พระไตรปิฏก เป็นจริงหรือเท็จประการใด ?

 
dets25226
วันที่  19 มี.ค. 2555
หมายเลข  20814
อ่าน  1,753

ด้วยความเคารพอย่างสูง

เนื่องจากมีข่าวประเด็นร้อนอยู่ข่าวหนึ่งน่ะครับพูดถึงพระไตรปิฎกทางพระพุทธศาสนา ... โดยส่วนตัวแล้ว เมื่อได้อ่านพระไตรปิฎกดูแล้ว ก็รู้ได้เลยว่า ผู้มีปัญญาได้แต่งไว้ อ่านแล้วก็ศรัทธา เลื่อมใส ส่วนมากที่พอจะเข้าใจได้นั้น ข้อที่จะทำให้เห็นผิด - ไม่ถูกนั้น หามิได้เลย ...

ส่วนในเรื่องของอภินิหารนั้น ดูเหมือนจะเกินความเข้าใจตามเหตุผลได้ ตามที่ได้เป็นข่าวโต้แย้งกันอยู่นั้น ผมมองเรื่องนี้ว่า มิใช่ประเด็นสำคัญเลย ที่จะให้ความสำคัญมากกว่าเนื้อหาอย่างอื่นๆ อีกมากมายที่ล้วนนำมาซึ่งปัญญา แต่กลับไม่สนใจ และไม่ตั้งใจที่จะศึกษา สรุปแล้ว ผมคิดว่า มีหรือไม่มี ก็มิใช่เรื่องที่คนเราสมัยนี้ จะใส่ใจให้มากนัก ...

ข้อที่จะใคร่ขอความอนุเคราะห์ คือ

๑. ชาวพุทธ ผู้มีปัญญา ควรศึกษาพระไตรปิฎกอย่างไร จึงจะเรียกว่า "ใช้ได้"?

๒. เมื่อได้ศึกษาในข้อที่ตนและคนอื่นๆ ยังมิได้ทำให้แจ้งแล้ว ควรสั่งสอนไปในทิศทางใดหรือไม่อย่างไร?

๓. การที่เราจะไม่เชื่อถือ ตามพระไตรปิฎกในประเด็นที่ตนมิอาจจะเข้าใจตามได้ หรือ การที่เราจะเชื่อถือไปเสียทุกเรื่องมีผลทั้งต่อพระไตรปิฎกหรือต่อตนอย่างไร?

๔. สูตรใดในพระไตรปิฎก ที่เหมาะกับคนสมัยปัจจุบันมากที่สุด?

ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 19 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ชาวพุทธ ผู้มีปัญญา ควรศึกษาพระไตรปิฎกอย่างไร จึงจะเรียกว่า "ใช้ได้" ?

- การศึกษาพระธรรมของพระพุทธเจ้าที่ถูกต้อง ก็ต้องเริ่มจากการตั้งจิตไว้ถูก โดยชอบ คือ ไม่ใช่การศึกษาด้วยจิตอกุศล เพ่งโทษ ก็จะไม่ได้สาระจากพระธรรม ซึ่งในพระไตรปิฎก แสดงไว้ครับ ว่า ผู้ที่ไม่ได้หยั่งลงสู่กุศลธรรม คือ ไม่ได้ประโยชน์จากการศึกษาพระธรรม ก็เพราะศึกษาด้วยการเพ่งโทษ ด้วยจิตอกุศลในการศึกษาพระธรรม รวมทั้ง ในอลคัททูปมสูตร ก็แสดงถึงว่า การศึกษาพระธรรมที่ผิด คือ เพื่อลาภ สักการะ หรือ เพื่อเอามาโต้แย้ง เป็นต้น ก็ไม่ได้ประโยชน์จากการศึกษาพระธรรม แต่ ได้โทษ คือ อกุศล ครับ

การศึกษาพระไตรปิฎกที่ถูกต้อง ใช้ได้ คือ เริ่มจากการศึกษาด้วยจิตที่ถูก เพื่อที่จะเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสด โดยไม่เอา อคติ ความคิดของตนเองมาตัดสินในขณะที่ศึกษา แต่รับฟังเหตุผล ที่พระองค์ทรงแสดง และจึงพิจารณาเหตุผลตามความเป็นจริง ด้วยความเป็นผู้ตรงเป็นสำคัญ ก็จะได้สาระจากพระธรรม คือ จากพระไตรปิฎก เพราะเป็นผู้ที่ตั้งจิตไว้ชอบนั่นเอง ในการที่จะศึกษาพระธรรม และเมื่อเริ่มศึกษาแล้ว ก็ศึกษาเพื่อที่จะ สละ ละ คลายกิเลสและน้อมประพฤติปฏิบัติตามเป็นสำคัญ ชื่อว่า ศึกษาพระไตรปิฎก ถูกต้อง เพราะจะได้ประโยชน์จกาการศึกษาพระธรรม


