ให้มีสติ

 
พิมพิชญา
วันที่  25 ก.พ. 2555
หมายเลข  20626
อ่าน  2,793

คนชอบบอกว่า ทำอะไรให้มีสติ คำว่าสติในที่นี้ คืออะไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โดยมาก คนไทย นำภาษาบาลีมาใช้ โดยไม่ตรงกับความหมายของภาษาบาลีและไม่ตรงกับความหมายของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครับ อย่างเช่น คำว่า สติ

สติ ในภาษาไทย ก็เข้าใจกันว่า ทำอะไร ก็รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ เดินก็รู้ว่าเดินอยู่ ซื้อของก็ให้มีสติ น้ำท่วมก็ให้มีสติ สรุปว่า คนไทยที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม เข้าใจว่า สติ คือรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ชื่อว่า มีสติ ความหมายสตินี้ไม่ตรงตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครับ

สติ ที่ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ สติ เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เป็นเจตสิกเกิดกับจิตที่ดีเท่านั้น ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย ดังนั้นขณะใดที่เป็นอกุศลขณะนั้น ไม่มีสติ ขณะใดที่เป็นกุศล ไม่ว่าระดับใด ขณะนั้นมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยครับ สติทำหน้าที่ระลึก และกั้นกระแสกิเลสที่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้นในขณะที่สติเกิดครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 25 ก.พ. 2555

ดังนั้นต้องเป็นกุศล จึงจะมีสติ ขณะที่รู้ว่าจะต้องทำอะไรในขณะที่น้ำท่วม ขณะนั้น จิตไม่ได้เป็นไปในในทาน ศีล ภาวนา ไม่เป็นกุศล เพียงรู้ว่าจะต้องทำอะไร ไม่ใช่สติ ครับ สติจะต้องเกิดกับจิตที่ดี เท่านั้น ขณะที่คิดว่าจะทำอะไร ในขณะที่น้ำท่วม หรือ ซื้อของ เป็นโลภะ ความต้องการ ซึ่งอาจสลับกับความไม่พอใจก็ได้ ซึ่งขณะนั้นก็ไม่มีสติเกิดร่วมด้วยแล้วในขณะนั้น เพราะจิตเป็นอกุศล ครับ แต่ถ้าขณะใดที่จิตเป็นกุศล ไม่ว่าจะทำอะไรในขณะที่น้ำท่วม น้ำไม่ท่วม ซื้อของ ไม่ซื้อของ จิตเป็นกุศลเมื่อไหร่ มีสติแล้วในขณะนั้นครับ

ดังนั้น ไม่มีการให้มีสติ เพราะบังคับสติ หรือ กุศลจิตเกิดไม่ได้ เมื่อไหร่ที่กุศลเกิดก็มีสติเอง แต่หากกุศลจิตไม่เกิด สติก็ไม่เกิด จะทำให้มีสติก็ไม่ได้ ครับ เพราะธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kinder
วันที่ 25 ก.พ. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 25 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 25 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สติ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่งาม เป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศลธรรม สติจะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต เลย กุศลกับอกุศล เป็นธรรมคนละประเภทกัน ไม่เกิดร่วมกันอย่างเด็ดขาด สติ เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามหตุตามปัจจัย

โดยปกติของปุถุชนแล้ว เป็นผู้ตกไปในฝักฝ่ายของอกุศลเสียเป็นส่วนใหญ่ เป็นผู้มีโทษมาก เพราะกาย วาจา และใจ เป็นไปกับด้วยอกุศล เมื่อสะสมมากขึ้นๆ มีกำลังมากขึ้น ก็ทำให้ล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลธรรม ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดำ เป็นธรรมที่ไม่ดี เช่น โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ตามควรแก่อกุศลจิตประเภทนั้น โดยที่ไม่มีสติเลย ในขณะที่จิตเป็นอกุศล เพราะสติ ไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต

ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าจิตไม่ได้เป็นไปในทาน ไม่ได้เป็นไปในศีล ไม่ได้เป็นไปในการอบรมเจริญความสงบของจิตและการอบรมเจริญปัญญาแล้ว เป็นอกุศลทั้งนั้น (เมื่อไม่กล่าวถึงขณะที่เป็นวิบาก และ กิริยา) มีเพียงกุศลเกิดแทรกสลับกับอกุศล เท่านั้นจริงๆ ซึ่งขณะที่จิตเป็นกุศล ประกอบด้วยโสภณเจตสิกฝ่ายดีประการต่างๆ มี ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ สติ เป็นต้น [และที่ขาดไม่ได้เลย คือ สติ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศล] ย่อมเป็นการกั้นกระแสของอกุศล เนื่องจากว่าในขณะที่เป็นกุศล อกุศลก็เกิดไม่ได้ โดยไม่มีตัวตนที่ไปกั้น แต่เป็นธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ซึ่งจะต้องค่อยๆ เจริญกุศล เห็นประโยชน์ของความดีประการต่างๆ [ไม่เห็นว่า อกุศลดีกว่ากุศล] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อละคลายกิเลส จนกระทั่งสามารถดับได้ในที่สุด ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
พิมพิชญา
วันที่ 26 ก.พ. 2555

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ดีเอ็นเอส
วันที่ 27 ก.พ. 2555

