ความดับไปของอารมณ์กับผู้ศึกษาธรรม และบุคคลทั่วไป

 
peeraphon
วันที่  27 ก.พ. 2555
หมายเลข  20641
อ่าน  1,522

เรียนท่านอาจารย์ทุกท่านครับ

จากที่ได้ศึกษาพระธรรมจากการอ่าน การฟัง และการนำไปปฏิบัติ โดยมีการพิจารณาสภาพความเป็นจริงของธรรม ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ก็พบความแตกต่างกัน ระหว่างผู้ศึกษาพระธรรม อย่างตัวกระผมเอง กับ ผู้ที่ยังไม่เคยได้ศึกษาพระธรรม ตัวอย่างเช่น เมื่อจิตรู้อารมณ์ โกรธ ผู้ที่ศึกษาพระธรรมอย่างถูกต้อง จะเกิดสติระลึกรู้ได้ทันทีว่า โกรธ เป็นฝ่ายอกุศล และมีปัญญาเกิด และ พิจราณาเพื่อละ เพื่อไม่ให้ เกิดดับสืบต่อไปอีก เป็นอย่างนี้บ่อยๆ เนืองๆ แต่บุคคลที่ไม่เคยได้ ศึกษาพระธรรม ก็มีบางท่านที่ระงับความโกรธไว้ได้ โดยไม่รู้ หลักเกณฑ์ใดๆ เหล่านี้เลย. จะกล่าวได้ว่าเป็นปัญญาก็ไม่เชิง หรือว่าจะเป็นการสะสมมา หรือเป็นเช่นไรครับ ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยอธิบายด้วยครับ

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 28 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง แม้แต่เรื่องที่ผู้ถาม ถามในเรื่องของความโกรธที่เกิดขึ้น ผู้ที่ศึกษาพระธรรม มีปัญญา กับ ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่มีปัญญา ก็ระงับความโกรธได้ การที่บุคคลไม่ได้ศึกษาพระธรรม ก็ระงับความโกรธได้ เป็นปัญญาใช่หรือไม่


ความโกรธ เป็นอกุศลเกิดขึ้นและดับไป ผู้ที่จะไม่โกรธอีกเลย คือ พระอนาคามี ดังนั้น ปุถุชนผู้ที่หนาด้วยกิเลส ก็เกิดโกรธขึ้นได้เป็นธรรมดา ครับ ซึ่ง ความโกรธ เมื่อเกิดขึ้น ไม่ได้ตั้งอยู่ถาวรเลย ไม่ว่าเกิดกับใคร ความโกรธนั้นก็ต้องดับไป ซึ่ง ผู้ที่ไม่ได้ศึกษา ธรรม ไม่ได้อบรมปัญญา ก็สามารถที่จะพิจารณาโดยนัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ปัญญา ด้วยความ เห็นถูก ไม่ให้โกรธเกิดต่อได้ แต่สภาพธรรมอะไรหละครับที่เกิดต่อจากความโกรธ เช่น การนับหนึ่ง สอง สาม จนถึง สิบ แน่นอนครับว่า ความโกรธไม่เกิดต่อ แต่จิตที่นับด้วย โลภะ ด้วยอกุศลจิตเกิดต่อ เปลี่ยนอารมณ์จากโทสะ เป็นโลภะนั่นเอง ดังนั้น ก็จาก อกุศล ไปสู่อกุศล ไม่ใช่ด้วยการพิจารณาด้วยปัญญาที่เป็นความเห็นถูก หรือ ความอดทนที่จะไม่โกรธ เพราะรอโอกาสที่จะว่าคืน แรงๆ ก็ได้ แสดงอาการเหมือนไม่รู้สึก อะไร แต่ใจขณะนั้นเป็นอย่างไร การไม่แสดงออกทางกาย วาจา ไม่ได้หมายความว่า ไม่โกรธ แต่จิตขณะนั้นอาจผูกโกรธ หรือ โกรธมาก แต่รอเวลาที่จะทำร้าย ก็ได้ครับ ดังนั้น ความโกรธ จะต้องเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่เพียงดูภายนอกว่าไม่โกรธ ระงับความโกรธได้ครับ

