ขอเรียนถามเกี่ยวกับวิปัสสนาญาณ

 
daris
วันที่  1 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20087
อ่าน  3,987

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบสวัสดีอาจารย์และท่านผู้รู้ครับ

วันนี้มีเรื่องสงสัยต้องขอรบกวนเรียนถามอีกแล้วครับ เกี่ยวกับวิปัสสนาญาณ เพราะได้ อ่านในหนังสือปรมัตถธรรมสังเขปและฟังธรรมบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ ก็ได้ ความรู้มากมาย แต่ก็ยังมีบางประเด็นที่ยังสงสัยต้องขอรบกวนอาจารย์และท่านผู้รู้ช่วยชี้ แนะครับ

1. วิปัสสนาณาณ เกิดกี่ขณะ? ต่างกับสติปัฏฐานอย่างไร?

อย่างสติปัฏฐาน ตามที่เข้าใจจะเกิดในชวนจิต 7 ขณะ รู้เฉพาะสภาพธรรมที่ปรากฎทีละ อย่างแล้วก็ดับไป แล้วก็อาจเกิดต่อเนื่องหลายวาระ หรืออาจจะกลับเป็นหลงลืมสติก็ได้ แล้ววิปัสสนาญาณเป็นอย่างไร? จะเกิดหลายวาระกว่าสติปัฏฐานหรือไม่ อย่างเช่น นามรูปปริจเฉทญาณ รู้สภาพนามธรรมหรือรูปธรรมทีละลักษณะแยกขาดจาก กัน สัมมสนญาณ รู้การเกิดดับสืบต่อของนามธรรมและรูปธรรมอย่างรวดเร็ว แสดงว่า วิปัสสนาญาณต้องเกิดในหลายๆ วาระจิตติดต่อกันไปใช่มั๊ยครับ เช่น เป็นสิบๆ เป็นร้อยๆ วาระ ไม่งั้นก็จะไม่ต่างกับสติปัฏฐานที่เกิดรู้ทีละอย่างแล้วก็ดับไป

2. วิปัสสนาญาณ เกิดกี่ครั้งในวัฏสงสาร?

อย่างเช่น โสตาปัตติมัคคจิตฯ จะเกิด เพียงครั้งเดียวในวัฏสงสารทำกิจดับความเห็น ผิดฯ เป็นสมุทเฉท แล้ววิปัสสนาญาณแต่ละขั้นเกิดกี่ครั้ง? ญาณที่ 1 เกิดเพียงครั้งเดียว จากนั้นสติปัฏฐานเจริญต่อๆ ๆ ไปอีกนาน แล้วต่อไปญาณ ที่ 2 ก็เกิดต่อ หรือว่า ญาณที่ 1 เกิดซ้ำได้เรื่อยๆ ตราบใดที่ปัญญายังไม่ถึงระดับญาณที่ 2 (เช่น ฟังธรรม 10 ปีได้ญาณ 1, ฟังอีก 30 ปีจึงได้ ญาณ 2, ฟังไปอีก 3-4 ชาติจึงได้ ญาณ 3 เป็นเช่นนี้หรือไม่ครับ)

3. วิปัสสนาญาณข้ามชาติได้หรือไม่

ต่อเนื่องจากคำถามที่แล้ว สมมตินาย ก. ชาตินี้ฟังธรรม ปัญญาเจริญจนถึง ญาณ 2 แล้วตายลง ชาติต่อไปเกิดเป็น นาย ข. ปัญญาจะติดตามไปด้วยหรือไม่ครับ เช่นฟัง ธรรมในชาติใหม่แล้ว ญาณ 1, 2 ก็เกิดอย่างง่ายดาย

4. วิปัสสนาญาณเกิดกลับไปกลับมาได้หรือไม่ครับ

เช่น นาย ก. ได้ญาณ 4 แล้ว ก่อนที่จะถึงญาณ 5 จะมีบ้างหรือไม่ที่ ญาณ 1,2,3 เกิดขึ้น ซ้ำ หรือว่าถึงญาณไหนแล้วก็จะเกิดเฉพาะญาณนั้นไปเรื่อยๆ จนถึงญาณขั้นต่อไป

5. การปรากฎของมโนทวารเป็นอย่างไร?

ปกติปัญจทวารปิดบังมโนทวาร แต่ขณะวิปัสสนาญาณเกิดจะกลับกันคือมโนทวารปิดบังปัญจทวาร คืออย่างไรครับ (เนื่องจากไม่เคยเกิดกับตัวเองเลยคิดยังไงก็ไม่เข้าใจครับ) เช่น ถ้ารู้ จิตเห็น ขณะนั้นต้องมืดสนิทและเงียบสนิทรึเปล่า (ถ้าเป็นอย่างนั้น จะเป็นได้ อย่างไร ในเมื่อทุกอย่างเกิดดับเร็วเหลือประมาณ: ทั้งจิตเห็นและมหากุศลญาณสัมปยุต ตจิตที่รู้ิจิตเห็นก็เกิดดับรวดเร็ว แล้วต่อมาก็ต้องรู้สีรู้เสียงตามปกติต่ออย่างเร็ว มันจะ ปรากฎว่ามืดสนิทและเงียบสนิทมีแต่สภาพรู้ที่ปรากฎได้อย่างไร?)

