ลำดับการเกิดขึ้นของวิถีจิตทางปัญจทวารและทางมโนทวาร

 
bsiam
วันที่  5 ก.พ. 2555
หมายเลข  20497
อ่าน  5,131

ผมอยากให้ยกตัวอย่างในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น เห็นดอกไม้สวย อยากให้อธิบายตั้งแต่วิถีจิตแรก ลำดับการเกิด ของวิถีจิตทางปัญจทวารและลำดับการเกิดขึ้นของวิถีจิตทางมโนทวาร วิถีจิตเกิดสืบต่อกันอย่างไร หรือพร้อมกัน อย่างละเอียดแต่ละช่วงเป็นชาติจิตอะไร เพราะผมยังไม่เข้าใจ

ขอบพระคุณอย่างสูง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ยกตัวอย่างการเห็นดอกไม้สวย ที่เป็นทางจักขุทวาร ทางตา

วิถีจิตทางปัญจทวาร

รูป คือ สี กระทบปสาทรูป คือจักขุปสาทรูปมี อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ เกิดขึ้น เป็นจิต ๓ ขณะ แต่ยังไม่ใช่วิถีจิต เพราะ เป็นจิตที่เกิดขึ้น ไม่อาศัยทวาร และเมื่อ ภวังคุปัจเฉทะ ดับไป วิถีจิตแรกเกิดขึ้น คือ

วิถีจิตที่ ๑ คือ อาวัชชนวิถี ได้แก่ ปัญจทวารวัชชนจิต ทางตา ก็คือ จักขุทวาราวัชชนจิต รู้ว่ามีสีมากระทบ

วิถีจิตที่ ๒ คือ ทวิปัญจวิญญาณจิตดวงหนึ่งดวงใด คือ จักขุวิญญาณ เห็น สี แต่ยังไม่เห็นเป็นดอกไม้ เป็นแต่เพียง สี หรือ สิ่งที่ปรากฏทางตา

วิถีจิตที่ ๓ คือ สัมปฏิจฉันนจิต เกิดขึ้นรับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ

วิถีจิตที่ ๔ คือ สันตีรณจิต พิจารณาอารมณ์

วิถีจิตที่ ๕ คือ โวฏฐัพพนจิต ทำกิจกระทำทางให้กุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือกิริยาจิต (เฉพาะพระอรหันต์) เกิดต่อ

วิถีจิตที่ ๖ คือ ชวนวิถีจิต โดยศัพท์ “ชวนะ” แปลว่า แล่นไป คือ ไปอย่างเร็วในอารมณ์ ด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิตหรือกิริยาจิต (เฉพาะพระอรหันต์) ซึ่งขณะที่เห็นสี ที่ดี อาจจะเป็นกุศล หรือ อกุศล แต่โดยมากปุถุชน เห็นสีที่ดีแล้ว เป็นอกุศลส่วนมาก ซึ่ง ชวนจิตจะเกิด ๗ ขณะ

วิถีจิตที่ ๗ คือ ตทาลัมพนวิถี หรือตทารัมมณวิถี ตทาลัมพนวิถีจิตเกิดขึ้นกระทำกิจรับรู้อารมณ์ต่อจากชวนวิถีจิต เมื่ออารมณ์นั้นยังไม่ดับไป

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 6 ก.พ. 2555

วิถีจิตทางมโนทวาร

เมื่อตทาลัมพนะจิตดับไป ภวังคจิตเกิดคั่น ๒ ขณะจิต คือ ภวังคจลนะ จะต้องเกิดขึ้น ไหวตามอารมณ์นั้นแล้วดับไป แล้วภวังคุปัจเฉทะจึงเกิดขึ้นแล้วดับไป ต่อจากนั้น มโนทวาราวัชชนจิตจึงเกิดขึ้น เป็นมโนทวารวิถีจิตที่ ๑ มโนทวาราวัชชนจิต ทำกิจรู้อารมณ์เดียวกัน คือ อารมณ์ที่ปรากฏทางปัญจทวารวิถีจิตที่เพิ่งดับไป. คือ รู้ สี เช่นเดียวกับทางปัญจทวาร แต่ยังไม่เห็นเป็นดอกไม้ เพราะเป็นวาระแรกของวิถีจิต และ เมื่อ มโนทวาราวัชชนจิต ชวนจิต ๗ ขณะเกิดขึ้น เป็นกุศล อกุศล เป็นต้น ในสิ่งที่รู้ คือ สี และถ้าอารมณ์นั้นมีกำลัง ปรากฏชัดก็มี วิถีจิต อีก ๒ ขณะ คือ ตทาลัมพณะจิต เกิดต่อครับ ๒ ขณะ ครับ

ฉะนั้น วิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางมโนทวาร จึงมีเพียง ๓ วิถี เท่านั้น คือ ...

