พระสงฆ์ปัจจุบันควรรับเงินหรือไม่
ผมเข้าใจว่าสมัยก่อน ต่างกับปัจจุบันมาก ฆราวาสธรรมดาที่ไม่ใช่เศรษฐี จะไม่มีการเน้นความสะอาดสวยงามทั้งทางร่างกาย และสถานที่อยู่อาศัยมาก ดังเช่น การแปรงฟัน อาบน้ำด้วยสบู่ การสระผมด้วยน้ำยา การซักเสื้อผ้าให้ขาวสะอาดด้วยผงซักฟอก การใส่รองเท้า การปัดกวาดฝุ่นผง การตัดผมเป็นประจำ เหมือนชาวบ้านปัจจุบัน ความสะอาด เรียบร้อย จึงไม่มีมาก ซึ่งเข้าใจว่าการทำกิจวัตรของพระสมัยก่อนนั้นก็เช่นกัน ในปัจจุบันแตกต่างโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าชาวบ้านขนาดไหนก็ตาม ต้องมีการดูแลความสะอาดทั้งร่างกายตนและสถานที่ ผู้ไม่ทำก็เสมือนคนขี้เกียจ ไร้ระเบียบวินัย มีแต่เป็นคนไม่ดีหรือวิกลจริตเท่านั้น ในขณะที่ พระ ปัจจุบันก็ต้องเป็นบุคคลของสังคมให้ชาวบ้านมากราบไหว้ หากไม่มีการดูแลความสะอาดทั้งร่างกายและสถานที่ เช่น กลิ่นปากแรง ฟันสีเหลืองเพราะไม่เคยได้รับการบริจาคยาสีฟัน แปรงฟัน จีวรขึ้นราเพราะจีวรชุดเดียว และไม่เคยมีคนถวายผงซักฟอกเป็นประจำทุกเดือน และไม่มีน้ำ ไฟใช้เพราะไม่มีโยมมาช่วยเหลือ บุคคลิกไม่งามเพราะเป็นโรคเชื้อราเต็มตัวและฟันผุเพราะอยู่สภาพไม่ดีอย่างนั้นมาเป็นเวลานาน และไม่มีโยมถวายยารักษา หลังคากุฏิก็ผุเป็นรูใหญ่ ไม่เคยเอ่ยปากบอกเพื่อให้ชาวบ้านช่วยทำบุญสิ่งที่ตนจำเป็นต้องใช้เป็นประจำด้วยพระวินัย
กระผม เชื่อว่ามีพระหลายรูปในปัจจุบันสามารถอยู่ในชุดจีวรที่ขาด สกปรก กลิ่นตัวเหม็นสาปในสายตาชาวบ้านได้ แต่ก็จะถูกตำหนิจากพระด้วยกันหรือเจ้าอาวาสอยู่ดี
จึงอยากทราบความเห็นว่า หากพระที่ไม่มีโยมเฝ้าคอยอุปถากช่วยเหลือทำบุญจนเห็น สภาพที่ไม่น่าชื่นชมสำหรับชาวบ้านดังกล่าว เข้ามาร่วมฟังสนทนาธรรมที่บ้านธัมมะ เพราะใฝ่หาความรู้ธรรมมะ แล้วมีโยมเกิดคิดได้ว่าคงไม่เคยมีใครทำบุญกับท่านและจะขอถวายปัจจัยกับพระรูปนั้นเพราะสะดวกกว่าการไปหาซื้อเป็นสังฆทาน และไม่ทราบว่า ควรจะซื้ออะไรบ้างด้วย ไม่ทราบคิดว่าพระรูปนั้นควรรับปัจจัยไหมครับ และท่านควรจะ รักษาสภาพการอยู่แบบไม่มี เพราะท่านก็พอใจ แต่ดูเหมือนจะเบียดเบียนชาวบ้านเรื่อง กลิ่นและความไม่น่าดูของจีวร หรือท่านควรจะหาวิธีกระตุ้นเพื่อให้โยมมาคอยทำบุญกับท่านที่วัดเป็นประจำครับ ในพระไตรปิฎกเชื่อว่ามีเรื่องราวที่ว่าพระควรอยู่กับของที่ไม่งาม เช่นจีวร ก็เป็นผ้าถูกทิ้งไว้ แต่สงสัยเหมือนกันว่ามีกล่าวบ้างหรือไม่ว่าควรจะปฏิบัติตัวให้ชาวบ้านรู้สึกว่าคู่ควรแก่การเคารพกราบไหว้ หรือ ควรรักษาร่างกายให้สะอาด หรือ ทำสถานที่อยู่ของพระให้ดูสะอาด เช่น ไม่มีใบไม้ ไม่มีตะไคร่น้ำ คราบสกปรกต่างๆ ให้เป็นที่ตำหนิของฆราวาส บ้างหรือเปล่าครับ ผมเข้าใจว่าวินัยสงฆ์ปัจจุบันเหมือนจะมีอยู่ แต่ไม่แน่ใจ
