จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว นี่ใช่หรือไม่ครับ

 
คนไทยพบธรรม
วันที่  23 พ.ย. 2554
หมายเลข  20075
อ่าน  7,639

จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว นี่ใช่หรือไม่ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 23 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่น ก็ต้องเข้าใจคำว่า จิต และ คำว่า กายใหัถูกต้องครับ ก็จะเข้าใจ คำว่า จิต เป็นนาย กายเป็นบ่าวได้ครับ

จิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธานการรู้ คือ เป็น สภาพรู้ ดังนั้น คำว่าเป็นใหญ่ในที่นี้ คือ จิตเป็นใหญ่ที่เป็นไปในการรู้อารมณ์เท่านั้น การรู้สิ่งต่างๆ จิตเป็นใหญ่ในสภาพรู้ครับ

ส่วน กาย คือ การประชุมรวมกันของสภาพธรรม โดยนัยนี้ หมายถึง กายที่ เป็นการ ประชุมรวมกันของรูปธรรม เช่น รูป คือ ธุาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา เพราะ อาศัย สภาพธรรมที่เป็นรูป หลายๆ รูป จึงบัญญัติว่าเป็นกายนี้ครับ

คำว่า รูปธรรมที่รวมกัน จึงบัญญัติว่าเป็นกายนี้ รูปธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริง แต่ เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย รูป ไม่รู้สึก ไม่เจ็บ ไม่รู้อะไรทั้งนั้น ธาตุดินไม่รู้อะไร ใครจะด่า หรือ ว่าอย่างไร ธาตุดิน น้ำ ไฟ และลม ก็ไม่รู้อะไรทั้งสิ้นครับ ในเมื่อสภาพ ธรรมที่เป็นรูปธรรม ไม่รู้อะไรเลย กายที่เป็นการประชุมรวมกันของรูปธรรม กายก็ไม่รู้ อะไรเลยทั้งสิ้น กายไม่รู้ว่าใครจะสั่งหรือไม่สั่ง เพราะกายไม่ใช่สภาพรู้ เพราะเป็น รูปธรรมครับ

ดังนั้นจากคำถามที่ว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว นั้นไม่มีในพระไตรปิฎก และไม่ตรง ตามพระธรรมวินัย ไม่ถูกต้องครับ เพราะจิตไมไ่ด้เป็นนายของกาย จิตไม่ไ่้ด้ทำหน้าที่ สั่ง ออกคำสั่งให้กายเป็นไปตามจิต แต่จิตเป็นสภาพรู้เท่านั้น และส่วนกาย คือ รูปธรรม ก็ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย ไม่สามารถจะรับคำสั่งได้ เพราะรูปไม่รู้อะไรทั้งสิ้น รูปไม่ไ่ด้ยินคำสั่งครับ

ส่วนหากกล่าวว่า ที่เคลื่อนไหวร่างกาย ทำสิ่งต่างๆ ได้ ก็เพราะจิตสั่ง

การเคลื่อนไหวได้ เช่น ต้องการไปหยิบอะไรซักอย่าง เพราะอาศัยจิตเป็นปัจจัย เกิด ธาตุลมไหวไป แต่จิตไม่ได้สั่งอะไร และที่สำคัญ รูปจะรับรู้คำสั่งของจิตได้ไหม เพราะ รูปเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร ใครจะสั่งรูปได้ เพราะรูปไม่รู้อะไรเลยครับ เพราะฉะนั้น จิตทำหน้าที่รู้อารมณ์เท่านั้น และที่มีการเคลื่อนไหวไปเพราะอาศัยเหตุปัจจัยต่างๆ ประชุมรวมกัน จึงมีการเคลื่อนไหว ไม่มีใคร ไม่มีมี่จิตที่จะสั่งครับ ขณะที่เกิด ปฏิสนธิ จิตเกิดขึ้น รูปเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตแล้ว สั่งทันไหม เพราะเกิดพร้อมกับจิตในขณะ อุปาทขณะแล้วครับ ส่วนรูปเกิดเพราะจิตได้ ด้วยความเป็นจิตชชรูปเพราะอาศัยจิต เป็นสมุฏฐาน แต่ไม่ใช่จิตสั่งนะครับ

ดังนั้นจึงไม่ใช่จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว ครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ...

จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว ถูกต้องตามหลักธรรมหรือไม่

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 23 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้า รูปกายนี้ ปราศจากจิต ไม่มีจิตเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ไม่สามารถกระทำกรรม ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ได้ แต่ที่ยังมีการเคลื่อนไหวได้ มีการกระทำสิ่งต่างๆ ได้ เพราะมีนามธรรม กล่าว คือ จิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยนั่นเอง ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ครบ นั้น มีทั้งนามธรรม และ รูปธรรม ที่จะต้องเกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งไม่เคยปราศจากธรรมเหล่านี้เลย แม้แต่ขณะเดียว ธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น เป็นเหตุเป็นผล แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ จิตไม่ได้สั่งรูป และ รูปไม่ได้รับคำสั่งจากจิต แต่อย่างใด แต่ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
คนไทยพบธรรม
วันที่ 24 พ.ย. 2554

ขอขอบพระคุณที่ชี้แนะครับ สาธุ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 24 พ.ย. 2554

ถึงแม้รูปไม่ใช่สภาพรู้ แต่ถ้าไม่มีจิต การเคลื่อนไหวทางกายและวาจา ก็มีไม่ได้ค่ะ? บางทีชาวบ้านอาจจะใช้ภาษาหรือคำที่ไม่ตรงตามพระไตรปิฎก แต่ จุดประสงค์หลักคือ "ความเข้าใจธรรม" เราเองเวลาสนทนาธรรมก็สื่อสารกันด้วยภาษาไทย ไม่ใช่ภาษาบาลี ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องของภาษาหรือคำที่ใช้ว่าตรงมั้ย มีมั้ย แต่เป็นเรื่องของความเข้าใจ มากกว่าที่จะต้องตรงและถูกต้องตามความเป็นจริงค่ะ

สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อันธวรรคที่ ๗ จิตตสูตรที่ ๒

(๑๘๐) เทวดาทูลถามว่า.... โลกอันอะไรย่อมนำไป อันอะไรหนอย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคืออะไร

(๑๘๑) พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า.... โลกอันจิตย่อมนำไป อันจิตย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจธรรมอันหนึ่งคือ จิต

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 24 พ.ย. 2554

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ หน้าที่ ๑

๑. ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจร้ายแล้ว พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี ทุกข์ย่อมไปตามเขา เพราะเหตุนั้น ดุจล้อหมุนไปตามรอยเท้าโค ผู้นำแอกไปอยู่ฉะนั้น

๒. ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจผ่องใสแล้วพูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี ความสุขย่อมไปตามเขา เพราะเหตุนั้น เหมือนเงาไปตามตัว ฉะนั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 24 พ.ย. 2554

ขออนุญาตร่วมสนทนาในความคิดเห็นที่ 5

ในพระพุทธพจน์ที่ยกมาเพื่อความเข้าใจของสหายธรรมทั้งหลาย ซึ่งอาจจะเข้าใจผิดได้ว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าวจริงๆ ครับ ซึ่งพระพุทธพจน์ที่ว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ

ใจในที่นี้หมายถึง จิตเป็นใหญ่ เพราะ จิตเป้นสภาพธรรมที่ทำให้ธรรมทั้งหลายเกิดร่วมด้วยครับ หากปราศจากจิต เจตสิกก็เกิดไม่ได้ แต่ปราศจากเจตสิกบางประเภท แต่จิตก็ยังเกิดได้ครับ ใจเป็นหัวหน้าโดยอรรถว่า ยังสภาพธรรมทั้งหลายให้เกิด ดังนั้น พระพุทธพจน์ โดยนัยนี้ ไมไ่ด้หมายถึง ใจเป็นนาย ที่สั่งกายได้ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เซจาน้อย
วันที่ 24 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 6 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