล้ว จึงต้องจำพรรษาหลัง ภิกษุที่มาจากสามเณรดังกล่าวนี้ก็สามารถนิมนต์มาเพื่อให้ครบห้ารูปได้ และได้รับอานิสงส์กฐินเหมือนภิกษุที่จำพรรษาต้นด้วย (ความในข้อ ๓ และ ๔ นี้มีในคำอธิบายของอรรถกถาต่อจากที่ความคิดเห็นที่ 1 คัดมา ผู้ต้องการทราบหลักฐานกรุณาหาอ่านต่อไป)

หลักปฏิบัติตามข้อ ๒ ถึง ๔ ดังที่สรุปมานี้ ยังไม่พบคัมภีร์ชั้นพระบาลีพระไตรปิฎกที่จะขัดแย้งเป็นอย่างอื่น คงมีแต่หลักปฏิบัติตามข้อ ๑ (คือจำนวนภิกษุที่จะรับกฐินได้ต้องห้ารูป) เท่านั้น ที่คัมภีร์ชั้นอรรถกถาขัดแย้งกับคัมภีร์ชั้นพระบาลีพระไตรปิฎก (ขัดแย้งอย่างไร กรุณาอ่าน ความคิดเห็นที่ 2 และความคิดเห็นที่ 4) เพราะฉะนั้น ประเด็นอื่นๆ ชัดเจนหมดแล้ว ขอความกรุณาช่วยกันหาความรู้มาวินิจฉัยเฉพาะประเด็น ห้ารูป หรือสี่รูป นี้เท่านั้น

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
เซจาน้อย
วันที่ 4 พ.ย. 2554

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