วิมุตติสูตร ... วันเสาร์ที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๕
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺสพุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิสงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ
๖. วิมุตติสูตร
(ว่าด้วยเหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการ)
...จาก...
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓- หน้าที่ ๔๐
(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๗ ม.ค. ๒๕๕๕)
...นำสนทนาโดย...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์และ คณะวิทยากร
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓- หน้าที่ ๔๐
๖. วิมุตติสูตร
(ว่าด้วยเหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการ)
[๒๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการนี้ ซึ่งเป็น
เหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวที่ยังไม่หลุดพ้น
ย่อมหลุดพ้น อาสวะที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมบรรลุธรรม
อันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการ
เป็นไฉน? คือ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระศาสดา หรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะ
ครูบางรูป แสดงธรรมแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม
ในธรรมนั้นตามที่พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารี ผู้อยู่ในฐานะครู แสดงแก่
เธอ เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์
แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจเกิดปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีการสงบแล้ว ย่อมได้
เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติ
ข้อที่ ๑ ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว
ที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไป ย่อมถึงความสิ้นไป
หรือเธอย่อมได้บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหม-
จารี ผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ ก็แต่ว่าภิกษุย่อม
แสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร เธอ
ย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมในธรรมนั้น ที่ภิกษุแสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ
ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม
ย่อมเกิดปราโมทย์ . . . เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็น
เหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๒. . .
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหม-
จารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ แม้ภิกษุก็ไม่ได้แสดง-
ธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร ก็แต่ว่า
ภิกษุย่อมทำการสาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร
เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ในธรรมนั้น ตามที่ภิกษุสาธยายธรรม
เท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม
ย่อมเกิดปราโมทย์. . . เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็น
เหตุแห่งวิมุตติข้อ ๓. . .
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหม-
จารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรม
เท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร แม้ภิกษุก็ไม่ได้
ทำการสาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร ก็แต่ว่า
ภิกษุย่อมตรึกตรองใคร่ครวญธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยใจ
เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมในธรรมนั้น ตามที่ภิกษุตรึกตรองใคร่ครวญ
ธรรมตามที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยใจ เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจ
ธรรมย่อมเกิดปราโมทย์. . . เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๔. . .
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหม-
จารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรม
เท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร ภิกษุก็ไม่ได้
สาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร แม้ภิกษุก็ไม่ได้
ตรึกตรอง ใคร่ครวญธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยใจ ก็แต่ว่า
สมาธินิมิตอย่างใดอย่างหนึ่ง เธอเล่าเรียนมาด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ทรงไว้
ด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ด้วยปัญญา เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมใน
ธรรมนั้น ตามที่เธอเล่าเรียนสมาธินิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งมาด้วยดี ทำไว้ในใจ
ด้วยดี ทรงไว้ด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ด้วยปัญญา เมื่อเธอเข้าใจอรรถ
เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปีติ เมื่อมีใจ
เกิดปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๕ ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุ
ผู้ไม่ประมาทมีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ที่ยังไม่หลุดพ้นย่อมหลุดพ้น
อาสวะที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมได้บรรลุธรรมอันเกษมจาก
โยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการนี้แล ซึ่งเป็นเหตุให้
จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ที่ยังไม่หลุดพ้น
ย่อมหลุดพ้น อาสวะที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมได้บรรลุ
ธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ.
จบวิมุตติสูตรที่ ๖.
อรรถกถาวิมุตติสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในวิมุตติสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า วิมุตฺตายตนานิ แปลว่า เหตุแห่งการหลุดพ้น. บทว่า
ยตฺถ ได้แก่ ในวิมุตตายตนะ (เหตุแห่งการหลุดพ้น) ใด. บทว่า สตฺถา
ธมฺม เทเสติ ได้แก่ พระศาสดาทรงแสดงสัจธรรม ๔. บทว่า อตฺถ-
ปฏิสเวทิโน ได้แก่ รู้ความแห่งบาลี. บทว่า ธมฺมปฏิสเวทิโน ได้แก่
รู้บาลี. บทว่า ปามุชฺช ได้แก่ ปีติอย่างอ่อน. บทว่า ปีติ ได้แก่ ปีติ
มีกำลังอันเป็นอาการยินดี. บทว่า กาโย ได้แก่ นามกาย. บทว่า ปสฺสมฺภติ
คือ สงบนิ่ง. บทว่า สุข เวเทติ ได้แก่ ได้ความสุข. บทว่า จิตฺต สมาธิยติ
ได้แก่ จิตตั้งมั่นด้วยสมาธิชั้นอรหัตตผล. จริงอยู่ ภิกษุนี้เมื่อฟังธรรมนั้น
ย่อมรู้จักฌานวิปัสสนา มรรคและผลในที่ฌานเป็นต้นมาแล้วๆ เมื่อภิกษุนั้น
รู้อย่างนี้ ปีติก็เกิด ในระหว่างปีตินั้น ภิกษุนั้นก็ไม่ท้อถอย บำเพ็ญอุปจาร-
กรรมฐาน เจริญวิปัสสนาแล้วย่อมบรรลุพระอรหัต ทรงหมายถึงพระอรหัตนั้น
จึงตรัสว่า จิตฺต สมาธิยติ ดังนี้. แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน. แต่นี้
เป็นความต่างกัน. บทว่า สมาธินิมิตฺต ได้แก่ สมาธิในอารมณ์ ๓๘ อย่างใด
อย่างหนึ่ง ชื่อว่า สมาธินิมิต. แม้ในบทเป็นต้นว่า สุคฺคหิต โหติ กรรมฐาน
อันผู้เรียนกรรมฐานในสำนักอาจารย์ เป็นอันเรียนแล้วด้วยดี ใส่ใจไว้ด้วยดี
ทรงจำไว้ด้วยดี. บทว่า สุปฺปฏิวิทฺธ ปญฺาย ได้แก่ ทำให้ประจักษ์ดี
ด้วยปัญญา. บทว่า ตสฺมึ ธมฺเม ได้แก่ ในธรรมคือบาลีที่มาแห่งกรรมฐาน
นั้น. ในสูตรนี้ตรัส วิมุตตายตนะแม้ทั้ง ๕ ถึงอรหัต.