๒. เมื่อได้ศึกษาในข้อที่ตนและคนอื่นๆ ยังมิได้ทำให้แจ้งแล้ว ควรสั่งสอนไปในทิศทางใดหรือไม่อย่างไร ?

- แม้ยังไม่ได้ทำให้แจ้งในปัญญาระดับสูง ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงก็ตาม การสั่งสอน แสดงธรรม ก็ควรเป็นไปตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะแม้ไม่ได้ประจักษ์ แต่ก็ชอบด้วยเหตุผล คือ สามารถพิจารณาตามและเป็นเหตุ เป็นผลกันตามความเป็นจริง จึงแสดงพระธรรมตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 19 มี.ค. 2555

๓. การที่เราจะไม่เชื่อถือ ตามพระไตรปิฎกในประเด็นที่ตนมิอาจจะเข้าใจตามได้ หรือ การที่เราจะเชื่อถือไปเสียทุกเรื่องมีผลทั้งต่อพระไตรปิฎกหรือต่อตนอย่างไร ?

- พระธรรมไม่สาธารณะต่อทุกคน คือ ความเห็นถูกไม่สาธารณะกับทุกคน และ ที่สำคัญ ปัญญาเพียงขั้นการฟังของผู้ที่เริ่มศึกษา ก็ยังไม่สามารถละความลังเลสงสัยได้หมดสิ้นก็เกิดความสงสัย ไม่เชื่อในพระธรรมบางส่วนได้ เป็นธรรมดา ไม่ต้องกล่าวถึงผู้ที่ไม่ได้ศึกษา ย่อมไม่เชื่อในพระธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมดา

ดังนั้นผู้ที่ไม่เชื่อ เพราะไม่ได้ศึกษา เกิดความลังเลสงสัยในพระธรรม ในพระรัตนตรัย ท่านเปรียบเหมือน ตะปูตรึงใจ ตรึงใจไม่ให้เป็นกุศล ไม่ให้เกิดปัญญาและไม่มีทางที่จะหลุดพ้นจากกิเลสและสังสารวัฏฏ์ได้เลย นี่คือผลของผู้ที่ไม่เชื่อ ลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย

ส่วนผู้ที่ศึกษาแล้ว แต่ก็ยังสงสัย ไม่เชื่อบ้าง ขณะจิตนั้นก็จะไม่สามารถหยั่งลง หรือ เข้าใจถึง พระธรรมที่ถูกต้องได้ แต่ก็เป็นขณะจิตไป และเกิดได้เป็นธรรมดา และ เมื่อศึกษาพระธรรมส่วนอื่นๆ ต่อ ก็ได้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น จนในที่สุดเกิดปัญญาเห็นตามความเป็นจริง ก็สามารถละความไม่เชื่อ และความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัยได้ ครับ

นี่คือ ผลที่เกิดกับตนและผู้อื่นในการไม่เชื่อ ลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย

ส่วน ใครจะเลื่อมใส เชื่อ หรือ ไม่เชื่อ ย่อมไม่มีผลต่อพระธรรมที่พระพุทธเจ้าที่เป็นสัจจะ ความจริง ที่เป็นความจริงไม่เปลี่ยนแปลง ครับ


๔. สูตรใดในพระไตรปิฎก ที่เหมาะกับคนสมัยปัจจุบันมากที่สุด ?

- พระธรรมของพระพุทธเจ้า ลึกซึ้งและมีมากมาย เพราะ สัตว์โลกมีมากมาย อัธยาศัยต่างๆ กัน จึงมีพระธรรมมากมายนั่นเอง บางพระสูตรเหมาะสมกับผู้นี้ บางพระสูตรเหมาะสมกับผู้นี้ ไม่เหมาะสมกับผู้นี้ เพราะมีการสะสมมาต่างกัน ดังนั้น จึงไม่มีการจำเพาะเจาะจงที่จะมีบางพระสูตรกับคนทั้งหมด เพียงแต่ว่า ได้อ่านเรื่องใด แล้วเข้าใจ เรื่องนั้นก็เหมาะสมกับผู้นั้น ซึ่งพระธรรมทุกบทเกิดจากพระปัญญาตรัสรู้

