คำถามเกี่ยวกับวิถีจิต ครับ

 
peeraphon
วันที่  26 มี.ค. 2555
หมายเลข  20868
อ่าน  2,136

ขอเรียนถามอาจารย์ทุกท่านครับ

ผมได้ศึกษาในหนังสือ ปรมัตถธรรมสังเขป และอ่านเรื่องวิถีจิตอยู่ หลายรอบ ประกอบกับ การฟังธรรมของท่านอาจารย์ สุจินต์ เพื่อนำมามาเทียบเคียงกัน แต่ยังมีคำถามตามมาเยอะมากครับ ขอเริ่มเรื่องคำถามเลยครับ

วิถีจิตทางปัญจทวารมี ๗ วิถี

อาวัชชนวิถี ๑, ทวิปัญจวิญญาณ ๑, สัมปฏิจฉันนจิต ๑, สันตีรณจิต ๑, โวฎฐัพพนจิต ๑, ชวนวิถีจิต ๑ มี ๗ ขณะจิต, ตทาลัมพนวิถี ๑

วิถีจิตทางมโนทวารมี ๓ วิถี

อาวัชชนวิถี (มโนทวาร) ชวนวิถี มี ๗ ขณะจิต ตทาลัมพนวิถี

คำถามที่ ๑ : อาวัชชนวิถี คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต หมายถึง ทวารใดทวารหนึ่ง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ไม่มี ใจ (มโนทวาร) ใช่หรือไม่ครับ? หรือว่า นับเป็น รูป ๕ นาม ๑ ครับ?

คำถามที่ ๒ : เหตุใดจึงชื่อว่า ทวิปัญจวิญญาณ ครับ? ทวิ แปลว่าสอง แต่ วิญญาณสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเดียวใช่หรือไม่ครับ? แล้วความแตกต่างระหว่าง ทวาราวัชชนจิต กับ ปัญจวิญญาณ นั้นคืออะไรครับ ตามความเข้าใจของผมคือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย แต่วิญญาณคือสภาพรู้ ทางทวารนั้นๆ แปลว่าจิตได้หรือไม่ครับ?

คำถามที่ ๓ : ชื่อว่า เจตสิก ต้องเกิดร่วมกับจิต ตั้งอยู่พร้อมจิต และดับไปพร้อมกัน. จากวิถีจิตทางปัญจทวาร ผมเข้าใจถูกต้องหรือไม่ว่า ปัญจทวาร ไม่รู้อารมณ์ แต่อารมณ์จะมาเกิดขึ้น ครั้งแรก ทาง จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหา หรือ กายวิญญาณ. หลังจากนั้น สัมปฏิจฉันนจิต ก็รับอารมณ์ต่อไปจนถึง ชวนจิต และ ตทาลัมพนวิถี ใช่มั้ยครับ?

คำถามที่ ๔ : เมื่อรูป กระทบทาง ปัญจทวาร ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และ เกิดเป็นวิถีจิต แล้ว ในกรณีนี้ หากมี รูป กระทบอตีตภวังค์ ทางจักขุประสาท และ มีการสืบต่อ อารมณ์ ไปถึง ตทาลัมพนจิต แล้ว ขณะนั้น จิต รู้หรือยังครับ ว่า เป็น รูปอะไร หากรู้แล้ว เริ่ม รู้ตั้งแต่ขณะจิตไหนครับ?


จากคำถามข้อที่ ๔. สาเหตุที่ถามคือ ตอนนี้กำลังสงสัย เกี่ยวกับ เรื่อง การเกิดดับของจิต เพราะ ในขณะที่เห็น ก็จะไม่ขณะเดียวกับที่คิด ... และอยากทราบว่า จริงๆ แล้ว เมื่อปัญจทวาร ทางใดทางหนึ่งเกิด จิตควรจะรู้แล้วหรือยัง หรือ ต้องมีมโนทวารเกิดขึ้นถึงจะทราบว่าเห็นเป็นอะไรครับ


คำถามที่ ๕ : มโนทวาร มีแค่ ๓ วิถี เพราะเหตุว่า ไม่ต้องมีรูปมากระทบใช่มั้ยครับ? คือมโนทวารเกิดขึ้นแม้จะ ไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย คือสามารถคิดได้แม้ว่าจะไม่มีทวาร แต่อย่างไรก็ตาม ทุกขณะจิต ต้องมี ภวังคั่น แต่ทำไมไม่มี อตีตภวังค์มาคั่นระหว่างจิตเห็นกับจิตคิดครับ?