วิถีที่ ๑ เป็นอาวัชชนวิถี ๑ ขณะ

วิถีที่ ๒ เป็นชวนวิถี ๗ ขณะ

วิถีที่ ๓ เป็นตทาลัมพนวิถี ๒ ขณะและเมื่อ ตทาลัมพนจิตดับไป หากยังไม่ตาย ก็มีภวังคจิตเกิดคั่น และอาจเป็น วิถีจิตทางมโนทวารสืบต่อ นึกคิดในรูปร่างสัณฐานของสี ทำให้รู้ว่าเป็นดอกไม้ในวาระวิถีจิตลำดับต่อไป ครับ และก็ชวนจิตเกิดต่อ เป็นกุศล หรือ อกุศลในดอกไม้ที่สวยครับ สำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เซจาน้อย
วันที่ 6 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"แจ่มชัดเลยครับ"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนา อ.ผเดิมด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
daris
วันที่ 6 ก.พ. 2555

ขอขอบพระคุณอาจารย์ผเดิม ที่ช่วยกรุณาอธิบายอย่างละเอียดและกระจ่างชัดครับ ผมขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติมครับ เกี่ยวกับภวังคจิตที่เกิดคั่นวิถีจิตแต่ละวาระ

๑. ภวังคจิตที่เกิดคั่นระหว่าง "วิถีจิตทางปัญจทวารกับวิถีจิตทางมโนทวารวาระแรก" มีเกิน ๒ ขณะได้หรือไม่ครับ หรือว่าเกิดได้เพียง ๒ ขณะ คือ ภวังคจลนะ และ ภวังคุปัจเฉทะ เท่านั้น

๒. ภวังคจิตที่เกิดคั่นระหว่าง "วิถีจิตทางมโนทวารวาระแรก กับ วิถีจิตทางมโนทวารวาระต่อมา" และ ภวังคจิตที่เกิดคั่นระหว่างวิถีจิตทางมโนทวารวาระต่อๆ ไป (วาระที่ ๓, ๔, ๕ ...) เกิดขึ้นกี่ขณะครับ เกิดเพียง ๒ ขณะ หรือมากกว่านั้นได้ครับ

กราบขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 6 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

๑. ภวังคจิตที่เกิดคั่นระหว่าง "วิถีจิตทางปัญจทวารกับวิถีจิตทางมโนทวารวาระแรก" มีเกิน ๒ ขณะได้หรือไม่ครับ หรือว่าเกิดได้เพียง ๒ ขณะคือ ภวังคจลนะ และ ภวังคุปัจเฉทะ เท่านั้น


ไม่ได้ครับ เกิด ๒ ขณะเท่านั้น มโนทวาวิถีจึงเกิดต่อ เพราะมโนทวารนั้น เมื่ออารมณ์ไม่ได้กระทบกับจักขุปสาท เป็นต้น จึงไม่มีอตีตภวังค์ แต่ก่อนที่มโนทวาราวัชชนจิตจะรำพึงถึงอารมณ์ที่วิถีจิตรู้ทางปัญจทวารแล้วดับไปนั้น ภวังคจลนะจะต้องเกิดขึ้นไหวตามอารมณ์นั้นแล้วดับไป แล้วภวังคุปัจเฉทะจึงเกิดขึ้นแล้วดับไป ต่อจากนั้น มโนทวาราวัชชนจิตจึงเกิดขึ้น

๒. ภวังคจิตที่เกิดคั่นระหว่าง "วิถีจิตทางมโนทวารวาระแรก กับ วิถีจิตทางมโนทวารวาระต่อมา" และ ภวังคจิตที่เกิดคั่นระหว่างวิถีจิตทางมโนทวารวาระต่อๆ ไป (วาระที่ ๓, ๔, ๕ ...) เกิดขึ้นกี่ขณะครับ เกิดเพียง ๒ ขณะ หรือมากกว่านั้นได้ครับ


