เจโตขีลสูตร - วินิพันธสูตร - ๑๗-o๓-๒๕๕๕

 
มศพ.
วันที่  12 มี.ค. 2555
หมายเลข  20754
อ่าน  2,377

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.

เจโตขีลสูตร และ วินิพันธสูตร

...จาก...

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๔๕๑


(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๗ ม.ค. ๒๕๕๕)

...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากร

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๔๕๑

๕. เจโตขีลสูตร

(ว่าด้วยตะปูตรึงใจ ๕ ประการ)

[๒๐๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตะปูตรึงใจ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในศาสดา ภิกษุใด ย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในศาสดา จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นตะปูตรึงใจข้อที่ ๑.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในธรรม ภิกษุใด ย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในธรรม จิตของภิกษุนั้น ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นตะปูตรึงใจข้อที่ ๒.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์ ภิกษุใด ย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์ จิตของภิกษุนั้น ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นตะปูตรึงใจข้อที่ ๓.

อีกบระการหนึ่ง ภิกษุย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในสิกขา ภิกษุใด ย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในสิกขา จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นตะปูตรึงใจข้อที่ ๔.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมโกรธ มีใจไม่แช่มชื่น มีจิตอันโทสะกระทบแล้ว กระด้างในพวกเพื่อนพรหมจรรย์ จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่น้อมใจ เพื่อความเพียร เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นตะปูตรึงใจข้อที่ ๕. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตะปูตรึงใจ ๕ ประการนี้แล.

จบเจโตขีลสูตรที่ ๕

อรรถกถาเจโตขีลสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในเจโตขีลสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้:-

บทว่า เจโตขีลา ได้แก่ ความกระด้าง ความเป็นขยะ ความเป็นหลักตอแห่งจิต.

บทว่า สตฺถริ กงฺขติ ความว่า ภิกษุย่อมสงสัยในพระวรกาย หรือในพระคุณของพระศาสดา. เมื่อสงสัยในพระวรกาย ย่อมสงสัยว่า พระวรกาย ชื่อว่าประดับด้วยปุริสลักษณะ ๓๒ มีอยู่ หรือไม่มีหนอดังนี้ เมื่อสงสัยในคุณ ย่อมสงสัยว่า พระสัพพัญญุตญาณซึ่งสามารถรู้อดีต อนาคตและปัจจุบัน มีอยู่ หรือไม่มีหนอ ดังนี้.

บทว่า วิจิกิจฺฉติ ได้แก่ เลือกเฟ้นยาก ย่อมถึงความลำบาก คือไม่สามารถจะตัดสินใจได้. บทว่า นาธิมุจฺจติ ได้แก่ ย่อมไม่ได้ความน้อมใจเชื่อว่า สิ่งนั้นอย่างนี้.

บทว่า น สมฺปสีทติ ความว่า ไม่สามารถที่จะหยั่งลงในคุณแล้วเลื่อมใส คือ ไม่สามารถที่จะเป็นผู้มีใจไม่ขุ่นมัว เพราะไม่มีความสงสัยได้.

บทว่า อาตปฺปาย ได้แก่ เพื่อทำความเพียรเผาผลาญกิเลส.

บทว่า อนุโยคาย ได้แก่ เพื่อความประกอบบ่อยๆ .

บทว่า สาตจฺจาย ได้แก่ เพื่อทำติดต่อกัน.

บทว่า ปธานาย ได้แก่ เพื่อตั้งความเพียร.

บทว่า อย ปฐโม เจโตขีโล ความว่า ภาวะนี้เป็นความกระด้างแห่งจิตข้อที่หนึ่ง คือ ความสงสัยในพระศาสดานี้ อย่างนี้แล ภิกษุนั้นก็ละยังไม่ได้.

