ความสุข

 
pong100000
วันที่  4 ก.พ. 2555
หมายเลข  20490
อ่าน  2,419

ความสุขนั้นมีความหมายอย่างไร และทำไมศาสนาทุกศาสนาถึงสั่งห้าม เช่นถ้าเรามี ความต้องการทางเพศเราก็เสพกาม เราก็มีความสุข แต่ศาสนาทุกศาสนาห้ามเพราะมัน ไม่ดี การติดในรสเรากินอาหารอร่อยเราก็มีความสุข แต่ทำไมศาสนาบอกว่าไม่ควรติดกับรสมากเกินไป แล้วอะไรถูกกันแน่ แม้แต่ตัวเราเองเรายังไม่รู้อะไรเลย แล้วใครรู้บ้างว่า ตนเองต้องตายเมื่อไร แล้วรู้ได้อย่างไรว่าตนเองต้องตาย รู้ได้จากการเห็นคนอื่นตาย อย่างนั้นหรือ ถ้าผมบอกว่าเราทุกคนไม่รู้อะไรเลยจะเป็นอย่างไรล่ะเพราะทุกอย่างที่เราร่ำเรียนมานั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์สมมติขึ้นแค่นั้นเอง แม้แต่วิทยาศาสตร์ไม่อาจสรุปได้ เพราะ วิทยาศาสตร์เป็นการค้นพบโดยบังเอิญ วิทยาศาสตร์รู้แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วแต่กลับตอบไม่ได้ว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นได้เช่นนั้นทำไมเกิดเพื่ออะไรและรู้สิ่งนั้นได้อย่างไรโดยการสมมติ ขึ้นหรือ (ถ้าจะตอบขอเป็นความคิดเห็นส่วนตัวไม่อ้างหนังสือ)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอตอบในความคิดส่วนตัวที่ได้มาจากพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะพระพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงที่ถูกต้องครับ

ความสุข เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่มีใครที่ปฏิเสธได้ครับ เพราะมีจริง ความสุข จึงเป็นสัจจะความจริงประการหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า เวทนา คือ เป็นความรู้สึกประเภทหนึ่ง

เวทนา ซึ่งเป็นความรู้สึก นั้น มี ๕ คือ

ความรู้สึกที่เป็นสุขทางกาย (สุขเวทนา)

ความรู้สึกที่เป็นสุขทางใจ (โสมนัสเวทนา)

ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ทางกาย (ทุกขเวทนา)

ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ทางใจ (โทมนัสเวทนา) และ

ความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ (อทุกขมสุขเวทนา หรือ อุเบกขาเวทนา)

ดังนั้น ความสุข โดยนัยของ ความรู้สึก จึงมี ๒ อย่าง คือ ความสุขกาย ที่เป็นสุขเวทนา เช่น ได้รับสิ่งที่กระทบสัมผัสที่ดี ทำให้เกิดความสุขกาย และ ความสุขใจ คือความรู้สึกโสมนัส ซึ่งเมื่อได้ศึกษาสัจจะ ความจริง ก็จะเข้าใจธรรมละเอียดขึ้น โดยไม่ใช่คิดเอง ที่ไม่ถูกต้อง ก็จะเข้าใจว่า ความรู้สึกที่เป็นเวทนาเจตสิก เกิดกับจิตทุกประเภท ดังนั้น ความรู้สึกสุขใจที่เป็นโสมนัสเวทนา เกิดกับจิตที่เป็นจิตที่ดี ที่เป็นกุศลจิตก็ได้ และ เกิดกับ จิตที่ไม่ดี ที่เป็นอกุศลจิตก็ได้ครับ

ดังนั้น เมื่อเรากลับมาที่สัจจะ ความจริง จิตที่ไม่ดี มีจริง เช่น จิตที่ติดข้อง ต้องการ พอใจ เป็นจิตที่ไม่ดี เพราะประกอบด้วยธรรมที่มีโทษ เพราะนำมาซึ่งความทุกข์ เพราะเมื่อมีโลภะ ก็ทำให้ทำสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร และก็ไม่พ้นจากการเกิดที่เป็นทุกข์ได้เลย ดังนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ปฏิเสธความสุข แต่พระองค์ ทรงแสดงความสุข หลากหลายนัยว่า ความสุขใดมีประโยชน์ ความสุขใดมีโทษครับ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ความสุขที่ดี ประเสริฐ คือ ความสุขที่ไม่เจือด้วยกิเลส คือ ไม่มีกิเลสเกิดขึ้น เช่น ขณะที่เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยเวทนา ความรู้สึกที่โสมนัส ในขณะนั้น และความรู้สึกโสมนัสในขณะที่ละ สละกิเลสได้นั้น ประเสริฐ แต่ ความสุขที่เจือด้วยกิเลส คือ ขณะที่ติดข้อง ต้องการ และมีความสุขในขณะนั้น ไม่ประเสริฐ เพราะ นำมาซึ่งความทุกข์ในภายหลัง เพราะสะสมสิ่งที่ไม่ดี คือ โลภะ เมื่อติดข้องมาก ก็ทำให้เดือดร้อนเพราะกิเลสนั้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 4 ก.พ. 2555

