โทมนัสเวทนา

 
gboy
วันที่  3 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20098
อ่าน  5,333

เรียนถามอาจารย์เกี่ยวกับ ความหมายของเนกขัมมสิตโทมนัสเวทนา บางที่อธิบายว่าเวทนาจากสภาพของสังขารที่เจ็บป่วย บางที่อธิบายว่าเวทนาจากการที่รู้ตัวว่ายังไม่สำเร็จมรรคผล

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 3 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนจะเข้าใจคำว่า เนกขัมมสิตโทมนัสเวทนา ก็ต้องเริ่มจาก ธรรมแต่ละคำให้เข้าในเนกขัมมะ คือ สภาพธรรมที่ออกจากกาม ซึ่ง เนกขัมมะ มีหลายความหมายคือ กุศล ธรรมก็คือ เนกขัมมะ วิปัสสนาญาณ คือ ปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงก็เป็นเนกขัมมะ และการบรรลุธรรมประจักษ์พระนิพพาน ก็เป็นเนกขัมมะ

เวทนาหมายถึง ความรู้สึก ซึ่งมีทั้งความรู้สึกทางกายและทางใจ ความรู้สึกทางกาย ก็ยังแบ่งเป็น สุขเวทนาและทุกขเวทนา ส่วนความรู้สึกทางใจ แบ่งเป็น โสมนัสเวทนา สุขใจ และ โทมนัสเวทนา ที่เป็นความรู้สึกทุกข์ใจ

ดังนั้นเมื่อกล่าวคำว่า เนกขัมมสิตโทมนัสเวทนา หมายถึงความรู้สึกที่เป็นทุกข์ใจ อันอาศัยการออกจากกาม อาศัยเนกขัมมะ จึงเกิดขึ้น เมื่อพูดให้เข้าใจขึ้น คือ ความ ทุกข์ใจอันเกิดจากเนกขัมมะ คือเกิดจาก ความคิดที่จะต้องการบรรลุธรรม ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่เข้าใจถึงความจริงของสภาพธรรม ที่ได้ฟังมาว่า ไม่เที่ยง เป็น ทุกข์และเป็นอนัตตาและเข้าใจว่าต้องอบรมปัญญาเพื่อรู้ความจริงอย่างนี้ คือประจักษ์ ไตรลักษณ์ ความไม่แที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงมีความตั้งใจ ต้องการ ขวนขวาย เพื่อที่จะให้บรรลุตามนั้น แต่ไม่สามารถบรรลุได้ ก็จึงเกิดความเสียใจ ทุกข์ใจ โทมนัส เวทนานั่นเองครับว่า เราไม่สามารถบรรลุธรรมได้ตามนั้น นี่คือความรู้สึกโทมนัสเวทนา คือ ทุกข์ใจ เพราะอาศัย เนกขัมมะ คือ อาศัยการปรารภที่จะเจริญวิปัสสนาให้ได้เนก- ขัมมะ จึงหมายถึง การเจริญวิปัสสนาด้วยครับ

จะเห็นได้ว่า โทมนัสเวทนา เป็นความรู้สึกที่ทุกข์ใจ เกิดกับจิตที่เป็นอกุศล คือ โทสะ มูลจิต ดังนั้นเพราะอาศัยโลภะ ความต้องการเป็นปัจจัย ทำให้เกิดความทุกขใจได้ ดังนั้นโลภะ ติดข้องได้ทุกอย่าง แม้แต่การที่จะได้บรรลุธรรม การจะได้วิปัสสนา เมื่อรู้ ว่าการได้วิปัสสนาญาน รวมทั้งการบรรลุธรรม เป็นสิ่งที่ดี โลภะ จึงติดข้อง อยากจะได้ เช่นนั้น จึงขวนขวายพยายาม แต่เมื่อไม่ได้ตามต้องการก็เป็นทุกข์ใจ โทมนัสใจนั่นเอง ครับจึงเป็นเนกขัมมสิตโทมนัสเวทนา ความรู้สึกทุกข์ใจที่อาศัยเนกขัมมะครับ เนกขัมมสิตโทมนัสเวทนา ตามที่ได้อ่าน ยังไม่พบที่แสดงว่า เวทนาจากสภาพของ สังขารที่เจ็บป่วย เพราะเวทนาที่เป็นสภาพของร่างกายที่เจ็บป่วย ขณะที่เจ็บป่วย ย่อม เกิดทุกขเวทนาทางกาย ที่เป็นทุกขเวทนา แต่ไม่ใช่ โทมนัสเวทนาที่เป็น ทุกข์ทางใจ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 3 ธ.ค. 2554

