พุทธศาสนา สอนเรื่องทำมาหากินทางโลก ไม่ให้ผิดศีลยังไงเหรอ ???

 
นัดด
วันที่  11 ม.ค. 2555
หมายเลข  20343
อ่าน  8,628

เอาเรื่องที่ดีที่สุดคือ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

ความหมายคือ อัตตาหิอัตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนอยู่ได้ด้วยการเลี้ยงชีพตน แค่เรื่องพอเพียง สอนเรื่อง เกษตร คือ ปลูกพืช สองคือ เรื่องเลี้ยงสัตว์

เวลาคุณปลูกพืช เห็นไหมครับ พืชไม่ได้ปลูกที่อากาศ แต่ปลูกในดิน คุณขุดลงไป สัตว์ในดินตายไหม พอขยายที่ปลูก ไปเบียดเบียนสัตว์ในดินไหม นึกเอาสัตว์ในดิน มีรังมีที่อยู่อะไรบ้าง นี่เราปลูกพืช บาปไหม ครับ

ถ้าเอาหลักพุทธมาเทียบ สองเรื่องพอเพียงสอนการเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงไปทำไม ก็เลี้ยงไว้ขายเนื้อ แล้วขายเนื้อผิดไหม เราส่งเสริมเลี้ยงสัตว์ แบบพอเพียง แต่มันก็ขายเนื้อสัตว์ ต้องฆ่าสัตว์ แบบนี้ผิดศีลผิดหลักพุทธไหม แล้วทางพุทธ จะให้ประกอบสัมมาชีพแบบไหนเหรอ ในเมื่อ เรื่องพอเพียงที่ใกล้เคียงสุด ก็เบียดเบียนชีวิตแล้ว


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การจะเป็นผู้ที่ได้สาระจากพระธรรม คือ จะต้องศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ และเข้าใจ คำแต่ละคำชัดเจน อย่างถูกต้อง ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครับ

แม้แต่คำว่า ศีล ศีลคืออะไร ศีล ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น ขณะที่มีศีล คือ มีเจตนางดเว้นจากบาป อกุศลในขณะนั้น เช่น มีเจตนางดเว้น จากการฆ่าสัตว์ ชื่อ ว่ามีศีล เพราะมีเจตนางดเว้นจากการทำบาป จะเห็นนะครับว่า มี คำว่าเจตนา ถ้าไม่มีเจตนาก็ไม่ใช่ศีล เพราะไม่ได้มีเจตนาจะงดเว้นอะไร จากบาป โดยนัยตรงกันข้าม การล่วงศีล ผิดศีล ก็ต้องมีเจตนา จงใจที่จะทำอกุศล ทำบาป

ขอยก การล่วงศีลข้อที่ ๑ ว่ามีอะไรบ้าง ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนะครับ

เรามาเข้าใจก่อนครับว่า กรรม ที่เป็นกุศลหรืออกุศล อยู่ที่เจตนา เป็นสำคัญ

องค์ของปาณาติบาตนั้นมี ๕ อย่าง คือ

๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต

๒. ปาณสัญญิตา รู้ว่าสัตว์มีชีวิต

๓. วธกจิตตัง มีจิตคิดฆ่า

๔. อุปักกโม มีความพยายาม

๕. เตนมรณัง สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

จะสังเกตข้อ ๓ นะครับว่า มีจิตคิดจะฆ่า จะเห็นนะครับว่ามีเจตนาที่จะฆ่าสัตว์ หาก ไม่มีเจตนาฆ่าสัตว์ แม้สัตว์นั้นตายไป ก็ไม่ล่วงศีล ไม่ผิดศีล เพราะไม่มีเจตนาฆ่าครับ ยกตัวอย่างเช่น การเดินที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็ต้องมีเหยียบสัตว์ตาย โดยไม่รู้ และไม่มีเจตนา ไม่ว่าใคร บุคลใด แม้แต่พระอรหันต์ที่ท่าน ตาบอด มีท่านพระจักขุบาล ท่านก็เหยียบสัตว์ตาย ภิกษุรูปอื่นก็ทูลพระพุทธเจ้าว่า ท่านฆ่าสัตว์ พระพุทธเจ้า ตรัสว่า จักขุบาลไม่ได้มีเจตนาฆ่า ไม่บาป ไม่ล่วงศีลเลย