ขอความกระจ่างจากผู้มีความรู้ด้วยด้วยครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สัจจะ ความจริงไม่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเลย อกุศลเป็นอกุศล ไม่เปลี่ยนแปลง กุศลเป็นกุศล ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ ไม่ว่าเกิดกับใคร และ ช่วงเวลาไหน แม้ อดีต ปัจจุบันนี้และ อนาคต พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง แม้ในส่วนสิกขาบทที่เป็นพระวินัยของพระภิกษุ ประโยชน์ คือ เพื่อไม่ให้กิเลสที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น และกิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว เจริญขึ้น ดังนั้น พระบัญญัติของพระพุทธองค์เป็นสัจจะความจริง ไม่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ว่าถ้าเป็นสมัยนี้จะใช้ไม่ได้ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไป โลกเปลี่ยนแปลงไปตามสมมติเรื่องราว ที่เป็นบัญญัติ ไม่ใช่สัจจะ แต่สภาพธรรมที่มีจริง คือ กุศล อกุศล ไม่เปลี่ยนไปตามโลก เรื่องราวเลย สิ่งใดมีโทษ พระองค์ตรัสว่ามีโทษ ความมีโทษที่ทำให้อกุศลเจริญ ก็ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แม้แต่การรับและยินดีเงินทองนั้น ของพระภิกษุ พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า มีโทษ และไม่สมควรกับพระภิกษุ ไม่ว่า กาละเวลาไหน อดีต ปัจจุบันและอนาคต เพราะ ก็ต้องเข้าใจความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลงว่า บวช บรรพชา คือ การเว้นทั่วจากกิเลส และ เป็นการสละ อาคาร บ้านเรือน ไม่ใช่เพศคฤหัสถ์แล้ว ดังนั้นจะทำดังเช่นคฤหัสถ์ที่มีการใช้จ่ายเงิน และทอง ไม่ได้เลย แต่ถ้าจะใช้เงินทอง หรือ ปฏิบัติตนดังเช่นคฤหัสถ์ ก็ต้องกลับมา เป็นเพศคฤหัสถ์ดังเดิม สละเพศบรรพชิต ครับ
ส่วนประเด็นเรื่องการทำความสะอาดร่างกาย ก็เป็นกิจทั่วไปอยู่แล้ว ที่ควรทำ ไม่ใช่ว่า ถ้าอยู่ในเพศบรรพชิต จะต้องไม่สะอาด ครับ แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้เงินทองใน กรณีใดๆ ทั้งสิ้นครับ
ขออนุโมทนา
ดังนั้น คฤหัสถ์ที่ดี ก็ควรให้ของที่เหมาะสม มี ยาสีฟัน สิ่งที่ทำความสะอาดกับท่านได้ แต่ไม่ใช่ให้เงินและทอง โดยอ้างว่าไม่สะดวกที่จะให้สะดวกที่จะให้เงินทอง อันนี้ ไม่ถูก ถ้าเราจะทำอะไรให้ถูกต้องแล้ว ก็จะไม่ยึดตัวเราเป็นสำคัญที่เราสะดวก หรือไม่สะดวก แต่ถ้าคิดถึงท่าน ที่ท่านจะต้องอาบัติ ก็จะต้องไม่ให้เงินทองที่เป็นของไม่ควร กับพระภิกษุและเป็นโทษกับท่าน ครับ แต่ให้ของที่เหมาะสม ที่สามารถทำความสะอาดร่างกาย และไม่ทำให้ท่านอาบัติ ครับ
ขออนุโมทนา
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ
ถ้าบวชเป็นพระภิกษุแล้ว สมควรรับเงินหรือไม่ครับ
