วิปัสสนากรรมฐาน

 
samroang69
วันที่  7 มี.ค. 2555
หมายเลข  20721
อ่าน  1,612

ขอรบกวนถามเรื่อง วิปัสสนากรรมฐาน หน่อยครับ ว่าการที่มีการฝึกปฏิบัติ ตัวอย่างเช่นว่า ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ และยุบหนอ พองหนอ และท่านที่เป็นอาจารย์พระวิปัสสนาจารย์ท่านยังให้กำหนดอิริยาบถย่อยอีกด้วย เช่น เวลากินข้าวก็ให้พิจารณาทุกคำเคี้ยว อย่างนี้ เป็นต้น ฯลฯ กระผมก็ได้พิจารณาดูว่า ได้ผลดีอย่างไร ก็เลยขอแสดงความคิดเห็นเพื่อว่า ท่านผู้รู้จะได้แนะนำว่าถูกหรือผิดประการใด คือกระผมเห็นว่า การที่ท่านอาจารย์วิปัสสนาจารย์ท่านให้กำหนดทุกอิริยาบถอย่างช้าๆ ยิ่งช้าได้มากที่สุดก็จะยิ่งดี จะทำให้เรามีสติรู้เท่าทันกายได้มากขึ้น และละเอียดมากขึ้นด้วย และทำให้รู้อาการก้าวย่างชัดมากขึ้น เพื่อละความเห็นผิด และสภาพธรรมต่างๆ ที่เกิดแทรก ก็ให้กำหนดรู้ตามอาการที่ปรากฏ เช่น เสียงเกิดขึ้นก็ให้กำหนดว่า เสียงหนอๆ เป็นต้น การที่ฝึกช้านั้นดูเหมือนจะประมาทในสติปัญญาอยู่มาก แต่เป็นเพียงการฝึกในเบื้องต้น ซึ่งความเป็นจริงแล้วเมื่อการที่เรากำหนดรู้ในอาการที่ปรากฏอยู่ทุกขณะอยู่บ่อยๆ ก็จะทำให้สติทำงานได้ดีขึ้น จนกำหนดรู้ทันในอาการต่างๆ ได้ชัดแจนยิ่งขึ้น แม้จะเป็นอิริยาบถที่ไวหรือช้าก็ตาม จนเป็นปรกติในการใช้อิริยาบถต่างๆ ในชีวิตประจำวัน กระผมจึงมีความเห็นว่า การปฏิบัติตามสำนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ที่อาจารย์วิปัสสนาท่านได้ฝึกอบรมก็ถือได้ว่าเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ที่ยังมีสติปัญญาน้อย ก็ให้เริ่มจากอนุบาลไปก่อนจนถึงขั้นที่สูงขึ้น จากการที่ได้ฟังอาจารย์กล่าวมาก็มีเหตุผลดี กระผมขอความรู้จากท่านที่มีความรู้เชี่ยวชาญมาตอบให้หน่อยครับ เพื่อจะได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก

ขอรบกวนด้วยครับ จะขอขอบคุณเป็นอย่างสูงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 7 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง แม้แต่การเจริญสติปัฏฐาน ที่กล่าวว่าปฏิบัติ ก็เป็น เรื่องละเอียด ที่จะศึกษาอย่างละเอียด จึงจะไม่ปฏิบัติผิด ครับ แม้แต่คำว่า สติ ที่เป็น สติปัฏฐาน เราจะต้องเข้าใจให้ถูกว่า สติในพระพุทธศาสนา กับ สติที่ชาวโลกเข้าใจ กันนั้น ไม่เหมือนกันเลย สติปัฏฐาน ที่เป็นสติและปัญญานั้น ไม่ได้หมายถึง สติที่รู้ว่า กำลังทำอะไร ไม่ใช่ สติที่หมายถึงว่า เดินก็รู้ว่ากำลังเดิน ยืนก็รู้ว่ากำลังยืน ดังนั้น การที่รู้ว่ากำลังก้าวไป กำลังเดินไป กำลังทำอะไรอยู่ นั้นไม่ใช่สติปัฏฐานที่เป็น สติในการปฏิบัติเลยครับ เพราะสติในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง สติเจตสิกที่เป็นสภาพธรรม ที่ระลึก เกิดกับจิตที่เป็นกุศลเท่านั้น การรู้ว่าทำอะไร ไม่ได้หมายถึงว่ามีสติ ซึ่งในพระไตรปิฎก ที่เป็นสติปัฏฐานสูตร แสดงไว้ชัดเจน ในอิริยาบถบรรพ แสดงไว้ชัดเจนว่า การที่รู้เดิน ก็รู้ว่ากำลังเดินอยู่ ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่สติในขณะนั้น ครับ อรรถกถาอธิบายเพิ่มเติมว่า แม้สุนัขบ้าน ก็รู้ว่ามันกำลังเดินอยู่ จึงไม่ใช่สติปัฏฐานครับ แม้เด็กก็รู้ว่า กำลังเดินอยู่ กำลังก้าวไป จึงไม่ใช่การปฏิบัติที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ครับ และที่สำคัญที่สุด ลืมไม่ได้เลย สติและปัญญาเป็นธรรม และธรรมเป็นอนัตตา คือ บังคับบัญชาไม่ได้ ดังนั้น สติไม่มีตัวตน หรือ พยายามที่จะให้สติเกิดได้เลย และไม่มีตัวตน หรือ บังคับได้ ให้สติเกิดในขณะที่เดิน ขณะที่ก้าว ขณะที่ย่าง เพราะในความเป็นจริง การเจริญสติปัฏฐาน ที่เป็นสติ สติในที่นี้ หมายถึงการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน ที่เป็น จิต เจตสิกและรูป เช่น ระลึกรู้ในขณะที่เห็น ว่าเป็น เพียงธรรม ที่เป็น จิตไม่ใช่เรา ขณะที่ได้ยิน ก็รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ซึ่งอาศัย อาการเนื่องด้วยอิริยาบถ เช่น ขณะที่ยืน มีธรรมไหม มี ขณะที่ยืน ก็มีเห็น มีได้ยิน มี กระทบแข็ง ถ้าสติและปัญญาเกิดก็รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา แต่การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ การรู้ว่ากำลังเดิน กำลังยืน กำลังก้าวไป ไม่ใช่ ครับ เพราะขณะนั้นไม่ได้รู้ว่าเป็นแต่เพียง ธรรมไม่ใช่เรา และที่สำคัญ ไม่ใช่ว่า ผู้ที่อบรมเบื้องต้น จะต้องเริ่มจากการมีสติ รู้ช้าๆ นั่น ก็ไม่ใช่ เพราะ สติสามารถเกิดได้ในชีวิตประจำวัน อันเนื่องกับอิริยาบถ โดยไม่มีตัวตนที่ จะทำสติ ให้เกิดในตอนนั้น ตอนนี้ สติจะเริ่มเกิดก็เพราะการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไม่ใช่เพราะจะทำ โดยการเดิน ย่างหนอเลย ครับ การศึกษาพระธรรมจะต้องละเอียด รอบคอบ ครับ โดยอ่านพระไตรปิฎกและอรรถกถาประกอบด้วย

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 684

ความรู้ที่เป็นสติปัฏฐานภาวนา

ถึงสุนัขบ้าน และสุนัขจิ้งจอก เมื่อเดินไปก็รู้โดยแท้ว่า เรากำลังเดิน. แต่การรู้นั่น พระองค์มิได้ตรัสหมายเอาการรู้แบบนี้. เพราะว่าการรู้แบบนี้ ละสัตตูปลัทธิ (การยึดถือว่าเป็นสัตว์) ไม่ได้. ถอนอัตตสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นอัตตา) ไม่ออก. ไม่เป็นกรรมฐานหรือสติปัฏฐานภาวนา. แต่การรู้ของภิกษุนี้ ละสัตตูลัทธิได้ ถอนอัตตสัญญาได้ เป็นกรรมฐาน หรือเป็นสติปัฏฐานภาวนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
daris
วันที่ 7 มี.ค. 2555

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
samroang69
วันที่ 7 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 7 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่การไปทำอะไรที่ผิดปกติ ด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความไม่รู้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ก่อนอื่นจึงต้องฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ และต้องเข้าใจสิ่งที่กล่าวถึงนั้น คือ อะไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างไร ซึ่งจะต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ ถ้าไม่ได้ศึกษาแล้ว ความเข้าใจที่ถูกต้องย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ มีแต่ความเห็นผิดและความไม่รู้ เมื่อมีความเห็นผิดแล้ว ทุกอย่างผิดหมด ปฏิบัติก็ผิด แม้จะบอกว่านี้คือการปฏิบัติธรรม นี้คือการเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่ใช่ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เจริญสติปัฏฐาน เพราะเป็นไปกับด้วยความเห็นผิดและความไม่รู้ ไม่มีปัญญาที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง

ที่ตั้งที่จะให้สติปัฏฐานเกิดนั้น ก็คือ สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ฟังในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ นี้แหละที่จะเป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ได้ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้นครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pat_jesty
วันที่ 8 มี.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 8 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เซจาน้อย
วันที่ 8 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
samroang69
วันที่ 10 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