กฐิน ในพระพุทธศาสนา [ตอนที่ ๑]
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เนื่องจากว่า ช่วงนี้ ใกล้ออกพรรษาแล้ว และหลังจากออกพรรษา ก็จะเป็นฤดูกาลแห่งกฐิน ซึ่งมีระยะเวลา ๑ เดือน สำหรับเรื่องกฐินนั้น ชาวพุทธเข้าใจหรือยัง? หรือ ใครว่ากฐินก็กฐินตามเขา ไปทอดกฐินก็ไปทอดตามเขา พร้อมกับนำมาเล่าสู่กันฟังว่า กฐินกองนี้ได้เงินเท่านั้น เท่านี้ แต่ความเข้าใจไม่มีเลยแม้แต่น้อย จึงเป็นที่มาของกระทู้ธรรม หัวข้อนี้คือ “กฐิน ในพระพุทธศาสนา” ซึ่งในบางส่วน อาจารย์ประเชิญ แสงสุข ได้แสดงความเห็นไว้แล้วในเว็บไซต์นี้
เนื่องจากข้าพเจ้ายังเป็นผู้ใหม่ในการศึกษาพระธรรม เป็นคนที่เข้าใจอะไรค่อนข้างยาก อาจจะมีข้อผิดตกบกพร่องอยู่บ้าง ดังนั้น ข้าพเจ้าจะขอรวบรวมเรียบเรียงประมวลให้สั้นที่สุด ตามกำลังแห่งความเข้าใจของตนเอง พอเป็นแนวทางเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้นสำหรับผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ทุกท่าน แต่ถ้าท่านใดประสงค์ในรายละเอียด สามารถศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้ที่
[เล่มที่ 7]
พระวินัยปิฎกมหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 193 - 240
ในส่วนของกฐินขันธกะ และประการที่สำคัญ ถ้าหากความสงสัยจะพึงเกิดขึ้น แก่ผู้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ข้าพเจ้าจะขอความอนุเคราะห์จาก อาจารย์ประเชิญ แสงสุข ช่วยตอบคำถามในประเด็นดังกล่าวด้วย ข้าพเจ้าจะขอเริ่ม ณ บัดนี้ ....
กฐิน เป็นเรื่องของผ้าเท่านั้น
พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนของท่านผู้รู้ ผู้รู้ในที่นี้หมายถึงพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นบุคคลผู้เลิศที่สุด ประเสริฐที่สุด เจริญที่สุดในโลก ทั้งพระบริสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ พระมหากรุณาคุณ เมื่อเป็นคำสอนของท่านผู้รู้ ต้องฟัง ต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ ความรู้ความเข้าใจ จึงจะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ความรู้ความเข้าใจ เกิดเองไม่ได้ คิดเองไม่ได้ ต้องอาศัยเหตุ คือการฟัง การศึกษา นั่นเอง
ในสังคมไทย เมื่อกล่าวถึง “กฐิน” แล้ว ส่วนใหญ่ก็จะกล่าวตามความคิดเห็นตามความเข้าใจเดิมๆ ของตนเอง ซึ่งอาจจะมีหลากหลายความคิดเห็น เช่น อาจจะกล่าวว่า เป็นเรื่องของซองเงินบ้าง เป็นเรื่องของกองวัตถุทานขนาดใหญ่บ้าง หรือแม้กระทั่ง เป็นบุญกุศลที่ใครได้กระทำแล้ว จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิอีกเลย เป็นต้น นี่คือ ความคิดเห็นที่ไม่ตรงตามพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระธรรม ต้องศึกษาเท่านั้นถึงจะเข้าใจถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง แม้แต่ในเรื่องของ “กฐิน” ก็เช่นเดียวกัน
