พระขีณาสพ หมายถึงใคร?

 
ING
วันที่  6 มี.ค. 2555
หมายเลข  20711
อ่าน  18,205
  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 6 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า ขีณาสพ มาจากภาษาบาลีว่า ขีณาสว แยกศัพท์เป็น ขีณ (สิ้นแล้ว) + อาสว (กิเลสที่หมักดอง, ไหลไป ๔ คือ ความติดข้องยินดีพอใจในกาม ความติดข้องในภพ ความเห็นผิดและความไม่รู้) รวมกันเป็น ขีณาสว เขียนเป็นไทยได้ว่า ขีณาสพ แปลว่า ผู้สิ้นอาสวะ หรือ ผู้มีอาสวะสิ้นไปแล้ว จึงเป็นอีกชื่อหนึ่งของพระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้ปราศจากกิเลสทั้งปวง ปราศจากอาสวะทั้งปวง จริงอยู่ อาสวะ ๔ นั้น ดับเป็นขั้นๆ ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป กล่าวคือ

พระโสดาบัน ดับความเห็นผิด ได้

พระอนาคา มีดับความติดข้องยินดีพอใจในกาม ได้

พระอรหันต์ ดับความติดข้องในภพ และ ความไม่รู้ ได้

ดังนั้น อาสวะ เป็นอันดับได้อย่างหมดสิ้น เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ เป็นผู้สิ้นอาสวะทั้งปวง แล้ว จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า พระขีณาสพ ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ความหมายของขีณาสพ [อรรถกถา มูลปริยายสูตร]

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 6 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระขีณาสพ ก็คือ พระอรหันต์นั่นเองครับ ซึ่งอกุศลธรรมนั้น มีหลากหลายนัย แล้วแต่จะเรียกชื่อของอกุศลธรรมว่าอย่างไร บ้าง บางครั้งก็เรียก อกุศลว่า กิเลส โยคะ สังโยชน์ รวมทั้งอาสวะ คือ สภาพธรรมที่ไหลไป หรือ เป็นเครื่องหมักดอง เรียกว่า อาสวะ ครับ อาสวะ ความหมาย โดยละเอียด จึงหมายถึงดังนี้ครับ

กิเลสเครื่องหมักดองที่ไหลไปทั่ว หมายถึง อกุศลธรรมชนิดหนึ่งที่มีสภาพหมักหมมไว้ในขันธสันดาน เหมือนกับสุราซึ่งเป็นเครื่องหมักดองที่เก็บไว้นานๆ มีอำนาจทำให้เมาและหลงใหลได้ อาสวะยังเป็นสภาพที่ไหลไป ไหลไปสู่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สามารถไหลไปได้จนถึงภวัคคพรหม เมื่อว่าโดยภูมิ แต่เมื่อว่าโดยธรรม ก็ไหลไปได้จนถึงโคตรภู ทำให้สังสารวัฏฏ์เจริญสืบต่อไปเพราะอาสวะเป็นต้นเหตุให้เกิดอวิชชา คือ ความไม่รู้ ซึ่งเป็นเงื่อนต้นของ ปฏิจจสมุปปาท

อาสวะมี ๔ อย่าง คือ ...

๑. กามาสวะ เครื่องหมักดอง คือ ความยินดีในกาม ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับ โลภมูลจิต ๘ ดวง

๒. ภวาสวะ เครื่องหมักดอง คือ ความยินดีในภพ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง

๓. ทิฏฐาสวะ เครื่องหมักดอง คือ ความเห็นผิด ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง

๔. อวิชชาสวะ เครื่องหมักดอง คือ ความไม่รู้ ได้แก่ โมหเจตสิกที่เกิดกับอกุศล

พระขีณาสพ คือ ผู้ที่ละอาสวะกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว เมื่อละอาสวะกิเลสหมดแล้ว ก็ชื่อว่า ละกิเลสประการต่างๆ ด้วย ละกิเลสที่เป็นกิเลส ๑๐ โยคะ ๔ สังโยชน์ ๑๐ เป็นต้น ซึ่งหากได้อ่านในพระไตรปิฎก คำว่า พระขีณาสพนั้น ไม่ได้ใช้เพียงพระภิกษุ ท่านั้น แม้แต่เทวดา มี พระพรหม เป็นต้น รวมทั้งฆราวาส ก็ชื่อพระขีณาสพได้ หากว่าเป็นผู้สิ้นกิเลสแล้ว ครับ ดังนั้น คำว่า พระขีณาสพ จึงไม่ได้มุ่งจำเพาะเจาะจง เพศบรรพชิตเท่านั้น

ใครก็ตามที่ดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว ชื่อว่าพระอรหันต์ พระขีณาสพ ชื่อว่า นาค ชื่อเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ แสดงถึงความเป็นผู้สิ้นกิเลสทั้งสิ้น ครับ ซึ่งผู้ที่จะถึงความไม่มีกิเลส ละอาสวะกิเลสได้หมดสิ้นนั้น จะต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ทีละเล็กละน้อยๆ ก็จะค่อยๆ ละอาสวะกิเลสประการต่างๆ ตามลำดับของปัญญาที่เจริญขึ้นนั่นเอง ครับ พระสาวกของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และแม้พระพุทธเจ้า ชื่อว่า พระขีณาสพ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
orawan.c
วันที่ 6 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 6 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ING
วันที่ 6 มี.ค. 2555

...ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น...

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในเมตตาธรรม เมตตาจิตของท่านวิทยากร

และของทุกๆ ท่าน สาธุ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
jaturong
วันที่ 8 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 13 ส.ค. 2557

บัวควีนสิริกิติ์

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลทุกประการของทุกท่านค่ะ

ด้วยความเคารพยิ่ง จาก ใหญ่ราชบุรี-ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 27 ม.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
nvrath
วันที่ 30 ม.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอกราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านวิทยากร และของทุกๆ ท่านค่ะ

สาธุ สาธุ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 4 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
bigcat001
วันที่ 7 ก.พ. 2565

อนุโมทนาคับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