บทว่า ธมฺเม คือในปริยัติธรรม และปฏิเวธธรรม. ก็เมื่อสงสัยในปริยัติธรรม ย่อมสงสัยว่า อาจารย์ทั้งหลายกล่าวกันว่า พระไตรปิฎกพุทธพจน์มีแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ดังนี้ พระพุทธพจน์นั้นมีอยู่ หรือไม่มีหนอดังนี้. เมื่อสงสัยในปฏิเวธธรรม ย่อมสงสัยว่า อาจารย์ทั้งหลาย กล่าวกันว่า ผลแห่งวิปัสสนา ชื่อว่ามรรค ผลของมรรค ชื่อว่าผล ธรรมที่สละคืนสังขารทั้งปวง ชื่อว่านิพพาน ดังนี้ นิพพานนั้นมีอยู่ หรือไม่มีหนอ ดังนี้.

บทว่า สงฺเฆ กงฺขติ ความว่า ย่อมสงสัยว่า ชื่อว่าสงฆ์ ผู้ดำเนินตามปฏิปทาเห็นปานนี้ ตามบทเป็นต้นว่า อุชุปฏิปนฺโน ดังนี้ เป็นชุมนุมแห่งบุคคล ๘ คือ ท่านผู้ตั้งอยู่ในมรรค ๔ ท่านผู้ตั้งอยู่ในผล ๔ มีอยู่ หรือไม่มีหนอดังนี้.

เมื่อสงสัยในสิกขา ย่อมสงสัยว่า อาจารย์ทั้งหลายกล่าวกันว่า อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ดังนี้ สิกขานั้นมีอยู่ หรือไม่มีหนอดังนี้.

บทว่า อย ปญฺจโม ความว่า ภาวะนี้เป็นความกระด้าง ความเป็นขยะ เป็นหลักตอแห่งจิตข้อที่ห้า คือ ความขัดเคืองในเพื่อนสพรหมจารี.

จบอรรถกถาเจโตขีลสูตรที่ ๕

๖. วินิพันธสูตร

(ว่าด้วยเครื่องผูกพันใจ ๕ ประการ)

[๒๐๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เครื่องผูกพันใจ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน?คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ยังไม่ปราศจากความพอใจ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความ ระหาย ผู้ไม่ปราศจากความทะยานอยากในกาม ภิกษุใด เป็นผู้ยังไม่ปราศจาก ความกำหนัด. . . ยังไม่ปราศจากความทะยานอยากในกาม จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นเครื่องผูกใจข้อที่ ๑.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด. . . ยังไม่ปราศจากความทะยานอยากในกาย ภิกษุใด เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัดยังไม่ปราศจากความทะยานอยากในกาย จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นเครื่องผูกพันใจข้อที่ ๒.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด. . . ยังไม่ปราศจากความทะยานอยากในรูป ภิกษุใด เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด... ยังไม่ปราศจากความทะยานอยากในรูป จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียรนี้เป็นเครื่องผูกพันใจข้อที่ ๓.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุฉันอาหารจนอิ่มตามต้องการแล้ว ประกอบความสุขในการนอน ความสุขในการเอน ความสุขในการหลับอยู่ ภิกษุใด ฉันอาหารจนอิ่มตามความต้องการแล้ว ประกอบความสุขในการนอน ความสุขในการเอน ความสุขในการหลับอยู่ จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียรนี้เป็นเครื่องผูกพันใจข้อที่ ๔.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุปรารถนาเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยตั้งใจว่า เราจักเป็นเทวดา หรือเป็นเทพองค์ใดองค์หนึ่ง ด้วยศีล พรต ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ ภิกษุใดปรารถนาเทพนิกายหมู่ใด หมู่หนึ่ง ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยตั้งใจว่า เราจักเป็นเทวดา หรือเป็นเทพองค์ใดองค์หนึ่ง ด้วยศีล พรต ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ จิตของภิกษุนั้น ย่อมไม่น้อมไป เพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นเครื่องผูกพันใจข้อที่ ๕

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เครื่องผูกพันใจ ๕ ประการนี้แล.

จบวินิพันธสูตรที่ ๖

อรรถกถาวินิพันธสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในวินิพันธสูตรที่ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า เจตโส วินิพนฺธา ได้แก่ กิเลสชื่อว่า เจตโสวินิพันธะเพราะผูกจิตยึดไว้ ดุจทำไว้ในกำมือ.

