ปลวก ขึ้นบ้าน เป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่?

 
peeraphon
วันที่  11 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20149
อ่าน  13,262

ผมเคยตั้งกระทู้ ไปเมื่อปี 2553 ซึ่งในขณะนั้น ได้ขับรถชนคนเสียชีวิต และได้เข้ามาตั้งคำถามในบอร์ดนี้ ด้วยคำแนะนำของคุณพ่อ. ได้เข้าใจ ในครั้งก่อนว่า การกระทำกรรม ด้วยการฆ่าสัตว์ ด้วยเหตุสุดวิสัย หรือไม่มีเจตนา หมายถึงการที่ไม่มีวิบาก

ผมขับรถชนคนตายเมื่อสามวันที่แล้ว ยังสับสนอยู่ครับ

มาวันนี้ สงสัยใหม่อีกครั้ง คุณพ่อของผม ได้อธิบาย และจำได้ว่า การฆ่าสัตว์ มีองค์ 5

มาครั้งนี้ ปลวกขึ้นบ้าน หลายแสนตัว ดูด้วยตาเปล่า จึงคิดว่า ถ้าปล่อยไว้ คงกินบ้านทั้งหลังแน่ๆ แต่อีกใจนึง ไม่อยากไล่พวกมันออกไป เพราะคิดว่าการไล่คือการฆ่าแน่นอน. จึงโทรศัพท์เรียกบริษัทกำจัดปลวก. เมื่อทีมงานมาถึง ก็กำจัดด้วยน้ำยาฆ่าปลวก และผลคือ ปลวกตายทั้งรัง. จึงมีจิตสลด และสำนึกผิด และคงคิดว่า คงเป็นกรรมแน่ๆ เพราะผมรู้ว่าปลวกมีชีวิต มีจิตคิดจะไล่มันออกไป พยายามฆ่าโดยการโทรเรียกบริษัทมาฉีดปลวก และปลวกตายยกรัง

ขณะนี้ยังสลดอยู่ เพราะสะสมมาจากการฟังธรรม ว่าให้หลีกเลี่ยงการเอาชีวิตผู้อื่น ผมจึงอยากถามว่า การฆ่าปลวกที่อยู่ในบ้าน เป็นเหตุสุดวิสัย หรือไม่อย่างไรครับ?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 11 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เจตนาฆ่า กับ เจตนาป้องกัน มีความต่างกัน ขณะที่มีเจตนาฆ่า เป็นอกุศลเจตนาที่เบียดเบียนประทุษร้ายสัตว์อื่นให้เดือดร้อนหรือสิ้นชีวิต ซึ่งไม่ดีอย่างแน่นอน เพราะเหตุว่าสัตว์อื่นเขาก็รักชีวิตของเขาเหมือนกับตัวเราที่รักชีวิตของตนเอง โดยปกติแล้วชีวิตประจำวัน อกุศลเกิดขึ้นมากอยู่แล้ว กล่าวคือ ขณะที่จิตไม่ได้เป็นไปในทาน ในศีล ในการอบรมความสงบของจิตและการอบรมเจริญปัญญา เป็นอกุศลทั้งหมด มีกุศลแทรกสลับกับอกุศลเท่านั้นจริงๆ ชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ว่าจะทำอะไรไม่ได้ เพราะชีวิตที่ดำเนินไปในปัจจุบัน ต้องอาศัยปัจจัยที่จะทำให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างมีความสุขไม่เดือดร้อน (ปัจจัยที่ว่านั้น คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค) เมื่อมีบ้านซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยก็ต้องทำการดูแลรักษา ส่วนที่ชำรุดก็แก้ไขซ่อมแซม ถ้ามีสัตว์ที่จะทำความเสียหายแก่บ้าน ก็ต้องทำการป้องกันด้วยวิธีการที่ไม่เป็นการฆ่าสัตว์ แต่เป็นการป้องกัน ก็สามารถทำได้ ที่สำคัญคือต้องไม่ใช่วิธีที่จะเป็นไปเพื่อการฆ่าสัตว์

สัตว์โลกผู้ที่ได้เกิดมามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดำเนินไปในแต่ละวันๆ นั้น คงไม่มีใครอยากจะถูกคนอื่นฆ่า (หรือแม้กระทั่งการถูกเบียดเบียน ไม่ถึงกับสิ้นชีวิต ก็ไม่ปรารถนา) แต่ว่าเวลาที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะฆ่าบุคคลอื่น ซึ่งต้องเป็นด้วยอำนาจของอกุศลจิตที่มีกำลัง ทำให้ลืมคิดถึงบุคคลหรือสัตว์ที่จะถูกฆ่าว่าบุคคลหรือสัตว์นั้นย่อมไม่มีความปรารถนาที่จะถูกฆ่าเลยไม่ว่าจะเป็นสัตว์ประเภทใดๆ ก็ตาม นี่เป็นความจริง ดังนั้น ตนเองรักสุข เกลียดทุกข์ ฉันใด สัตว์อื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ ฉันนั้น จึงไม่ควรฆ่า ไม่ควรเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ดังข้อความตอนหนึ่งที่พระโพธิสัตว์ กล่าวไว้ว่า