พระรับเงินทองไม่ได้ อาบัติผิดพระวินัย แต่เราสามารถช่วยท่านได้ ถ้าท่านป่วยไม่สบาย ช่วยค่ารถ ค่ายา ปัจจัย ๔ เราก็สามารถฝากเงินไว้กับคนวัด คือ ผู้ที่ดูแลพระภิกษุ บอกให้พระท่านทราบ ถ้าจำเป็นต้องใช้ปัจจัย ๔ ให้ไปบอกกับคนวัดและให้คนวัดจัดการให้ค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมวินัย ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อการกำจัดกิเลสที่แต่ละบุคคลได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ แต่ถ้าไม่ได้ศึกษา ไม่ได้เข้าใจถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัยแล้ว โอกาสที่จะกระทำผิด ก็ย่อมจะมีได้ หรือ ในอีกกรณีหนึ่ง คือ ทั้งๆ ที่รู้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงตามพระธรรมวินัย แต่ก็มีเจตนาที่จะล่วงละเมิดสิกขาบทนั้นๆ เพราะกำลังของกิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ความไม่ละอาย ความไม่เกรงกลัวต่ออกุศล นั่นเอง
สำหรับเงินและทอง นั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควรแก่เพศพระภิกษุโดยประการทั้งปวง เป็นเครื่องเศร้าหมองของบรรพชิตจริงๆ ทำให้เกิดความติดข้อง เป็นห่วงกังวล และไม่ต่างอะไรกับคฤหัสถ์ เพราะพระภิกษุ รับเงินและทอง ไม่ได้ เป็นอาบัติ ไม่ว่าจะรับเพื่อตน หรือ เพื่อสิ่งอื่น เช่น สร้างกุฏิ สร้างพระอุโบสถ เป็นต้น ก็เป็นอาบัติ ถ้ารับเมื่อใด ไม่ว่ากรณีใดๆ ล้วนไม่พ้นจากอาบัติ ชีวิตพระภิกษุ เป็นชีวิตที่ขัดเกลาเป็นอย่างยิ่ง เงินทองไม่จำเป็นสำหรับพระภิกษุ พระภิกษุผู้ที่ไม่ละอาย ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรมวินัย ก็มีการล่วงสิกขาบทต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือ การรับเงินรับทอง, การรับเงิน รับทอง เป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ การที่จะแสดงอาบัติข้อนี้ ให้ตนเองเป็นผู้พ้นจากอาบัติได้ ต้องมีการสละให้ถูกต้องตามพระวินัยเสียก่อน แล้วจึงจะแสดงอาบัติตก แต่ถ้าไม่ทำการสละเลย แล้วแสดงอาบัติ ก็ไม่พ้นจากอาบัติ เป็นผู้มีอาบัติติดตัวเป็นอันตรายมากในเพศบรรพชิต, เพศบรรพชิตต้องเคารพพระธรรมวินัย ถ้าต้องการเงิน ต้องการใช้เงิน ไม่ต้องบวช เพราะจุดประสงค์ที่แท้จริงในการบวช ก็เพื่อขัดเกลากิเลส เท่านั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นเลย และที่สำคัญ คฤหัสถ์ที่เข้าใจพระวินัย ก็จะเป็นประโยชน์มากทีเดียว สามารถกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่เป็นเหตุให้พระภิกษุท่านต้องอาบัติ รวมถึง การถวายเงิน ด้วย เมื่อรู้แล้วว่า สิ่งนี้ไม่ถูกต้อง ก็ไม่ควรกระทำ ไม่ควรส่งเสริม และยังสามารถจะอธิบายให้ผู้อื่นได้เข้าใจ ด้วยครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณในความกรุณาให้คำตอบครับ