[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้าที่ 55

เมื่ออารมณ์ อันน่าปรารถนาไปปรากฏในทวาร ๖ อย่างนี้ โทมนัสอันเกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ผู้ยังความพยายามให้เข้าไปตั้งไว้ในธรรมคืออริยผลกล่าวคืออนุตตรวิโมกข์ แต่ไม่ สามารถเพื่อให้ขวนขวายเริ่มวิปัสสนาด้วยอำนาจแห่งความไม่เที่ยงเป็นต้น เพื่อบรรลุ อริยผลธรรมนั้นได้ จึงเสียดายอยู่ว่า เราไม่สามารถเพื่อจะขวนขวายถึงวิปัสสนา แล้วบรรลุอริยภูมิได้ทั้งปักษ์นี้ ทั้งเดือนนี้ ทั้งปีนี้ ชื่อว่า เนกขัมมสิตโทมนัส โทมนัสอาศัยการออกจากกาม ๖

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 3 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาัสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ทุกขณะเป็นธรรมทั้งหมด ก่อนอื่นก็ต้องมีความเข้าใจธรรมไปทีละคำจริงๆ ว่าหมายถึงอะไร? โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ หมายถึง โทมนัส ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยเนกขัมมะ เป็นธรรมที่มีจริง คือ เป็นขณะจิตที่เป็นอกุศล คือโทสมูลจิต ซึ่งเป็นจิตเพียงประเภทเดียวเท่านั้นที่จะมีโทมนัสเวทนาจะเกิดร่วมด้วยโทมนัสเวทนาจะไม่เกิดร่วมกับจิตประเภทอื่น ต้องเกิดร่วมกับอกุศลจิต ประเภทที่เป็นโทสมูลจิต เท่านั้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว แม้มีความตั้งใจที่จะอบรมเจริญปัญญาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปตามลำดับเพื่อจุดมุ่งหมายสูงสุด คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ตามลำดับ อันเป็นเนกขัมมะอย่างสูดงสุด ก็ปรารถนาที่จะบรรลุ ซึ่งเมื่อยังไม่ได้บรรลุ มัวแต่คำนึงถึงว่าจะได้บรรลุเมื่อใด ก็เกิดความเสียใจไม่สบายใจ เพราะมีเนกขัมมะเป็นเหตุเพราะเหตุว่า ธรรมเป็นเรื่องที่ยาก และการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็เป็นเรื่องที่ไกลมากไม่ใช่จะบรรลุได้ง่ายๆ เมื่อยังไม่บรรลุก็เป็นเหตุให้ผู้อบรมเกิดความเสียใจ ทุกข์ใจได้ซึ่งไม่เกี่ยวกับทุกขเวทนาทางกาย ทุกขเวทนาทางกาย เกิดขึ้นเป็นผลของอกุศล-กรรม ไม่ใช่โทมนัสเวทนา เมื่อทุกขเวทนาเกิดขึ้น สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็อาจจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้โทมนัสเวทนาเกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่ใช่โทมนัสที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยเนกขัมมะ ครับ

ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 3 ธ.ค. 2554

...ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย...

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pat_jesty
วันที่ 3 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
gboy
วันที่ 4 ธ.ค. 2554

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วิริยะ
วันที่ 4 ธ.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ajintai2011
วันที่ 4 ธ.ค. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 4 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
jaturong
วันที่ 6 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 6 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