การที่นักวิทยาศาสตร์ทำการทดลองกับหนู จะเป็นการทำบุญ หรือ ทำบาป

 
tookta
วันที่  10 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20132
อ่าน  1,792

นักวิทยาศาสตร์ได้นำหนูมาทำการทดลองโดยนำเชื้อโรคต่างๆ ฉีดเข้าไปในตัวหนูซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าหนูเหล่านั้นจะมีความเจ็บปวดหรือทรมานหรือเปล่า แต่ในความคิดของเรา เราคิดว่าหนูมันจะต้องทนทุกข์ทรมานแน่ๆ เลย แต่เราก็เข้าใจเองว่านักวิทยาศาสตร์เขาก็หวังดีที่จะทำการทดลองต่างๆ เพื่อค้นหาวิธิการต่างๆ เพื่อมาพิทักษ์และรักษามนุษยชาติ แล้วอย่างนี้จะเป็นการทำบุญหรือทำบาปคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 10 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การพิจารณาในสิ่งที่เป็นเรื่องราว ต้องกลับมาที่การพิจาณา ทีละขณะจิตป็นสำคัญครับ เพราะเรื่องราวยาวๆ ก็คือ จิตที่เกิดดับทีละขณะนั่นเอง ซึ่งบาปไม่บาป สำคัญที่เจตนา ที่เกิดกับจิต ว่ามีเจตนาดีหรือไม่ดี ในขณะนั้น มีเจตนาทุจริตประทุษร้ายหรือไม่ประทุษร้ายในขณะนั้นครับ

อย่างกรณี นักวิทยาศาสตร์ทำการทดลองกับหนู ที่กล่าวมาเป็นเรื่องราวยาวๆ ซึ่ง เรื่องราวจะมีได้ ก็เพราะมีการเกิดดับของสภาพธรรมที่เป็นจิตและเจตสิก ดังนั้น จิตที่หวังดี ตั้งใจที่จะช่วยรักษาโรคต่างๆ เพื่อประโยชน์กับมนุษย์ทั้งหลาย ขณะที่คิดเช่นนี้ เป็นเจตนาที่ดี หวังดี ด้วยกุศลจิต ขณะนั้นไม่บาปแต่เป็นบุญกุศลในขณะจิตนั้น แต่ขณะที่คิดที่จะใช้หนูเป็นตัวทดลอง ซึ่งก็รู้อยู่ว่าการกระทำนั้นจะทำให้หนูเจ็บทรมานหรือตายได้ แต่ก็คิดที่จะทำ การคิดเช่นนั้นมีเจตนาทำร้าย ประทุษร้าย เบียดเบียน เมื่อเป็นเจตนาที่ไม่ดี ก็เป็นบาปในขณะนั้นครับ นี่คือ เป็นเพียงความคิดที่จะทำ ยังไม่ลงมือทำก็เป็นบาปที่เป็นอกุศลจิตแล้ว และเมื่อลงมือทำ คือฉีดเชื้อโรค ซึ่งก็รู้อยู่แล้วว่า หนูจะต้องได้รับสิ่งที่ไม่ดี เป็นโรคภัยต่างๆ และก็มีการลงมือทำ มีเจตนาไม่ดี และกระทำกรรมนั้น ก็เป็นบาปแล้วในขณะที่ทำครับ และหากมีเจตนาให้สัตว์นั้นตาย และสัตว์นั้นตายลง กรรมสำเร็จเป็นปาณาติบาตครับ เมื่อกรรมนี้ให้ผลก็สามารถทำให้เกิดในนรกได้ครับ ดังนั้น บาปไม่บาป สำคัญที่เจตนา แต่ก็ต้องพิจารณาทีละขณะจิต อย่าเอาเรื่องราวยาวๆ มาปนกันครับ จิตคิดช่วยมนุษย์ทั้งหลายมีขณะนั้นไม่บาป แต่ขณะที่คิดจะทดลองด้วยหนู ด้วยการเบียดเบียนสัตว์อื่นและขณะที่ทดลอง ก็มีเจตนาทำร้าย ประทุษร้ายหนู ก็เป็นบาปครับ

เปรียบเหมือนการที่เราต้องการช่วยเหลือคนหนึ่ง แต่เบียดเบียนสัตว์อื่น เจตนาช่วยคนอื่นมี เป็นเจตนาดี เป็นกุศล แต่ไปเบียดเบียนคนอื่น ในขณะนั้นจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่เจตนาไม่ดีในขณะนั้นก็เป็นบาปแล้วครับ

