ให้อภัย

 
พิมพิชญา
วันที่  11 มี.ค. 2555
หมายเลข  20750
อ่าน  1,817

ดิฉันสังเกตว่า คำว่า ให้อภัย ที่คนชอบพูดกัน พอเขาบอกให้อภัยแล้ว ไม่เอาเรื่องเอาราว แต่พอเขานึกถึงเรื่องนั้นก็ยังโกรธอยู่เรื่อยๆ ลักษณะนี้ชื่อว่าให้อภัยหรือยังคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 12 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทุกอย่างก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง ไม่พ้นจากจิต เจตสิกและรูป และแม้การให้อภัย ก็ไม่พ้นจากจิตและใจ รวมทั้ง สภาพธรรมที่เป็น เจตสิกด้วยครับ

ก่อนอื่น ก็ต้องเข้าใจก่อนครับว่า ภัย และ อภัย หมายถึงอะไร

อภัย หมายถึง การให้ซึ่งความไม่น่ากลัว เพราะ ภัย หมายถึง ความน่ากลัว และนำมาซึ่งความน่ากลัว อภัย จึงเป็นความไม่น่ากลัว นำมาซึ่งความไม่น่ากลัว

ตามที่กล่าวแล้วว่า เป็นเรื่องของจิตใจภายในเป็นสำคัญ แม้แต่ ภัย ความน่ากลัว ก็ไม่พ้นจากกิเลสนั่นเองที่เป็นภัย นำมาซึ่งความน่ากลัว ทั้งกิเลสเองที่เป็นภัย เป็นสิ่งที่น่ากลัว และ นำมาซึ่งความน่ากลัว เพราะทำให้จะต้องได้รับความทุกข์กายและทุกข์ใจเพราะมีกิเลสที่เป็นภัย นำมาให้ ครับ

การให้อภัย จึงเป็นเรื่องของจิตใจของผู้นั้นเอง ที่ไม่มีภัย คือ กิเลสเกิดขึ้นในขณะนั้นไม่มีโทสะ ความขุ่นเคืองใจ ที่เป็นภัย เป็นกิเลสเกิดขึ้น เมื่อใดที่จิตเป็นกุศล มีเมตตา ขันติ เป็นต้น ชื่อว่า ให้อภัยแล้วชั่วขณะจิตนั้น เพราะจิตเป็นกุศล ไม่มีภัย คือกิเลสเกิดขึ้น ดังนั้น สำคัญที่ใจ แม้วาจา จะพูดได้ว่า ให้อภัย แต่ใจขณะนั้นเป็นอย่างไร หากเป็นอกุศล โกรธอยู่ จะชื่อว่าให้อภัยไม่ได้เลย เพราะมีภัย คือ กิเลสเกิดขึ้นครับ แต่ถ้าใจให้อภัย คือ ไม่โกรธ เป็นกุศล มีเมตตาในขณะนั้น แม้ไม่กล่าวว่าให้อภัย ก็ให้อภัย ให้ความไม่มีเวร กับผู้อื่นและตนเองแล้วในขณะนั้นครับ

ดังนั้น ให้อภัย กับไม่ให้อภัย ก็สามารถเกิดสลับได้ เพราะเป็นการเกิดขึ้นของจิตขณะนั่นเองครับ เมื่อใด มีเมตตา เป็นกุศล ไม่โกรธ ก็ให้อภัยขณะหนึ่ง แต่พอนึกถึงอีก ก็โกรธ ขณะที่โกรธ ก็ต้องตรง มีภัยแล้วในขณะนั้น คือ กิเลส ก็ไม่ให้อภัยในขณะนั้น ก็เกิดสลับกันระหว่างกุศล อกุศลอยู่อย่างนี้ แต่โดยมากก็อกุศลเกิดบ่อย และถ้าเกิดบ่อยจนมีกำลัง ก็เป็นความผูกโกรธที่ไม่ให้อภัยเกิดบ่อยๆ นั่นเองครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 12 มี.ค. 2555

จึงเห็นถึงความเป็นธรรมดาของปุถุชนที่หนาด้วยกิเลส ที่มักเกิดอกุศลบ่อยกว่ากุศลมาก หนทางให้อภัยที่แท้จริง มีอยู่ คือ การเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือ เจริญสติปัฏฐาน คือ การรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เมื่อเข้าใจว่าไม่มีเรา ไม่มีเขามากขึ้น ปัญญาเจริญขึ้น ก็ให้อภัย คือ เป็นกุศลที่เข้าใจความจริงเกิดบ่อยๆ ขึ้น ให้อภัยได้บ่อยขึ้นเพราะปัญญาที่เข้าใจไม่มีเรา ไม่มีเขา มีแต่ธรรม จะโกรธเกลียดใคร เมื่อไม่มีใครให้โกรธและเกลียด เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ก็มีเมตตา เกิดกุศลจิตมากขึ้น ก็ให้อภัยมากขึ้น เพราะปัญญาเจริญขึ้น และเมื่อดับกิเลสได้หมด เพราะเจริญสติปัฏฐาน ก็ถึงความไม่มีภัย คือ กิเลสประการทั้งปวง ย่อมให้อภัยได้จริงๆ เพราะ ไม่มีภัย คือ กิเลส เกิดขึ้นอีกเลย ไม่มีภัย กับตนเองและผู้อื่น ครับ ซึ่งก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็จะทำให้ถึงความไม่มีภัย ให้อภัยที่แท้จริงด้วยปัญญา ภัยที่แท้จริง คือ กิเลส ไม่มีภัย คือ ไม่มีกิเลส ด้วยการอบรมปัญญา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