"ถ้าสัตว์ทั้งหลาย พึงรู้อย่างนี้ว่า ชาติสมภพ (การเกิด) นี้เป็นทุกข์ สัตว์ก็ไม่ควรฆ่าสัตว์ เพราะว่าผู้มีปกติฆ่าสัตว์ ย่อมเศร้าโศก" (จาก ... พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก มตกภัตตชาดก) และอีกประการหนึ่งที่ควรจะพิจารณา คือ การฆ่าสัตว์ไม่ว่าจะเป็นใครทำก็เป็นอกุศลกรรมทั้งสิ้นไม่มีการยกเว้น ไม่มีข้ออ้าง เพราะฆ่าก็คือฆ่า เป็นอกุศลกรรมให้ผลเป็นทุกข์โดยส่วนเดียวเท่านั้น ผู้ที่ประกอบอกุศลกรรมอย่างนี้ กล่าวได้ว่าเป็นคนพาล ภพภูมิข้างหน้าของผู้ที่ประกอบอกุศลกรรม ก็คืออบายภูมิ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการไปสู่อบายภูมิของคนพาลทั้งหลายนั้น ยากที่จะพ้นไปได้ คือจากอบายภูมิ ก็กลับไปสู่อบายภูมิอีก โอกาสของการสร้างกุศล (ความดี) มีน้อยมาก ส่วนใหญ่ก็มีแต่การประกอบอกุศลกรรม ยิ่งทำให้ตนเองตกต่ำลงไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นแล้ว จึงไม่ควรเป็นคนพาล แต่ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นบัณฑิต สร้างความเจริญให้กับชีวิตของตนเองด้วยการสะสมกุศล และละเว้นจากความชั่วโดยประการทั้งปวง สิ่งที่เคยพลาด ผ่านไปแล้วก็ผ่านไป เศร้าใจ เสียใจ หดหู่ใจ ไม่เกิดประโยชน์ เพราะเป็นอกุศล จึงขอให้เริ่มต้นใหม่ด้วยความจริงใจที่จะสะสมความดีพร้อมทั้งศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก เพื่อเป็นที่พึ่งในภายหน้าต่อไป จนกว่าจะบรรลุถึงความเป็นผู้หมดจดจากกิเลสได้ในที่สุด ไม่ต้องมีการเกิด ไม่ต้องมีการเดือดร้อนเพราะเรื่องต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ อีกต่อไปครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ปลวก กับศีลข้อปาณา

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
peeraphon
วันที่ 11 ธ.ค. 2554

เรียนตามตรงว่าเครียดเลยครับ เนื่องจากเว้นจากการฆ่าสัตว์มาตลอดเกือบๆ 15 ปี ต้องมาตกม้าตายเพราะเรื่องนี้.

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เซจาน้อย
วันที่ 12 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 12 ธ.ค. 2554
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 20149 ความคิดเห็นที่ 2 โดย peeraphon

ตรงนี้น่านำมาพิจารณาเหมือนกันนะครับ เพราะเรื่องฆ่าปลวกจบไปนานแล้ว แต่ความเครียดคงเกิดขึ้นสลับกันไปเมื่อคิด โดยเฉพาะการยึดมั่นว่าตนเองไม่ฆ่าสัตว์มาถึง ๑๕ ปี แต่ก็ยังหนีไม่พ้นกลับมาฆ่าสัตว์อีก คิดอีกก็เครียดอีก พิจารณาอย่างไรดีครับตรงนี้ รบกวนท่านอาจารย์วิทยากรชี้แนะให้ด้วยครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 12 ธ.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 4 ครับ

เครียดเป็นอกุศล ซึ่งในความเป็นจริงของสภาพธรรม คือ เป็นอนัตตา การพิจารณาความจริง ด้วยปัญญา คือพิจารณาถึงความเป็นปุถุชน ผู้หนาด้วยกิเลส เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อมก็สามารถล่วงศีลได้เป็นธรรมดา ผู้ที่จะไม่ล่วงศีลอีกเลยคือพระโสดาบัน ซึ่งการพิจารณาด้วยปัญญาในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วด้วยปัญญาก็จะไม่เครียด แต่พิจารณาด้วยเหตุ ๓ ประการ ดังเช่น พระโพธิสัตว์ ที่ล่วงศีล ข้อสาม กับพระมเหสี ของพระราชา พระโพธิสัตว์ได้พิจารณาเมื่อท่านล่วงศีลไปแล้ว ดังนี้ครับ

พระราชา ถามพระโพธิสัตว์ว่าเหตุใดท่านผู้มีปัญญา จึงล่วงศีล พระโพธิสัตว์ พิจารณาด้วยปัญญา ประการที่หนึ่ง สภาพธรรมที่เป็นกิเลส เป็นสภาพธรรมที่มีกำลัง ท่านอธิบายพระราชาว่า ตราบใดที่ยังมีกิเลส และสะสมกิเลสมามาก เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม กิเลสที่มีกำลังก็เกิดได้ ล่วงศีลเป็นธรรมดา เปรียบเหมือนต้นยางที่ชุ่มด้วยยาง เมื่อไม่ถูกกรีด ก็ไม่มียาง แต่เมื่อถูกกรีดแล้ว ยางก็ไหลออกมามาก เปรียบเหมือนงูที่ถูกยั่ว ย่อมออกจากข้องและแผ่พังพานได้ครับ