ดังนั้น สำคัญคือ ย้อนกลับมาที่จิตและเจตาเป็นสำคัญ ว่าผิดศีล หรือ ไม่ผิดศีลครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 11 ม.ค. 2555

และจากที่ผู้ถามได้ยกตัวอย่างการประกอบอาชีพ พระพุทธเจ้าทรงแสดงอาชีพที่คฤหัสถ์ไม่ควรประกอบ คือ

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๓๗๖

๗. วณิชชสูตร

ว่าด้วยการค้าขายที่อุบาสกไม่ควรประกอบ

[๑๗๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ ประการนี้ อันอุบาสกไม่พึงกระทำ ๕ ประการเป็นไฉน คือ การค้าขายศัสตรา ๑ การค้าขายสัตว์ ๑ การค้าขายเนื้อสัตว์ ๑ การค้าขายน้ำเมา ๑ การค้าขายยาพิษ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ ประการนี้แล อันอุบาสกไม่พึงกระทำ.


อาชีพเหล่านี้ ไม่ควรประกอบเพราะอาชีพเหล่านี้ เอื้อต่อการทำบาป ได้ง่าย คือ มีเจตนาการฆ่าสัตว์ เป็นต้นครับ

ดังนั้นอาชีพที่ให้ขายเนื้อ ฆ่าเนื้อ อันนี้คงไม่ใช่คำสองของพระพุทธเจ้า คือ พระองค์ไม่สรรเสริญ ในอาชีพเหล่านั้น ตามพระสูตรที่ได้ยกมาครับ

ส่วนอาชีพเกษตรกร เช่น ปลูกข้าว เป็นต้น เมื่อปลูกข้าว หรือ ปลูกต้นไม้ ก็ต้องขุดดิน สัตว์ก็ตายเพราะขุดดินนั้น ตามที่ผู้ถามได้กล่าวไว้ คือ อย่างนี้ก็ผิดศีล เบียดเบียนผู้อื่น คือ ฆ่าสัตว์

ตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้นครับว่า การฆ่าสัตว์ที่ผิดศีล สำคัญที่เจตนาเป็นสำคัญหากมีเจตนาฆ่า คือ มีจิตคิดจะฆ่าในขณะนั้น (ดังองค์ของศีลข้อที่ ๑ ได้ยกมาข้างต้น) ก็ชื่อว่า ล่วงศีล ผิดศีลครับ เพราะมีเจตนาที่เป็นอกุศล แต่ขณะที่ขุดดิน เจตนาคืออะไร เจตนาคือ ขุดดิน ไม่ได้มีเจตนาฆ่าในขณะนั้น ดังนั้นแม้สัตว์ตาย ก็ไม่ได้มีเจตนาฆ่า จึงไม่บาป ไม่ผิดศีลในขณะนั้น ดังนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมว่า การล่วงศีล หรือ จะเป็นบาปหรือไม่ สำคัญที่เจตนาเป็นสำคัญครับ

ดังข้อความพระไตรปิฎกที่กล่าวว่า บาปไม่บาปสำคัญที่เจตนา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

บาปไม่บาปอยู่ที่เจตนา

ดังนั้นอาชีพที่ดี คือ อาชีพที่ไม่ใช่อาชีพ ๕ ประการตามที่กล่าวมา และเมื่อประกอบอาชีพอะไร ก็ตั้งอยู่ด้วยปัญญา และ ไม่ทำอกุศลกรรม คือ มีเจตนาทุจริตในอาชีพแต่ละอาชีพนั้น ก็ชื่อว่า สัมมาอาชีวะแล้ว เพราะ บริสุทธิ์ เป็นอาชีพที่ประเสริฐได้เพราะมีปัญญา และเป็นกุศลธรรม โดยงดเว้นจากการกระทำอกุศลกรรม งดเว้นจากเจตนาทุจริตในขณะที่ประกอบอาชีพ ชื่อว่า สัมมาอาชีวะครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
นัดด
วันที่ 11 ม.ค. 2555

ขอบคุณครับตามที่ท่านได้กล่าวมา แต่ ... ด้วยคำ ๓ คำนี้ ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน

แต่ถ้าคุณผเดิม มีอาชีพปลูกพืชไว้เลี้ยงชีพ แล้วคุณผเดิม มีความรู้ทางวิชาการ ว่า ในดินก็ต้องมี ไส้เดือน หนอน สัตว์อื่นๆ อาศัยในดิน ที่คุณเผดิมจะใช้ปลูกพืช แล้วคุณผเดิมจะทำยังไงครับ ถ้าต้องทำเพื่อเอาไปค้าขาย ก็ย่อมใช้พื้นที่หลายไร่ หลายตารางวา คุณผเดิมบอกไม่มีเจตนา ไม่ล่วงศีล แล้วคุณผเดิมย่อมรู้ไม่ใช่เหรอ ในดินมีสัตว์ต่างๆ อาศัย เมื่อรู้แล้วยังขุด ไถ แบบนี้จะบอกไม่มีเจตนาได้อย่างไร เหมือนคนที่ทานเนื้อสัตว์ แต่ไปเห็น ไปรู้ ด้วยตาเปล่า หรือ เจโตปริญญาณ เข้าข่าย รู้ และเห็น แบบนี้ จะทำยังไง

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 11 ม.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

ขอยกองค์ปาณาติบาต คือ การล่วงศีลข้อที่ ๑ อีกครั้งนะครับ

องค์ของปาณาติบาตนั้นมี ๕ อย่าง คือ

๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต

๒. ปาณสัญญิตา รู้ว่าสัตว์มีชีวิต

๓. วธกจิตตัง มีจิตคิดฆ่า

๔. อุปักกโม มีความพยายาม

๕. เตนมรณัง สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

จากองค์ของศีลพิจารณานะครับ ขณะที่ ประกอบอาชีพ เกษตร ขณะที่จะขุดดิน ผู้ถามได้กล่าวว่า ก็ในเมื่อรู้อยู่ว่า มีสัตว์ในดิน จะกล่าวว่าไม่มีเจตนาได้อย่างไร

สังเกตให้ดีนะครับ การรู้ว่ามีสัตว์มีชีวิต ขณะที่รู้อย่างนั้น ขณะนั้นมีเจตนาฆ่าสัตว์ หรือยังครับ เช่น ถามว่า สัตว์มีในดินไหม ก็บอกว่า สัตว์มีในดิน และก็รู้อยู่ด้วยว่ามีใน ดิน ขณะที่รู้อย่างนั้น มีเจตนาฆ่าสัตว์หรือยังครับ หรือ เพียงรู้ว่ามีสัตว์อยู่ในดินครับ ดังนั้น การรู้ว่ามีสัตว์มีชีวิตในดิน จึงเป็นเพียงองค์ ๒ ข้อต้นเท่านั้น คือ สัตว์มีชีวิต และก็รู้ว่าสัตว์มีชีวิตอยู่ในดิน ที่เป็นองค์ข้อที่ ๑ และ ๒ ของปาณาติบาต แต่การรู้ว่า มีสัตว์มีชีวิตอยู่ในดิน ไม่ได้หมายความ หรือ ตีความว่า จะต้องมีเจตนาฆ่าเสมอนะครับ เพราะเป็นเพียงองค์ข้อที่ ๑ และ ๒ ส่วนองค์ข้อที่ ๓ คือ มีจิตคิดจะฆ่า ก็อีกเรื่องหนึ่ง อย่างเช่น คนสองคน มีการขุดดินเหมือนกัน และก็รู้ว่ามีสัตว์มีชีวิตด้วยทั้งสองคน ขณะที่รู้ว่ามีสัตว์มีชีวิต มีเจตนาฆ่าหรือยังครับ ยังแน่นอน แต่ขณะที่ขุดดิน ทุกคนที่ขุดจะต้องมีเจตนาฆ่าทุกคนเสมอไปหรือเปล่าครับ ดังนั้นการู้ว่ามีสัตว์มีชีวิต ไม่ได้เป็นเครื่องตัดสินว่า เมื่อรู้แล้วจะมีเจตนาฆ่าครับ เจตนาขุดดินก็อย่างหนึ่ง เจตนาฆ่าก็อย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกันเลยครับ

ขอยกตัวอย่าง เรื่องในสมัยพุทธกาลครับ สมัยหนึ่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้เป็นพระโสดาบัน แต่ไม่มีตาทิพย์ พระโสดาบันงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ทั้งปวงแล้ว คือ แม้เจตนาฆ่าก็ไม่มี ท่านอนาถะเข้าไปหาพระอานนท์และกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปชนบท หมู่มหาชนมาที่พระเชตวัน ไม่ได้ไหว้พระองค์ ไม่มีสถานที่ควรบูชา พระอานนท์ทราบเรื่องนี้จึงกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งให้ปลูกต้นโพธิ์ได้ โดยพระมหาโมคคัลลานะนำลูกโพธิ์มาให้พระราชา นางวิสาขา (พระะโสดาบัน) ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี (พระโสดาบัน) เป็นผู้ขุดดินตรียมรอไว้ และเมื่อได้ลูกโพธิ์ ท่านอนาถะ ก็เป็นคนเอาลูกโพธิ์กดลงไปในเปือกตมครับ (เป็นโพธิ์พระอานนท์ที่พระเชตวัน)

สังเกตเรื่องนี้ให้ดีนะครับ มีการขุดดิน ผู้ที่ขุดดิน คือ พระโสดาบันสองท่าน คือท่านอนาถะ และนางวิสาขา พระโสดาบัน ตามที่ทราบกัน แม้เจตนาฆ่าก็ไม่มี ไม่ต้องกล่าวถึงการฆ่าเลย ดังนั้น เมื่อท่านขุดดิน จำเป็นไหมครับ จะต้องมีเจตนาฆ่าหรือ ท่านมีเจตนาขุดดินเพื่อปลูกต้นโพธิ์ ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่า ดินก็มีสิ่งมีชีวิต แต่ท่านก็ขุดเพราะเจตนาปลูกต้นโพธิ์ ไม่ใช่เจตนาขุดดินเพื่อฆ่าไส้เดือนครับ เจตนาของท่านจึงเป็นกุศล

ดังนั้น ขุดดินเหมือนกันทั้งสองคน แต่เจตนาฆ่าสัตวก็ได้ ไม่มีเจตนาฆ่าสัตว์ก็ได้ครับ และสังเกตอีกนะครับว่า ท่านอนาถะ ก็ กด ลูกโพธิ์สุก ลงไปในเปือกตมที่เป็นดิน ท่านอนาถะ ไม่ได้ฌาน ไม่มีตาทิพย์รู้ว่ามีสิ่งมีชีวิตหรือเปล่า เช่นเดียวกับเกษตรกร ก็ไม่มีตาทิพย์ แต่ท่านผู้ถามก็กล่าวว่า ก็รู้อยู่ว่าในดินมีสิ่งมีชีวิต เพราะฉะนั้นท่านอนาถะก็รู้อยู่เช่นกัน แต่ทำไมท่านยังกดลูกโพธิ์ลงไป ทั้งๆ ที่อาจมีสิ่งมีชีวิต และทำให้มันตายก็ได้ เพราะท่านอนาถะ ไม่ได้มีเจตนาฆ่าสัตว์ แต่ท่านมีเจตนาปลูกต้นโพธิ์ในขณะนั้นครับ จากเรื่องราวที่กล่าวมา จึงแสดงเห็นชัดเจนครับว่า ขุดดินเหมือนกัน และรู้ว่าสัตว์มีชีวิตมีอยู่ แต่ไม่จำเป็นจะต้องมีเจตนาฆ่าที่เป็นบาปเลยครับ