6. รู้ 'เสียง' กับ รู้ 'จิตได้ยิน' ต่างกันอย่างไร

อันนี้ขอกลับมาเรียนถามเรื่องสติครับ อย่างเวลาที่สติเกิด (?) รู้เสียง ก็จะรู้แต่เพียงว่ามี "เสียง" ปรากฎ แล้วก็รู้ว่าขณะนั้นต่าง กับชีวิตตามปกติที่สติไม่เกิด แต่เล็กน้อยเหลือเกิน แล้วก็แยกไม่ออกว่าขณะนั้นรู้ตัว "เสียง" หรือ "จิตได้ยิน" ตรงนี้มันมีความต่างกันอย่างไรครับ? (ถ้ารู้จิตได้ยิน แสดงว่า ตัวเสียงต้องไม่ปรากฎใช่มั๊ยครับ)

7. ทำอย่างไรจึงจะไม่เข้าใจผิดว่าสติ/ญาณ เกิดทั้งๆ ที่ไม่ได้เกิด

เพราะ ยอมรับว่า ก็ยังมีโลภะที่ต้องการผลอยู่มาก เช่นจะคอยคิดว่า วันนี้สติเกิดรึยัง ทำไมวันนี้เกิดน้อย ทำไมวันนี้ไม่เกิดเลย บางครั้งก็เกิดความจดจ้องอยากให้สติเกิด --โลภะส่วนที่รู้นี้ ก็รู้แล้วพอละได้ แต่กลัวว่าวันดีคืนดี อาจจะเกิดเข้าใจผิดขึ้นมาว่า "เอ ตอนนี้เราคงได้นามรูปปริจเฉทญาณ แล้วกระมัง" เลยอยากทราบว่าจะรู้ได้อย่างไรว่า เรา เข้าใจถูกหรือเข้าใจผิด

พิจารณาเช่นนี้จะดีหรือไม่ว่า ไม่ต้องไปคิดถึงว่าเกิดสติหรือไม่เกิด เกิดญาณหรือไม่เกิด เพราะถ้าไม่เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฎทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนทั่วแล้ว ไม่มีทางที่ ปัญญาขั้นสูงกว่านี้จะเกิดได้เลย ทำได้เพียงฟังและศึกษาธรรมต่อไป

8. ถ้าจะอ่านเรื่องวิปัสสนาญาณและสติปัฏฐานเพิ่มเติมควรอ่านในไหนครับ

(พยายามอ่านอภิธรรมมัตถสังคหะ แล้วแต่อ่านไม่ค่อยเข้าใจครับ) ต้องกราบขออภัยครับที่ถามซะเยอะ แต่ไม่อยากรบกวนอาจารย์บ่อยๆ เลยเก็บข้อสงสัย มาถามทีเดียวครับ

อาจารย์กรุณาตอบตามแต่อาจารย์จะมีเวลาว่างและสะดวกนะครับ

ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงและขอกราบอนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 2 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. วิปัสสนาณาณ เกิดกี่ขณะ? ต่างกับสติปัฏฐานอย่างไร?อย่างสติปัฏฐาน ตามที่เข้าใจ จะเกิดในชวนจิต 7 ขณะ รู้เฉพาะสภาพธรรมที่ปรากฎทีละอย่างแล้วก็ดับไป แล้วก็อาจ เกิดต่อเนื่องหลายวาระ หรืออาจจะกลับเป็นหลงลืมสติก็ได้ แล้ววิปัสสนาญาณเป็น อย่างไร? จะเกิดหลายวาระกว่าสติปัฏฐานหรือไม่อย่างเช่น นามรูปปริจเฉทญาณ รู้สภาพ นามธรรมหรือรูปธรรมทีละลักษณะแยกขาดจากกันสัมมสนญาณ รู้การเกิดดับสืบต่อของ นามธรรมและรูปธรรมอย่างรวดเร็ว แสดงว่าวิปัสสนาญาณต้องเกิดในหลายๆ วาระจิต ติดต่อกันไปใช่มั๊ยครับ เช่น เป็นสิบๆ เป็นร้อยๆ วาระ ไม่งั้นก็จะไม่ต่างกับสติปัฏฐานที่ เกิดรู้ทีละอย่างแล้วก็ดับไป