สำหรับเรื่องพระวินัยในพระไตรปิฎก หากได้เน้นห้ามการรับปัจจัยจริง กระผมคิดว่าวินัยพระที่บัญญิติให้พระสงฆ์ไทยปัจจุบันปฏิบัติตามคงมีความคลาดเคลื่อนและเป็นเหตุให้พระเดินออกจากเส้นทางปฏิบัติเพื่อนิพพานเสียแล้วหละครับ เพราะผมรู้สึกว่า วินัยของพระไทยปัจจุบัน หากเป็นนิกายหินยาน สามารถรับเงินจากมือโยมได้เลยไม่อาบัติ พระส่วนใหญ่ในกรุงเทพเป็นต้น หากเป็นธรรมยุติรับเป็นใบปาวารณาแทน พระจับต้องเงินไม่ได้ แต่ก็ต้องให้ฆราวาสช่วยเก็บใส่ซึ่งเป็นการสะสมอยู่ดี แม้นจำนวนจะแค่ไม่กี่สิบหรือร้อยบาทก็ตาม ส่วนใหญ่เป็นวัดตามชนบท เห็นได้ว่า แม้แต่วินัยสงฆ์ยังเปลี่ยนได้มากขนาดนี้แล้ว อย่างอื่นจะไม่ถูกเปลี่ยนได้ หรือ
สำหรับการเน้นให้ช่วยบริจาคแต่สังฆทาน ผมว่าพระหลายรูปที่ไม่ได้สนใจเงินทองจริงๆ ก็ยินดีเช่นกันครับ แต่ปัญหาคือ มีฆราวาสกี่คนที่ชอบเข้าวัดเพื่อบริจาคสังฆทาน และ ในจำนวนที่เข้าวัด มีกี่คนที่ใส่ใจว่าสิ่งที่พระต้องใช้ในชีวิตประจำวันจริงๆ มีอะไรบ้าง แม้แต่มีดโกนหนวดสำหรับปลงผมไม่ให้บาดศีรษะง่ายๆ ผมเชื่อว่า แม้ในบ้านธัมมะเอง อาจไม่มีใครทราบเลยก็ได้ว่าพระท่านปลงผมทุกเดือน ท่านสะดวกที่สุดกับใบมีดโกนหนวดยี่ห้อขนนกและอาจไม่เคยซื้อบริจาคด้วยตนเองเลยก็ได้ แค่ฆราวาสทั้งประเทศไทยสนใจธรรมมะที่ถูกต้องยังมีจำนวนจำกัด แล้วจะมีฆราวาสกี่คนที่สนใจเข้าไปถวายสังฆทานที่พระใช้เป็นประจำจริงจริๆ อย่างถูกต้อง แม้แต่ฆราวาสที่บ้านธัมมะเองรวมทั้งผมด้วย หากมองย้อนหลังไป คิดว่าอาจไม่เคยไปถวายสังฆทานพระทุกเดือนเลยด้วยมั้งครับ หากสมมติคนถวายสังฆทานที่พระใช้จริงๆ ทั้งประเทศไทยไม่ได้ถวายเงินเลย มีห้าแสนคนต่อเดือน พระมีจำนวนทั้งประเทศหนึ่งล้านรูปก็เป็นไปไม่ได้เลย ที่ พระทุกรูปจะได้รับสบู่เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องซื้อทุกเดือน การมีโยมประจำวัดดูแลเรื่องซื้อสังฆทานให้วัดนั้น ช่วยแก้ปัญหาได้จริงครับ แต่ปัจจุบัน คงเปลี่ยนไปแล้ว ลองมองตัวเรา ยังต้องทำงานหาเงิน ไม่เคยเข้าวัดเพื่อเป็นธุระช่วยพระทุกอาทิตย์ได้เลย แล้วชาวบ้านที่ไม่มีงานประจำทำ ไม่มีเงินเดือน คิดว่าเขาจะไม่อยากเอาเวลาไปรับจ้างทำไร่ทำนาหาเงินเลี้ยงชีพครอบครัวมากกว่าหรือครับ เรายังทำไม่ได้เลยที่จะสละการงานแค่อาทิตย์ละครั้งเพื่อช่วยพระ แล้วผู้อื่นอาจเข้าใจธรรมมะน้อยกว่า เราจะศรัทธาช่วยเหลือพระทุกอาทิตย์ได้หรือ ผมว่าหลายวัดมีฆราวาสช่วยพระประจำอยู่ แต่ลองสืบถามอย่างจริงจังดูก็ได้ครับ หากวัดนั้นไม่มีเงินประจำวัดอยู่เลย ฆราวาสนั้นจะยังอยู่ช่วยพระไหม ผมว่าวัดปัจจุบันที่มีคนทำบุญเยอะยังต้องจ้างฆราวาสเป็นเงินเดือน มาช่วยเลยครับ มิเช่นนั้นต้องมีพระที่มีชื่อเสียงอยู่ด้วยจึงอาจหาฆราวาสที่มาช่วยโดยไม่ต้องจ้างได้
