ตทาลัมพนจิตทางมโนทวารต่างกับทางปัญจทวารอย่างไร
ทราบจากการฟังว่า จิตทางมโนทวารที่เป็นวิบากจิต มีเพียงตทาลัมพนจิต
แต่ทางปัญจทวารมีจิตหลายประเภทที่เป็นวิบากจิต แต่สิ่งที่อยากทราบเพิ่มเติมคือตทาลัมพนาจิตทางมโนทวาร ที่เกิดขึ้นต่อจากชวนจิตทางมโนทวารนั้น มีสภาวะต่างกันหรือรู้อารมณ์ต่างกันไปตามชวนจิตก่อนนี้ หรือเป็นไปตามปฏิสนธิจิตของแต่ละบุคคล หรือแล้วแต่ระดับปัญญาของแต่ละบุคคล
และตทาลัมพนจิตทางมโนทวารต่างกับทางปัญจทวารอย่างไร
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแสดงความคิดเห็น ดังนี้ ครับ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วทรงแสดงธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น ให้สัตว์โลกได้รู้ตาม ธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น ไม่มีใครจะไปเปลี่ยนแปลงได้ เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น หนึ่งในธรรมที่มีจริงนั้น คือ จิต ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เมื่อเกิดขึ้นย่อมกระทำกิจหนึ่งกิจใด ตามสมควร แม้แต่ตทาลัมพนจิต ก็เช่นเดียวกัน เป็นจิตที่เกิดขึ้นรับผลของกรรมรับรู้อารมณ์ต่อจากชวนจิต เมื่อรูปนั้นยังไม่ดับ ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์นั้นต่อได้ ซึ่งเป็นการตรัสรู้โดยบุคคลผู้เลิศผู้ประเสริฐที่สุด คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และถ้าจะศึกษาแล้ว ก็จะเข้าใจว่า จิตที่จะกระทำตทาลัมพนกิจได้นั้น ล้วนแต่เป็นวิบากจิตทั้งสิ้น (ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่กิริยา) มี ๑๑ ดวง ได้แก่ คือ อุเบกขาสันตีรณจิต ๒ ดวง โสมนัสสันตีรณจิต ๑ ดวง และ มหาวิบาก๘ ดวง โดยวิสัยของกามบุคคล ซึ่งเป็นผู้ปฏิสนธิด้วยวิบากของกุศลกรรม หรืออกุศลกรรมที่ยังเป็นไปในกาม เมื่ออารมณ์ยังมีอายุเหลืออยู่ ตทาลัมพณจิตซึ่งเป็นวิบากของกรรมที่เป็นกามวจร จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่เหลือ ๒ ขณะ และตทาลัมพณจิต ดวงสุดท้ายก็ดับไปพร้อมกับอารมณ์ซึ่งเป็นสภาวรูปรูปๆ หนึ่ง นั้น กามชวนะ จะเป็นกุศล หรือ อกุศล ก็ตาม ถ้าอายุของรูปยังเหลืออยู่ ก็ย่อมเป็นเหตุให้ตทาลัมพณจิต เกิดต่อได้
ตทาลัมพณจิต เกิดได้ทั้งทางปัญจทวาร และ ทางมโนทววาร ที่สำคัญ จะต้องเกิดต่อจากกามชวนะ ไม่ใช่อัปปนาชวนะ ไม่ใช่โลกุตตรชวนะ และ จะต้องเกิดกับกามบุคคล คือ บุคคลในกามภูมิ เท่านั้น
เป็นความจริงที่ว่า ตทาลัมพณจิต เป็นจิตประเภทหนึ่ง จิตทุกประเภทเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ ตทาลัมพณจิตก็เช่นเดียวกัน เกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ ถ้าเป็นทางปัญจทวาร
อารมณ์ของตทาลัมพณจิต ต้องเป็นอติมหันตารมณ์ คือ เป็นอารมณ์ที่ใหญ่ยิ่ง และถ้าเป็นอารมณ์ทางมโนทวาร ต้องเป็นอารมณ์ที่ชัดเจนอย่างยิ่ง คือ เป็นวิภูตารมณ์
อารมณ์ทั้งสองอย่างนั้น ต้องเป็นปรมัตถอารมณ์เท่านั้น ตทาลัมพนจิต เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม การที่ตทาลัมพณจิตที่เกิดขึ้นต่อจากกามชวนะ นี้ จะเป็น กุศลวิบาก คือ เป็นผลของกุศลกรรม หรือ เป็นอกุศลวิบาก ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม และจะเป็นจิตที่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา หรืออุเบกขา นั้น ทั้งนี้ต้องแล้วแต่อารมณ์ ที่ประสบนั้นเป็นสำคัญ กล่าวคือ ถ้าอารมณ์นั้นเป็น อติ-อิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ดีมาก ตทาลัมพนะที่เกิด ย่อมเป็นกุศลวิบาก และประกอบด้วยโสมนัสเวทนา, ถ้าอารมณ์นั้นเป็น อิฏฐารมณ์ คือเป็นอารมณ์ที่ดีอย่างปานกลาง อย่างสามัญ ทั่วๆ ไปตทาลัมพนะที่เกิด ก็เป็นกุศลวิบากเหมือนกัน แต่เป็นกุศลวิบากที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา แต่ถ้าอารมณ์นั้นเป็น อนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไ่ม่น่าพอใจ ตทาลัมพนะ ที่เกิดต้องเป็นอกุศลวิบาก เท่านั้น และเป็นจิตที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาแต่อย่างเดียว
เรื่องตทาลัมพณจิต เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...