ไม่ว่าจะเป็นสติปัฏฐาน หรือ วิปัสสนาญาณ ก็คือ มหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญาเหมือน กันนั่นเอง แต่ เป็นปัญญาที่ต่างขั้นต่างระดับ ดังนั้น ทั้งสองก็ต้องเกิดที่ ชวนจิต 7 ขณะ แต่ สติปัฏฐาน สามารถเกิดได้ทางปัญจทวารและมโนทวาร แต่ วิปัสสนาญาณ เกิด ทางมโนทวารเท่านั้น ซึ่งสติปัฏฐานก็สามารถเกิดได้หลายวาระ หลายวิถีจิต ติดต่อก็ ได้ หรือ สลับกันไป แม้วิปัสสนาญาณก็เช่นกัน สามารถเกิดได้ หลายวาระ แต่เกิด ทางมโนทวารเท่านั้น ซึ่งโดยมากพระอริยสาวกผู้มีปัญญาในสมัยอดีตกาล ท่านจะ เกิดวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นติดต่อกันไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่ซ้ำอย่างหนึ่งอย่างใด คือ อาจจะไม่เกิดวิปัสสนาญาฯที่ 1 2 ครั้ง แต่ผู้มีปัญญา ก็เกิดเรียงลำดับไป 1 ถึง 16 อย่างรวดเร็วและบรรลุธรรมอย่างรวดเร็วนั่นเองครับ ส่วนผู้ที่อบรมปัญญามาไม่มาก วิปัสสนาญาณเกิด อาจจะเกิด วิปัสสนาญาณที่ 1 แล้วก็เว้นไปนาน แล้วก็เกิดได้อีก แต่ โดยทั่วไป เมื่อจะเกิดใกล้กัน จะเกิดเรียงลำดับวิปัสสนาญาณไปครับ


2. วิปัสสนาญาณ เกิดกี่ครั้งในวัฏสงสาร? อย่างเช่น โสตาปัตติมัคคจิตฯ จะเกิด เพียงครั้งเดียวในวัฏสงสารทำกิจดับความเห็นผิดฯ เป็นสมุทเฉท แล้ววิปัสสนาญาณแต่ ละขั้นเกิดกี่ครั้ง? ญาณที่ 1 เกิดเพียงครั้งเดียว จากนั้นสติปัฏฐานเจริญต่อๆ ๆ ไปอีกนาน แล้วต่อไปญาณที่ 2 ก็เกิดต่อ หรือว่า ญาณที่ 1 เกิดซ้ำได้เรื่อยๆ ตราบใดที่ปัญญายัง ไม่ถึงระดับญาณที่ 2

ตามที่กล่าวในความเห็นที่ 1 ครับ สำหรับผู้ที่ปัญญายังไม่คมกล้า ยังไม่บรรลุธรรม รวดเดียว ก็สามารถเกิดวิปัสสนาญาณซ้ำ ข้อที่ 1 ได้ ในอีกชาติหนึ่งก็ได้ครับ เพราะไม่ สามารถห้ามปัญญาที่เกิดขึ้นแล้ว และสติปัฏฐานก็เจริญต่อ จนถึงวิปัสสนาญาณที่ 2 ได้ครับ


3. วิปัสสนาญาณข้ามชาติได้หรือไม่ ต่อเนื่องจากคำถามที่แล้ว สมมติ นาย ก. ชาตินี้ฟัง ธรรม ปัญญาเจริญจนถึง ญาณ 2 แล้วตายลงชาติต่อไปเกิดเป็น นาย ข. ปัญญาจะ ติดตามไปด้วยหรือไม่ครับ เช่นฟังธรรมในชาติใหม่แล้ว ญาณ 1, 2 ก็เกิดอย่างง่ายดาย

ถูกต้องครับ หากเรามองเป็นชาติก็ดูจะห่างไกล แต่ความจริง การข้ามภพข้ามชาติก็ คือ การสืบต่อของจิต เจตสิก ที่เกิดขึ้นและดับไป ดังนั้น จิตเป็นสภาพธรรมที่สะสม ปัญญาที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้หายไปไหน สะสมต่อไป ในชาติอื่นๆ จิตอื่นๆ ทีเกิดขึ้นและ ดับไป และเกิดวิปัสสนาญาณลำดับต่อไปและบรรลุต่อได้ในอนาคตครับ


4. วิปัสสนาญาณเกิดกลับไปกลับมาได้หรือไม่ครับ เช่น นาย ก. ได้ญาณ 4 แล้ว ก่อนที่จะถึงญาณ 5 จะมีบ้างหรือไม่ที่ ญาณ 1,2,3 เกิด ขึ้นซ้ำ หรือว่าถึงญาณไหนแล้วก็จะเกิดเฉพาะญาณนั้นไปเรื่อยๆ จนถึงญาณขั้นต่อไป

สติปัฏฐานยังเกิดได้ ไม่ต้องกล่าวถึงวิปัสสนาญาณครับ ก็สามารถเกิดได้เป็นปกติ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 2 ธ.ค. 2554

5. การปรากฎของมโนทวารเป็นอย่างไร?ปกติปัญจทวารปิดบังมโนทวารแต่ขณะวิปัสสนาญาณเกิดจะกลับกันคือมโนทวารปิดบัง

ปัญจทวาร คืออย่างไรครับ (เนื่องจากไม่เคยเกิดกับตัวเองเลยคิดยังไงก็ไม่เข้าใจครับ) เช่น ถ้ารู้ จิตเห็น ขณะนั้นต้องมืดสนิทและเงียบสนิทรึเปล่า (ถ้าเป็นอย่างนั้น จะเป็นได้ อย่างไร ในเมื่อทุกอย่างเกิดดับเร็วเหลือประมาณ: ทั้งจิตเห็นและมหากุศลญาณสัมปยุต ตจิตที่รู้จิตเห็นก็เกิดดับรวดเร็ว แล้วต่อมาก็ต้องรู้สี รู้เสียงตามปกติต่ออย่างเร็ว มันจะ ปรากฎว่ามืดสนิทและเงียบสนิทมีแต่สภาพรู้ที่ปรากฎได้อย่างไร?)