บทว่า กาเม ได้แก่ ทั้งวัตถุกามทั้งกิเลสกาม.

บทว่า กาเย ได้แก่ ในกายของตน.

บทว่า รูเป คือในรูปภายนอก.

บทว่า ยาวทตฺถํ ได้แก่ เท่าที่ตนปรารถนา.

บทว่า อุทราวเทหกํ ได้แก่ อาหารที่เต็มท้อง อาหารที่เต็มท้องนั้นเรียกกันว่า อุทราวเทหกํ เพราะบรรจุเต็มท้องนั้น.

บทว่า เสยฺยสุขํ ได้แก่ ความสุขโดยการนอนบนเตียงหรือตั่ง หรือความสุขตามอุตุ.

บทว่า ปสฺสสุขํ ได้แก่ความสุขที่เกิดขึ้น เหมือนความสุขของบุคคลผู้นอนพลิกไปรอบๆ ทั้งข้างขวาทั้งข้างซ้าย ฉะนั้น.

บทว่า มิทฺธสุขํ คือ ความสุขในการหลับ.

บทว่าอนุยุตฺโต ได้แก่ ประกอบขวนขวายอยู่.

บทว่า ปณิธาย แปลว่า ปรารถนาแล้ว. จตุปาริสุทธิศีล ชื่อว่าศีล ในบทเป็นต้นว่า สีเลน. การสมาทานคือถือวัตร ชื่อว่าวัตร. การประพฤติตบะ ชื่อว่าตบะ การงดเว้นเมถุน ชื่อว่า พรหมจรรย์.

บทว่า เทโว วา ภวิสฺสามิ ความว่า เราจักเป็นเทพผู้ใหญ่หรือ.

บทว่า เทวญฺญตโร วา ความว่า หรือจักเป็นเทพผู้น้อยองค์ใดองค์หนึ่ง.

จบอรรถกถาวินิพันธสูตรที่ ๖


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 12 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ข้อความโดยสรุป เจโตขีลสูตร

(ว่าด้วยตะปูตรึงใจ ๕ ประการ)

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงตะปูตรึงใจ ซึ่งเป็นอกุศลที่กระด้าง เป็นขยะ เป็นหลักตอแห่งจิต ๕ ประการ ได้แก่

เคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อแน่ ไม่เลื่อมใส ในพระศาสดา

เคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อแน่ ไม่เลื่อมใสในพระธรรม

เคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อแน่ ไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์

เคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อแน่ ไม่เลื่อมใสในสิกขา

เป็นผู้โกรธขัดเคือง มีจิตอันโทสะกระทบแล้ว มีจิตเป็นเสมือนตะปูในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย

ข้อความโดยสรุป

วินิพันธสูตร (ว่าด้วยเครื่องผูกพันใจ ๕ ประการ) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเครื่องผูกพันใจ ๕ ประการ ซึ่งเป็นเหตุให้จิตไม่น้อมไป

เพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียร ได้แก่

ความติดข้องในกาม

ความติดข้องในกายของตน

ความติดข้องในรูปภายนอก

ฉันอาหารจนอิ่มแล้วแล้วนอน

ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง. ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ครับ ตะปูตรึงใจ วิจิกิจฉา โลภะ โทสะ โมหะ ถูกโลภะดักไว้ โลภะเป็นทั้งครูและศิษย์ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Noparat
วันที่ 12 มี.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณคำปั่นและทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
orawan.c
วันที่ 12 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Jans
วันที่ 12 มี.ค. 2555
ขอบคุณและขออนุโมทนาอาจารย์คำปั่นค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
หลานตาจอน
วันที่ 13 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผิน
วันที่ 13 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
พรสุธรรม
วันที่ 14 มี.ค. 2555

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เซจาน้อย
วันที่ 15 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นัน

ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
อนุจร
วันที่ 10 ส.ค. 2555

ได้ประโยชน์ดีครับ

ขอบคุณครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