ขออนุโมทนาครับ

สติ ในภาษาไทย ก็เข้าใจกันว่า ทำอะไร ก็รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ เดินก็รู้ว่าเดินอยู่ สติ ที่ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ สติ เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เป็นเจตสิกเกิดกับจิตที่ดีเท่านั้น ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย ดังนั้นขณะใดที่เป็นอกุศลขณะนั้น ไม่มีสติ ขณะใดที่เป็นกุศล ไม่ว่าระดับใด ขณะนั้นมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยครับ เมื่อไหร่ที่กุศลเกิดก็มีสติเอง แต่หากกุศลจิตไม่เกิด สติก็ไม่เกิด จะทำให้มีสติก็ไม่ได้ครับ เพราะพระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฏกเล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัฌฌาสก์ - หน้าที่ 155 ข้อที่ ๒๘๘

ดูก่อนภิกษุ ท ... ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า เธอย่อมมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว ...

คำถามคือ สติที่พระพุทธเจ้าตรัส มีความหมายคล้ายกับสติในภาษาไทย

ขอความกรุณา K.praderm ช่วยให้ความกระจ่างด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 27 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 8 ครับ

การเจริญสติปัฏฐาน ปัฏฐาน คือ ต้องมีสภาพธรรมที่เป็นที่ตั้งให้สติระลึกรู้ เช่น มีลมหายใจ แต่ขณะที่หายใจที่อยู่ในหมวด กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ระลึกเนื่องในกาย คือ รู้ในสภาพธรรมที่ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ซึ่งเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ดังนั้นการอ่านพระสูตร พระพุทธเจ้าทรงแสดงโดยนัยสมมติบัญญัติ ว่าการเจริญสติ เนื่องด้วยลมหายใจ เพื่อที่จะไถ่ถอนว่า ไม่ใช่ลมหายใจของเรา แต่แป็นเพียงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะที่หายใจ

ดังนั้นจะต้องอ่านอรรถกถาเพิ่มเติม และที่สำคัญที่สุด จะต้องสอดคล้องกับพระอภิธรรมด้วยว่ามีแต่สภาพธรรมในขณะที่หายใจ เพราะพระโสดาบันดับความเห็นผิดว่า มีสัตว์ บุคคล ตัวตน ดังนั้นการเจริญสติปัฏฐานก็เพื่อละความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน นั่นคือ ขณะที่หายใจ ไม่ใช่เรารู้ชัด แต่เป็นสติรู้ชัด รู้ชัดในสภาพธรรมในขณะที่หายใจ อันเนื่องในกาย คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว นี่คือสติที่ระลึกในสภาพธรรม ครับ ไม่ใช่สติระลึกรู้ว่าจะทำอะไร ซึ่งจะขอยกข้อความที่อธิบายครับว่า การรู้ว่าเดิน อยู่ ใช่สติในพระพุทธศาสนา หรือไม่

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 684

ถึงสุนัขบ้าน และสุนัขจิ้งจอก เมื่อเดินไปก็รู้โดยแท้ว่า เรากำลังเดิน. แต่การรู้นั่น พระองค์มิได้ตรัสหมายเอาการรู้แบบนี้. เพราะว่าการรู้แบบนี้ ละสัตตูปลัทธิ (การยึดถือว่าเป็นสัตว์) ไม่ได้. ถอนอัตตสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นอัตตา) ไม่ออก. ไม่เป็นกรรมฐาน หรือสติปัฏฐานภาวนา. แต่การรู้ของภิกษุนี้ ละสัตตูลัทธิได้ ถอนอัตตสัญญาได้ เป็นกรรมฐาน หรือเป็นสติปัฏฐานภาวนา.

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ดีเอ็นเอส
วันที่ 28 ก.พ. 2555

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงในคำตอบ ที่ทำให้กลับมาระลึกได้ว่าที่ อ.สุจินต์ เน้นในการสอนอยู่ตลอดเวลาว่าทุกอย่างเป็นสภาพธรรม ไม่ใช่ตัวเรา

การเจริญสติ เนื่องด้วยลมหายใจ เพื่อที่จะไถ่ถอนว่า ไม่ใช่ลมหายใจของเรา แต่แป็นเพียงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะที่หายใจ ดังนั้นจะต้องอ่านอรรถกถาเพิ่มเติม และที่สำคัญที่สุด จะต้องสอดคล้องกับพระอภิธรรมด้วยว่ามีแต่สภาพธรรมในขณะที่หายใจ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
akrapat
วันที่ 1 มี.ค. 2555

ความเป็นเราเกิด ตอนไหน ไม่ใช่ขณะที่มีสติกับลมหายใจเข้า และมีสติกับลมหายใจออก แต่เกิดขณะที่หลงคิด ... " ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย ... ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า เธอย่อมมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว " ฯลฯ ... เมื่อมีสติกับลมหายใจ ... เข้า-ออก ซึ่งลมหายใจที่เข้า-ออก ไม่ใช่เรา แต่เป็นสิ่งที่ถูกรู้ หรือรูป แล้วความเป็นเราจะไปอยู่ที่ไหน ... ไม่ใช่ที่ลมหายใจ ไม่ใช่ที่ไปรู้ลมหายใจ ... แต่อยู่ที่ "ความคิด" ว่านี่คือเรา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