ผมเห็นด้วยกับการสร้างวินัยสงฆ์ในประเทศไทยใหม่อย่างจริงจังว่าพระรับบริจาคปัจจัย ไม่ได้ประกาศให้ฆราวาสทั้งประเทศด้วยจะยิ่งดี จะช่วยลดจำนวนคนที่เข้าไปบวชพระ เพื่อกอบโกยผลประโยชน์ เหลือแต่พระที่มุ่งพระนิพพานจริงๆ มีสัดส่วนมากขึ้นแล้ว แรงศรัทธาอันบริสุทธิ์ของฆราวาสจะมากขึ้นตามด้วย แต่ฆราวาสอย่างเราควรทำอย่างไรเพื่อให้เขาแก้วินัยพระรับเงินตรงนั้นแล้วประกาศให้ชัดเจนได้ครับ คงเปลี่ยนไม่ได้เลย ได้แต่ดูความเสื่อมที่เกิดมากขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สำหรับเงินและทอง นั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควรแก่เพศพระภิกษุโดยประการทั้งปวง เป็นเครื่องเศร้าหมองของบรรพชิตจริงๆ ทำให้เกิดความติดข้อง เป็นห่วงกังวล และไม่ต่างอะไรกับคฤหัสถ์ เพราะพระภิกษุ รับเงินและทอง ไม่ได้
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ
เรียนความเห็นที่ 4 ครับ
นี่คือเหตุผลว่าทำไมพระธรรมของพระพุทธเจ้าจะอันตรธานไป ในเวลา ๕ พันปี ครับ เพราะ พุทธบริษัท ๔ ขาดความเข้าใจและไม่เคารพ ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย
ขออนุโมทนา
แล้วพระที่เล่าเรียน ที่จบออกมาเป็น ดร. จบ ป.ตรี โท เอก ล่ะ ท่านเอาเงินที่ใหน ถ้าไม่มีเงินเล่าเรียน พระก็คงไม่ได้จบกันแน่ แล้วสถาบันที่ไหนบ้าง ไม่มีเงินแล้วเรียนจบได้
ในสมัยก่อนน่ะใช่ ที่พระภิกษุ ห้ามจับเงินทอง ก็ในสมัยก่อนนั้นไม่มีการศึกษา มีแต่เดินตามพระศาสนา โดยใช้ในการตั้งตนให้ละจากกิเลส ไม่ยึดติดกับบ้านเรือนและสิ่งของที่เป็นกิเลส บำเพ็ญเพียรให้เกิดกุศลและผลที่จะได้ในการปฏิบัติ แต่เรามองกลับกันในสมัยนี้ เราจะเห็นได้ว่า มีพระที่ท่านเรียนมากมายแยกย้ายออกต่างละสาขา มีทั้ง ปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิเวธ และก็เรียนทางโลกสาขาต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำความคิดของโยมมาพัฒนาให้เกิดธรรมคำสั่งสอน
เรียนความเห็นที่ 8 และ 10 ครับ
ก็ต้องรู้ครับว่า บวขเป็นเพศบรรพชิตเพื่ออะไร เพื่อละ ขัดเกลากิเลสจนหมดสิ้น หรือ เพื่อเรียนเหมือนทางโลกดังเช่นคฤหัสถ์ที่จบ ปริญญา เป็นต้น สมควรหรือไม่ กับเพศบรรพชิต ที่ประพฤติดังเช่นคฤหัสถ์ ครับ ดังนั้น ก็ต้องเข้าใจจุดประสงค์ของการบวชให้ถูกต้องตั้งแต่ต้นด้วยครับ และต้องรู้จักตัวเองว่า จะประพฤติดังเช่นเพศคฤหัสถ์ได้อย่างเดิมหรือไม่ ครับ และการศึกษาทางโลก ดังเช่น คฤหัสถ์ ใช่กิจของพระภิกษุ และ เป็นพระพุทธประสงค์ของพระพุทธเจ้าหรือไม่ ครับ
พระธรรมไม่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เพราะเป็นสัจจะ อกุศล ก็ไม่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย อกุศล ก็ต้องเป็นอกุศล สิ่งที่ไม่ถูกต้อง จะกลับเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยไม่ไ้ด้เช่นกันครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ
หน้าที่หรือกิจที่ถูกต้องของภิกษุในธรรมวินัยนี้ [คาถาธรรมบท]
การที่เราบวชมาเพื่อ เว้นจากการครองเรือนและมาเพื่อบำเพ็ญเพียรให้เกิดกุศล ให้จิตเป็นสมาธิ ไม่ให้กิเลสเข้ามาใกล้ นี้เขาเรียกว่าการเป็นบรรพชิตหรือไม่ คำสั่งสอนของพระองค์ทรงห้ามรับเงินทองก็จริง แต่เราก็ไม่ได้นิ่งอยู่เฉยๆ คำสอนของพระองค์ไม่มีใครเปลี่ยนได้ แต่เรานึกถึงปัจจุบันสิ ถ้าท่านมาบวชท่านไปเรียน บาลี นักธรรมหรือของคฤหัสถ์ ท่านจะต้องใช้เงินไหม เงินที่ได้มาก็เป็นของบริสุทธิ์ ไม่ได้ไปลักขโมยใครมา แล้วถ้าพระภิกษุทุกวันนี้ไม่มีความรู้ ท่านคิดว่าจะเป็นยังไง แล้วจะเอาอะไรมาพัฒนาวัดวาอาราม และจะเอาความรู้ธรรมข้อใดเล่า มาสอนญาติโยม อันไหนที่ปล่อยวางได้ก็ปล่อย อย่าตึง หรือหย่อนเกินไป
ธรรมคำสอนไม่มีหาย แต่คนเรามีแต่ห่างหาย
พระพุทธองค์ทรง กล่าวว่า เราอยู่ในที่ใด ไม่ว่าจะเป็นอดีตหรือปัจจุบันเราควรทำตามของกาลสมัยนั้นๆ ให้ดี ให้ธรรมะเป็นเครื่องนำทาง ให้กุศลและอกุศลเป็นเครื่องตัดสินเว้นจากความชั่วทำแต่ความดี แค่นี้ก็อยู่กันอย่างมีความสุขร่มเย็น
ง่ายที่สุดสำหรับเพศภิกษุ ครับ ไม่ต้องอาบัติทั้งหลายด้วย
คือถ้าต้องการจับจ่าย ใช้เงิน ก็สึกเป็นฆราวาส
อนุโมทนากับผู้ใฝ่ในธรรมทุกท่านครับ
ลองคลิกอ่านลิงก์นี้นะครับ
เอาอย่างงี้นะครับท่าน ผมของถามอีกข้อ แล้วทำไมโยมถวายสังฆทานพร้อมปัจจัย แค่รับไว้ก็อาบัติแล้ว ถ้างั้นพระท่านที่รับปัจจัยก็ต้องขาดจากการเป็นบรรพชิต หรือครับท่าน
ถึง คห. 14
คำถามนี้ กรุณาตั้งเป็นกระทู้ใหม่ด้วยครับ ...
อนุโมทนา
อาบัติหรือข้อห้ามในพระวินัย พระพุทธเจ้าทรงตั้งขึ้นเมื่อเกิดเหตุและระงับเหตุ และเรื่องที่พระสงฆ์ห้ามรับเงินรับทอง ต้องอาบัติ อยากขอคำแนะนำจากท่านที่มีเหตุผลมากกว่านี้ ไม่ใช่เอาอดีตมาตัดสินอย่างเดียว ลองดูในคนหมู่มากและสงฆ์หมู่มากด้วย
ขอบคุณครับ
เรียนความเห็นที่ 16 ครับ
พระวินัยบัญญัติของพระพุทธเจ้าบัญญัติดีแล้ว ไม่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ที่สำคัญที่สุด ความถูกต้อง ไม่เปลี่ยนไปตามคนหมู่มาก และไม่ขึ้นอยู่กับคนหมู่มาก ว่าจะคิดอย่างไร ปฏิบัติตัวอย่างไร ผิดก็ต้องเป็นผิด ถูกก็ต้องเป็นถูก มิเช่นนั้น ความถูกต้องก็ต้องขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่มากกว่า นั่นไม่ใช่ สัจจะความจริง เพราะ กุศลเป็นกุศลไม่เปลี่ยนแปลง อกุศล ก็ต้องเป็นอกุศล ไม่เปลี่ยนแปลง โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนหมู่มาก และ น้อย ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอร่วมสนทนาธรรมด้วยนะครับ
เคยได้ยินมาว่า ...