ในชีวิตประจำวัน มโนทวารไม่ปรากฎตามความเป็นจริงครับ ปรากฎแต่โลกทั้ง 5 ทวาร เท่านั้น ต่อเมื่อปัญญาระดับวิปัสสนาญาณเกิด มโนทวารจึงปรากฎให้รู้ตามความเป็น จริงครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ...

ได้ยินแล้วคิด_17

ความหมายของปัญจทวารปิดบังมโนทวาร

และถ้ามีปัญญาแม้จิตเกิดดับอย่างรวดเร็ว ปัญญาที่คมกล้ามากก็สามารถเกิดรูทันได้ เหมือนกับ อกุศลที่เกิดสะสมมามาก เพียงเห็น อกุศลก็เกิดแล้วโดยไม่รู้ตัวเพราะสะสม อกุศลมามากจนชำนาญครับ ปัญญาก็เช่นกัน


6. รู้ 'เสียง' กับ รู้ 'จิตได้ยิน' ต่างกันอย่างไร

อันนี้ขอกลับมาเรียนถามเรื่องสติครับอย่าง เวลาที่สติเกิด (?) รู้เสียง ก็จะรู้แต่เพียงว่ามี "เสียง" ปรากฎ แล้วก็รู้ว่าขณะนั้นต่างกับชีวิตตามปกติที่สติไม่เกิด แต่เล็กน้อยเหลือ เกิน แล้วก็แยกไม่ออกว่าขณะนั้นรู้ตัว "เสียง" หรือ "จิตได้ยิน" ตรงนี้มันมีความต่างกัน อย่างไรครับ? (ถ้ารู้จิตได้ยิน แสดงว่าตัวเสียงต้องไม่ปรากฎใช่มั๊ยครับ)

จิตเมื่อเกิดขึ้นต้องรู้ทีละอารมณ์ครับ มหากุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาที่เป็นสติ- ปัฏฐานก็ต้องรู้ที่ละอารมณืเช่นกัน ดังนั้น ขณะที่สติปัฏฐานเกิดรู้เสียง มีแต่ลักษณะของ เสียงเท่านั้นที่ปรากฎ จะไม่รู้จิตได้ยิน เช่นเดียวกับ ขณะที่รู้จิตได้ยิน เสียงไม่ปรากฎ มีแต่การรู้ลักษณะของจิตได้ยินเท่านั้น ที่ปรากฎกับสติว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เราครับ


7. ทำอย่างไรจึงจะไม่เข้าใจผิดว่าสติ/ญาณ เกิดทั้งๆ ที่ไม่ได้เกิด

เพราะยอมรับว่า ก็ยังมีโลภะที่ต้องการผลอยู่มาก เช่นจะคอยคิดว่า วันนี้สติเกิดรึยัง ทำไมวันนี้เกิดน้อย ทำไมวันนี้ไม่เกิดเลย บางครั้งก็เกิดความจดจ้องอยากให้สติเกิด --โลภะส่วนที่รู้นี้ ก็รู้แล้วพอละได้ แต่กลัวว่าวันดีคืนดี อาจจะเกิดเข้าใจผิดขึ้นมาว่า "เอ ตอนนี้เราคงได้นามรูปปริจเฉทญาณ แล้วกระมัง" เลยอยากทราบว่าจะรู้ได้อย่างไรว่า เรา เข้าใจถูกหรือเข้าใจผิด

ขณะที่เข้าใจถูก ย่อมไม่เข้าใจผิด คือ ขณะที่ปัญญาเกิด เมื่อปัญญาเกิดเมื่อไหร่ก็จะรู้ ว่าไม่เข้าใจผิด แต่ขณะที่ต้องการ หรือ เกิดความลังเลสงสัย ขณะนั้นก็อาจทำให้เข้าใจ ผิดได้ ซึ่งก็จะต้องค่อยๆ อบรมปัญญาไป เป็นธรรมดาที่เข้าใจผิดและไม่รู้ ให้รู้ถึงความ เป็นธรรม และเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นธรรม ที่สำคัญ ขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณ จะไม่มี ความสงสัยเลยในสภาพธรรมที่แยกขาดจากนามธรรมและรูปธรรม จะไม่มีความสงสัยว่า นี่คือ เป็นนามรูปปริจเฉทญาณเลยครับ เพราะประจักษ์จริงๆ ปัญญาเกิดเมื่อไหร่ ไม่ สงสัยและชัดเจนครับ


พิจารณาเช่นนี้จะดีหรือไม่ว่า ไม่ ต้องไปคิดถึงว่าเกิดสติหรือไม่เกิด เกิดญาณหรือไม่ เกิด เพราะถ้าไม่เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฎทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนทั่วแล้ว ไม่มี ทางที่ปัญญาขั้นสูงกว่านี้จะเกิดได้เลย ทำได้เพียงฟังและศึกษาธรรมต่อไป