คำสั้นๆ ... ให้อภัย

ภัยที่น่ากลัว คือ ความชั่วที่เราทำ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 12 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การให้อภัย หมายถึง การให้ความไม่มีภัยอย่างหนึ่งอย่างใดแก่บุคคลอื่น เว้นภัยทางกาย ทางวาจา แก่บุคคลอื่น จนกระทั่งไม่เบียดเบียนแม้ด้วยใจ ขณะที่ให้อภัยนั้น เป็นกุศล เป็นความดี ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ก็ยากมากสำหรับผู้ที่ไม่ได้สะสมมาที่จะให้อภัย พระธรรมเท่านั้นที่จะช่วยเกื้อกูลได้ โดยปกติแล้ว บุคคลมีอัธยาศัยที่แตกต่างกัน ย่อมจะมีบ้างที่ทำในสิ่งที่ไม่ดี สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น แต่ก็ไม่ใช่ว่าความดีของบุคคลนั้นจะไม่มีเอาเสียเลย ย่อมมีทั้งดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แม้แต่ตัวเราเอง ก็มีดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เหมือนกัน ดังนั้น จึงไม่ควรคำนึงถึงส่วนที่ไม่ดีของผู้อื่น เพราะขณะนั้นจิตย่อมเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ควรนึกถึงเฉพาะส่วนที่ดีของเขา เท่านั้น อีกประการหนึ่งที่ควรพิจารณาอย่างยิ่ง คือ “บุคคลผู้ที่เราควรจะโกรธ ไม่มีเลย” แม้ว่าบุคคลนั้นจะคิดร้าย มุ่งร้าย ประทุษร้าย ต่อเราก็ตาม เพราะว่า บุคคลใด ที่คิดร้าย มุ่งร้าย ประทุษร้ายต่อเรา ก็เป็นอกุศลของเขา ไม่ใช่ของเรา หน้าที่ของเราคือ อดทน ไม่โกรธ ไม่รับเอาความชั่วของบุคคลอื่น แต่จะเป็นผู้ที่เข้าใจความจริง และพร้อมที่จะให้อภัยเสมอ ขณะที่ให้อภัย เป็นกุศลของเรา ไม่ทำให้เดือดร้อนใจ และไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนด้วย ดังประโยคที่ควรเก็บไว้ในหทัย ทีท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวเตือนไว้ว่า "ขณะที่ให้อภัย ใครได้ประโยชน์?" ควรที่จะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
daris
วันที่ 12 มี.ค. 2555

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pat_jesty
วันที่ 12 มี.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 13 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 13 มี.ค. 2555

ให้อภัยคือไม่โกรธไม่ให้อภัยคือผูกโกรธ..
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท

"ก็ชนเหล่าใด เข้าไปผูกความโกรธนั้นไว้ว่า 'ผู้โน้น ได้ด่าเรา ผู้โน้นได้ตีเรา ผู้โน้นได้ชนะเรา ผู้โน้น ได้ลักสิ่งของของเราแล้ว' เวรของชนเหล่านั้น ย่อมไม่ ระงับได้, ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกความโกรธนั้น ไว้ว่า 'ผู้โน้นได้ด่าเรา ผู้โน้นได้ติเรา ผู้โน้นได้ชนะ เราผู้โน้นได้ลักสิ่งของของเราแล้ว' เวรของชนเหล่า นั้นย่อมระงับได้."ว่าด้วยธรรมระงับความอาฆาต ๕ ประการ [ปฐมอาฆาตวินยสูตร]

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 13 มี.ค. 2555

การให้อภัยมีหลายอย่าง เช่น การให้อภัยทาน คือ การให้โดยการไม่ฆ่า ไม่ทำร้าย

ไม่ด่าว่า เป็นขั้นศีล ถ้าให้อภัยสูงกว่านั้นอีก คือ ขั้นภาวนา ไม่โกรธ คือการให้

อภัยด้วยเมตตา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
พิมพิชญา
วันที่ 13 มี.ค. 2555

ขอบพระคุณทุกท่านมากค่ะ กระจ่างมาก

ไม่เคยทราบมาก่อนว่าการให้อภัยมีหลายระดับ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