ดังนั้นการระงับความโกรธของผู้ที่ไม่ศึกษาธรรม ไม่จำเป็นจะต้องมีปัญญาที่เป็นความเห็นถูก ครับ เพราะอย่างไรก็ดี ความโกรธก็เกิดขึ้นและดับไป ไม่ได้เกิดตลอดเวลา และก็เปลี่ยนสภาพธรรมจาก โทสะ เป็นโลภะได้ ตามที่กล่าวมา ส่วนผู้ที่ศึกษาธรรมแล้ว ก็อาจเป็นอกุศลจิต หรือ กุศลจิตก็ได้ เมื่อมีความโกรธเกิดขึ้นแล้ว ก็อาจพิจารณาด้วยอกุศลจิต ดังเช่นผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมก็ได้ และอาจ พิจารณาด้วยกุศลจิต ที่ประกอบด้วยปัญญา และระงับความโกรธที่เกิดขึ้นก็ได้ครับ ซึ่งการพิจารณาด้วยปัญญา ปัญญาก็มีหลายระดับอีกเช่นกัน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 28 ก.พ. 2555

การพิจารณาเมื่อความโกรธเกิดขึ้น ก็รู้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นอกุศล มีโทษกับตนเอง ที่เกิดขึ้น จึงเห็นโทษ การพิจารณาเช่นนี้ ก็เป็นปัญญาขั้นคิดพิจารณา แต่ก็ยังไม่ได้รู้ ว่าอกุศลเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ส่วนผู้ที่สะสมปัญญามามาก โดยเฉพาะการเจริญสติปัฏฐาน ก็สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น คือ ขณะที่กำลังเกิด โดยไม่ใช่ การคิดถึงโทษของอกุศล แต่กำลังระลึกรู้ตัวธรรมที่เป็นความโกรธ ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะกำลังระลึกรู้ตรงลักษณะนั่นเองครับ ดังนั้นจึงเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง ที่เป็น ปัญญาในการเจริญวิปัสสนา หรือ สติปัฏฐานที่เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นว่า ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรม ซึ่งขณะที่รู้ความจริงในขณะนั้น สติเกิดกั้นกระแส กิเลส คือ ความโกรธไม่เกิดขึ้นในขณะนั้น รวมทั้งในขณะนั้น ก็เข้าใจความจริงของ สภาพธรรมที่โกรธว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ดังนั้นปัญญา ขั้นนี้ จึงแตกต่างจาก ผู้ที่ไม่ ศึกษาธรรม ที่ ความโกรธไม่เกิดขึ้นต่อไป แต่เป็นอกุศลจิต มีโลภะเกิดขึ้นต่อแทน รวมทั้งต่างกับผู้ที่ศึกษาพระธรรมแต่มีปัญญาน้อย ก็เกิดกุศลจิตต่อได้ คือ ความโกรธ ไม่เกิดต่อ เพราะพิจารณาด้วยความคิดที่เป็นเรื่องราว ว่า โทสะไม่ดี มีโทษ จึงเห็น โทษ ด้วยจิตที่เป็นกุศล แต่ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นธรรมและก็ยังเป็นเราที่โกรธ และ ไม่โกรธ

พระธรรมจึงเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง การระงับความโกรธ ก็มีได้ ทั้งที่ความโกรธก็ต้องดับไปอยู่แล้ว จิตอื่นๆ เกิดต่อ ความโกรธก็ไม่เกิดแล้วในขณะนั้น และระงับความโกรธ คือ โกรธ ไม่เกิดต่อ เพราะอกุศลจิต มีโลภะเกิดต่อ ด้วยวิธีการคิดของชาวโลก ต่างๆ และความโกรธไม่เกิดต่อ ด้วยกุศลจิตเกิดขึ้น ที่พิจาณาเป็นเรื่องราวที่เห็นโทษ ของอกุศล แต่ขณะนั้นก็เป็นเราที่ไม่โกรธ และไม่รู้ว่าเป็นธรรม และ ความโกรธไม่เกิดต่อ ด้วยการเห็นตามความเป็นจริงที่เป็นปัญญาระดับสูงในพระพุทธศาสนา ที่เห็น ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ในขณะที่ความโกรธเกิดขึ้นครับ ดังนั้นปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้ศึกษาธรรม ย่อมสำคัญความโกรธว่าเป็นเรา และความ ไม่โกรธก็เป็นเรา ต่างจากหนทางการอบรมปัญญา ที่ทำให้เข้าใจว่า ไม่มีเรา มีแต่ธรรม แม้แต่ความโกรธที่เกิดขึ้น ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
peeraphon
วันที่ 28 ก.พ. 2555