ถูกต้องครับ เข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของธรรมไม่ใช่เราเลย ที่จะทำ เพราะเมื่อเข้าใจ ธรรม จะทำหน้าที่ละความไม่รู้ และค่อยๆ รู้ขึ้น ไม่รู้ก็คือไม่รู้ รู้ก็คือรู้ สบายๆ ด้วยความเข้าใจ ว่าเป็นหน้าที่ของธรรมครับ และแม้ความต้องการจะเกิดรู้ ก็เป็นธรรม จนกว่าจะมั่นคง และเข้าใจว่า ขณะที่ต้องการก็เป็นธรรมเช่นกันครับ


8. ถ้าจะอ่านเรื่องวิปัสสนาญาณและสติปัฏฐานเพิ่มเติมควรอ่านในไหนครับ

(พยายามอ่านอภิธรรมมัตถสังคหะ แล้วแต่อ่านไม่ค่อยเข้าใจครับ)

ก็ฟังเรื่องสภาพธรรมไปเรื่อยๆ ครับ ไม่ว่าจะเป็นรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สภาพ ธรรมแต่ละอย่าง โดยที่ไม่ต้องเจาะจง เพราะขณะที่เข้าใจขึ้น ก็จะนำไปสู่สติปัฏฐาน และวิปัสสนาญาณเอง แต่ถ้าเราไปอ่านถึงผล แต่เราไม่ประจักษผล คือ สติปัฏฐาน วิปัสสนาญาณ ก็เป็นแต่การเปรียบเทียบ เทียบเคียงว่าคงใช่สติปัฏฐานแล้ว หากแต่ว่า เราอบรมเหตุ คือ การฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ ในทุกเรื่องและเรื่องสภาพธรรมด้วย พระ ธรรมทุกเรื่อง เกื้อกูลต่อการเจริญสติปัฏฐานทั้งสิ้นครับ พระอริยสาวก ก่อนเป็นพระ โสดาบัน ท่านก็ฟังพระธรรมเบื้องต้น โดยที่ไม่ได้เริ่มจากการฟังผลทันทีครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
daris
วันที่ 2 ธ.ค. 2554

ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ผเดิม ด้วยความเคารพเป็นอย่างสูงครับ

ตอนนี้ละความสงสัยไปได้อีกมากครับ ขอกราบอนุโมทนาในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 2 ธ.ค. 2554

ขออนุญาตร่วมสนทนาด้วยครับ

ได้อ่านคำถามของคุณหมอดาริสแล้ว ทำให้คิดถึงตัวผมเองที่คล้ายๆ กันเลยครับ กล่าวคือ รู้สึกได้ถึงความกระตือรือล้น ใฝ่ในความรู้ และเสาะแสวงหาสภาพหรือ สภาวะของวิปัสสนาญาณต่างๆ ที่ได้มีคำอธิบายไว้อย่างละเอียด อยากรู้เรื่อง สติปัฎฐานว่าเป็นอย่างไร จะเกิดหรือไม่เกิดจะรู้ได้อย่างไร

ผมได้เคยสนทนากับอาจารย์ผเดิมระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชณียสถานที่ ประเทศอินเดีย เกี่ยวกับเรื่องในทำนองนี้ อาจารย์ผเดิมก็ตอบตรงกับคำตอบข้างต้น และก็เน้นที่การศึกษาธรรมะต้องเบาสบาย ไม่เคร่งเครียด หากรู้สึกว่า คอยจดจอง เจาะจง ระแวดระวัง หรือมีอะไรที่ผิดปกติ ผิดสังเกต หรือ เอ๊ะ อะไร ซึ่งต่างไปจากการ ปรากฏของสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมดาๆ แล้ว นั้นแสดงให้เห็นได้ว่าการศึกษาพระธรรม ของเรามีอะไรที่ไม่ตรงเสียแล้ว

ผมก็ได้ประโยชน์จากคำชี้แนะตรงนี้มาก และก็นำมาใช้ปรับความเข้าใจในการศึกษา พระธรรมที่จะต้องศึกษากันต่อๆ ไป โดยไม่อาจกำหนดได้เลยว่า เมื่อไหร่จึงจะรู้ เมื่อไหร่ จึงจะจบ เนื่องจากไม่มีโอกาสจะรู้ได้เลย แต่เมื่อคาดหวังเมื่อไหร่ นั้นคือกิเลสมาทำให้ เนินช้าไปเสียแล้ว

ตอนนี้ได้แต่กลับมาเริ่มต้นใหม่ตามที่ท่านอาจารย์สุจินต์ท่านเมตตายำ้เสมอๆ ว่า รู้ หรือยังว่า ธรรมะ คือ อะไร

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอที่ตั้งหัวข้อสนทนา ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อาจารย์ผเดิมและทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
daris
วันที่ 2 ธ.ค. 2554

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาคุณผู้ร่วมเดินทาง สำหรับคำชี้แนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
วิริยะ
วันที่ 2 ธ.ค. 2554

เรียนถาม

ขอความกรุณาอธิบาย เรื่องสติปัฏฐานสามารถเกิดทางปัญจทวารให้เข้าใจด้วยค่ะ อาจจะเป็นการยกตัวอย่างก็ได้ค่ะ