คำถามที่ ๖ : การเกิดดับไปของจิต เมื่อมีจิตเห็น แล้ว จะต้องมี มโนทวารวิถีจิต เกิดขึ้น ทุกครั้งไปหรือไม่ครับ หรือว่า จิตเห็นดับแล้ว จิตได้ยินต่อไปได้อีก โดยที่ยังไม่คิด


นั่งคุยกับเพื่อนๆ และโดนเพื่อนด่าทอ ขณะนั้น รู้สึกโกรธ ผมจะเรียงอย่างนี้ได้หรือไม่ครับ

ขณะนั้น หูได้ยิน โสตวิญญาณทำกิจ สืบต่ออารมณ์ สัมปฏิจฉันนจิตรับอารมณ์ของรูปที่เป็นเสียง, สันตีรณจิต ทำกิจพิจารณาเสียงนั้น, โวฏฐัพพนจิต ทำกิจให้เกิดกุศล หรือ อกุศล (ขอไม่พูดถึง กิริยาจิต) , ชวนวิถีจิตเกิด เป็น อกุศล ทั้งหมด, ตทาลัมพนวิถี ทำกิจรู้อารมณ์ต่อไป อีก วิถีจิตหนึ่ง


คำถามที่ ๗ : หากขณะนั้นรู้สึกโกรธ จริงๆ โทสะ ที่เป็นอารมณ์ ขุ่นเคืองใจ โทสเจตสิกจะเกิดขึ้นใน วิถีจิตไหนครับ

คำถามที่ ๘ : มโนทวาร คิด สืบต่อจาก ตทาลัมพนวิถี. หากว่าเป็นผู้ศึกษาธรรมะมา อย่างดี และขณะนั้น สติระลึกรู้ จากการสะสมปัญญาในการฟังมาพอสมควร สติเจตสิก จะมาเกิดทำกิจพร้อมกับจิตดวงไหน และ เมื่อ สติเกิด สติเป็นธรรมะฝ่ายดี ซึ่งเกิดขึ้นกับกุศลจิต เท่านั้น. ขณะนั้น ชวนวิถี จะเป็น กุศล ทั้งหมดเลยหรือไม่ครับ

คำถามที่ ๙ : จากการที่อ่านมา ชวนจิต ทั้ง ๗ ขณะ สามารถที่จะเป็นไปได้ทั้ง กุศล หรือ อกุศล อย่างใดอย่างหนึ่ง. นั่นคือความละเอียด รวดเร็วมาก ด้วยการแล่นไป ดังนั้นผมเข้าใจว่า กุศลจิต ก็สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งหมด สามารถเกิดคละกันไป หรือ อกุศลจิตก็สามารถเกิดได้ทั้งหมด ๗ ขณะเช่นเดียวกัน ดังนั้นมีสาเหตุอะไร ที่จะทำให้ กุศลจิตเกิดทั้ง ๗ ขณะ. สาเหตุอะไรที่จะทำให้เกิดคละกันไป และสาเหตุ อะไรที่จะทำให้ อกุศลจิตเกิดขึ้นทั้งหมด ๗ ขณะครับ

ขอบคุณอาจารย์ทุกท่านครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 26 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นคร่าวๆ ดังนี้

คำถามที่ ๑ : อาวัชชนวิถี คือ ปัญจทวารวัชชนจิต หมายถึง ทวารใดทวารหนึ่ง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ไม่มี ใจ (มโนทวาร) ใช่หรือไม่ครับ? หรือว่า นับเป็น รูป ๕ นาม ๑ ครับ?