ซึ่งเรื่องในพระไตรปิฎกก็มีเรื่องราวที่แสดงถึงการักษาชีวิตผู้อื่น โดยงดเว้นไม่ทำร้ายสัตว์อื่นครับ เรื่องราวมีอยู่ว่า มารดาของชายคนหนึ่งป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ใกล้ตาย หมอได้แนะนำว่า หากจะหายจากโรค มีวิธีเดียว คือต้องรับประทานเนื้อกระต่าย โดยการไปจับกระต่ายมาฆ่าและให้มารดารับประทานก็จะหายจากโรค ชายคนนั้นก็ออกไปที่ท้องนาเพื่อจะไปจับกระต่ายมารักษามารดาให้หายจากโรค เมื่อเห็นกระต่าย จับได้ กระต่ายก็ร้อง ชายคนนี้นึกถึงตนที่รักษาศีล และไม่ปรารถนาจะเบียดเบียนสัตว์อื่น เพื่อรักษาชีวิตของคนอื่น คือมารดา จึงปล่อยกระต่ายไปและกล่าววาจาสัจ ทำให้มารดาหายจากโรค จะเห็นนะครับว่า ผู้ที่มีปัญญา จึงทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น โดยไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น สัตว์อื่นเลย คือเป็นกุศล และงดเว้นอกุศลนั่นเองครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 10 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิตเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว ไม่ได้เป็นกุศลอยู่ตลอด ไม่ได้เป็นอกุศลอยู่ตลอด ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าจิตไม่ได้เป็นไปในทาน ไม่ได้เป็นไปในการรักษาศีล ไม่ได้เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาแล้ว เป็นอกุศลทั้งหมด ถ้าไม่กล่าวถึงขณะที่เป็นวิบากและกิริยา ขณะที่จิตเป็นอกุศล ไม่ใช่บุญ

จะเห็นได้ว่าอกุศลจิตเกิดขึ้นมากในชีวิตประจำวัน ถ้าสะสมมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น ก็ล่วงเป็นทุจริตกรรม เป็นอกุศลกรรม เป็นบาปที่จะให้ผล คืออกุศลวิบากในภายหน้า

สำหรับผู้ที่เป็นนักทดลองทางวิทยาศาสตร์ค้นคว้าวิชาการใหม่ๆ โดยใช้สัตว์เป็นเครื่องทดลอง เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นนั้น สภาพจิตใจคงจะไม่เหมือนกับผู้ที่ฆ่าสัตว์เป็นประจำ เบียดเบียนสัตว์เป็นประจำ แต่การฆ่า การเบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ว่าจะเป็นใครทำก็เป็นบาป เป็นสิ่งที่ไม่ดีเหมือนกันทั้งนั้นไม่มีการยกเว้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และที่ยังเป็นเช่นนี้ก็เพราะว่ายังมีภพชาติเหลืออยู่ สังสารวัฏฏ์ยังเป็นไปอยู่ อันเนื่องมาจากการมีกิเลส ยังดับกิเลสใดๆ ไม่ได้นั่นเอง บุคคลผู้ที่จะไม่ฆ่าสัตว์อย่างเด็ดขาด ต้องเป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล โอกาสที่จะล่วงศีล เบียดเบียนผู้อื่น ก็อาจจะเกิดขึ้นได้เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ทางที่ดีที่สุดคือไม่ประมาทกำลังของกิเลส ไม่ประมาทในการเจริญกุศล สะสมความดีและอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็นไปเพื่อละคลายขัดเกลากิเลสของตนเองต่อไป ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

นักศึกษาแพทย์ทำการทดลองกับสัตว์

... ขออนุโมทนาในกุศจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
tookta
วันที่ 11 ธ.ค. 2554

ขอขอบคุณ คุณผเดิมและคุณคำปั่น ที่อธิบายข้อสงสัยให้ ถ้าอย่างนั้น นักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นก็น่าเห็นใจเขานะคะ แต่เราก็ขอชื่นชมเขาเหล่านั้นนะคะที่เป็นผู้ที่เสียสละให้ตัวเองต้องมีบาปติดตัวโดยพร้อมที่จะค้นคว้าสิ่งต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 11 ธ.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 3 ครับ