โดยทั่วไปเกิด ๒ ขณะครับ แต่อาจจะเกิด ภวังคจิตต่อเนื่องกันไปใน วาระหลังๆ แล้ว เช่น หลับไปเลยครับ แล้วค่อยตื่นจากหลับ คือ ฝันเป็นมโนทวารวิถีจิตเกิดต่อได้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
daris
วันที่ 6 ก.พ. 2555

กราบขอบพระคุณอาจารย์ผเดิมที่กรุณาอธิบายให้ความกระจ่างครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 6 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นเมื่อกล่าวถึงคำอะไร ก็จะต้องเข้าใจในคำนั้นๆ ด้วย เป็นการศึกษาธรรมไปทีละคำ เมื่อเข้าใจในแต่ละคำ ซึ่งมีความหมายส่องถึงลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้นไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้มีความมั่นคงในความเป็นจริงของสภาพธรรมยิ่งขึ้น อันมีพื้นฐานมาจากความเข้าใจตั้งแต่ต้น นั่นเอง

คำแรก คือ คำว่า วิถีจิต

วิถีจิต หมายถึง จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์โดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจโดยไม่ปะปนกัน แต่ละทาง ก็เป็นแต่ละทาง ทางตา จะไม่ปะปนกับทางหู เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น จิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยตา (จักขุปสาทะ) เป็นทางหรือเป็นทวาร จิตทั้งหมดที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา คือ รู้สี ทุกขณะ เรียกว่า วิถีจิตทางตา หรือ วิถีจิตทางจักขุทวาร เริ่มตั้งแต่จักขุทวาราวัชชนจิต จนกระทั่งถึง ตทาลัมพณจิต ชื่อว่าเป็นวิถีจิตทางตา ทั้งหมด

คำที่ ๒ คือ ปัญจทวาร หมายถึง ๕ ทวาร หรือ ทวาร ๕ ได้แก่ จักขุทวาร (ทวารตา, ทางตา) โสตทวาร (ทวารหู, ทางหู) ฆานทวาร (ทวารจมูก, ทางจมูก) ชิวหาทวาร (ทวารลิ้น, ทางลิ้น) กายทวาร (ทวารกาย, ทางกาย)

คำที่ ๓ คือ มโนทวาร หมายถึง ทวารใจ หรือ ทางใจ มโนทวาร ไม่ใช่รูปธรรม ไม่ใช่หทยวัตถุ แต่เป็นนามธรรม คือ เป็นภวังคุปัจเฉทจิต ซึ่งก็คือ ภวังคจิต ขณะสุดท้าย ก่อนที่วีถีจิตทางใจ จะเกิดขึ้นนั่นเอง เพราะถ้าภวังคุปัจเฉทจิต ไม่เกิดขึ้นแล้วดับไป มโนทวาราวัชชนจิต ก็เกิดไม่ได้

คำที่ ๔ ปัญจทวาราวัชชนจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นรำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบ ๕ ทวาร ทวารหนึ่งทวารใด (ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย) แต่ละทาง เป็นวิถีจิตแรกที่เกิดขึ้นทางปัญจทวาร ถ้าเป็นทางตา ก็เป็นจักขุทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นทางหู ก็เป็นโสตทวาราวัชชนจิต ทางอื่นๆ ก็โดยนัยเดียวกัน

คำที่ ๕ มโนทวาราวัชชนจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นรำพึงถึงอารมณ์ทางมโนทวาร เป็นวีถีจิตแรกทางมโนทวาร เป็นกิริยาจิต ถ้ามโนทวาราวัชชนจิต ไม่เกิด ชวนจิตทางมโนทวาร ก็เกิดไม่ได้ เมื่อกล่าวถึง จิต ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นจิตที่เกิดขึ้นทางใด ก็ตาม (รวมไปถึงจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้อาศัยทวาร กล่าวคือ ภวังคจิต ด้วย) ล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นนามธรรม ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wanipa
วันที่ 6 ก.พ. 2555