ยกตัวอย่าง ตามที่ผู้ถามยกมานั้น เช่น ความสุขที่เกิดจากกาม เกิดจากความยินดี พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส และมีความสัมพันธ์ทางเพศ แน่นอนครับ ว่า ความสุขเกิดขึ้นได้ และเกิดแล้วมีจริง ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มีความสุข แต่สุขนั้นมีโทษ เป็นความสุขที่เจือด้วยกิเลส เป็นความสุขที่เกิดกับโลภมูลจิต คือ เกิดกับจิตที่ติดข้อง ต้องการ ยินดีพอใจ และเมื่อมีความสุขในประเภทนั้นมาก ก็ทำให้ติดข้องมาก และถ้าติดข้องมาก เป็นอย่างไร ครับ ถ้าไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ เกิดความโกรธ ไม่พอใจ ขณะนั้น ทุกข์แล้ว เพราะเกิดจากความสุขที่เจือด้วยกิเลส และอาจทำร้ายคนที่ไม่ให้ หรือ คนรอบข้างได้ ทั้งทางกาย และ วาจาก็ได้ครับ เห็นไหมครับว่า เป็นความสุขซึ่งนำมาซึ่งโทษประการต่างๆ เพราะประกอบด้วยกิเลส สภาพธรรมที่ไม่ดีนั่นเอง ที่มีข่าวข่มขืนกัน เพราะอะไรครับ หากไม่ใช่เพราะความสุขที่เกิดจากความติดข้อง ที่เจือด้วยกิเลส และ แม้การติดรสอาหาร ความสุขที่เกิดกับการได้รสที่ดี เกิดแล้วมีจริง ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มีจริง แต่เมื่อเป็นความสุขที่เกิดกับกิเลสที่ยินดี พอใจ ก็ทำให้สะสมโทษ เมื่อติดข้อง รสอาหารมากๆ เป็นอย่างไรครับ เมื่อได้รับอาหารที่ไม่ดี ไม่พอใจ โกรธ และถ้าติดข้องมากๆ เพราะเกิดความสุขจากการติดรสอาหาร ก็อาจกระทำทางกาย วาจาไม่ดีก็ได้ครับ นี่ ก็เพราะความสุขที่เจือด้วยกิเลสนั่นเองครับ

สรุปได้ว่า ความสุขมีจริง แต่ความสุขมีหลายอย่าง ทั้งความสุขที่นำมาซึ่งโทษ และ ไม่นำมาซึ่งโทษ ความสุขที่ไม่ดี คือ คามสุขที่เจือด้วยกิเลส และความสุขที่ประเสริฐ คือ ความสุขที่ไม่มีกิเลส ความสุขที่เป็นเนกขัมมะ ออกจากกาม ออกจากกิเลส และที่สำคัญที่สุด หากไม่มีสภาพธรรมอะไรเลย ก็ไม่ต้องมีการติดข้อง ไม่ต้องมีความสุขที่เป็น เวทนา ไม่ต้องทุกข์กายและทุกข์ใจ พระนิพพาน คือ สภาพธรรมที่ไม่มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมที่เป็นสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง จึงเป็นสุขอย่างยิ่งนั่นเองครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 4 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุคคลผู้ที่ยังมีกิเลส ยังมีความติดข้อง จึงมีความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ตั้งแห่งความติดข้องยินดีพอใจ กล่าวได้ว่า ยังยินดีในสุขที่ไม่สะอาด นับวันยิ่งจะแสวงหาความสุขที่ไม่สะอาดนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น ความต่างระหว่างผู้ที่หมดกิเลสแล้ว กับ ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ จึงห่างไกลกันมากยิ่งกว่าฟ้ากับดินทีเดียว เพราะผู้ที่ดับกิเลสได้อย่างหมดสิ้นแล้ว ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย ในชีวิตประจำวัน สุขที่เกิดจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าปรารถนา น่าพอใจ นั้น เป็นสุขที่ไม่สะอาด เป็นเพียงสิ่งชั่วคราว ได้มาแล้วก็หมดไป ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา

บุคคลไม่สามารถนำเอาทุกอย่างเหล่านี้ไปในภพหน้าได้เลย ต้องทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ก็จากอยู่ทุกขณะ เพราะสภาพธรรมเกิดแล้วดับแล้ว ไม่กลับมาอีกเลย แต่สุขที่สะอาด อันเกิดจากกุศลประการต่างๆ นั้น มีน้อย และเกิดยากมาก ด้วยเหตุนี้ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ก็เพื่อให้รู้จักความจริง เพื่อที่จะได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ความสุข ในทุกๆ วันนั้น เป็นความสุขที่สะอาดหรือไม่สะอาด แล้วจะมีความสุขที่สะอาดด้วยปัญญาอย่างไร นั่นก็คือ ฟังพระธรรมให้เข้าใจ ซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับนั่นเอง จนกว่าจะสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ในที่สุด ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 4 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
tookta
วันที่ 4 ก.พ. 2555

เราคิดว่าความสุข คือการกระทำต่างๆ ที่เราทำแล้วเรามีความสุขกายและสุขใจโดยไม่ไปทำร้าย หรือทำให้ผู้อื่นต้องเกิดความเดือดร้อนมันน่าจะดีนะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
kinder
วันที่ 4 ก.พ. 2555

จะต้องเข้าใจคำว่า ธรรมะ ก่อนครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
homenumber5
วันที่ 5 ก.พ. 2555

เรียนท่านเจ้าของกระทู้ ท่านวิทยากร และทุกความเห็นค่ะ

ขออนุญาตแสดงความเห็นส่วนตัว (หลังจาก ฟังธรรมมาเล็กน้อยค่ะ)

"ทำไมศาสนาบอกว่าไม่ควรติดกับรสมากเกินไป แล้วอะไรถูกกันแน่" ขอสรุปว่า ท่านเจ้าของกระทู้ต้องการทราบว่า อะไรถูกกันแน่ และวิทยาศาตร์ก็เชื่อไม่ได้ทั้งที่มีวิธีการค้นหาแบบวิทยาศาสตร์

ขออ้างพระอภิธรรมก่อนค่ะ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า สัตว์ในโลกนี้ มี ๓๑ ภพภูมิ (คน แบบเราท่านนี้อยู่ในกามาวจรภูมิ เช่นเดียวกับ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เทวดาอีกหกชั้น) เหนือเทวดาเป็นพรหม อรูปพรหมค่ะ คือ ถ้า คนตายไปส่วนมากก็ไปเกิดได้ทั้ง ในภพทั้งหมดที่กล่าวมานี้

