ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณวิภาดา กัลยาณมิตร ๓๐ ม.ค. - ๒ ก.พ. ๒๕๕๕ ตอนจบ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ในตอนสุดท้ายที่จะนำเสนอความการสนทนาธรรม ที่ บ้านคุณวิภาดา กัลยาณมิตร อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ ๓๐ มกราคม ถึง ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นการสนทนาธรรมที่ท่านอาจารย์กล่าวว่าเป็นแบบสบายๆ นั้น มีเนื้อหาที่น่าสนใจ และ เป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะเป็นไปในบรรยากาศที่เป็นกันเอง มีคนจำนวนน้อย ทำให้ผู้ร่วมสนทนา กล้าที่จะถามคำถามที่ตนเองสงสัย และ กล้าที่จะสนทนา ซึ่งความการสนทนา เป็นไปด้วยเรื่องความเข้าใจ ความเป็นไปของการประพฤติ ปฏิบัติของตนเองที่เคยมี กำลังมีอยู่ และ ของกระแสสังคมชาวพุทธโดยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ในความห่างไกลจากความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้องแท้จริง จากพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มาจากการตรัสรู้ความจริงของพระองค์
ผลของการสนทนาในครั้งนี้ ทำให้ทุกท่าน มีความมั่นคงขึ้นในธรรมที่ถูกต้อง จากความเมตตาของท่านอาจารย์ ที่ได้สนทนาไว้โดยละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนและหลานของท่านสพรั่ง ที่ได้กล่าวในตอนท้าย ถึงความปีติ ความซาบซึ้งที่การได้มาในคราวนี้ ทำให้ท่านได้เกิดความเข้าใจขึ้น ความกระจ่างขึ้นในพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ จากความเมตตาของท่านอาจารย์ สมกุศลเจตนาของท่านเจ้าของบ้านทั้งสอง ซึ่งก็ทำให้ทุกคนที่ไปร่วมการสนทนาเกิดความปีติยินดี และ ร่วมอนุโมทนา ในความเข้าใจพระธรรมของท่านเหล่านั้นด้วย
ในอันดับถัดไปนี้ ข้าพเจ้าขออนุญาตนำความการสนทนา ที่ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว มาเสนอให้ทุกท่านได้พิจารณา เพื่อประโยชน์คือความเข้าใจพระธรรม ต่อไปดังนี้
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
คุณอ๋อ ที่จริงแล้ว เราก็พยายามแสวงหา นะครับว่า ใครที่จะบอกเราได้ว่า ทางไหน เป็นทางที่ถูก เราก็ไป อย่างที่อาจารย์บอก เพราะฉะนั้น ก็ไปเจอคนที่บอกเรา เขาก็....ตัวไม่รู้...เนี่ยแหละ...บอกเรา...
ท่านอาจารย์ ค่ะ แล้วคิดว่า ใครรู้?
คุณอ๋อ จริงๆ ก็ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ท่านอาจารย์ นั่นน่ะสิคะ แล้วทำไมไม่ไป "ฟังคำสอน" หรือว่า อ่าน หรือ ศึกษา หรือ ไตร่ตรอง โดยละเอียด? เรากลับไปหาคนอื่น ที่ไม่รู้
คุณอ๋อ ครับ ทีนี้ พออ่านแล้ว เกิดความสงสัยว่า...
ท่านอาจารย์ อ่านอะไร? ก่อน...
คุณอ๋อ อ่านหนังสือ ที่อาจจะบอกว่าเป็นพระไตรปิฎก
ท่านอาจารย์ อาจจะบอกว่า หรือว่า เป็นพระไตรปิฎก?
คุณอ๋อ เป็นพระไตรปิฎก ก็แปลมาจากภาษาบาลี ก็อาจจะเป็นการแปลคำต่อคำ เราอ่านแล้วเรารู้สึกว่า เราไม่รู้เรื่อง เราก็พยายามไปถาม ถามอาจารย์ที่เป็นพระ เป็นอะไรบ้าง ก็คือ เริ่มแสวงหาแล้ว คือ อยากจะเข้าใจ อยากจะรู้แนวทาง ว่าจะไปทางไหน ทีนี้ ก็ไปแล้ว ก็อาจจะไปไม่ถูก ก็เกิดเจตสิกที่เรียกว่า ไม่รู้ ตัวไม่รู้ บอกเรา
ท่านอาจารย์ ค่ะ ก็รู้เลย ว่าไปไม่ถูก ใช่ไหม?