ขออนุโมทนาค่ะคุณ khampan.a

ได้ฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ฯ ทางวิทยุ มาได้ซักพักแล้ว ตอนนี้ก็เริ่มสนใจฟังอย่างจริงจัง แต่มีปัญหาที่ยังไม่ค่อยรู้คำศัพย์เกี่ยวกับพระธรรม (ไม่ทราบเรียกถูกหรือไม่) ที่ท่านอาจารย์พูดถึง อยากทราบว่าการเริ่มต้นที่จะศึกษาให้เข้าใจ ฟังรู้เรื่องมากขึ้น จะเริ่มศึกษาได้จากที่ใดได้บ้าง การฟังบ่อยๆ ซ้ำๆ จะช่วยได้หรือไม่

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 6 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 8 ครับ

สำหรับคำถามที่ว่า จะเริ่มต้นศึกษาอย่างไร ไม่รู้เรื่องศัพท์

การศึกษาธรรม ไม่ต้อง ห่วงเรื่องศัพท์บาลีที่ไม่เข้าใจครับ ท่านอาจารย์สุจินต์ท่านแนะนำว่า ให้เข้าใจธรรม ตามภาษาของตน คือ เราเข้าใจภาษาไทย ก็เข้าใจภาษานั้น ซึ่ง หากจะเริ่มศึกษาธรรม ที่ถูกต้อง ก็ต้องเริ่มจากความเข้าใจเบื้องต้น เช่น คำว่า ธรรม คือ อะไร และก็อาศัยการ อ่านหนังสือที่อธิบาย ความเป็นจริงในเรื่องอภิธรรม ซึ่งทางมูลนิธิฯ มีหนังสือเรื่อง พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งอธิบายด้วยภาษาไทยที่เข้าใจง่าย แม้ในศัพท์อภิธรรมต่างๆ และให้เข้าใจความจริงในเรื่องอภิธรรม อันจะเป็นพื้นฐานในการศึกษา พระธรรมหมวดต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ไม่เข้าใจผิด เพราะได้เข้าใจอภิธรรมถูกต้องครับ ซึ่งสามารถขอรับ หนังสือได้ โดยการเขียนจดหมายถึงมูลนิธิฯ สอดแสตมป์ ๒๐.- บาทมาในซองจดหมาย เขียนว่าขอหนังสืออภิธรรมในชีวิตประจำวันครับ และก็อาศัยการฟังพระธรรมทางวิทยุ บ่อยๆ เนืองๆ ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อย แต่ยังไม่มาก ต้องใช้เวลาครับ อาศัย การฟังซ้ำๆ บ่อยๆ ตามที่ผู้ถามได้กล่าวไว้แล้วถูกต้องครับ ความเข้าใจก็จะเจริญขึ้นเอง ครับ ขณะที่เข้าใจ ไม่ว่าส่วนใด ก็ชื่อว่าเริ่มต้นแล้วด้วยความเข้าใจครับ

ขออนุโมทนาที่สนใจในพระธรรมที่ถูกต้องครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
wanipa
วันที่ 6 ก.พ. 2555

ขอบพระคุณ "คุณ paderm" และขออนุโมทนาบุญที่ให้ความกระจ่างในแนวทางที่จะทำให้เข้าใจถึงพระธรรมในทางที่ถูกต้อง สำหรับผู้ที่เริ่มต้นศึกษา มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
khampan.a
วันที่ 6 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ 8 เพิ่มเติม ครับ

ขอเพียงฟัง ศึกษาด้วยความตั้งใจ ด้วยความอดทน สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย (เก็บเล็กผสมน้อย) ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ถ้าจะเปรียบเทียบกันแล้ว จะเห็นได้ว่า การฟังพระธรรมในขณะนี้ กับที่ผ่านๆ มาในอดีต ความเข้าใจย่อมแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ขณะนี้ย่อมเพิ่มมากกว่าที่ผ่านๆ มาอย่างแน่นอน นี่คือ ความเข้าใจ ย่อมค่อยๆ เพิ่มขึ้นนั่นเอง

สำหรับภาษาบาลี ไม่ใช่ภาษาของคนไทย จึงไม่ควรกังวลกับเรื่องนี้ และไม่จำเป็นที่จะไปศึกษาภาษาบาลีเลย ทุกครั้งที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ยกคำภาษาบาลีมาแสดงในแต่ละคำๆ นั้น ไม่มีที่ท่านอาจารย์จะไม่อธิบาย เพราะท่านอาจารย์ให้ความสำคัญของคำทุกคำ และจะเห็นได้จากคำบรรยายของท่านอาจารย์อยู่เสมอๆ คือ ควรตั้งต้นว่าคำนั้น คือ อะไร ถ้าไม่รู้ว่าคืออะไร พูดไปทั้งวันก็จะไม่รู้ว่าคืออะไร

