ปัญญาไม่เกิด สัมมาทิฐิไม่มี
นัตถิ ฌานัง อะปัญญัสสะ นัตถิ ปัญญา อะฌายิโน ยัมหิ ฌานัญจะ ปัญญา จะ สะเว นิพพานะสันติเก ฯ
อะปัญญัสสะ - เทวดาหรือมนุษย์ผู้ไม่มีปัญญา
นัตถิ ฌานัง - ย่อมไม่มีความเพ่งพินิจ
อะฌายิโน - เทวดาหรือมนุษย์ผู้ไม่มีความเพ่งพินิจ
นัตถิ ปัญญา - ย่อมไม่มีปัญญา
ยัมหิ ฌานัญจะ ปัญญา จะ - เทวดาหรือมนุษย์ผู้มีความเพ่งพินิจและปัญญา
สะเว นิพพานะ สันติเก - เขาผู้นั้นได้ชื่อว่า "อยู่ใกล้พระนิพพาน"
คาถาที่มาในวิสุทธิมรรคนี้หมายความว่า เทวดาและมนุษย์ผู้ไม่มีปัญญา ดูและพิจารณาอันถูกต้องที่เรียกว่า "สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ" จิตของเขาผู้นั้นก็จะไม่สามารถสงบเย็นมีสมาธิได้ หากบุคคลผู้ไม่มีปัญญาและมีจิตที่ไม่สงบเย็นเป็นสมาธิแล้ว การที่ศีลของผู้นั้นจะบริสุทธิ์ก็ไม่มีทางเป็นไปได้ หากว่ามีปัญญาสัมมาทิฏฐิความเห็นอันถูกต้อง และสัมมาสังกัปปะ ความพิจารณาอันถูกต้องแล้ว คำว่า "นิพพาน" ก็บังเกิดขึ้น
ดังนั้น เมื่อมีปัญญาดังกล่าวนี้แล้ว ศีลของเขาก็บริสุทธิ์ จิตหรือสมาธิก็บริสุทธิ์ คำว่า "นิพพาน" มีความหมายในบาลี ว่า "วานะตัณหา นิกขะมะติ" แปลว่า
คำว่า "วานะตัณหา" ได้แก่ อัตตาและโลภะกลุ่มหนึ่ง มานะและโลภะกลุ่มหนึ่ง ซึ่งผลัดเปลี่ยนกัน เกิดดับๆ อยู่อย่างต่อเนื่องนี้
นิกขะมะติ - หลุดพ้นจากไป เพราะตัณหาดังกล่าวนี้หลุดออกไป หรือดับไปนั่นแหละจึงเรียกว่า "นิพพาน" ผู้ที่เรียกว่า "ภิกษุ" นี่แหละคือผู้บรรลุนิพพาน
คำว่า "ภิกษุ" มี ๒ ประเภท
๑. อนาคาริกสมณะ หมายถึง สมณะผูู้ไม่มีเรือน ไม่มีสามี ภรรยาหรือบุตร เรียกว่า "ภิกษุ" เช่น พระสารีบุตรเถระ พระอุบลวัณณาเถรี เป็นต้น
๒. อาคาริกสมณะ หมายถึง ฆราวาสผู้เป็นอริยะ ยังครองเรือนอยู่ร่วมกับสามีภรรยาหรือบุตร เรียกว่า ภิกษุ เช่น นางวิสาขา อนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นต้น
ธัมมสากัจฉา ช่วงเช้าครับ
ด้วยความเคารพอย่างสูง
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความจากที่ยกมาพอสรุปได้ว่า ผู้ที่ไม่มีปัญญา ไม่มีความเพ่งพินิจ ย่อมไม่สามารถถึงพระนิพพานได้ แต่ผู้ที่มีปัญญา ความเพ่งพินิจ ย่อมสามารถถึงพระนิพพาน ดับกิเลสได้ครับ
ซึ่งพระธรรมเป็นเรื่องละเอียด ดังนั้น การถึงพระนิพพาน ดับกิเลสก็ด้วยปัญญาและสภาพธรรมฝ่ายดีอื่นๆ ที่ประกอบเกิดร่วมด้วย มี สติ (สัมมาสติ) สมาธิ (สัมมาสมาธิ) วิตก (สัมมาสังกัปปะ) วิริยะ (สัมมาวายามะ) เป็นต้น ประกอบกัน ไม่ใช่เพียงปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะเท่านั้น และที่สำคัญ ความเพ่งพินิจในที่นี้ คือคำว่า ฌานัง จึงหมายถึง ฌาน คือ ความเพ่งพินิจ ซึ่ง ฌาน เป็นสภาพธรรมที่เพ่ง ซึ่งการเพ่งพินิจด้วยฌาน มี ๒ อย่าง คือ
๑. อารัมมณูปนิชฌาน การเข้าไปเพ่งอารมณ์ หมายถึง การเจริญสมถภาวนา ซึ่งองค์ของฌานทำกิจเพ่งอารมณ์ พร้อมกับสติสัมปชัญญะ ทำให้จิตสงบจากนิวรณ์ตามลำดับขั้น
๒. ลักขณูปนิชฌาน การเข้าไปเพ่งสภาวะ หรือเพ่งลักษณะของสภาพธรรม หมายถึง การเจริญวิปัสสนาภาวนา ดังนั้น เพราะอาศัยปัญญา และฌานตามที่กล่าวมา คือการเจริญวิปัสสนา เป็นต้น ย่อมทำให้ถึงพระนิพพานดับกิเลสได้ แต่หากปราศจากปัญญาและฌานที่เป็นการเพ่งพินิจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ก็ไม่สามารถถึงการดับกิเลสได้เลยครับ
ซึ่งก่อนจะถึงปัญญาระดับสูงและการเพ่งพินิจที่เป็นฌาน ๒ อย่าง อันหมายถึงการเจริญวิปัสสนาด้วย ก็ต้องเริ่มจากปัญญาเบื้องต้น ขั้นการฟังให้เข้าใจ ว่า ธรรม คืออะไร หากไม่มีการอบรม การฟัง การศึกษาพระธรรมเบื้องต้นแล้ว ก็ไม่สามารถถึงปัญญาและฌานที่เป็นความเพ่งพินิจได้เลยครับ