ขณะนี้กำลังนั่ง อาจจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ในขนตา ไม่ควรกระพริบตา เพราะอาจทำให้สัตว์ตาย ขณะกระพริบตา มีเจตนาฆ่าหรือไม่ครับ ไม่ควรนอน เพราะที่นอน อาจจะมีสิ่งมีชีวิต ก็รู้อยู่ว่าที่นอน มีสิ่งมีชีวิต เท่ากับว่า ถ้านอนลงไป มีเจตนาฆ่าแล้วหรือเปล่าครับ ไม่ควรเดิน เพราะบนพื้นมีสิ่งมีชีวิต ก็รู้อยู่ ว่ามีสิ่งมีชีวิตบนพื้นดิน มีมด และตัวเล็กๆ เป็นต้น การเดินไปของพระพุทธเจ้า พระองค์ก็เสด็จดำเนิน ของพระโสดาบันที่ไม่ได้ ฌาน ก็เดินไปเป็นปกติ แม้รู้อยู่ว่า พื้นดินมีสัตว์มีชีวิต การเดินไป แล้วเหยียบสัตว์ตาย มีเจตนาฆ่าเสมอหรือเปล่าครับ ไม่ควรทานข้าว เพราะอาหารอาจจะทำให้สัตว์ในท้อง หรือ ในปากตายได้ เพราะเมื่อสัตว์ตาย ก็เป็นการทำบาปแล้ว ใช่หรือเปล่าครับ หรือ กรรม อยู่ที่เจตนา ว่ามีเจตนาฆ่าสัตว์หรือไม่ ไม่ควรทานอาหารมังสวิรัติ เพราะอาจทำให้ สัตว์ในปากตายได้ เพราะรู้อยู่ว่ามีสัตว์ในปาก ที่ตัวเล็กๆ ไม่ควรแปรงฟัน ไม่ควรนั่ง นอน ยืน เดิน ไม่ควรทำอะไรทั้งสิ้น เพราะอาจทำให้สัตว์ตายได้ ทำให้เป็นบาป เพราะ รู้อยู่ว่า โดยทั่วไป ในที่เกือบทุกแห่ง มีสิ่งมีชีวิต ซึ่งเราก็รู้และผู้ถามก็รู้อยู่ เมื่อรู้อย่างนี้ ก็ชื่อว่ามีเจตนาฆ่าแล้ว?

ดังนั้นสำคัญที่เจตนาเป็นสำคัญตามที่กล่าวมาครับ พระธรรมเป็นเรื่องละเอียด ลึกซึ้ง

ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
jaturong
วันที่ 12 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pamali
วันที่ 12 ม.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
khampan.a
วันที่ 12 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุคคลผู้ที่ศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดเท่านั้นที่จะได้สาระจากพระธรรม สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ จากการได้ยินได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรม บาปหรือไม่บาป อยู่ที่เจตนา มีเจตนาที่จะกระทำอกุศลกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น นั้นเป็นบาปอย่างแน่นอน แต่ถ้าเป็นในกรณีที่ไม่ได้มีเจตนา ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะกระทำอกุศลกรรมนั้นๆ เช่น ขุดดิน ไถนา ที่จะกระทำเกษตรกรรม ขณะนั้น ไม่มีเจตนาที่จะฆ่าไส้เดือนหรือแมลง จึงไม่บาป อย่าว่าแต่การขุดดินเลย แม้การเดินไปตามถนนหนทาง แล้วเกิดไปเหยียบถูกมดตาย โดยไม่ได้เจตนา ก็ไม่บาป และอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ขณะที่จุดเทียนให้เกิดความสว่าง แล้วมีพวกแมลงเข้ามาใกล้บริเวณ เกิดตายลง อย่างนี้ ก็ไม่บาป เพราะไม่มีเจตนาฆ่า ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
แก้วนพคุณ
วันที่ 12 ม.ค. 2555

เจตนาหํ ภิกขเว กมมํ วทามิ

เรากล่าวว่าเจตนาว่าคือกรรม

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบอนุโมทนาคุณ paderm อย่างยิ่งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
เซจาน้อย
วันที่ 14 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
aurasa
วันที่ 16 ม.ค. 2555

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียดจริงๆ เพราะเป็นเรื่องของจิต เจตสิก และรูป ซึ่งละเอียดลึกซึ้งยิ่งนัก

ขอบคุณผู้ตั้งกระทู้ถาม

กราบอนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณผเดิม, อ.คำปั่น ที่ได้ช่วยอธิบายอย่างละเอียดจนเข้าใจแล้วเข้าใจอีกค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
natre
วันที่ 28 ก.ค. 2555

ขอขอบคุณผู้ตั้งคำถามและท่านผู้ตอบกระทู้ครับ

มันเป็นปัญหาที่คาใจคนพุทธทั่วๆ ไป (เป็นส่วนมาก) และการตอบกระทู้ของอาจารย์ผเดิมก็ตอบได้ละเอียดดีครับ

ขอโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
wannee.s
วันที่ 28 ก.ค. 2555