จบอรรถกถาวิมุตติสูตรที่ ๖.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นข้อความโดยสรุป
วิมุตติสูตร
(ว่าด้วยเหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการ)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งความหลุดพ้น ๕ ประการ อันเป็นเหตุทำให้ภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้น ทำให้อาสวะสิ้นไป ทำให้ได้บรรลุพระนิพพาน ได้แก่
๑. พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครู แสดงธรรมให้ฟัง
๒. เป็นผู้แสดงธรรมตามที่ได้ฟังได้ศึกษามาแก่ชนเหล่าอื่นโดยละเอียด และได้เข้าใจในสิ่งที่ตนเองแสดง
๓. สาธยายธรรมตามที่ได้ฟังได้ศึกษามาโดยละเอียด
๔. ตรึกตรองด้วยใจถึงธรรมตามที่ได้ฟังได้ศึกษามา
๕. เล่าเรียนมาด้วยดีซึ่งสมาธินิมิต ((สมาธิในอารมณ์ ๓๘) อย่างใดอย่างหนึ่งทำไว้ในใจด้วยดี ทรงไว้ ด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ด้วยปัญญา. ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ อาสวะ
ไม่ศีกษาพระธรรม ดับกิเลสไม่ได้ เหตุที่สมควรแก่การบรรลุธรรม
แม้มีพระอรหันต์อยู่ใกล้ๆ ก็ไม่สามรถบรรลุธรรมได้ ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังคุณข้อนี้ได้
วิมุตติ กับ วิมุตติญาณทัสสนะ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
"หรือเธอย่อมบรรลุธรรม อันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม " ช่วยอธิบายคำว่า
โยคะ ด้วยคะ ขออนุโมทนาคะ
เรียนความเห็นที่ 6 ครับ
จากคำถามที่ว่า
หรือเธอย่อมบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม " ช่วยอธิบายคำว่า โยคะ
-----------------------------------------------------------------------------
โยคะ หมายถึง เครื่องผูก ๔ นี้ โยคะ ๔ คืออะไร คือ กามโยคะ (เครื่องผูกคือกาม)
ภวโยคะ (เครื่องผูกคือภพ) ทิฏฐิโยคะ (เครื่องผูกคือทิฏฐิ) อวิชชาโยคะ (เครื่องผูก
คืออวิชชา)
ซึ่งโยคะ ก็คือ กิเลสประการต่างๆ นั่นเอง ครับ
ดังนั้น คำว่า เธอย่อมบรรลุธรรม อันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม หมายถึง เธอย่อมบรรลุ
ธรรมที่ปราศจากโยคะ บรรลุธรรมที่ปราศจากกิเลส อันมายถึง การบรรลุธรรม ประจักษ์
ธรรม คือ พระนิพพาน นั่นเองครับ เพราะ พระนิพพานเป็นธรรมที่ปราศจาก หรือ ไม่มี
กิเลสที่เป็นโยคะ เครืื่องผูกเลยครับ
ดังข้อความที่อธิบาย ว่า ธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม คืออะไร
ในคำว่า โยคกฺเขมาธิวาหนํ นี้มีวินิจฉัยว่า พระนิพพาน ชื่อว่า โยคักเขมะ เพราะเป็น
แดนเกษมจากโยคะทั้งหลาย. พระนิพพานนั้น ชื่อว่าอธิวาหนะ เพราะนำไปเจาะจงหรือ
ว่านำไปเฉพาะหน้า การนำไปเฉพาะหน้าซึ่งธรรมอันเกษมจากโยคะ.