ถ้าหากจะหาความละเอียดของคำแต่ละคำ ที่มีการแปลและอธิบายพอจะเข้าใจได้ ผู้ศึกษาก็สามารถศึกษาค้นคว้าได้ในเว็บไซต์นี้ ในหมวด "ธัมมนิทเทส" แห่งกระดานสนทนา ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
bsiam
วันที่ 6 ก.พ. 2555

ขอบพระคุณ "คุณ paderm" และ "คุณ khampan.a "

ขออนุโมทนาบุญที่ให้ความกระจ่างในแนวทางที่จะทำให้เข้าใจถึงพระธรรมในทางที่ถูกต้อง

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
wanipa
วันที่ 7 ก.พ. 2555

ขออนุโมทนาบูญ และขอบพระคุณ "คุณ paderm" และ "คุณ khampan.a" เป็นอย่างสูงที่ให้คำแนะนำเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องนะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
วิริยะ
วันที่ 7 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
wanipa
วันที่ 8 ก.พ. 2555

อยากทราบว่า ทางมูลนิธิฯ พิมพ์ "ธัมมนิทเทส" รวมเป็นรูปเล่มไว้เฉพาะหรือไม่ เพราะมีประโยชน์มากเลยค่ะ ถ้าทำเป็นหนังสือจะศึกษาได้สะดวกมาก ทุกสถานที่ พกพาได้ ได้ฟังคำสอนที่ไม่เข้าใจก็สามารถเปิดดูได้ทันที คิดว่า จะทำให้การศึกษาพระธรรมเข้าใจได้เร็วขึ้นค่ะ (ไม่ทราบว่าเข้าใจได้ถูกต้องหรือไม่)

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
paderm
วันที่ 8 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 15 ครับ

ทางมูลนิธิฯ ยังไม่ได้รวบรวมเป็นหนังสือ ธัมมนิทเทส ครับ ซึ่งถ้าอ่านแล้วเข้าใจในเนื้อความและน้อมเข้ามาสู่สภาพธรรมที่มีในชีวิตประจำวัน ก็จะเป็นประโยชน์กับการศึกษาพระธรรมที่ถูกต้องอย่างมาก ไม่ใช่เพียงการอ่าน เข้าใจคำศัพท์ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
วิริยะ
วันที่ 8 ก.พ. 2555

เรียนถาม

ขอเรียนถามเพิ่มเติมค่ะว่า จิตเกิดขึ้นมีอนุขณะคือ อุปาทขณะ ฐีติขณะ และ ภังคขณะ อย่างเช่น จิตเห็น เห็นแวบเดียว ก็มีอนุขณะทั้งสามนี้อยู่ด้วย หรืออย่างไรคะ แล้ว จิตอื่นๆ เช่น สัมปฏิจฉันนจิต สัณตีรณจิต เหล่านี้ก็มีอนุขณะเหมือนกันหรือไม่ แล้วรูปที่เกิดจากกรรม เช่น ปสาทรูป เป็นต้น ก็มีอนุขณะเช่นเดียวกัน ไปตลอดใช่หรือไม่

ขอบพระคุณอย่างสูง

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
paderm
วันที่ 9 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 17 ครับ

จิตทุกประเภท เกิดขึ้นและดับไป จิตมี ระยะเวลาการเกิดขึ้นและดับไปอย่างละเอียดของจิต หรือ อายุของจิตอย่างย่อย ในขณะที่จิตเกิดขึ้นและดับไปเรียกว่า ๑ ขณะ แต่ ใน ๑ ขณะจิตนี้ ยังแยกย่อยได้เป็น ๓ ขณะย่อย เรียกว่า อนุขณะ คือ ...