คำว่า กฐิน มี ๒ ความหมาย คือ กฐินเป็นชื่อไม้สะดึง สำหรับขึงผ้าให้ตึง เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการเย็บผ้า และ กฐินตามพระวินัยหมายถึงผ้า ซึ่งเป็นผ้าสำหรับครองของพระภิกษุ เป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่ง (ในบรรดา ๓ ผืน คือ ผ้าสบง ผ้าจีวรและผ้าสังฆาฏิ) ซึ่งก็เกี่ยวโยงว่าผ้าที่จะมาทำเป็นผ้าครองนั้น ต้องมีการขึงให้ตึงสำหรับเย็บผ้าผืนดังกล่าวนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาต แก่พระภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือน โดยไม่ขาด โดยต้องใช้ภิกษุอย่างน้อย ๕ รูปขึ้นไป ในการมอบผ้า ต้องมีการสวดประกาศด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา เป็นสังฆกรรมที่จะต้องทำในสีมา โดยภิกษุ ๔ รูปซึ่งเป็นสงฆ์ เป็นผู้มอบผ้ามห้แก่ภิกษุ ๑ รูป ที่เหมาะควรในการรับผ้านั้น
ครั้งแรก พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปรารภภิกษุ ชาวเมืองปาฐา ๓๐ รูป ซึ่งมีความประสงค์จะมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่วิหารพระเชตวัน ตอนนั้น จวนเข้าสู่ช่วงเข้าพรรษา ไม่สามารถเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถี ก็เลยอยู่จำพรรษาตามพระวินัย ณ เมืองสาเกต เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านเหล่านั้นก็เดินทางต่อทันที ในช่วงนั้นฝนยังไม่หมด ทำให้จีวรเปียกชุ่มด้วยน้ำ เกิดความลำบาก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภในเรื่องนี้ จึงทรงอนุญาต ให้ภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้ว ทำการกรานกฐิน เพื่อเปลี่ยนผ้าในช่วงจีวรกาล ซึ่งเป็นเรื่องวินัยกรรมของพระภิกษุ ส่วนคฤหัสถ์ มีหน้าที่เพียงถวายผ้าเท่านั้น ผ้าดังกล่าวนั้น พระภิกษุจะต้องได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ขอเขามาหรือเลียบเคียงมานั้นไม่ได้ ถ้าหากพระภิกษุไปบอกคฤหัสถ์ว่าวัดที่ตนจำพรรษานั้นยังไม่มีผู้จองกฐินเลย แล้วคฤหัสถ์นำไปถวาย อย่างนี้ไม่เป็นกฐิน เพราะเกิดจากการออกปากขอ ย่อมเป็นผ้าที่ไม่บริสุทธิ์ แต่ถ้าเป็นความประสงค์ของคฤหัสถ์ที่จะเป็นผู้ถวายโดยตรง อย่างนี้ใช้ได้ ซึ่งถ้าหากคฤหัสถ์ไม่รู้จักธรรมเนียมในการถวาย พระภิกษุสามารถแนะนำแก่คฤหัสถ์ได้ ในสมัยก่อน ผ้าที่ถวายเป็นผ้าที่ยังไม่สำเร็จรูป เป็นผ้าขาวผืนหนึ่ง ที่เพียงพอสำหรับจะทำเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในบรรดา ๓ ผืน
สำหรับระยะเวลา หรือ ขอบเขตในการถวายกฐินนั้น มีระยะเวลา ๑ เดือน คือ หลังออกพรรษาแล้ว ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
มาถึงตรงนี้ ก็พอจะทราบแล้วว่า กฐินเป็นเรื่องของผ้าเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเงินทองเลย เพราะเหตุว่า เงินทอง เป็นวัตถุที่พระภิกษุรับไม่ได้ ถ้ารับก็เป็นอาบัติ มีโทษ ถ้าไม่ปลงอาบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย เป็นเครื่องกั้นแห่งการบรรลุมรรค ผล นิพพาน และกั้นสุคติภูมิ และ คฤหัสถ์ผู้ถวายเงินทองแก่พระภิกษุ ก็ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ฉลาดในการเจริญกุศล เพราะเหตุว่า เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย เป็นเหตุให้พระภิกษุต้องอาบัติ