ดังนั้น ทุกคำของพระธรรม มีค่า สำหรับผู้ที่สะสมปัญญา และความเข้าใจมา เพราะฉะนั้น พระธรรมทุกคำ เหมาะสมกับคนในยุคปัจจุบบัน ที่สะสมความเห็นถูกมาเท่านั้นครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
วิริยะ
วันที่ 19 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 19 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นโอกาสที่หาได้ยากอย่างยิ่ง ต้องเป็นผู้ที่ได้สะสมเหตุที่ดีมาแล้วจึงได้ฟัง ได้ศึกษา ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้ศึกษา และผู้ที่จะได้ศึกษานั้น มีเป็นส่วนน้อย ความละเอียดของพระธรรม ต้องหาจากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้วทรงแสดงธรรมเกื้อกูลแก่สัตว์โลก ซึ่งสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ จากการได้เห็นประโยชน์ของพระธรรมของพระอริยเจ้าทั้งหลายที่ดำรงรักษาไว้ซึ่งพระธรรมคำสอนเพื่อประโยชน์แก่ชนรุ่นหลังๆ พระธรรมเป็นเรื่องยาก จึงต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา ไตร่ตรองในเหตุในผลของธรรม ไปตามลำดับ เข้าใจตามกำลังปัญญาของตนเอง แค่ไหนก็แค่นั้น ขอเพียงมีความจริงใจที่จะศึกษา ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดก็เป็นประโยชน์ทั้งนั้น เป็นคำจริงทุกคำ

และที่สำคัญทุกคำในพระไตรปิฎก เป็นไปเพื่อปัญญา เป็นเรื่องของปัญญาโดยตลอด ซึ่งผู้ศึกษาจะต้องเป็นผู้ตรงต่อตนเอง ว่า ศึกษาเพื่ออะไร เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อละคลายความไม่รู้ ละคลายความเห็นผิด เป็นต้น ซึ่งเป็นกิเลสที่แต่ละคนสะสมมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นเลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
รากไม้
วันที่ 19 มี.ค. 2555

ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยนะครับ

การได้ยินได้ฟัง หรือได้อ่านพระไตรปิฎก เปรียบดังการได้นั่งฟังคำสอนของพระผู้มีพระภาค โดยต่อหน้าพระพักตร์ในสมัยพุทธกาลเลยทีเดียว ทั้งมีความละเอียด ลึกซึ้ง เข้าถึงยาก มีความไพเราะ ประณีต และทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ... ทุกๆ คำสอน ล้วนมีประโยชน์ สามารถฟังได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องเลือกเฟ้นเองด้วยปัญญาอันน้อยนิด

เพราะพระธรรมทั้งหมดล้วนเกื้อกูลให้ สะสมความเห็นถูก เข้าใจถูก ให้จิตและสังขารค่อยๆ ปรุงแต่ง แล้วดำเนินไปตามมรรคา แล้วไปสู่ความวิมุติได้ในที่สุด

ในสมัยพุทธกาล ผู้ที่หลุดพ้นจากอาสวะ ดับกิเลสเป็นสมุจเฉทแล้ว คือ พระอรหันตสาวกผู้เป็นประจักษ์พยานในคำสอนว่า นำไปสู่ความพ้นจากทุกข์ได้จริง. พระอรหันตสาวกทุกๆ องค์ ท่านก็ต้องทำอย่างนี้ คือ ฟังคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงพร่ำสอน ทุกๆ คำสอน อย่างนี้ๆ ฟังด้วยศรัทธา ฟังด้วยความเลื่อมใส แล้วพิจารณาด้วยปัญญาโดยแยบคาย แล้วจิตที่สะสมแต่สิ่งที่ดีงาม สะสมความเห็นถูก ก็จะเป็นปัจจัยโดยน้อมไปสู่การปฏิบัติธรรมได้เอง ตามธรรมชาติของสังขารธรรมฝ่ายกุศล ... ไม่มีหนทางอื่นใดที่จะไม่ฟังธรรม ไม่ศึกษาธรรม แล้วจะมีโอกาสได้หลุดพ้นจากทุกข์ได้เองเลย เพราะเราไม่เคยสะสมบารมี ไม่มีปัญญาในระดับที่จะตรัสรู้ธรรมเองได้

ขออนุโมทนากุศลจิตทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
akrapat
วันที่ 20 มี.ค. 2555

การศึกษาพระไตรปิฎก ในมุมมองของปุถุชนเอง ผู้ที่เริ่มศึกษา จากเริ่มต้นที่ยังไม่เข้าใจ ก็จะค่อยๆ เข้าใจ ผู้ที่ศึกษามานานๆ ก็สามารถที่จะเข้าใจมากขึ้น ตามลำดับ หากการศึกษานั้นเป็นไป เพื่อเป็นเหตุให้สติระลึกในสภาพธรรมะที่ปรากฏ แต่ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน แม้จะอ่านพระไตรปิฎก จนจบเล่ม สามารถสอบเปรียญธรรม ได้ กี่ประโยคก็ตาม ถ้าจุดมุ่งหมาย ของการศึกษานั้นเป็นไปเพื่อที่จะจดจำเนื้อหา มากกว่าการระลึกในสภาพธรรมะ ที่ปรากฏ เพื่อปัจจุบันขณะ ก็ยังไม่เรียกว่า เป็นการศึกษาที่แท้จริง ยิ่งคนบางที่ ยิ่งอ่านเยอะ รู้เยอะ กลายเป็น เพิ่มอัตตาไปเลยก็มี ทั้งที่จุดมุ่งหมายที่แท้จริง คือ ศึกษาเพื่อให้รู้ว่า ขณะนี้ มีธรรมะอะไรปรากฏ หรือที่ ท่าน อาจารย์ชอบถามว่า ขณะนี้ "เห็น หรือ ได้ยินคะ" จะเห็นได้ว่าการจำเนื้อหาสาระ ไม่มีประโยชน์เลย ถ้าปราศจากความเข้าใจในธรรม เพราะโดยวิถีจิต เองจะจำเฉพาะสภาพธรรม (ปรมัตถธรรม) ที่ปราศจากชื่อ ไม่ใช่จำสมมติ แต่สมมติก็ต้องทราบ เพื่อใช้ประกอบคำอธิบาย เพราะฉะนั้นถ้าจำเฉพาะชื่อ โดยปราศจากความเข้าใจ ตายไป ชาติหน้าเกิดใหม่ก็ลืม แต่ถ้ามีความเข้าใจในธรรมนั้นก็ยังสะสมต่อไปได้ ยิ่งถ้าเข้าใจจนกระทั่งจนกลายเป็นเหตุให้สติระลึก หรือ สติปัฏฐานเกิดนั้น ยิ่งทำให้ผู้ศึกษา ตัดภพชาติที่เวียนว่ายตายเกิด ในสังสารวัฏฏ์ให้สั้นลงได้ แต่แม้สติปัฏฐานเกิดแล้ว แต่ยังไม่พอที่จะเป็นเหตุให้เกิด วิปัสสนาญาณ ก็ยังถือว่ายังละกิเลสไม่ได้ แต่ก็ถือว่าได้สะสมเหตุ และที่สำคัญที่สุดถ้ายังไม่ถึงขั้นเป็นพระอริยบุคคลนั้น ยังไม่ถือว่า บรรลุความมุ่งหมายของการศึกษาเรียนรู้พระพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ และความเข้าธรรมะในพระไตรปิฎก ของพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์เองยังไม่เท่ากัน เพราะ แท้จริงแล้ว ธรรมะ ของพระพุทธองค์ เป็น ปัตจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติ คือ เป็นสิ่งที่วิญญูชนผู้ศึกษาและปฏิบัติพึง รู้เห็นได้ด้วยตัวเอง

อนุโมทนากับทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 20 มี.ค. 2555

พระไตรปิฎก คือคำสอนของพระพุทธเจ้า ทรงสอนให้ละความชั่ว ทำความดี อบรมจิตให้ผ่องใส ถ้าคำสอนใดไม่เป็นไปเพื่อการละคลายกิเลส ไม่ได้เป็นไปเพื่อออกจากสังสารวัฏฏ์ คำสอนนั้นไม่ใช่พุทธพจน์ ถ้าคำสอนใด ผู้ประพฤติตามพระธรรมวินัย ทำให้กุศลเจริญ ปัญญาเจริญ เป็นไปเพื่อการละคลายกิเลส เพื่อออกจากสังสารวัฏฏ์ คำสอนนั้นเป็นพุทธพจน์ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เซจาน้อย
วันที่ 25 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
orawan.c
วันที่ 26 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 23 มิ.ย. 2564
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