อุปาทขณะ (ขณะเกิดขึ้น)

ฐีติขณะ (ขณะที่ตั้งอยู่) และ

ภังคขณะ (ขณะที่ดับไป)

ส่วนรูป มีอายุเท่ากับ ๑๗ ขณะจิต หรือ ๕๑ อนุขณะ (จิต ๑ ขณะใหญ่มี ๓ อนุขณะย่อย)

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
วิริยะ
วันที่ 9 ก.พ. 2555

เรียนถาม

อยากทราบว่า รูปที่เกิดจากกรรม เช่นปสาทรูป ก็มีอนุขณะของการเกิดดับเช่นกันใช่หรือไม่คะ เมื่อกล่าวถึงจิตเห็นซึ่งต้องอยู่ในวิถีจิต รูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แต่รูปที่เกิดจากกรรม เมื่อกล่าวถึงจิตเห็น เราไม่สามารถเห็นได้ ใช่หรือไม่ แต่รูปก็เกิดดับตลอดเวลา เป็นเช่นนั้นหรือไม่

ขอบพระคุณอย่างสูง

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
paderm
วันที่ 9 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 19 ครับ

อาการของสภาวรูป มี จักขุปสาทรูป ที่เกิดขึ้นในอุปาทขณะนั้น เรียกว่า ชาติรูป (คืออุปจยรูปและสันตติรูป มีอายุเท่ากับ ๑ อนุขณะของจิต) ในขณะที่สภาวรูปเกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ อาการที่ตั้งอยู่เป็นฐีติขณะนั้น เรียกว่า ชรตารูป มีอายุเท่ากับ ๔๙ อนุขณะของจิต ในขณะที่สภาวรูปกำลังดับ อาการที่ดับเป็นภังคขณะนั้น เรียกว่าอนิจจตารูป ซึ่งมีอายุเท่ากับ ๑ อนุขณะของจิต

จักขุปสาทรูป ไม่สามารถเห็นได้ด้วยจิตเห็น รูปเดียวที่เห็นได้ คือ วัณณรูป หรือ สิ่งที่ปรากฏทางตา ที่เป็นสี ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
วิริยะ
วันที่ 9 ก.พ. 2555

เรียนถาม

อุปจยรูป สันตติรูป ชรตารูป และ อนิจจตารูป นั้น มีอนุขณะรวมแล้ว ๕๕ อนุขณะ หรือคะ เข้าใจถูกหรือผิด อาจารย์กรุณาอธิบายด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
Yongyod
วันที่ 9 ก.พ. 2555

อภิธรรม เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นอนัตตาจริงๆ เพราะในอภิธรรมเมื่อได้ศึกษาก็จะทราบได้ว่า ไม่มีเรื่องราวของ สัตว์ บุคคล ตัวตน อะไรเลย มีแต่เพียงส่วนที่ละเอียดที่สุดของเรื่องราวของสมมติบัญญัติตามความรู้สึกของปถุชน แต่แท้จริง จริงที่สุดมันก็คือ ปรมัตถธรรม (จิต เจตสิต รูป นิพาน) เรื่องราวในชีวิตประจำวัน ถ้าเราแยกย่อยถึงที่สุด ก็คือ อภิธรรม ใครก็ตามเมื่อได้มาเริ่มศึกษา แล้วพอจะเข้าใจบ้าง ก็จะยิ่งซาบซึ้งในพระมหากรุณาคุณขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะนี้คือพระปัญญาของพระองค์ท่านจริงๆ ครับ

กราบอนุโมทนา อ. สุจินต์ อ. เผดิม และ อ. คำปั่น และผู้ที่สนใจศึกษาธรรม โดยเฉพาะอภิธรรมซึ่งเป็นเรื่องยากที่สุดแล้ว เพราะนี่คือสุดยอดปัญญาของพระพุทธเจ้าเลยก็ว่าได้ การที่เราสนใจใคร่รู้ตามก็นับว่าเป็นกุศลจิต เป็นการรักษาพระพุทธศาสนาที่ดีที่สุด เพราะพระสัทธรรมจะได้ดำรงอยู่ต่อไปครับ และขอเป็นเหตุปัจจัยให้พวกเราได้รู้แจ้งธรรมกันทุกคนในกาลข้างหน้านะครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
khampan.a
วันที่ 9 ก.พ. 2555
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 20497 ความคิดเห็นที่ 21 โดย วิริยะ