คุณอ๋อ ก็เลยหยุด ไม่คิดที่จะแสวงหา หรือ เดินต่อ ในทางนี้
ท่านอาจารย์ ก็ดีที่หยุด ไม่ตามไป (มีเสียงหัวเราะ)
คุณอ๋อ คือ ผมเป็นประเภท ถ้าสงสัยแล้วยังไม่คลายสงสัย ผมก็หยุด แล้วก็ไปเริ่มต้นใหม่ หรือ อาจจะเป็นเพราะว่า เราไม่เข้าใจจริงๆ ก็ได้ สิ่งที่หนังสือพยายามบอก อาจารย์ที่พยายามสอน คือ เราไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ที่เขาบอก ต้องอย่างนั้นนะ ต้องอย่างนี้นะ ก็เลยหยุดเอง
ท่านอาจารย์ เขาบอกให้ "เข้าใจ" หรือบอกให้ ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้
คุณอ๋อ ส่วนใหญ่ จะบอกว่า ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้
ท่านอาจารย์ แล้วทำได้ไหม? ต้อง ต้อง นี่น่ะ
คุณอ๋อ มันไม่ได้ไงครับ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น บอกถูกหรือเปล่า?
คุณอ๋อ ก็เข้าใจว่า มันไม่น่าจะถูก ก็เลยหยุด ไม่ไปต่อ
ท่านอาจารย์ ที่ว่าไม่ถูกนี่ เพราะอะไร?
คุณอ๋อ คือ เราไม่สามารถที่จะประจักษ์ได้ ว่าสิ่งที่เขาพยายามอธิบายให้เราเข้าใจว่า มันคืออะไร อย่างที่อาจารย์กำลังบอกว่า ธรรมะ คือ สิ่งที่มีจริง ว่าเรามองเห็น ว่าเราสัมผัสได้ นั่นคือสิ่งที่เป็นธรรมะ แต่ที่ผ่านมา เราเข้าใจว่า ธรรมะ คือ สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ก็ไปดูว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไรมันก็ไปอีกทางหนึ่ง พอมาเจอคำที่อาจารย์บอกว่า ธรรมะ คือ สิ่งที่มีจริง แล้วเราสัมผัสได้ เราเห็นได้ อันนี้ มันสัมผัสได้ทันที ก็เลยอยากจะพยายามเข้ามาทำความเข้าใจ พยายามให้มันรู้มากยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อจะทำความเข้าใจ ครับ
ท่านอาจารย์ แล้ววิธี ที่จะได้ความรู้ คือ อย่างไรคะ?
คุณอ๋อ ก็สิ่งที่อาจารย์พูดเสมอๆ ก็คือ ฟัง สนทนาธรรม แต่ว่า สนทนาธรรม ในความเข้าใจของผมว่า มันจะต้องมีพื้นพอสมควรถึงจะสนทนาได้ อย่างสมมติว่า กลุ่มเล็กๆ นี่เรายังพอที่จะบอกได้ว่า สิ่งที่เราสงสัย อย่างนี้ใช่ไหม? อย่างนี้เป็นอย่างนี้หรือเปล่า? อะไรอย่างนี้ มันมีโอกาส ก็เลยคิดว่า มันเป็นสิ่งที่ดี
ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้น ตอนนี้ ฟังมาแล้วบ้าง พอรู้อะไรบ้าง? ฟังมาแล้วบ้าง ถูกต้องไหม? พอรู้อะไรบ้าง? นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ฟัง สนทนา เพื่อประโยชน์คือ "รู้" และ "เข้าใจ" เพราะฉะนั้น ฟังมาแล้วบ้าง รู้อะไรบ้าง? ตามที่ฟัง
คุณอ๋อ ไม่รู้เข้าใจผิดหรือถูก ก็คือ เป็นสิ่งที่ฟังมาจากท่านอาจารย์ ว่าทุกอย่าง มันก็เป็นขันธ์ ๕ แยกๆ กันไป แต่เราเอามารวมทั้งหมด เป็นตัวเรา เพราะฉะนั้น ก็ยึดถือ ต้องพยายามแยกให้แต่ละอัน ก็เป็นอิสระของเขา จิตก็คือจิต รูปก็คือรูป อย่าไปเอารูปมาบวกกับจิต แล้วมาเป็นตัวเรา ไม่รู้ที่เข้าใจ จะเป็นอย่างนั้น ต้องพยายามว่า รูปก็คือรูป จิตเขาก็มีของเขาอย่างนี้ เขาก็รับรู้ของเขาไป
ท่านอาจารย์ นี่คือ สิ่งที่เข้าใจบ้าง ใช่ไหม? เหมือนกันไหม? (ท่านอาจารย์ หันไปถามคุณเกด ภรรยาของคุณอ๋อ)
คุณเกด เหมือนบ้าง แต่บางครั้งก็ไม่เหมือน อธิบายไม่ถูก คือ ความจริงที่คุณอ๋อพูด เกดคิดว่า คือความจริงที่คิดได้ตอนนี้ คำเดียวค่ะ ท่านอาจารย์ ที่เราเข้าใจ