ประการที่สอง ความเป็นปุถุชน เมื่อเป็นปุถุชนก็ยังเป็นผู้ที่หนาด้วยกิเลส และก็ล่วงศีลได้เป็นธรรมดา และ

ประการที่ ๓ ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม คือไม่สามารถบังคับบัญชาได้เลย เพราะเป็นธรรมและไม่ใช่เรา จึงไม่มีใครบังคับให้สภาพธรรมนั้นเป็นดั่งใจเลยครับที่จะไม่ล่วงศีลครับ จะเห็นนะครับว่า ท่านพิจารณาด้วยปัญญา แต่ไม่คิดถึงเรื่องที่ผ่านมาด้วยอกุศล แต่ท่านเข้าใจความจริงตามที่เป็นอย่างนั้นในสภาพธรรมครับ แต่เมื่อท่านพิจารณาเช่นนี้แล้ว ท่านก็เห็นโทษของอกุศลและเจริญกุศลมากขึ้นและอบรมปัญญาเพื่อดับกิเลสต่อไปครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 12 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pamali
วันที่ 12 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 12 ธ.ค. 2554

เครียดเพราะเป็น "เราฆ่า" ถ้าเป็นคนอื่นฆ่า คงไม่เครียดหรือเครียดน้อยลง เพราะความเป็นเรา (รักตน) จึงฆ่า เพราะความเป็นเรา (กลัวตนได้รับผลของกรรม) จึงเครียด แต่แท้ที่จริงทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นเพียง ... สภาพธรรม และก็ดับไปนานแล้วด้วย สิ่งที่ดับไปแล้วตามกลับไปแก้ไม่ได้เลย เข้าใจความจริงขึ้นดีกว่ามั้ย เพราะยามใดที่ได้รับผลของกรรมก็จะได้ทุกข์น้อยลง พระธรรมเท่านั้นค่ะที่จะช่วยให้พ้นทุกข์

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
peeraphon
วันที่ 12 ธ.ค. 2554

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
รากไม้
วันที่ 14 ธ.ค. 2554

เหตุที่เกิดความจำเป็นต้องฆ่าปลวก ก็เพราะว่ายังมีบ้านเป็นของเรา และเราก็รักบ้านมากกว่ารักชีวิตปลวก

อนุโมทนาทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 15 ธ.ค. 2554

ยอมรับความจริง เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา คือยอมรับความจริงว่า เราฆ่าปลวก (บอกให้ผู้อื่นฆ่าก็เท่ากับเราฆ่าเหมือนกัน) ไม่ต้องทำเป็นหลีกเลี่ยงไปเอาเหตุผลอะไรมากลบเกลื่อนทั้งสิ้น

ต่อไป ก็ยอมรับว่าอกุศลกรรมนั้นต้องส่งผลถึงเราแน่นอน เพราะฉะนั้น อย่าหลบ แต่จงยอมรับผลของอกุศลกรรมด้วยใจจริง

แต่ที่สำคัญที่สุดที่ท่านผู้ถามอาจจะลืมคิดไป - แต่ต้องคิดเสียในตอนนี้ - ก็คือ เรายังมีปัญญาที่จะทำกุศลกรรมใหม่ๆ ได้อยู่ใช่ไหม และไม่มีใครที่จะมีอำนาจมาสั่งห้ามไม่ให้เราทำกุศลกรรมใหม่ๆ ใช่ไหม

เพราะฉะนั้น ลงมือทำกุศลกรรมใหม่ (ทำความดี) ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป และทำไปจนกว่าจะตาย ตะลุยทำความดีอย่าหยุด ขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงอกุศลให้ได้มากที่สุดเท่าที่วิสัยปุถุชนจะพึงหลีกได้

พระมหาโมคคัลลานเถระท่านไม่ได้ทำแค่ฆ่าปลวก แต่ท่านฆ่าพ่อฆ่าแม่ของท่านเองหนักกว่าเราหลายหมื่นหลายแสนเท่า ท่านยังบรรลุธรรม และได้เป็นถึงพระอัครสาวก ท่านก็เป็นคนเหมือนเรานี่แหละครับ และเราก็เป็นคนเหมือนท่าน

เพราะฉะนั้น ลงมือทำความดีเดี๋ยวนี้ อะไรที่เป็นความดีที่สามารถทำได้ ทำให้หมด ทำให้มาก ทำไปจนกว่าจะตาย

ขอเอาใจช่วยให้ประสบความสำเร็จครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
tookta
วันที่ 26 ธ.ค. 2554

รู้สึกชอบความคิดเห็นของท่านนาวาเอกทองย้อยจังเลย ขอขอบคุณ และ อนุโมทนาบุญกุศลที่ท่านได้แสดงความคิดที่ดีนี้นะคะ (ขอแสดงความนับถือเป็นอย่างสูงนะะ)

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