เรียนถาม

อุปจยรูป สันตติรูป ชราตรูป และ อนิจจตารูป นั้น มีอนุขณะรวมแล้ว 55 อนุขณะ หรือคะ

เข้าใจถูกหรือผิด อาจารย์กรุณาอธิบายด้วยค่ะ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อกล่าวถึงสภาวรูป คือ รูปที่มีลักษณะสภาวะเป็นของตนเอง อย่างเช่น จักขุปสาทะ (ตา) เป็นต้น จะมีขณะที่เกิดขึ้น (อุปจยรูป) ขณะที่สืบต่อจากขณะที่เกิด (สันตติรูป) ขณะที่เสื่อมลง (ชรตารูป) และ ขณะที่ดับ (อนิจจตารูป) เรียกว่า ลักขณรูป ๔ อายุของสภาวรูป เทียบโดยการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ หรือ ๕๑ อนุขณะ เพราะเหตุว่า จิต ๑ ขณะ มีอนุขณะ คือ ขณะย่อย ๓ อนุขณะ ได้แก่ ขณะที่เกิดขึ้น ขณะที่ยังไม่ดับ และ ขณะที่ดับ สภาวรูป รูปหนึ่ง เทียบอนุขณะ (ของจิต) ที่ ๑ เป็นอุปจยรูป อนุขณะที่ ๒ ถึง ๕๐ เป็นสันตติรูป และ ชรตารูป อนุขณะที่ ๕๑ เป็นอนิจจตารูป

ดังนั้นอายุของสภาวรูป รูปหนึ่ง มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ หรือ ๕๑ อนุขณะ (๑๗ คูณ ๓ เท่ากับ ๕๑) ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
วิริยะ
วันที่ 9 ก.พ. 2555

เรียนถาม

จากความเห็นที่ 23

แสดงว่า เมื่อรูปดับ กล่าวถึงลักขณรูปสุดท้ายคือ อนิจจตารูป ก็จะตรงกับภังคขณะของจิตที่เกิดดับขณะสุดท้ายที่เป็นวิถีจิตใช่มั้ยคะ และดิฉันเห็นด้วยกับความเห็นที่ 22 จริงๆ ตรงที่ว่า พระอภิธรรมนั้นยากและละเอียดเหลือเกิน ทำให้ต้องระลึกถึงพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อธิบายเป็นคำพูดไม่ถูกว่าพระองค์ทรงเป็นเลิศอย่างไร ผู้ที่ไม่ศึกษาพระธรรมคงไม่ทราบหรอกค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
paderm
วันที่ 9 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 24 ครับ

ขณะที่เป็นอนิจจตารูป คือ ขณะสุดท้ายของรูปที่ดับ ซึ่งก็ต้องตรงกับภังคขณะสุดท้ายของจิต ก็เป็นจิตสุดท้ายของวิถีจิต ที่เป็นวาระนั้น ตามอายุของรูปที่ดับไปนั่นเอง ถูกต้องแล้วครับ ก็แล้วแต่ครับว่า จะเป็นจิตประเภทไหนในวิถีจิต เพราะ รูป ที่เป็นอารมณ์ของจิตอาจจะดับที่ชวนจิต ก็ได้ หรือ ตทาลัมพนจิตก็ได้ ขึ้นอยู่กับรูปเกิดมาก่อนแล้ว ที่จิตไหน อย่างไรครับ และแม้รูปอื่นที่ไม่ได้เป็นอารมณ์ของจิต ก็มีอายุเท่ากับ อนุขณะ ๕๑ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
วิริยะ
วันที่ 9 ก.พ. 2555

ขอบพระคุณอาจารย์ผเดิมและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 27  
 
วิริยะ
วันที่ 10 ก.พ. 2555

เรียนถาม

ขอเรียนถามเพิ่มเติมค่ะว่า อตีตภวังค์ อาจเกิดขึ้นมากกว่า ๑ ขณะ ใช่หรือไม่คะ

 
  ความคิดเห็นที่ 28  
 
paderm
วันที่ 10 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 27 ครับ

ถูกต้องครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 29  
 
วิริยะ
วันที่ 10 ก.พ. 2555

เรียนถาม

สมมติว่า อตีตภวังค์ เกิดขึ้นซ้ำกัน ๒ ขณะ แล้วตามด้วย ภวังคจลนะ ภวังคุปเฉท ปัญจทวาราวัชนจิต ปัญจวิญญาณจิต สัมปฏิจฉันนจิต สัณตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต และชวนจิตที่ ๑ ชวนจิตที่ ๒ ชวนจิตที่ ๓ ชวนจิตที่ ๔ ชวนจิตที่ ๕ ขวนจิตที่ ๖ ชวนจิตที่ ๗ และตฑาลัมพนจิตอีก ๑ ขณะ รวมเป็น ๑๗ ขณะ แล้วรูปก็ดับ เข้าใจเช่นนี้ ถูกต้องหรือไม่คะ