- ต้องเข้าใจความต่างระหว่างวิถีจิต กับ ทวาร ว่า วิถีจิต หมายถึง จิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นโดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร คือ ทวารตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ ทวาร จึงเป็นทางที่จะทำให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ดังนั้น จากคำถามที่เกี่ยวกับปัญจทวาราวัชชนจิต อันเป็นวิถีจิตแรกทางปัญจทวาร นั้น ต้องเป็นจิต ไม่ใช่ทวาร แต่เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใด กล่าวคือ ถ้าอาศัยทวารตา ก็เป็นจักขุทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นทวารหูก็เป็นโสตทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นทวารจมูก ก็เป็นฆานทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นทวารลิ้น ก็เป็นชิวหาทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นทวารกาย ก็เป็น กายทวาราวัชชนจิต นี้คือ อาวัชชนจิต ทาง ๕ ทวาร ต้องเป็นจิต ไม่ใช่ทวาร แต่เป็นจิตที่อาศัยทวาร และถ้าเป็นอาวัชชนจิต ที่เกิดทางมโนทวาร ก็เป็นมโนทวาราวัชชนจิต ดังนั้น ถ้ากล่าวถึงอาวัชชนจิต ก็คือ จิต ไม่ใช่ทวาร เพราะทวารมี ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ (ภวังคุปัจเฉทจิต) ที่บอกว่า เป็นรูป ๕ เป็นนาม ๑ ต้องหมายถึงเฉพาะส่วนที่เป็นทวาร

คำถามที่ ๒ : เหตุใดจึงชื่อว่า ทวิปัญจวิญญาณ ครับ? ทวิ แปลว่าสอง แต่ วิญญาณ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเดียวใช่หรือไม่ครับ? แล้วความแตกต่างระหว่าง ทวารวัชชนจิต กับ ปัญจวิญญาณ นั้นคืออะไรครับ ตามความเข้าใจของผมคือ ปัญจทวารวัชชนจิต ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย แต่วิญญาณคือสภาพรู้ ทางทวารนั้นๆ แปลว่าจิตได้หรือไม่ครับ?

- ทวิปัญจวิญญาณ หมายถึง วิบากจิตทาง ๕ ทวาร ทวารละ ๒ ดวง จึงเป็น ๑๐ ดวง ได้แก่ จักขุวิญญาณ กุศลวิบาก และ อกุศลวิบาก, โสตวิญญาณ กุศลวิบาก และ อกุศลวิบาก, ฆานวิญญาณ กุศลวิบาก และ อกุศลวิบาก, ชิวหาวิญญาณ กุศลวิบาก และ อกุศลวิบาก, กายวิญญาณ กุศลวิบาก และ อกุศลวิบาก จึงเป็น ๑๐ ดวง แต่จะไม่เกิดพร้อมกันทั้ง ๑๐ ต้องเป็นแต่ละ ๑ เช่น ถ้าเป็นจักขุวิญญาณกุศลวิบาก (จิตเห็นสิ่งที่ดี) จิตอื่นๆ จะเกิดพร้อมด้วยไม่ได้ ความต่างระว่าง ทวาราวัชชนจิต กับ ปัญจวิญญาณ นั้น คือ ทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีจิตแรก ถ้าเป็นทางทวาร ๕ ก็เป็น ปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นทางทวารใจ ก็เป็นมโนทวาราวัชชนจิต (อาวัชชนจิต เป็นกิริยาจิต) ส่วน ปัญจวิญญญาณ เป็นวิบากจิต เกิดสืบต่อจากปัญจทวาราวัชชนจิต/ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นจิต (จิต กับ วิญญาณ คือ สภาพธรรมอย่างเดียวกัน เป็นนามธรรมที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์) จะไม่ปะปนกันกับส่วนที่เป็นร่างกายเลย ทุกขณะมีจิตเกิดขึ้น จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เกิดขึ้น ต้องรู้อารมณ์ตามสมควรแก่จิตนั้นๆ เสมอ

คำถามที่ ๓ : ชื่อว่า เจตสิก ต้องเกิดร่วมกับจิต ตั้งอยู่พร้อมจิต และดับไปพร้อมกัน. จากวิถีจิตทางปัญจทวาร ผมเข้าใจถูกต้องหรือไม่ว่า ปัญจทวาร ไม่รู้อารมณ์ แต่อารมณ์จะมาเกิดขึ้น ครั้งแรก ทาง จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหา หรือ กายวิญญาณ. หลังจากนั้น สัมปฎิจฉันนจิต ก็รับอารมณ์ต่อไปจนถึง ชวนจิต และ ตทาลัมพนวิถี ใช่มั้ยครับ?