จะทำอาชีพอะไรก็ได้ ที่ไม่ผิดศีล ๕ ไม่ทำให้ตัวเองและคนอื่นเดือดร้อน แล้วแต่ความถนัดและความชอบของงานที่ทำ แต่ละคนไม่เหมือนกัน ที่สำคัญที่สุด อย่าลืมศึกษาธรรมและอบรมปัญญาไปด้วย จะเป็นชีวิตที่ประเสริฐที่สุดในชาตินี้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Nlinni
วันที่ 1 ก.ย. 2557

ขอบคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
กันญาวีร์
วันที่ 25 ก.พ. 2565

ถ้าเราเพาะพันธ์และเลี้ยงสัตว์เล็กเช่นหนอน เพื่อให้มันเติบโต และนำไปขาย เพื่อส่งต่อผู้รับซื้อนำไปแปรรูปเป็นอาหารอีกที ธุรกิจการเพาะพันธ์นี้บาปไหมคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
Wacharawee
วันที่ 3 ก.ค. 2567

ในการประกอบอาชีพ เกษตร หนีไม่พ้นเรื่องการกำจัดศัตรูพืช ค่ะ

แม้การปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับก็ต้องมีเรื่องหนอนแมลงเพลี้ย เราจะต้องตั้งจิตอย่างไรในการจัดการเรื่องเหล่านี้คะ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
สิริพรรณ
วันที่ 4 ก.ค. 2567

ขอถวายความนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ ประการนี้ อันอุบาสกไม่พึงกระทำ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

การค้าขายศัสตรา ๑ การค้าขายสัตว์ ๑ การค้าขายเนื้อสัตว์ ๑ การค้าขายน้ำเมา ๑ การค้าขายยาพิษ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ ประการนี้แล อันอุบาสกไม่พึงกระทำ.

จาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

วณิชชสูตร

วณิชชสูตร [อาชีพที่ไม่ควรประกอบ]

อบายภูมิ

คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุปการะเกื้อกูลให้ผู้ฟังเข้าใจความจริงของความเป็นไปของชีวิต ทรงเป็นผู้รู้แจ้งความจริงของสิ่งทั้งปวง รวมถึงการเวียนว่ายตายเกิดในแต่ละภพชาติ เหตุกับผลต้องตรงกันเสมอ คือความเป็นไปของธรรมที่บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นความตรง ไม่มีใครที่ตั้งจิต แต่เป็นความตรงของธรรม การได้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นสุคติภูมิต้องมาจากเหตุที่ดี การเกิดเป็นหนอน แมลง หรือสัตว์อื่น ที่ต้องถูกฆ่า เป็นอยู่อย่างลำบาก เดือดร้อน หวาดกลัว ก็ต้องมาจากเหตุฝ่ายไม่ดีให้ผลที่ต้องเกิดในทุคติภูมิ หรือแม้สัตว์บางตัวจะสบายอย่างไรก็ต่างจากสุคติภูมิ เพราะไม่มีโอกาสเจริญกุศลอบรมปัญญาเหมือนสุคติภูมิ ไม่มีใครอยากได้รับผลที่ไม่ดี แต่เมื่อเหตุไม่ดีให้ผล ธรรมก็ต้องเป็นไปอย่างนั้น

ความร่ำรวยทรัพย์สินเงินทองเท่าไรก็ตาม ก็เพียงชาตินี้ และก็ต้องทิ้งไว้ทั้งหมดเหมือนชาติก่อนๆ ก็ไม่ได้นำสิ่งใดมาด้วยเลย แต่ผลของกรรมที่ต้องรับผลทุกวัน ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มาจากไหน ถ้าไม่ใช่จากเหตุที่เคยมีเจตนากระทำในอดีต ซึ่งการต้องรับทุกข์จากการเกิดในภพภูมิที่เดือดร้อนและสาหัส คืออบายภูมิ ยังไม่สิ้นสุดสำหรับปุถุชน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาต่อสัตว์โลกผู้ไม่รู้ความจริง จึงทรงตรัสเตือนไว้มากมาย การให้ผลของกรรม เป็นความละเอียดอย่างยิ่ง ที่มีแต่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะเข้าใจถึงแต่ละขณะจิต การศึกษาพระธรรมเป็นหนทางสู่ความปลอดภัย ไปตามลำดับขั้น ของการได้รู้ความจริง

จึงขออนุโมทนาอย่างยิ่งกับทุกท่านที่เห็นประโยชน์ของการศึกษาพระธรรมค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
chatchai.k
วันที่ 4 ก.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