เรียน อาจารย์เผดิม ครับ

ขณะนี้ เข้าใจชัดเจนมากยิ่งขึ้น ระหว่างผู้ที่ไม่ได้ ศึกษาพระธรรม กับผู้ที่ศึกษา ก็เพราะผู้ที่ศึกษา มีความเข้าใจละเอียดลึกซึ้งถึง การเกิดดับของจิต และ อารมณ์ ครับ ในขณะที่ ผู้ที่ไม่ได้ศึกษา ก็อาจจะระงับ อาการโกรธได้ทั้งสองแบบคือ อกุศลจิต และ กุศลจิต ซึ่ง ก็แตกต่างกันไปตาม ความวิจิตรของจิต เช่นผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรม ก็อาจจะระงับความ โกรธ ด้วยความโกรธ เป็นต้นว่า หากมีใครทำให้โกรธก็จะเก็บเอาไว้ เพื่อไประเบิดหรือ ลงกับอย่างอื่น ฯลฯ (หากความเข้าใจนี้ผิด หรือไม่สมบูรณ์ รบกวนอาจารย์ชี้แนะครับ)

แต่ยังข้องใจอยู่ว่า หากท่านผู้ศึกษา มีปัญญา ถึงระดับที่เข้าใจสภาพอารมณ์โกรธ ว่า ไม่มีตัวตน และเห็นโทษของโทสะ ซึ่งเป็น อกุศลจิต. ในขณะที่มีเหตุ ที่ทำให้ รู้สึก มัวหมองใจ ตัวอย่างเช่น มีคนเอาไม้มาตี. ผู้ที่ได้ขัดเกลากิเลส และมีปัญญาถึงระดับที่ อาจารย์กล่าวแล้ว จะมีสภาพจิต เป็นอย่างไรครับ เช่น พอถูกไม้ตี ก็ไม่ต้องพิจาราณา แต่ สติเกิดว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว ที่ให้ผลให้เราเจ็บจากการโดนไม้ตี เป็นผลของ อกุศลกรรม ที่ได้ทำมาแต่ในอดีต ซึ่งผู้ที่ใช้ไม้ตี ก็ไม่มีตัวตน ไม้ก็ไม่มีตัวตน ยังผลให้ โทสะ ไม่เกิดใช่หรือไม่ครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 28 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

ในความเป็นจริง สภาพธรรมเกิดดับ สลับกันเร็วมาก ซึ่ง สำหรับผู้ที่จะไม่โกรธ คือ ไม่มีเหตุให้โกรธอีก คือ พระอนาคามี และพระอรหันต์ นอกนั้น ยังมีความโกรธเกิดขึ้น ได้เป็นธรรมดา เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม และผู้ที่ศึกษาธรรม มีปัญญา มีสติปัฏฐานเกิดขึ้นบ้างแล้ว แต่ยังเป็นปุถุชนก็ยังมีเหตุให้เกิดความโกรธเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา แม้ขณะที่ ถูกตี ก็อาจเกิดความโกรธได้ เป็นธรรมดา และอาจจะโกรธบ่อยๆ โดยสติไม่เกิดในตอนนั้นก็ได้ อันแสดงถึงความเป็นปุถุชน แม้จะสติปัฏฐานเกิดแล้ว และมีปัญญาบ้าง แต่ก็ยังเป็นปุถุชนอยู่ ครับ แต่เมื่อใด เหตุปัจจัยพร้อม สติและปัญญาก็เกิดหลังจากที่ถูกตี หรือที่ความโกรธกำลังเกิดขึ้นว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมไม่ใช่เรา เพราะรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังโกรธ ครับ