คนที่ทำบาปน่าเห็นใจครับ เพราะจะต้องได้รับผลของกรรม แต่เมื่อมองโดยละเอียดแล้ว จะกล่าวเสียสละก็ไม่ได้ เพราะการเสียสละ ต้องด้วยจิตที่เป็นกุศล การช่วยผู้อื่นโดยไม่ทำบาปก็ได้ครับ ขณะใดที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้น สละจากกิเลสประการต่างๆ แต่ถ้าจิตเป็นอกุศลในขณะที่ทำบาป แม้จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ชื่อว่าไม่ได้เสียสละ ไม่ได้สละกิเลสครับ การช่วยเหลือผู้อื่นไม่จำเป็นที่จะต้องทำบาปได้ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 11 ธ.ค. 2554

กระผมนึกถึงตำแหน่งราชการในสมัยหนึ่ง ที่เรียกชื่อตำแหน่งว่าสังฆการี หน้าที่อย่างหนึ่งของสังฆการีก็คือเที่ยวสอดส่องดูว่ามีภิกษุประพฤตินอกรีตนอกรอยที่ไหนบ้าง

เมื่อพบเห็นหรือมีผู้แจ้งให้ทราบ สังฆการีก็จะไปจัดการตามสมควรแก่เหตุ จึงมีผู้เรียกสังฆการีว่าผู้ทำหน้าที่ตกนรกแทนพระ คือยอมทำสิ่งที่อาจจะรุนแรง แต่เพื่อให้สถานการณ์เรียบร้อย

กระผมนึกถึงพระเตมีย์โพธิสัตว์ ที่ท่านไม่ยอมเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพราะเห็นพระราชบิดาสั่งประหารชีวิตโจร ซึ่งการกระทำเช่นนั้นเป็นเหตุให้ต้องตกนรกห้าร้อยชาติ ท่านจึงไม่อยากตกนรก

กระผมนึกถึงตัวหอย ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหอยและเปลือกหอย เนื้อหอยนั้นอยู่ข้างในปลอดภัยดี แต่เปลือกหอยอยู่ข้างนอก รับกระทบสารพัด เพื่อให้เนื้อหอยปลอดภัย

ถ้าไม่มีคนยอมตกนรกแทนพระ ไม่มีคนสั่งประหารชีวิตโจร ก็เหมือนเนื้อหอยไม่มีเปลือกหอยนั่นแหละครับ

ปุถุชนต้องพัฒนาเพื่อเป็นกัลยาณปุถุชน เพื่อเป็นอริยบุคคล เป็นเสขบุคคล และเพื่อเป็นอเสขบุคคลในที่สุด นี่คืออุดมคติของชาวพุทธ คือละบาป และทำบุญเข้าไว้ ต้องไม่ลืม ไม่ล้ม และไม่เลิกอย่างเด็ดขาด คนโบราณบอกไว้แล้วว่า นิพพานะปัจจะโย โหตุ เม อะนาคะ เต กาเล

ตอนเป็นปุถุชนอาจทำทั้งบุญทั้งบาป ก็เป็นวิสัยของปุถุชน แต่ต้องพยายามละบาป ทำแต่บุญ อันเป็นวิสัยของกัลยาณปุถุชน แต่ถ้าจะเป็นอเสขบุคคลเมื่อใด ต้องละทั้งบุญทั้งบาปครับ

ปัญหาเกิดตรงที่เรามักลืมไปว่าเรากำลังอยู่ในภาวะอะไร ปุถุชนหรืออเสขบุคคล และที่เป็นปัญหามากก็คือการพยายามเอาเกณฑ์ของอเสขบุคคลเข้ามาวัดปุถุชน คือเกณฑ์ให้ปุถุชนต้องมีพฤติกรรมเหมือนอเสขบุคคล กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือตัวยังอยู่ฝั่งนี้ แต่ตั้งเกณฑ์ว่าต้องประพฤติเหมือนคนที่ข้ามไปฝั่งโน้นได้แล้ว

เมื่อยังเป็นปุถุชน พยายามละบาปให้เหลือน้อยที่สุด และพยายามทำบุญให้ได้มากที่สุด แต่อย่าลืมว่า เมื่อไปถึงที่สุด ก็ต้องละทั้งบุญทั้งบาป ระวังอย่าละบาปหรือทำบุญให้ผิดขั้นตอนก็แล้วกัน

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
tookta
วันที่ 18 ธ.ค. 2554

เห็นด้วยกับความคิดเห็นของท่านนาวาเอกทองย้อยนะคะ และขออนุโมทนาด้วยนะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
bou
วันที่ 20 ธ.ค. 2554

ขอบคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 6 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