- เวลากล่าวต้องกล่าวให้เต็ม ว่า กำลังกล่าวถึงทวาร หรือ กำลังกล่าวถึงจิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยทวาร เพราะทวาร คือ ทางที่จะทำให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ดังนั้นจิตที่เกิดขึ้นทางใดๆ ก็ตาม ย่อมรู้อารมณ์เสมอ ไม่ว่าจะเป็นทางใดก็ตาม อย่างเช่น ถ้าเป็นทางตา วิถีจิตทุกขณะที่เกิดขึ้นโดยอาศัยตาเป็นทวาร ย่อมรู้อารมณ์ คือ รู้สี ทั้งหมดทุกขณะ เริ่มตั้งแต่จักขุทวาราวัชชนจิต ตลอดไปจนถึง ตทาลัมพนจิต ก็รู้สี ทั้งหมด

คำถามที่ ๕ : มโนทวาร มีแค่ ๓ วิถี เพราะเหตุว่า ไม่ต้องมีรูปมากระทบใช่มั้ยครับ? คือมโนทวารเกิดขึ้นแม้จะ ไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย คือสามารถคิดได้แม้ว่าจะไม่มีทวาร แต่อย่างไรก็ตาม ทุกขณะจิต ต้องมี ภวังค์คั่น แต่ทำไมไม่มี อตีตภวังค์มาคั่นระหว่างจิตเห็นกับจิตคิดครับ?

- จิตที่เกิดขึ้นทางมโนทวาร ไม่ต้องมีรูปกระทบกับปสาทะ จึงไม่มีอตีตภวังค์ แม้จะไม่ได้อาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็สามารถคิดได้ ย่อมเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่เมื่อวิถีจิตทางตาดับไปแล้ว ภวังคจิต เกิดคั่น แล้ววีถีจิตทางใจจึงเกิดต่อไป ไม่ใช่ว่า ภวังคจิตจะเกิดคั่นทุกๆ ขณะของจิตทางทวารตา แต่ต้องเป็นวิถีจิตทางตาเกิดดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตจึงเกิดคั่น ก่อนที่วีถีจิตทางใจจะเกิดสืบต่อ

คำถามที่ ๖ : การเกิดดับไปของจิต เมื่อมีจิตเห็น แล้ว จะต้องมี มโนทวารวิถีจิต เกิดขึ้น ทุกครั้งไปหรือไม่ครับ. หรือว่า จิตเห็นดับแล้ว จิตได้ยินต่อไปได้อีก โดยที่ยังไม่คิด

- จิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว วิถีจิตทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น และทางกาย (ทีละทวาร) เกิดดับไปแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้ภวังคจิตเกิดคั่น แล้ววีถีจิตทางใจ จึงเกิดต่อ ย่อมเป็นอย่างนี้เสมอ ไม่ใช่ว่า เมื่อเห็นแล้ว ต่อไปจะเป็นได้ยินทันที จิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วมาก จากจิตเห็น จนกว่าจะได้ยินนั้น มีจิตเกิดดับสืบต่อกันมากกว่า ๑๗ ขณะ แต่ดูเหมือนว่าพร้อมกัน แต่ที่จริงแล้วไม่พร้อมกัน แต่เป็นการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของจิต

คำถามที่ ๗ : หากขณะนั้นรู้สึกโกรธ จริงๆ โทสะ ที่เป็นอารมณ์ ขุ่นเคืองใจ โทสเจตสิกจะเกิดขึ้นใน วิถีจิตไหนครับ

- โทสเจตสิก เป็นอกุศลเจตสิก ที่จะต้องเกิดร่วมกับโทสมูลจิตเท่านั้น โทสมูลจิต เป็นอกุศลจิต (เป็นชวนจิต) จะเกิดในขณะที่เป็นชวนะ ซึ่งจะเกิดได้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ตามการะสะสมของแต่ละบุคคล จะไม่เกิดในขณะอื่นเลย ต้องเป็นในขณะที่เป็นชวนวิถี ที่เป็นอกุศลชวนะ เท่านั้น

คำถามที่ ๘ : มโนทวาร คิด สืบต่อจาก ตทาลัมพนวิถี. หากว่าเป็นผู้ศึกษาธรรมะมา อย่างดี และขณะนั้น สติระลึกรู้ จากการสะสมปัญญาในการฟังมาพอสมควร สติเจตสิก จะมาเกิดทำกิจพร้อมกับจิตดวงไหน และ เมื่อ สติเกิด สติเป็นธรรมะฝ่ายดี ซึ่งเกิดขึ้นกับกุศลจิต เท่านั้น. ขณะนั้น ชวนวิถี จะเป็น กุศล ทั้งหมดเลยหรือไม่ครับ?

- การระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ที่เรียกว่า สติปัฏฐาน นั้น เป็นมหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญา (กุศลชวนะ) สติเกิดพร้อมกับปัญญาและเจตสิกอื่นๆ ถ้าเกิดทาง ๕ ทวาร ก็รู้รูป ที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง แต่ถ้าจะมีการระลึกตรงลักษณะของนามธรรมที่มีจริงนั้น ต้องเป็นทางมโนทวารเท่านั้น และที่สำคัญ กุศลจิต ที่ไม่ใ่ช่สติปัฏฐาน ก็มี ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตประเภทใดก็ตาม ก็มีสติเกิดร่วมด้วยเสมอ จึงมีการระลึกเป็นไปในกุศลประการต่างๆ เพราะสติเป็นโสภณสาธารณเจตสิก ทั่วไปแก่จิตที่ดีงามทุกประเภท

คำถามที่ ๙ : จากการที่อ่านมา ชวนจิต ทั้ง ๗ ขณะ สามารถที่จะเป็นไปได้ทั้ง กุศล หรือ อกุศล อย่างใดอย่างหนึ่ง. นั่นคือความละเอียด รวดเร็วมาก ด้วยการแล่นไป ดังนั้นผมเข้าใจว่า กุศลจิต ก็สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งหมด สามารถเกิดคละกันไป หรือ อกุศลจิตก็สามารถเกิดได้ทั้งหมด ๗ ขณะเช่นเดียวกัน ดังนั้นมีสาเหตุอะไร ที่จะทำให้ กุศลจิตเกิดทั้ง ๗ ขณะ. สาเหตุอะไรที่จะทำให้เกิดคละกันไป และสาเหตุอะไรที่จะทำให้ อกุศลจิตเกิดขึ้นทั้งหมด ๗ ขณะครับ?

- กุศลจิต กับ อกุศลจิต โดยปกติเกิดซ้ำกัน ๗ ขณะ ชวนะ โดยศัพท์แปลว่า ไปอย่างเร็ว หรือจะใช้คำว่า เล่นไปในอารมณ์ อย่างรวดเร็ว ก็ได้ ไม่ได้เกิดขณะเดียว แต่เกิดดับสืบต่อกันหลายขณะ ถ้าเป็นกุศลชวนะ ก็เป็นกุศลจิต ๗ ขณะ จะไม่มีจิตอื่นเกิดคั่นหรือคละกันเลย และถ้าเป็นอกุศลชวนะ ก็เป็นอกุศลจิต ๗ ขณะ โดยนัยเดียวกัน แต่เมื่อกุศลเกิดแล้ว อกุศลจิต อาจจะเกิดต่อก็ได้ หรือ อกุศลจิตเกิดแล้ว กุศลจิต ก็สามารถเกิดต่อไป แสดงให้เห็นว่า วันหนึ่งๆ ไม่ได้เป็นอกุศล อยู่ตลอด หรือ ไม่ได้เป็นกุศลอยู่ตลอด แต่อกุศลจิต ย่อมเกิดขึ้นมากกว่ากุศลจิตอย่างเทียบส่วนกันไมได้เลย ชวนวิถีจิต เป็นกุศลจิต ก็ได้ เป็นอกุศลจิต ก็ได้ สำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว ดับกุศลจิต และ อกุศลจิตได้แล้ว จิตที่ทำ ชวนกิจ (ทั้งทางมโทวารและทางปัญทวาร) สำหรับพระอรหันต์ คือ กิริยาจิต กิริยาจิต ไม่เป็นเหตุที่จะทำให้เกิด วิบากจิต (ผลของกรรม) ธรรมเป็นเรื่องที่ยากมาก จึงต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐

ปัญจทวาราวัชชนจิต

มโนทวาราวัชชนจิต

ชวนกิจ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 26 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากคำถามที่ว่า

คำถามที่ ๑ : อาวัชชนวิถี คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต หมายถึง ทวารใดทวารหนึ่ง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ไม่มี ใจ (มโนทวาร) ใช่หรือไม่ครับ? หรือว่า นับเป็น รูป ๕ นาม ๑ ครับ?