ขอบพระคุณอย่างสูง

 
  ความคิดเห็นที่ 30  
 
paderm
วันที่ 10 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 29 ครับ

โดยทั่วไป อตีตภวังค์เกิด หนึ่งขณะ ส่วน ตทาลัมพนะ เกิด สอง ขณะไม่ใช่ หนึ่งขณะ ครับ นั่นคือ ครบ อายุของรูป ๑๗ ขณะจิต ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 31  
 
วิริยะ
วันที่ 10 ก.พ. 2555

เรียนถาม

จากความเห็นที่ 30

และกรณีที่อตีตภวังค์เกิดซ้ำกันมากกว่า ๑ ขณะล่ะคะ การเกิดดับของรูปจะเป็นเช่นไร

 
  ความคิดเห็นที่ 32  
 
aurasa
วันที่ 10 ก.พ. 2555

ขอพระคุณ และอนุโมทนาในกุศลจิต อ.คำปั่น และ สหายธรรมทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 33  
 
khampan.a
วันที่ 10 ก.พ. 2555
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 20497 ความคิดเห็นที่ 31 โดย วิริยะ

เรียนถาม

จากความเห็นที่ 30 และกรณีที่อตีตภวังค์เกิดซ้ำกันมากกว่า 1 ขณะล่ะคะ การเกิดดับของรูปจะเป็นเช่นไร

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ต้องเข้าใจว่า นามธรรม คือ จิตและเจตสิก กับ รูปธรรมนั้น ต่างกันอย่างสิ้นเชิง เกิดขึ้นโดยไม่ปะปนกัน, จิตและเจตสิก มีอายุที่สั้นแสนสั้น ส่วนรูปธรรม มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แม้อย่างนั้น ก็สั้นแสนสั้นจริงๆ เกิดแล้วด็ดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน

รูป มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ไม่ว่าจะวัดโดยจิตขณะใด อายุของรูป ก็ไม่เกินไปกว่าจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แม้ว่าอตีตภวังค์จะเกิดซ้ำกันมากกว่า ๑ ขณะก็ตาม เช่น ถ้ารูปเกิดขึ้นตั้งแต่อตีตภวังค์ขณะที่ ๑ เรื่อยไป จนถึงอตีตภวังค์ ขณะที่ ๑๕ ต่อด้วยภวังคจลนะ อีก ๒ ขณะ (รวมเป็นภวังค์ ๑๗ ขณะ) พอถึงภวังค์ขณะที่ ๑๗ อายุของรูปสิ้นสุดลง เพราะรูปๆ หนึ่งมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะนั่นเอง และถ้าเป็นภวังค์ไปเรื่อยๆ วิถีจิตทางหนึ่งทางใดก็ไม่เกิดขึ้น ไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ เลย แม้ว่าจะมีรูปเกิดขึ้นเป็นไปก็ตามครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 34  
 
วิริยะ
วันที่ 11 ก.พ. 2555

เรียนถาม

จากความเห็นที่ 33

สิ่งที่อาจารย์ได้กรุณาอธิบายมา เรียกว่า โมฆวาระ ใช่หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น ขอความกรุณาหา link ให้ดิฉันศึกษาด้วยค่ะ

ขอบพระคุณอย่างสูงและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 35  
 
paderm
วันที่ 11 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 34 ครับ

วาระ คือ วิถีจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อกันโดยรู้อารมณ์เดียวกัน และทางทวารเดียวกัน ก็วิถีจิตทั้งหมด มี ๔ วาระ คือ ตทาลัมพณวาระ ชวนวาระ โวฏฐัพพนวาระ โมฆวาระ

เชิญคลิกตามลิงก์นี้ครับ

วาระจิต

ตทาลัมพณวาระ

ชวนวาระ

โวฏฐัพพนวาระ

โมฆวาระ

 
  ความคิดเห็นที่ 36  
 
Nataya
วันที่ 18 ต.ค. 2563

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 37  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