ขอบพระคุณอย่างสูง

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 2 ธ.ค. 2554

1. วิปัสสนาเป็นปัญญาที่รู้ขัด รู้แจ้ง ส่วนสติปัฏฐานเป็นการอบรมขั้นแรก เริ่ม เข้าใจตัวธรรมะจริงๆ ที่กำลังมีกำลังปรากฏ ทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะเป็นปัญญา ที่มีกำลังมากขึ้น ชัดเจนขึ้น ต้องอบรมยาวนาน

2. นับไม่ถ้วน ตามเหตุปัจจัย ยกเว้น โสดาปัตติมรรค เกิดครั้งเดียว

3. อบรมไม่จำกัด มีเหตุปัจจัย ได้อบรมเจริญในสมัยพระพุทธเจ้า ก็เกิดได้

4. แต่ละคนสะสมปัญญา ต่างกัน ไม่เหมือนกัน ตามเหตุปัจจัย

5. เป็นเรื่องยาก วิปัสสนาญาณเป็นเรื่องไกลตัว

6. ลักษณะของธรรมะก็แตกต่างกัน เสียงเป็นรูปธรรม จิต เป็นนามธรรม

7. เริ่มต้นด้วยความเข้าใจถูกก่อน ปัญญามีหลายขั้น ขั้นฟังก็อย่างหนึ่ง ขั้นสติ เกิดระลึกก็เป็นปัญญาอีกขั้นหนึ่ง ถ้าไม่มีความมั่นคงในขั้นฟังให้เข้าใจ ปัญญาขั้นอื่น ก็เกิดไม่ได้ค่ะ

8. อ่านพระไตรปิฏกเล่มที่ 68 และ 69 ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
khampan.a
วันที่ 2 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ ๖ ครับ

สติปัฏฐาน เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร เพราะในขณะที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้นั้น รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนั้น ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา โดยที่ไม่ได้แยกว่าเป็นทางทวารใด เพราะมีเพียงรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏให้รู้ตามความเป็นจริง เท่านั้น สติปัฏฐาน เป็นมหากุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา มหากุศลจิตที่ว่านี้ ก็คือ กุศลชวนะ นั่นเอง ทาง ๕ ทวาร ก็เกิดได้ ซึ่งจะขอแสดงความคิดเห็นประกอบด้วยเรื่องของวิถีจิต ดังนี้

จิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ สำหรับจิตนั้น เมื่อจำแนกเป็นประเภทใหญ่ มี ๒ ประเภท คือ จิตที่เป็นวิถีจิต หมายถึงจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์โดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใดในหกทวาร และจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต (วิถีมุตตจิต) เป็นจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์โดยไม่ต้องอาศัยทวารใดๆ เลยได้แก่ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และ จุติจิต เท่านั้น วิถีจิตทางปัญจทวาร (คือ ทวารตา หู จมูก ลิ้น กาย) สิ่งที่จิตรู้ทางปัญจทวารเป็นรูปธรรมเท่านั้น กล่าวคือ อารมณ์ทางตา เป็นสี, อารมณ์ทางหู คือ เสียง, อารมณ์ทางจมูก คือ กลิ่น, อารมณ์ทางลิ้น คือ รส, อารมณ์ทางกาย คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ และธาตุลม วิถีจิตที่เกิดขึ้นทาง ๕ ทวาร ทวารใดทวารหนึ่งนั้น จึงรู้อารมณ์ซึ่งเป็นรูปธรรมเฉพาะของตนๆ เท่านั้น เช่น วิถีจิตทางตา จิตที่เกิดขึ้นทุกวิถีทางตา รู้อารมณ์อย่างเดียว คือ สี แต่รู้โดยมีกิจที่ต่างกัน กล่าวคือ จักขุทวาราวัชชนจิต ทำกิจรำพึงถึงสีที่กระทบจักขุปสาทะ (ตา) จึงรู้โดยการรำพึงถึงสี, จักขุวิญญาณ รู้แจ้งสีโดยทำกิจเห็น,สัมปฏิจฉันนจิต ทำกิจรับรู้สีต่อจากจักขุวิญญาณ, สันตีรณจิต ทำกิจพิจารณาอารมณ์ต่อจากสัมมปฏิจฉันนจิต, โวฏฐัพพนจิต ทำกิจตัดสิน คือ กระทำทางให้ชวนจิตเกิดต่อ,ชวนจิต ทำกิจแล่นเป็นในอารมณ์ เสพอารมณ์ซ้ำกัน ๗ ขณะ เป็นกุศล หรือ อกุศล หรือมหากิริยา โดยมีสีนั่นเแหละเป็นอารมณ์ [และเมื่อสียังไม่ดับ ตทาลัมพณจิต ก็เกิดขึ้นทำกิจรับรู้สีต่อจากชวนจิต อีก ๒ ขณะ] ดังนั้น ถ้าสติปัฏฐาน จะเกิด ก็เกิดในขณะที่เป็นกุศลชวนะ ๗ ขณะ ถ้าเป็นทางตา ก็ระลึกรู้สีตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม ทางหู ก็ระลึกรู้เสียง ตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็โดยนัยเดียวกัน รู้ลักษณะสภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ทางทวารของตนๆ ตามความเป็นจริง อารมณ์ทางปัญจทวาร เป็นรูปธรรมทั้งหมด ขณะที่สติปัฏฐานเกิดทางปัญจทวาร ก็รู้ลักษณะของรูปธรรม ที่ปรากฏตามความเป็นจริง เท่านั้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
วิริยะ
วันที่ 2 ธ.ค. 2554