ในสมัยพุทธกาล ในช่วงที่พระนางวิสาขามหาอุบาสิกา ได้ไปสดับพระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค แล้วได้ลืม เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ มีราคา ๑๖ โกฏิไว้ก็ได้ใช้ให้ หญิงคนใช้วิ่งไปดูก็พบว่า พระอานนท์ เก็บไว้ให้ แล้ว พอรุ่งขึ้นเช้า พระนางก็ขอประกาศถวายองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค คือ ประกาศถวายแล้วก็ขายเพื่อเอาเงินบำรุงสงฆ์ เงินมันตั้ง ๑๖ โกฏิ ไม่มีชาวบ้านเขาซื้อ นางวิสาขาก็ซื้อเอง ซื้อเองแล้วเงิน ๑๖ โกฏิ จัดสร้างวัด ถวายเป็นพุทธบูชา บำรุงพระพุทธศาสนา
ดังนั้น ผมจึงใคร่ขอสนทนาว่า ในกรณีที่ท่านพระอานนท์ ท่านก็เก็บรักษาเครื่องประดับไว้ให้พระนางวิสาขา ดังนั้นผมจึงคิดว่าถ้าพระสงฆ์ที่ไม่ได้เจตนาจับเงินทองมาเพื่อใช้จับจ่ายเป็นของตัวท่านเองคงไม่ได้อาบัติไปทุกกรณี ขึ้นกับเจตนา ของแต่ละท่าน เนื่องด้วยพระอานนท์ท่านก็เป็นผู้เก็บรักษาเครื่องประดับมีค่า ๑๖ โกฏิ ไว้ด้วยตัวของท่านเอง ดังนั้น การใช้ปัจจัยเงินทองเพื่ออุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาของฆราวาส ก็เป็นสิ่งสมควรอยู่ เนื่องจากเป็นการเจริญกุศลเช่นกัน ส่วนในปัจจุบันนี้ หากฆราวาสที่มีจิตกุศลจะสร้างถาวรวัตถุ อุปถัมภ์พระศาสนา แล้วใช้ปัจจัยเงินทองก่อสร้าง เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าพระสงฆ์ที่อยู่ประจำวัดที่เราไปก่อสร้างนั้น ท่านจะไม่มีส่วนช่วยดูแลเกี่ยวกับโครงการต่างๆ นั้น ไม่ได้เลย เพราะเนื่องจากท่านอยู่ประจำวัดนั้น และบางวัดก็ไม่มีไวยาวัจกรด้วย
ขออนุโมทนาครับ
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
(ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น)
เรียน คุณ maacus ใน ความคิดเห็นที่ 18 ครับ.
ท่านพระอานนท์เถระ เก็บเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ ไม่ชื่อว่า รับเงินและทอง เพราะท่านเพียงแต่เก็บงำสิ่งของซึ่งยังไม่ได้เป็นของท่าน เพื่อคืนให้เจ้าของ ครับ
ดังนั้น ท่านพระอานนท์จึงไม่ต้องอาบัติตามพระวินัย
อนึ่ง เคยมีภิกษุรูปหนึ่ง ได้ปรารภว่า ท่านต้องรับเงินและทอง เพราะเกรงใจคฤหัสถ์ แต่แท้จริงแล้ว การกระทำของท่าน ชื่อว่า ไม่เคารพยำเกรงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และในพระธรรมวินัย ครับ
.ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย.