(เส้นขนมจีนที่มีลักษณะและชื่อเรียกต่างๆ กันคือ เส้นสมุนไพร ไก่โอ๊ค และ ด๊องแด๊ง)
ท่านอาจารย์ ก็ถูกต้อง คือ ธรรมะ ต้องศึกษาทีละคำ จนกระทั่งเป็นความเข้าใจที่ชัดเจน ในคำนั้น แล้วถึงจะเป็นคำอื่น ที่ทำให้เข้าใจคำนั้นเพิ่มขึ้น อย่างเรามีพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธ คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม ก็คือ ธรรมะที่พระองค์ทรงตรัสรู้และทรงแสดง จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้ แล้วก็พระสงฆ์ คือ ผู้ที่ฟังพระธรรมจนกระทั่งรู้แจ้งธรรมะ ตามที่ได้ยินได้ฟัง ผลก็คือว่า ดับกิเลสได้ ตามลำดับขั้น เพราะฉะนั้น พระรัตนตรัย หมายความถึง รัตนะ ๓ คือ สิ่งที่ประเสริฐยิ่งกว่ารัตนะใดๆ ทั้งสิ้น คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งบำเพ็ญพระบารมี ไม่มีผู้ใดที่จะมีปัญญา ความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ในสากลจักรวาล เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดง เพื่อให้คนอื่น ได้เข้าใจถูกต้อง เช่นกับที่พระองค์ ได้เข้าใจ ได้ตรัสรู้แล้ว
เพราะฉะนั้น พระธรรม ต้องละเอียด ลึกซึ้งมาก ประมาทไม่ได้เลย แต่ละคำ ต้องมีความเข้าใจ ในสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง มั่นคง ไม่ว่าจะได้ยินที่ไหน เมื่อไหร่ ความเข้าใจที่มั่นคง เพราะว่า ได้เข้าใจ แม้ทีละคำ ไม่เปลี่ยนแปลง เช่น ได้ยินคำว่า ธรรมะ นี้แน่นอน เมื่อกี้นี้ พระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์พระพุทธเจ้า ก็รู้สึกไม่มีข้อสงสัย แล้วก็พระสงฆ์สาวก ก็เป็นบุคคลที่รู้แจ้งสภาพธรรมะ ดับกิเลส ตามพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่า จะเป็นพระอรหันต์ หรือว่า เป็นพระสาวกคือพระสงฆ์ ด้วยอะไร? ต้องด้วยธรรมะฝ่ายดี นะคะ ที่สามารถที่จะให้รู้ความจริง ของสิ่งที่มีจริงๆ จนกระทั่ง ดับกิเลสได้
นี่ก็เตือนให้เรา ซึ่งกำลังฟัง รู้ว่า เรา มีกิเลสแน่นอน หรือใครไม่มี? ใช่ไหม บางคน เขาบอกว่า เขาไม่มีหรอก วันนี้ไม่โลภเลย เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่รู้จัก ว่าแท้ที่จริงแล้ว ความไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ก็เป็นกิเลส หรือ เป็นอกุศล ด้วยเหตุนี้ คนไม่รู้เนี่ย ไม่รู้หลายอย่าง คือ ไม่รู้ว่า ตัวเองก็ไม่รู้อะไร ถ้าถามว่าไม่รู้อะไร? ก็ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่า ไม่รู้อะไร? เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดง ก็คือ ให้เข้าใจถูก ในสิ่งที่มีจริงๆ ต้องไม่ลืม พระธรรมพูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ เพื่อให้เกิดความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ในสิ่งที่มีจริง
(ภาพท่านอาจารย์ และ คุณป้าจี๊ด โยนลูกเปตอง ตามคำกราบเรียนเชิญของท่านสพรั่ง)