- ก่อนอื่นก็จะต้องเข้าใจแต่ละคำให้ถูกต้องก่อนครับ

วิถีจิต คือ จิตที่เป็นไปตามแนวทาง หมายถึง จิตซึ่งรู้อารมณ์ที่ปรากฏในโลกนี้ทางทวาร ๖ ถ้าเป็นไปตามแนวทางปัญจทวาร เรียกว่า ปัญจทวารวิถีจิต ถ้าเป็นไปตามแนวทางมโนทวาร เรียกว่า มโนทวารวิถีจิต

อาวัชชนวิถี หมายถึง วิถีจิตแรกที่เกิดขึ้นต่อจากภวังค์ ซึ่ง อาวัชชนวิถี ก็เกิดได้ทั้งทางปัญจทวาร และ ทางมโนทวาร ครับ ซึ่งหากเกิดทางปัญจทวาร คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย วิถีจิตแรกที่เกิดขึ้น คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต (ปญฺจ + ทวาร + อาวชฺชน) คือ วิถีจิตขณะแรกที่เกิดขึ้นรู้ว่ามีอารมณ์ที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย

ส่วนอาวัชชนวิถี ทางมโนทวาร คือ ที่เกิดเป็นวิถีจิตแรกทางมโนทวาร คือ มโนทวาราวัชชนจิต สรุปได้ว่า อาวัชชนวิถี เป็นได้ทั้งทางปัญจทวาร ที่เป็น ปัญจทวาราวัชนจิตและทางมโนทวารด้วย ที่เป็นอาวัชชนวิถี ที่เป็น มโนทวาราวัชชนจิต ครับ


คำถามที่ ๒ : เหตุใดจึงชื่อว่า ทวิปัญจวิญญาณ ครับ? ทวิ แปลว่าสอง แต่ วิญญาณ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเดียวใช่หรือไม่ครับ? แล้วความแตกต่างระหว่าง ทวารวัชชนจิต กับ ปัญจวิญญาณ นั้นคืออะไรครับ ตามความเข้าใจของผมคือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย แต่วิญญาณคือสภาพรู้ ทางทวารนั้นๆ แปลว่าจิตได้หรือไม่ครับ?


- ความแตกต่างระหว่าง ทวารวัชชนจิต กับ ปัญจวิญญาณ

วิญญาณกับจิตมีความหมายเดียวกัน ครับ คือ เป็นสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ ดังนั้นปัญจวิญญาณ ก็คือ จิตที่เป็นชาติวิบากที่เป็นผลของกรรม เช่น ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส แต่ถ้าเป็น ปัญจทวาราวัชชนจิต ก็เป็นวิญญาณและเป็นจิตเหมือนกัน แต่เป็นจิตชาติกิริยา แต่ทำหน้าที่รู้ว่ามีอารมณ์มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ยังไม่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส ครับ


เหตุใดจึงชื่อว่า ทวิปัญจวิญญาณ ครับ? ทวิ แปลว่าสอง แต่ วิญญาณสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเดียวใช่หรือไม่ครับ?


- วิญญาณ หมายถึงจิต จิตเมื่อเกิดขึ้นก็ต้องเป็นจิตเดียว เป็นประเภทใด ประเภทหนึ่ง เพียงแต่ว่า ถ้าแบ่ง จิตที่เป็นผลของกรรมที่เป็นชาติวิบาก ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายเรียกว่า ทวิปัญจวิญญาณ คือ เป็นจิต ๒ ประเภทที่เกิดทางทวารทั้ง ๕ รวมเป็น ๑๐ ดวง ซึ่ง ปัญจวิญญาณ ก็มีดังนี้ครับ