แต่ที่สำคัญ เราจะต้องเข้าใจครับว่า สติและปัญญามีหลายระดับครับ สติและปัญญาขั้นคิดนึก ที่ขณะที่ความโกรธเกิดขึ้น ก็พิจารณาในเรื่องราวของความโกรธที่ดับไป ว่า ความโกรธไม่ดี มีโทษ เป็นอกุศล ควรมีเมตตา ความโกรธจึงระงับไม่เกิดในขณะนั้น นี่คือ สติและปัญญาขั้นการคิดนึกซึ่งไม่ได้รู้ลักษณะ ของตัวโกรธ และยังไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ซึ่งไม่ใช่สติและปัญญาขั้นสติปัฏฐาน ถ้าเป็นสติและปัญญาขั้นสติปัฏฐาน ย่อมระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังโกรธจริงๆ โดยไม่ได้คิดพิจารณาเป็นเรื่องราวครับ โดยรู้ลักษณะของความโกรธที่กำลังเกิดขึ้น ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ครับ ซึ่งเมื่อสติปัฏฐานเกิด รวมทั้งอาจเป็นปัญญา ที่คิดนึกพิจารณาโทษของความโกรธเกิดขึ้น ของปุถุชนผู้ที่ศึกษาธรรม ซึ่งกุศลจิต อาจเกิดหนึ่งขณะ หลังจากความโกรธที่เกิดขึ้น แล้วอกุศลจิตก็เกิดต่ออีกได้ อาจจะกลับมา โกรธอีก เป็นธรรมดาของปุถุชน ที่ส่วนมากเป็นอกุศล ปัญญายังน้อย นั่นเองครับ และ ไม่จำเป็นจะต้องคิดถูกได้ หรือ สติปัฏฐานเกิดเสมอเมื่อถูกตี หรือ ความโกรธเกิดขึ้น ครับ ถูกตีแล้วก็อาจจะโกรธบ่อยๆ ก็ได้ สติและปัญญาไม่เกิดก็ได้ แม้เป็นผู้ศึกษาธรรม แล้ว เพราะปัญญาขั้นการฟัง ยังทำอะไรกิเลสไม่ได้ แม้สติปัฏฐานจะเกิดแล้วก็ทำอะไรกิเลสไม่ได้ เพียงแต่ค่อยๆ เข้าใจขึ้นเท่านั้นเอง ครับ

หนทางก็คือ ฟังพระธรรมต่อไป ปัญญาจะทำหน้าที่เองครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 28 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความโกรธ, ความไม่พอใจ (โทสะ) เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ย่อมเกิดขึ้นเป็นไป ตามเหตุตามปัจจัย เพราะตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอนาคามี ย่อมมีความโกรธเป็นธรรมดา, ขณะที่กำลังโกรธ โดยส่วนมากแล้วจะไม่ชอบ แต่ธรรมเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แม้ว่าจะได้ฟังพระธรรม มาบ้าง และรู้จัก อกุศลว่าเป็นอกุศล แต่ปัญญายังไม่เจริญถึงขั้นที่จะละคลายกิเลส ก็ไม่สามารถที่จะละคลายหรือดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และเข้าใจพระธรรมแล้ว ก็ยังต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย โดยที่ว่าบังคับบัญชาไม่ได้ แต่ก็จะพิจารณาเห็นสภาพความเป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน, บังคับบัญชาไม่ได้) ของสภาพธรรมได้มากขึ้นว่า แม้เห็นว่ากิเลส อกุศลธรรมเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่เมื่อมีเหตุปัจจัย กิเลสอกุศลธรรมก็เกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งได้

ดังนั้น จึงขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมไม่ได้เลยจริงๆ ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพื่อให้พระธรรมขัดเกลากิเลสในจิตใจตนเองให้เบาบาง แล้วผลแห่งการเจริญปัญญาจะทำให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเอง ด้วยการเห็นโทษของกิเลสทั้งปวง ตามการสะสมและเจริญขึ้นของปัญญา เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถละคลาย และดับกิเลสได้อย่างเด็ดขาดในที่สุด ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เมตตา
วันที่ 28 ก.พ. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิต ของ อ.คำปั่น และ อ.ผเดิม ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
peem
วันที่ 22 ม.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