เพราะฉะนั้น เป็นวาจาสัจจะ วาจาสัจจะ สัจจะ ที่เป็นวาจา คือ คำพูด สัจจะที่เป็นปัญญา สัจจะที่เป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความรู้จริง ในสิ่งที่ได้ฟัง เพราะฉะนั้น จะมี วาจาสัจจะ ญาณสัจจะ มรรคสัจจะ ถ้าคำพูดนั้นไม่จริง ไม่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงๆ เราจะเสียเวลาฟังไหม? ไม่รู้ว่าจะเข้าใจอะไร ทั้งๆ ที่สิ่งที่มีจริง ไม่พูดให้เข้าใจ แต่ไปพูดถึงอย่างอื่นที่ไม่มีในขณะนี้ เพราะฉะนั้น คำนั้น ไม่ใช่วาจาสัจจะ ถ้าวาจาสัจจะ ก็คือ คำที่พูดถึง สิ่งที่มีจริง ในขณะนี้ จนกระทั่ง สามารถที่จะรู้จริงๆ เข้าใจจริงๆ
เพราะฉะนั้น คำแรกที่ไม่ประมาท ก็คือคำว่า ธรรมะ พูดบ่อยๆ ยุติธรรม เคยพูดไหม? เคยพูด แต่ก็ไม่รู้หรอก ว่าอะไร? เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เกิดจนตาย พูดคำที่ไม่รู้จัก แต่ก่อนอื่น ยังไม่ต้องพูดถึงยุติธรรม เอาแค่ธรรม คำเดียว ซึ่งไม่เปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน เมื่อไหร่ ก็ตาม ธรรมะ คือ สิ่งที่มีจริงๆ ทุกอย่าง ไม่เว้นเลย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอะไรขณะนี้ ที่มีจริงๆ สิ่งนั้นเป็นธรรมะ "เบื่อ" มีจริงๆ ไหม? เป็นธรรมะหรือเปล่า? เป็นธรรมะ "โกรธ" มีจริงๆ ไหม? เป็นธรรมะหรือเปล่า? คือทุกอย่างหมดที่มีจริง ถ้าเราใช้คำว่า ธรรมะ คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง เราก็ยังต้องไปค้น คิดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนั่น อะไร? แต่ถ้าบอกว่า สิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ เป็นธรรมะ ใกล้เข้ามาแล้ว ใช่ไหม สิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ เป็นธรรมะ
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าสอนให้เข้าใจถูกต้อง ว่าสิ่งที่มีจริงขณะนี้ เป็นอะไร คนอื่น บอกไม่ได้เลย แต่พระพุทธเจ้า ทรงสอนสิ่งที่มีจริง ทั้งหมด ไม่เว้นเลย ไม่ว่าสิ่งใดมีจริง สิ่งนั้นเป็นธรรมะ แล้วทำไมพระผู้มีพระภาค พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่บอกว่าเป็นคนโน้น เป็นคนนี้ แต่บอกว่า เป็นธรรมะ เพราะว่า "โกรธ" จะเป็นใคร? เป็นคนชื่อนั้น ชื่อนี้ หรือว่า เป็นโกรธ ความติดข้อง ความต้องการ จะเป็นคนชื่อนั้น ชื่อนี้ หรือว่า เป็นความต้องการ ที่มีจริงๆ ไม่ว่าจะเกิดเมื่อไหร่ ที่ไหน กับใคร สมัยที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ยังไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ ยังมีความต้องการไหม? มี เพราะฉะนั้น ความต้องการก็เป็นความต้องการ ไม่ใช่ใครเลย
นก มีความต้องการไหม? มีไหม? นก เดี๋ยวจะว่า เราไม่รู้จักนก เราไม่ใช่นก แต่นก "เห็น" ไหม? แล้วนก ต้องการอะไรหรือเปล่า? วันหนึ่งๆ นก มีความต้องการอะไรหรือเปล่า? เพราะฉะนั้น "ความต้องการ" เราบอกว่า เป็นนก แต่ความจริง ความต้องการ อยู่ตรงไหน ก็เป็นความติดข้อง เป็นความต้องการทั้งนั้น จึงใช้คำว่า ธรรมะ ไม่ใช้คำว่า ของใคร หรือว่า เป็นใคร เพราะว่า เป็นสิ่งที่มีจริง แล้วเราก็ต้องค่อยๆ พิจารณาว่า แม้ว่ามีจริง ก็ยังมืดมาก สำหรับเรา เพราะว่า ไม่เคยรู้ว่าเป็นธรรมะ เลยแต่ละอย่าง แต่ละอย่าง เข้าใจว่าเป็นเราหมด