จักขุวิญญาณ ทำทัสสนกิจ คือ กิจเห็น

โสตวิญญาณ ทำสวนกิจ คือ กิจได้ยิน

ฆานวิญญาณ ทำฆายนกิจ คือ กิจได้กลิ่น

ชิวหาวิญญาณ ทำสายนกิจ คือ กิจลิ้มรส

กายวิญญาณ ทำผุสสนกิจ คือ กิจรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

แต่ตามที่กล่าวแล้วข้างต้นครับว่า ทวิปัญจวิญญาณ คือ จิต ๒ ดวง ที่เกิดทาง ๕ ทวาร (ปัญจะ) รวมเป็น ๑๐ ดวง ที่เป็น ๒ เป็นทวิ เพราะว่า จิตที่เป็นผลของกรรม มีจิตเห็น ที่เป็นจักขุวิญญาณจิต เวลาที่เห็น บางครั้งก็เห็นสิ่งที่ดี บางครั้งก็เห็นสิ่งที่ไม่ดี ทำให้เห็นสิ่งต่างๆ แตกต่างกัน เพราะผลของกรรมที่เกิดขึ้นทำให้แตกต่างกัน ครับ เมื่อกรรมดีให้ผล ทำให้เกิดผลของกรรมที่ดี คือเห็นดี เมื่อกรรมไม่ดีให้ผล ทำให้เห็นไม่ดี เพราะฉะนั้น จึงมีคำว่า ทวิ คือ ๒ เพราะ จักขุวิญญาณที่เป็นกุศลวิบาก ที่เกิดจากกรรมดีให้ผล ดวงหนึ่ง และ จักขุวิญญาณที่เป็น จักขุวิญญาณอกุศลวิบาก ที่กรรมไม่ดีให้ผล ทำให้เห็นไม่ดี ก็เป็นอีกดวงหนึ่ง เป็นอันว่า ทางทวารหนึ่งมีทางตา เป็นต้น

ขณะที่เห็น จะต้องมี จิต ๒ ดวง คือ จิตเห็นที่เป็นกุศลวิบาก และ จิตเห็นที่เป็นอกุศลวิบาก ครับ จึงใช้คำว่าทวิ สองนั่นเอง ส่วนปัญจ ก็คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ดังนั้น ทางทวารอื่นๆ มี หู จมูก ลิ้น กาย ก็ต้องมี ๒ ดวงในแต่ละทวารเช่นกัน เพราะเป็นกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก ครับ (กุศลวิบาก ๑ และอกุศลวิบาก ๑) แต่ขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้น เกิดดวงเดียว ในดวงใด ดวงหนึ่งใน ๒ ดวง จะเป็นกุศลวิบาก หรือ อกุศลวิบากก็ได้ครับ แล้วแต่ว่า กรรมดีจะให้ผล หรือ กรรมไม่ดีจะให้ผล ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 26 มี.ค. 2555

คำถามที่ ๓ : ชื่อว่า เจตสิก ต้องเกิดร่วมกับจิต ตั้งอยู่พร้อมจิต และดับไปพร้อมกัน. จากวิถีจิตทางปัญจทวาร ผมเข้าใจถูกต้องหรือไม่ว่า ปัญจทวาร ไม่รู้อารมณ์ แต่อารมณ์จะมาเกิดขึ้น ครั้งแรก ทาง จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหา หรือ กายวิญญาณ. หลังจากนั้น สัมปฏิจฉันนจิต ก็รับอารมณ์ต่อไปจนถึง ชวนจิต และ ตทาลัมพนวิถี ใช่มั้ยครับ?

- ทางปัญจทวาร คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็มีจิตเกิดขึ้น ซึ่งก็จะต้องมีอารมณ์ อารมณ์ทางปัญจทวาร จะต้องเป็นรูปธรรมเท่านั้น คือ สี เสียง กลิ่น รส สิ่งที่ประทบสัมผัส ซึ่งรูปจะเป็นอารมณ์ของจิตขณะแรกทางปัญจทวาร คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตและ จักขุวิญญาณจิต สัมปฏิจฉันนจิต โวฏฐัพพนะจิต ชวนจิต และตทาลัมพนะจิต จนรูปนั้นดับไป ๑๗ ขณะจิตนั่นเองครับ


คำถามที่ ๔ : เมื่อรูป กระทบทาง ปัญจทวาร ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และ เกิดเป็นวิถีจิต แล้ว ในกรณีนี้ หากมี รูป กระทบอตีตภวังค์ ทางจักขุประสาท และ มีการสืบต่ออารมณ์ ไปถึง ตทาลัมพนจิต แล้ว ขณะนั้น จิต รู้หรือยังครับ ว่า เป็น รูปอะไร หากรู้แล้วเริ่ม รู้ตั้งแต่ขณะจิตไหนครับ?