เรียนถาม

สมมติว่า ตาเห็นดอกไม้สีชมพู ถ้าสติเกิดขึ้น ก็จะเห็นเป็นสี ไม่ใช่เห็นดอกไม้สีชมพู เช่นนี้ เรียกว่า สติปัฏฐานทางจักขุทวาร หรือ ทางหู เมื่อได้ยินเสียง เมื่อสติเกิด ก็ระลึก ได้ว่าเป็นเสียง ไม่ใช่ทำนองดนตรี ไม่ใช่เสียงพูดที่แปลออกมาเป็นความหมาย เช่นนี้ เรียกว่า สติปัฏฐานทางโสตทวาร เข้าใจถูกต้องหรือไม่คะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
khampan.a
วันที่ 2 ธ.ค. 2554

เรียน ความคิดเห็นที่ 9 ครับ

เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ก่อนอื่นต้องเข้าใจ ว่า สติปัฏฐาน เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ไม่ใช่การคิดนึกหรือพิจารณาเรื่องราวของสภาพธรรม เช่น สี เป็นปรมัตถธรรมที่มีจริง เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เสียง เป็นปรมัตถธรรมที่มีจริง เป็นสิ่งที่ปรากฏทางหู เป็นต้น ที่คิดอย่างนี้ เป็นการพิจารณาถูกในขั้นของการคิดนึก ไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะสติปัฏฐานเป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง อย่างตัวอย่างที่ได้ยกมา คือ ในขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา คือ สี โดยไม่ต้องบอกว่า สี เป็นรูป เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นอารมณ์ของวิถีจิตทางตา ทั้งหมด แต่สี มีจริง มีลักษณะให้สติระลึกรู้ได้ ขณะที่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม โดยที่ขณะนั้นรู้ว่าเป็นธรรมที่มีจริง โดยไม่ต้องคิดนึกจึงเป็นสติปัฏฐาน เป็นขณะที่สั้นแสนสั้น ซึ่งจะต้องอาศัยการฟังพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริง ได้แก่ นามธรรม และ รูปธรรม ในชีวิตประจำวัน บ่อยๆ เนืองๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้น จึงจะเป็นเหตุปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดได้ ซึ่งเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่สามารถบังคับให้สติเกิดได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
วิริยะ
วันที่ 2 ธ.ค. 2554

เรียนอาจารย์คำปั่น

ขอบคุณมากค่ะสำหรับคำอธิบาย สำหรับทุกวันนี้ ดิฉันขอเพียงความเข้าใจจริงๆ ก่อนค่ะ แค่คำอธิบายของอาจารย์ ดิฉันก็ต้องนำมาพิจารณาก่อนว่า เป็นเช่นไร เพราะกลัวการเข้าใจผิด เริ่มจากประโยคที่ว่า สติปัฏฐานเกิดทางปัญทวาร ซึ่งดิฉันไม่เข้าใจ เพราะเข้าใจว่าเกิดทางมโนทวารเท่านั้น อยากเรียนว่า พระธรรม เป็นเรื่องที่ลึกล้ำ อย่างบอกไม่ถูก คิดแบบเผินๆ ก็ไม่ได้ คิดว่ารู้ แต่ที่จริงยังไม่รู้ หรือรู้ไม่จริง ศึกษาแบบสรุป หรือจับประ้เด็นแบบการศึกษาทางโลกก็ไม่ได้อีกเช่นกัน ขอเรียนถามต่อค่ะว่า เมื่อจิตเห็น เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ว่าคือ สี มโนทวาร วาระแรก ก็คิดว่าเป็นสี เช่นเดียวกันใช่หรือไม่ วาระต่อไป จึงเห็นเป็นรูปร่าง สัณฐาน แล้วสติปัฏฐานทางมโนทวารจะเป็นเช่นไร

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
khampan.a
วันที่ 2 ธ.ค. 2554