อย่าง "เห็น" ขณะนี้ มีจริงๆ ความจริง ของสิ่งที่มีจริง คือ ต้องเป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งภาษาบาลี ใช้คำว่า ธรรมะ คือ สิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น "เห็น" ขณะนี้ เป็นใครหรือเปล่า? หรือว่า เป็นสิ่งที่มีจริง อย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ของใคร พระพุทธศาสนา จะมีคำว่า "อนัตตา" ไม่ใช่สิ่งหนึ่ง สิ่งใด แล้วก็ไม่ใช่ของใครไม่ใช่ใครด้วย แต่ใครก็เปลี่ยนสิ่งนั้น ให้เป็นอย่างอื่น ไม่ได้เลย นั่นคือความหมายของคำว่า ธรรมะ "ฟัง" จนกระทั่งรู้ว่าเป็นธรรมะทั้งหมด นั่นคือ ผู้ที่ฟังพระธรรม และ เริ่มรู้จักพระพุทธเจ้า
...เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เคยเป็นเรา ตั้งแต่เกิด เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง ทุกอย่าง เป็นธรรมะ แต่ละหนึ่ง แล้วใครก็ไปทำให้เกิด ไม่ได้ด้วย แต่เมื่อมีปัจจัย ที่ธรรมะประเภทไหนจะเกิด ธรรมะประเภทนั้นก็เกิด นี่คือธรรมะ เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ แล้วก็ไม่ใช่ของใคร เพราะว่า เพียงเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป และข้อสำคัญคือ ดับไปแล้ว ไม่กลับมาอีกเลย จะไปหาที่ไหนอีกก็ไม่ได้ แต่ละคน แต่ละชาติ ก็เป็นแต่ละหนึ่งขณะ ซึ่งเกิดขึ้น เป็นอย่างนั้น แล้วก็ดับไป
อยู่ในโลกนี้ ชั่วคราว อยู่นานได้ไหม? อยู่ตลอดไปได้ไหม? ไม่ได้ ต้องไปแน่ แต่...ไปไหน?...
คือ ส่วนใหญ่ คนคิดไม่ถึงความจริง ซึ่งทุกคนเกิดแล้วต้องตาย แล้วตายแล้วแกิดต่อทันที แต่การที่ใครจะเกิดเป็นอะไร ที่ไหน อย่างไร เลือกไม่ได้เลย แล้วแต่กรรม
ณ กาลครั้งหนึ่ง ในสมัยที่พระพุทธศาสนา ล่วงเลยมาถึงกาลบัดนี้ สองพันห้าร้อยกว่าปี ใครเลยจะรู้ว่า แม้เพียงจุดเล็กๆ ของความรุ่งเรืองในพระธรรม ได้บังเกิดขึ้น เป็นไปแล้ว ในสถานที่นี้ เป็นประกายแห่งปัญญา คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกในพระธรรมที่เกิดขึ้น แก่บุคคล แม้เพียงน้อยหนึ่ง แม้ว่าหมดไปแล้ว จบไปแล้ว ไม่มีวันที่จะหวลคืนมาได้อีก แต่ก็เป็นสิ่งที่ล้ำค่า และ ประเสริฐที่สุด ที่ควรแก่การระลึกถึงและอนุโมทนาอย่างยิ่ง
กราบอนุโมทนาในกุศลทุกประการ ของท่านพลเอกสพรั่ง และ คุณวิภาดา กัลยาณมิตร
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
..................
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาคุณวันชัย และทุกๆ ท่านค่ะ
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณวันชัย และทุกๆ ท่าน มา ณ กาลครั้งนี้ด้วยครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น"พระธรรมที่ทรงแสดง เพื่อให้คนอื่น ได้เข้าใจถูกต้อง
เช่นกับที่พระองค์ ได้เข้าใจ ได้ตรัสรู้แล้ว"
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของพี่วันชัย ภู่งาม และทุกๆ ท่านด้วยครับ
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ
เป็นการบรรยายพระธรรมที่ไพเราะและจับใจค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของพี่วันชัย ภู่งาม และทุกๆ ท่านด้วยครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
....กราบอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ด้วยค่ะ...