ส่วนความบริสุทธิ์ของศีลและสมาธิ อาศัยปัญญา ถูกต้องแล้วครับ
เพราะอาศัยความเห็นถูก ศีลและสมาธิที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ก็เจริญเพิ่มขึ้น และบริสุทธิ์หรือดีขึ้นตามกำลังปัญญานั่นเองครับ ดังนั้น จึงไม่ใช่จะต้องทำศีลให้บริสุทธิ์ก่อน หรือต้องไปทำสมาธิต่อไป ไปอบรมสมถภาวนา จึงจะอบรมปัญญาที่เป็นวิปัสสนาครับ
แต่อาศัยการฟัง ศึกษาพระธรรม ปัญญาก็ค่อยๆ เจริญขึ้น ปัญญาที่เจริญขึ้นย่อมน้อมไปเพื่อทำให้ศีล คือกาย วาจาดีขึ้นเอง และทำให้จิตมีความสงบจากกิเลส คือเป็นกุศลมากขึ้น (สมาธิ) ตามกำลังปัญญาครับ และที่สำคัญที่สุด เพราะมีปัญญาเกิดขึ้น รู้ความจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ที่เป็นสติปัฏฐาน ศีลก็มีด้วยในขณะนั้น คืออินทรียสังวรศีลและก็มีสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิครับ ดังนั้น ปัญญา หรือสัมมาทิฏฐิ หรือจะเรียกว่าวิชชา ก็ได้ เป็นหัวหน้าของกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะมีปัญญา ก็ทำให้กุศลประการต่างๆ เกิดขึ้น เจริญขึ้นครับ ที่สำคัญ ไม่ต้องข้ามไปไกล เริ่มจากการฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ ปัญญาก็เจริญขึ้นเองครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ถ้าเป็นภาษาบาลี ก็มีหลายคำ คือ ปัญญา สัมมาทิฏฐิ วิชชา เป็นสภาพธรรมอย่างเดียวกัน คือปัญญาเจตสิก ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ปัญญาจะมีได้เจริญขึ้นได้จนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้ตามลำดับ ขั้นต้น ต้องมีเหตุที่จะทำให้ปัญญาเจริญ คือฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ การอบรมเจริญปัญญา ไม่จำกัดเฉพาะเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นจะเห็นประโยชน์ของพระธรรม เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง มากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มีความเข้าใจอะไรเลย ย่อมไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่มีทางที่จะอยู่ใกล้พระนิพพานได้เลย
บุคคลผู้ที่ไม่เข้าใจธรรม ไม่เข้าใจความจริงย่อมเป็นผู้ถูกปกคลุมด้วยอวิชชา (ความไม่รู้) หนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ ในเมื่อมีอวิชชามากอย่างนี้ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้สะสมความเข้าใจพระธรรมเลย ก็ไม่มีปัญญาที่จะค่อยๆ ทำลายอวิชชาลงได้ ปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องทำลายอวิชชา การที่จะมีการอบรมเจริญสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง (ลักขณูปนิชฌาน) จนสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม บรรลุมรรค ผล นิพพาน ได้ ก็เพราะมีปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้นจริงๆ ทั้งหมดนั้นก็มาจากพระปัญญาตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสรู้อริยสัจจธรรมตามความเป็นจริง ทรงดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ทรงเป็นผู้ตื่นจากกิเลสโดยประการทั้งปวงด้วยพระปัญญา เมื่อพระองค์ทรงตื่นจากกิเลสแล้ว ก็ทรงปลุกสัตว์โลกให้ตื่นด้วย ด้วยการทรงแสดงพระธรรม เกื้อกูลให้สัตว์โลกได้เข้าใจตามความเป็นจริง ทำให้สัตว์โลกสามารถดับกิเลส ตื่นจากกิเลส ทำลายอวิชชาและกิเลสทั้งหลายด้วยปัญญา ตามพระองค์ ครับ
ขอเชิญฟังและอ่าน
ความละเอียดของฌานทั้งสองอย่าง
โดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่นี่ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...