คน ก็เสวยกรรม วิปาก ตามที่ผลกรรมที่เคยทำมา เทวดาก็เสวยบุญในสวรรค์ แต่ทั้งปวง เมื่อไม่บรรลุพระธรรมขั้นโลกุตตระ ยังไงๆ ต้องมาวนเวียนอยู่ใน ๓๑ ภพนี้ ที่แย่แน่ๆ คือ ไปนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน พระมหาโพธิสัตว์ทรงเสวยภพชาติมามากมายถึง ๒๐ อสงไขย แสนกัปป์ จนตรัสรู้ อริยสัจจ์สี่ คือหนทางที่จะออกจากการเวียนว่ายตายเกิดใน ๓๑ ภพนี้ค่ะ สิ่งสำคัญคือ พระพุทธเจ้าทรง ตรัสรู้ด้วย ญาณสาม คือสามารถ รู้ ว่าพระองค์และสัตว์ คน เทวดา อื่นๆ เกิดมากี่ชาติ เป็นอะไรบ้างและรู้ด้วยว่า วันนี้บุคคลใดจะบรรลุธรรม และทรงเสด็จไปเทสนาธรรมโปรด ด้วยเรื่องที่ บุคคลนั้นๆ ได้อธิษฐานมาฟังเพื่อบรรลุธรรม (ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเรื่องที่อธิษฐานมาหลายชาติ เช่น ท่านอัญญาโกณทัญญะ อธิษฐานเป็นปฐมสาวก มาฟังธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเพื่อบรรลุพระโสดาบัน) และไม่ใช่มีพระพุทธเจ้าของเราองค์นี้เท่านั้น ยังมีอีก ๒๗ องค์ที่ตรัสรู้ไปก่อน และยังมีที่จะรอมาตรัสรู้อีก (พระศรีอริยเมตไตรย์) คำถามที่ทุกคนที่ชอบความสุขเกลียดทุกข์คือ มีสภาพใดบ้างที่เรามีความสุขตลอดเวลา ใช่ไหม คำตอบจากพระพุทธองค์คือ ต้องพ้นทุกข์ คือนิพพาน ทีนี้เหลือแต่ การตัดสินใจของ คน ว่าจะวนเวียนในสุข ทุกข์ ไปๆ มาๆ หรือจะมาศึกษาทางพ้นทุกข์ของพระพุทธองค์ อย่าลืมว่า พระมหาโพธิสัตว์มีปราสาท สามฤดู มีบริวาร หลายพัน ยังสละออกบวชและค้นหาทางพ้นทุกข์ แล้ว คนธรรมดา มีอะไรให้ห่วงหารอคอย เช่นนั้นหรือ หรือจะรอคอยจนแน่ใจว่า กาย (อันชราเสื่อมถอยกำลังไปตามเวลา) นี้ไม่อาจหาความสุขในกามแบบคนทั่วไปแล้วค่อยมาหาทางพ้นทุกข์ ท่านเคยได้ดูข่าว ว่า ชายชราป่วยหลายโรคเรื้อรัง จบชีวิตตนเองเพราะทนต่อกายที่ป่วยนี้ไหม เพราะ เขาไม่ได้ฟังธรรมของพุทธองค์จึงตัดสินใจเช่นนั้น คุณยายอยู่บ้านเหงาหงอยเพราะลูกหลานไปทำงาน ตนเองไปไหนไม่ไหว หรือคุณยายอีกคน ไปไหนไม่ไหวแต่จิตใจชื่นบานเพราะฟังธรรมพุทธองค์แล้วเข้าใจเริงร่าในธรรม ใครให้ไปหาความสุขแบบทั่วไปไม่อยากไป กินได้ อยู่ดี สุขใจ หลับสบายไหม ท่านอยากมีสภาพอย่างไร อยากให้ผู้ใหญ่ของท่าน มีสภาพจิตอย่างไร ดิฉันเจตนาให้ชาวพุทธทุกท่านมีโอกาสสัมผัสพระรรม เพื่อเตรียมตัวกับ ทุกข์จากความชรา การเจ็บป่วย เพื่อที่ จิตใจจะไม่ทุรนทุรายเกินไปนักเวลาที่ทุกข์มาถึงค่ะ หากมี สิ่งใดที่ทำให้ท่านไม่พึงพอใจ ขอให้โปรดอภัยด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 5 ก.พ. 2555

ความสุขที่แท้จริงยิ่งกว่าการมีปัญญาไม่มี ขณะที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นปราศจากความทุกข์ ขณะนั้นจิตผ่องใสจากกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ ชั่วขณะสั้นๆ เพราะปัญญารู้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรมะเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับ ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
bsiam
วันที่ 5 ก.พ. 2555

อ่านคุณ paderm ตอบ เข้าใจได้อย่างลึกซึ้งและไม่มีข้อสงสัย

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pat_jesty
วันที่ 6 ก.พ. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตขอทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
jaturong
วันที่ 7 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
nong
วันที่ 7 ก.พ. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
pong100000
วันที่ 8 ก.พ. 2555
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 20490 ความคิดเห็นที่ 8 โดย wannee.s

ความสุขที่แท้จริงยิ่งกว่าการมีปัญญาไม่มี ขณะที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นปราศจากความ

ทุกข์ ขณะนั้นจิตผ่องใสจากกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ ชั่วขณะสั้นๆ เพราะ

ปัญญารู้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรมะเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับ ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา ค่ะ

ปัญญาคืออะไร แล้วอะไรเรียกว่าปัญญา คนเราพอหาคำตอบไม่ได้ก็มักจะพูดว่าอนิจจัง มันเป็นสิ่งไม่เที่ยง

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
paderm
วันที่ 8 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 14 ครับ

เชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่นี่ครับ

ปัญญา

ปัญญามีลักษณะอย่างไร

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
lokiya
วันที่ 27 มิ.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
อย่าหยิ่งผยอง
วันที่ 5 พ.ค. 2567

ขออนุโมทนาสาธุ กับทุกท่านค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