เรียน คุณธุลีพุทธบาท
แสดงว่าเนื่องด้วยการเก็บงำ ดังนั้นจึงไม่ได้ถือว่ารับเงินทองใช่ไหมครับ แต่แสดงว่าจับต้องได้ แต่ไม่ได้รับมาเป็นของท่าน แต่จะปฏิเสธไม่ได้เลยที่พระสงฆ์ จะมีส่วนช่วย อุปถัมภ์และสืบต่อพระพุทธศาสนา ที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ วัดวาอาราม เพราะขณะที่พระนางวิสาขาได้ก่อสร้างปราสาท ๑๐๐๐ ห้อง มีโลหปราสาท เป็นต้น เพื่อถวายแด่พระศาสดาและพระสงฆ์ พระพุทธองค์ก็ได้มอบหมายให้พระโมคคัลลานะช่วยเหลือฆราวาสด้วยฤทธิ์ เพื่อขนไม้ หิน ต่างๆ ด้วยความรวดเร็วขึ้น ดังนั้นการที่พระสงฆ์จะมีส่วนเข้ามาช่วยในโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องด้วยเงินทอง แม้ ไม่ได้จับเงินทองก็ตาม แต่ดำเนินการโดยฆราวาสจึงเป็นการสมควรอยู่
พระช่วยเรื่องการก่อสร้างวิหาร หรือ วัด ได้ แต่ห้ามจับต้องเงินและทอง ค่ะ
ขออนุญาตร่วมสนทนาด้วยนะครับ
เงินทอง หรือทรัพย์สินต่างๆ อามิสต่างๆ ฯลฯ นั้นเป็นปัจจัยให้เกิด "อกุศล" ตามมาอีกมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นภัยอย่างยิ่งต่อพระภิกษุ ผู้ที่ปรารภความเพียรขัดเกลากิเลส ความติดข้อง ความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ฯลฯ ให้หมดไป (แต่ในทางตรงกันข้าม จะเป็นที่ยินดียิ่งต่อภิกษุผู้ไม่ได้ปรารภความเพียรที่จะขัดเกลากิเลส ให้หมดไป)
เพราะว่า เมื่อภิกษุมีเงินแล้ว ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ย่อมเกิดโลภจิต เกิดความเร่าร้อนแห่งจิต อยากใช้เงินที่มีนั้น โดยนำเงินไปใช้จ่ายเพื่อแลกมาซึ่ง ความสุข ความสะดวกสบายต่างๆ หรือไปแลกซื้อสิ่งของที่โลภะต้องการ ... ก็เป็นการเปิดโอกาสให้โลภะที่นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดานที่ยังละไม่หมด (สำหรับภิกษุที่อยู่ในระหว่างขัดเกลากิเลส)
เมื่อเปิดโอกาสให้โลภะที่นอนเนื่อง ได้มีการแสวงหาสิ่งที่ต้องการ ในทันทีนั้นก็จะเกิดความดิ้นรนขวนขวายเพื่อหาสิ่งที่ต้องการมาสนองให้ได้สิ่งที่โลภะต้องการ ... ไ่ม่ว่าจะเป็นการได้รับรูปดีๆ เสียงดีๆ รสดีๆ สัมผัสทางกายดีๆ รวมถึงธัมมารมณ์ดีๆ (เช่นสุข ทุกข์เป็นต้น) เมื่อสนองโลภะแล้วย่อมเกิดความติดข้องยินดีในการมีการได้นั้น แล้วจะอยากได้อีกเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด โลภะก็จะพอกพูนอีก มีกำลังขึ้นอีก กิเลสอื่นๆ ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย และเมื่อมีกิเลสเหนียวแน่นขึ้นอีก ความยากที่จะละกิเลสก็เพิ่มขึ้นอีก โอกาสหลุดพ้นจากอำนาจกิเลสก็น้อยลงไปอีก
แม้ว่าการรับเงินทอง ไม่เป็นภัยต่อพระอรหันต์ผู้ไม่มีกิเลสแล้ว แต่ก็เป็นเยี่ยงอย่างที่ภิกษุผู้มีปัญญาน้อยจะทำตามแน่นอน แล้วก็เกิดภัยแก่ตนเองด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ส่วนภิกษุผู้ที่ไม่ได้บวชเพื่อที่จะขัดเกลากิเลส ก็มีอยู่จำนวนไม่น้อย เพราะยังไม่เห็นประโยชน์ของการที่ไม่มีกิเลส ไม่เห็นประโยชน์ของการไม่มีทุกข์ และยังไม่เห็นว่า การไม่มีทรัพย์นี่แหละคือสุขที่แท้จริง ... ประเด็นนี้ก็แล้วแต่อัธยาศัยในการขัดเกลา ตามการสะสมของแต่ละบุคคลนะครับ คงจะไปห้ามหรือไปว่ากล่าวตักเตือนมากไม่ได้เลย เพราะการขัดเกลาต้องเป็นไปตามลำดับขั้น ตามการสะสมและตามกำลังของอินทรีย์
ขออนุโมทนากุศลจิตทุกท่านครับ