ประการสำคัญที่ควรพิจารณาคือ กฐิน ไม่ว่าจะเป็นยุคใด สมัยใด ถ้าหากกระทำอย่างถูกต้องตรงตามพระวินัย ย่อมเหมือนกันทั้งหมด คือ ถูกต้องทั้งหมด แต่ถ้าไม่ตรงตามพระธรรมวินัยแล้ว ย่อมไม่ถูกต้อง
สำหรับในตอนที่ ๒ จะขอกล่าวถึงใครสามารถเป็นผู้ถวายกฐินได้บ้าง กรานกฐินคืออะไร คุณสมบัติของผู้กรานกฐิน และอานิสงส์ของพระภิกษุผู้รับกฐิน
ตอนที่ ๓ จะขอกล่าวถึงเกี่ยวกับ ผู้ถวายกฐินโดยตรง จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีการถวายกฐิน กฐินเดาะ
สำหรับในตอนที่ ๔ และ ตอนที่ ๕ (ซึ่งเป็นตอนจบ) จะขอนำเสนอคำสนทนาเรื่องกฐิน ระหว่างท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ คณะวิทยากร และ ผู้ร่วมสนทนาธรรม ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ถ้าสะสมธรรมะมากขึ้น สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ก็จะทำให้เราฉลาดในการเจริญกุศล และรักษาพระวินัย ไม่ทำให้ท่านต้องอาบัติด้วยค่ะ
ความเข้าใจถูก เห็นถูก ปฏิบัติถูก อันเป็นผลจากการศึกษาพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ ทรงแสดงและบัญญัติไว้ดีแล้วเท่านั้น จึงจะเป็นการจรรโลงพระศาสนา ให้เจริญมั่นคง อย่างแท้จริง
ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณคำปั่น ในการเผยแพร่ความเข้าใจที่ถูกต้อง อันจะเป็นประโยชน์ สำหรับผู้ที่เห็นประโยชน์ ครับ
ขออนุโมทนาครับ
มีกระทู้เรื่องกฐินที่เคยสนทนากันมาแล้วขอเชิญคลิกอ่านที่ ...
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในความเอื้อเฟื้อต่อความเห็นตรงและที่ถูกต้องครับ
สาธุถูกต้องแล้วครับ ผมไม่ไปทำมั่วแล้วครับ ชาวพุทธเราต้องฉลาดในการทำบุญ
ระวังอย่าตกเป็นเหยื่อของภิกษุชั่ว
เรื่องพระวินัยเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งครับ ซึ่งก็ยากมาก ขออนุโมทนาที่อ.คำปั่นได้ยกเรื่องกฐินมา แสดงให้ละเอียด เพื่อความเข้าใจนั้นจะขจัด ละข้อประพฤติผิด ไม่สมควรทั้งหลายทิ้งไป
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
ผมติดตามรอตอนสองถึงตอนที่ห้าอยู่ครับ
เรียนความเห็นที่ 14 ครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ
กฐิน ในพระพุทธศาสนา [ตอนที่ ๒]
กฐิน ในพระพุทธศาสนา [ตอนที่ ๓]
เป็นความรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ก็หลงทำตามกันไป เพราะคิดเองว่าทำตามประเพณีที่บอกๆ กันมา เป็นสิ่งที่ถูกทุกเรื่องเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่นอีก ทั้งเป็นการทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีโทษอย่างหนัก ด้วยความไม่รู้ คิดเองว่าจะได้บุญใหญ่ บุญมาก แต่ในทางตรงกันข้ามนอกจากไม่เป็นบุญแล้วยังได้บาปมหันต์ เป็นโทษกับตนเองและผู้อื่น ภัยในอบายก็น่ากลัวแล้ว ภัยในสังสารวัฏฏ์ก็ไม่สิ้นสุด ไม่พ้นจากสังสารวัฏฏ์ เพราะความไม่รู้ ไม่ได้ศึกษาพระธรรม
กราบอนุโมทนาขอบพระคุณทุกท่านที่ให้ความรู้ ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นประโยชน์อย่างยิ่งค่ะ