เรียน ความคิดเห็นที่ 11 ครับ

วิถีจิตทางมโนทวารวาระแรกรับรู้อารมณ์ต่อจากปัญจทวาร ทันที จึงมีอารมณ์เดียวกันกับวิถีจิตทางปัญจทวาร ซึ่งเป็นปรมัตถอารมณ์ ครับ สภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมดเป็นที่ตั้งให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะที่ปรากฏตามความเป็นจริงได้ ไม่่ว่าจะเป็นรูปธรรม หรือ นามธรรม สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้มีเพียงพอหรือไม่ ที่จะเป็นเหตุใหสติปัฏฐานเกิดเป็นเรื่องของความเข้าใจทั้งหมด ตามความเป็นจริงแล้ว สติปัฏฐานเกิดได้ทั้งทางปัญจทวาร และ ทางมโนทวาร ตามเหตุตามปัจจัย ถ้าเป็นทางปัญจทวาร ก็ระลึกรู้รูปธรรมที่ปรากฏ ส่วนทางมโนทวารก็มีสภาพธรรมที่มีจริง เช่น ในขณะที่ิจิตคิดถึงรูปร่างสัณฐานจากสิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะนั้นสภาพธรรมที่มีจริง คือ จิตซึ่งเป็นสภาพธรรมที่คิดนึก จิตคิดนึก มีจริง แต่เรื่องที่คิดไม่มีจริงเพราะเป็นเพียงเรื่องราวที่คิดนึกในรูปร่างสัณฐานจากสิ่งที่ปรากฏทางตา เท่านั้น เพราะฉะนั้น ขณะที่คิดนั้น จิตมีจริง ปัญญาที่เกิดพร้อมสติ ที่เป็นสติปัฏฐานนั้น ก็ระลึกรู้ในลักษณะของจิตที่กำลังคิดนึก ได้ เป็นสติปัฏฐานที่เกิดขึ้นเป็นไปทางมโนทวาร ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความนี้เพิ่มเติม ซึ่งเป็นข้อคิดเตือนใจที่ดีเป็นอย่างยิ่ง ครับ

ก่อนจะถึง...สติ-ปัฏฐาน !

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
paderm
วันที่ 2 ธ.ค. 2554

ขออนุญาตร่วมสนทนา ในประเด็น เรื่อง สติปัฏฐานที่เกิดทางมโนทวารนั้นเป็นอย่างไร ตามที่เข้าใจกันแล้วครับว่า สติปัฏฐานเกิดได้ทั้งทางปัญจทวารและมโนทวาร ซึ่ง ทางปัญจทวารก็มีรูปเป็นอารมณ์ แต่ถ้าเป็นทางมโนทวาร ก็มีทั้งรูปและนามเป็นอารมณ์ครับ

สำหรับทางมโนทวาร สามารถรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม รวมทั้งบัญญัติด้วยครับ แต่หากเป็นการเจริญสติปัฏฐานที่เกิดทางมโนทวาร จะต้องมี ปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ คือ มีสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิกและรูป เป็นอารมณ์ เท่านั้น ซึ่งทางมโนทวาร กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาที่เป็นสติปัฏฐานเกิดได้ ซึ่ง อารมณ์ทางมโนทวารก็คือ จิต เจตสิกและรูป ดังนั้น สติปัฏฐานที่เกิดทางมโนทวาร หากกล่าวในวาระแรก วาระแรกของมโนทวารที่รับต่อ ต้องเป็นรูปธรรมเท่านั้น ไม่ใช่ นามธรรมที่เป็น จิตและเจตสิก ดังนั้น สติปัฏฐานวาระแรกทางมโนทวาร จึงมี รูปเป็น อารมณ์ ซึ่งขณะที่สติปัฏฐานเกิด วาระแรกทางมโนทวาร ก็รู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส และเมื่อ มโนทวาร วาระแรกดับไป เป็น ปัจจัยให้ มโนทวารวาระอื่นๆ เกิดต่อ รู้เป็นรูปร่างสัณฐาน มีบัญญัติ เป็นอารมณ์ และ กุศลจิตที่ดับไปที่ประกอบด้วยปัญญา ที่เกิดทางมโนทวาร กุศลจิตนั้น เป็นสภาพธรรม ที่มีจริง สติปัฏฐานเกิดต่อ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ที่เป็น จิตที่ เป็นกุศลที่ดับไปในขณะนั้นได้ ซึ่งเป็นสติปัฏฐานที่เกิดทางมโนทวาร ที่ระลึกรู้ลักษณะ ของกุศลจิตว่าเป็นจิตไม่ใช่เรา แต่เป็นสติปัฏฐานที่เกิดทางมโนทวาร ที่รู้ลักษณะของ จิตนั้น และสติปัฏฐานทางมโนทวาร ยังระลึกรู้ลักษณะของ เจตสิกก็ได้ เมื่อปัญญาคม กล้า เช่น รู้ลักษณะของ โลภะ ความติดข้องที่เกิดขึ้นในขณะนั้นว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา รู้ลักษณะความโกรธที่เป็นโทสเจตสิกในขณะนั้นว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา

สรุปคือสติปัฏฐานทางมโนทวาร วาระแรก ระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรม แต่ถ้าเป็นสติ ปัฏฐานในวาระหลังๆ สามารถระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรม และ นามธรรมก็ได้ ที่เป็น จิต และเจตสิกครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
jara
วันที่ 3 ธ.ค. 2554

ขออนุโมทนากับทุกความเห็นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
วิริยะ
วันที่ 3 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
daris
วันที่ 3 ธ.ค. 2554

ขอกราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของอาจารย์และผู้ร่วมสนทนาทุกท่านครับได้ความรู้ขึ้นอีกมากทีเดียวครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
เซจาน้อย
วันที่ 3 ธ.ค. 2554

...ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย...

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
natre
วันที่ 7 ธ.ค. 2554

เป็นคำถามที่ดีครับและท่านอาจารย์ที่ตอบก็ตอบกระทู้ได้ดีเยี่ยม

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
surat
วันที่ 10 ธ.ค. 2554

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
thilda
วันที่ 22 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
chatchai.k
วันที่ 6 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