วิปัลลาสสูตร ... วันเสาร์ที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

 
มศพ.
วันที่  4 ก.พ. 2555
หมายเลข  20492
อ่าน  4,806

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

...จาก...

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 172

๙. วิปัลลาสสูตร

(ว่าด้วยวิปลาสในธรรม ๔ ประการ)

[๔๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัญญาวิปลาส (ความสำคัญคลาดเคลื่อน) จิตวิปลาส (คิด คลาดเคลื่อน) ทิฏฐิวิปลาส (เห็นคลาดเคลื่อน) มี ๔ ประการนี้ ๔ ประการคืออะไรบ้าง คือ สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ๑ ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ๑ ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา ๑ ในสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม ๑ นี้แล สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ๔ ประการ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส ๔ นี้ ๔ คืออะไรบ้าง คือ สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส ว่าไม่เที่ยงในสิ่งที่ไม่เที่ยง ว่าทุกข์ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นอนัตตาในสิ่งที่เป็นอนัตตา ว่าไม่งามในสิ่งที่ไม่งาม นี้แล สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส ๔ ประการ

พระคาถา

สัตว์เหล่าใด สำคัญว่าเที่ยง ในสิ่งที่ไม่เที่ยง สำคัญว่าสุขในสิ่งที่เป็นทุกข์ สำคัญว่าเป็นอัตตา ในสิ่งที่เป็นอนัตตา และสำคัญว่างามใน สิ่งที่ไม่งาม ถูกความเป็นผิดชักนำไปแล้ว ความคิดซัดส่ายไป มีความสำคัญ (คิดเห็น) วิปลาส สัตว์เหล่านั้นชื่อว่า ถูกเครื่องผูกของมารผูกไว้แล้ว เป็นคนไม่เกษมจากโยคะ ย่อมเวียนเกิดเวียนตายไป เมื่อใดพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้ประดุจดวงอาทิตย์ บังเกิดขึ้นในโลก ทรงประกาศธรรมอันนี้ซึ่งเป็นทางให้ ถึงความสงบทุกข์ เมื่อนั้น สัตว์เหล่านั้น ผู้ที่มีปัญญา ได้ฟังธรรมของท่านแล้วจึงกลับได้คิดเห็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และไม่งาม ตามความเป็นจริง เพราะมาถือเอาทางความเห็นชอบ ก็ล่วงพ้นทุกข์ ทั้งปวงได้

จบวิปัลลาสสูตรที่ ๙

อรรถกถาวิปัลลาสสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในวิปัลลาสสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า สญฺาวิปลฺลาสา ความว่า มีสัญญาความสำคัญคลาดเคลื่อน อธิบายว่ามีสัญญา ๔ วิปริต ความสำคัญที่ตรงกันข้าม แม้ในสองบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน

บทว่า อนิจฺเจ ภิกฺขเว นิจฺจนฺติ สญฺาวิปลฺลาโส ความว่า เกิดความสำคัญ ยึดถืออย่างนี้ว่าเที่ยง ในสิ่งที่ไม่เที่ยง ชื่อว่าสัญญาวิปัลลาส บัณฑิตพึงทราบความในบททุกบท โดยนัยนี้

บทว่า อนตฺตนิ จ อตฺตา ความว่า ผู้มีความสำคัญอย่างนี้ว่าเป็นอัตตาในสิ่งที่เป็นอนัตตา

บทว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิหตา ความว่า สัตว์จะสำคัญอย่างเดียวเท่านั้น ก็หามิได้ ยังถูกแม้มิจฉาทิฏฐิความเห็นผิดที่กำลัง เกิดขึ้นชักนำไปแล้ว เหมือนสัญญาวิปัลลาส

บทว่า ขิตฺตจิตฺตา ความว่า ผู้ประกอบด้วยจิตซัดส่ายที่กำลังเกิดขึ้นเหมือนสัญญาวิปัลลาสและทิฏฐิวิปัลลาส

บทว่า วิสญฺิโน นั่นเป็นเพียงเทศนา. อธิบายว่า เป็นสัญญา จิต และทิฏฐิ อันวิปริต

บทว่า เต โยคยุตฺตา มารสฺส ความว่า สัตว์เหล่านั้น ชื่อว่า ประกอบอยู่ในเครื่องผูกของมาร

บทว่า อโยคกฺเขมิโน ความว่า เป็นคนไม่ถึงความเกษมจากโยคะ คือ พระนิพพาน

บทว่า สตฺตา คือ บุคคลทั้งหลาย

บทว่า พุทฺธา คือผู้ตรัสรู้สัจจะ ๔

บทว่า อิม ธมฺม คือ สัจจธรรม ๔

บทว่า สจิตฺต ปจฺจลทฺธา ได้แก่ กลับได้ความคิดของตนเอง

บทว่า อนิจฺจโต ทกฺขุ ได้แก่ ได้เห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง จริง

บทว่า อสุภตทฺทส ได้แก่ ได้เห็นโดยความเป็นของไม่งาม จริง

บทว่า สมฺมาทิฏฺิสมาทานา ได้แก่ ผู้ยึดถือสัมมา ทัสสนะ

บทว่า สพฺพ ทุกฺข อุปจฺจคุ ความว่า ล่วงพ้นวัฏฏทุกข์ทั้งสิ้นได้

จบอรรถกถาวิปัลลาสสูตรที่ ๙

ขอความเจริญมั่นคงในกุศลธรรมจงมีแด่ทุกท่าน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 4 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

วิปัลลาสสูตร

(ว่าด้วยวิปลาสในธรรม ๔ ประการ)

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงวิปลาส * ๓ ประการ คือ สัญญาวิปลาส (สำคัญผิด) จิตวิปลาส (คิดผิด) และ ทิฏฐิวิปลาส (เห็นผิด) ซึ่งในแต่ละวิปลาสนั้น ก็เป็นไปในวัตถุ ๔ คือ สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน และ ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ต่อจากนั้น พระองค์ ได้ทรงแสดงถึงธรรมที่ตรงกันข้ามกับวิปลาส คือ สัญญาจิต และทิฏฐิ ไม่วิปลาส ว่า ไม่เที่ยงในสิ่งที่ไม่เที่ยง ว่าเป็นทุกข์ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นอนัตตาในสิ่งที่เป็นอนัตตา และว่าไม่งามในสิ่งที่ไม่งาม ในพระคาถา สรุปได้ว่า ผู้ที่ยังละวิปลาส ไม่ได้ ย่อมไม่พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ทรงแสดงพระธรรม สัตว์โลกได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง จึงละวิปลาสได้ เป็นผู้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

[หมายเหตุ เขียนได้ทั้ง วิปัลลาส และ วิปลาส ครับ]

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

วิปลาส
  วิปลาส ๓ คือ ทิฏฐิ สัญญา จิตวิปลาส ขอเรียนถามเรื่องวิปลาสในชีวิตประจำวันค่ะ   ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ   เรื่องของวิปลาส   ความเห็นผิดและวิปลาส

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 4 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
orawan.c
วันที่ 5 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของทุกๆ ท่านด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 5 ก.พ. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 6 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 7 ก.พ. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wanipa
วันที่ 7 ก.พ. 2555

สาธุ...สาธุ...สาธุ...

ขออนุโมทนาบุญค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Jans
วันที่ 7 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 9 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของทุกท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
สิริพรรณ
วันที่ 18 ก.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบบูชาพระคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพอย่างสูง

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณธรรมทานทุกท่านค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