จากคำถามข้อที่ ๔. สาเหตุที่ถามคือ ตอนนี้กำลังสงสัย เกี่ยวกับ เรื่อง การเกิดดับของจิตเพราะ ในขณะที่เห็น ก็จะไม่ขณะเดียวกับที่คิด ... และอยากทราบว่า จริงๆ แล้ว เมื่อปัญจทวาร ทางใดทางหนึ่งเกิด จิตควรจะรู้แล้วหรือยัง หรือ ต้องมีมโนทวารเกิดขึ้นถึงจะทราบว่าเห็นเป็นอะไรครับ.


- ขณะที่เป็นภวังคจิต ยังไม่รู้ว่ารูปอะไร ขณะที่เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต ขณะนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นรูปอะไร เพียงแต่รู้ว่ามีรูปมากระทบทางทวารใด ทวารหนึ่ง มีตา เป็นต้นเมื่อจักขุวิญญาณเกิด เพียงเห็นสี เห็นรูปเท่านั้น ยังไม่รู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จนจิตอื่นๆ เกิดต่อ ถึงชวนจิต ตทาลัมพนะจิตทางปัญจทวารดับไป ก็มีรูป คือ สีเป็นอารมณ์แต่ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด มโนทวารวาระแรก มี รูปนั้นเป็นอารมณ์ต่อ ก็ยังไม่รู้ว่ารูปนั้นเป็นสัตว์ บุคคล สิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เมื่อมโนทวาวิถีจิต วาระหลังๆ เกิดขึ้น นึกถึงรูปร่างสัณฐาน นิมิตของรูปนั้น ทำให้รู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่ง สิ่งใด เป็นสัตว์ บุคคลขึ้นมาได้ ในวิถีจิตทางมโนทวารวิถีวาระหลังๆ ครับ

ดังนั้น ปัญจทวารวาระแรก และมโนทวารวาระแรก รู้เพียงรูป แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ต่อเมื่อ มโนทวารวิถีจิตวาระหลังๆ เกิด จึงรู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ครับ


คำถามที่ ๕ : มโนทวาร มีแค่ ๓ วิถี เพราะเหตุว่า ไม่ต้องมีรูปมากระทบใช่มั้ยครับ? คือมโนทวารเกิดขึ้นแม้จะ ไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย คือสามารถคิดได้แม้ว่าจะไม่มีทวาร แต่อย่างไรก็ตาม ทุกขณะจิต ต้องมี ภวังค์คั่น แต่ทำไมไม่มี อตีตภวังค์มาคั่นระหว่างจิตเห็นกับจิตคิดครับ?


- อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ เป็นวิบากจิตประเภทเดียวกัน มีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเท่ากัน และมีอารมณ์เดียวกันกับปฏิสนธิจิต จุติจิตในชาติเดียวกัน และทำกิจอย่างเดียวกันกับภวังค์ดวงอื่นๆ (เป็นเพียงชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ทราบอายุของรูปเท่านั้น) อตีตภวังค์ จึงเป็นการตั้งชื่อว่า เป็นภวังคจิตในขณะที่รูปเกิดขึ้นกระทบกับปสาทรูปทางทวารใดทวารหนึ่ง และเป็นการตั้งชื่อเพื่อให้ทราบอายุของรูปเมื่อเทียบกับขณะจิตเพราะรูปเกิดขึ้น พร้อมกับภวังคจิตดวงนี้ (อตีตภวังค์) และดับพร้อมกับตทาลัมพณจิตดวงสุดท้ายอายุของรูปจึงเท่ากับ ๑๗ ขณะจิต ซึ่งก่อนมโนทวารวิถีจิตจะเกิด ก็มี ภวังค์เกิดคั่น แต่ ๒ ขณะ ไม่มี อตีตภวังค์ เพราะจิตที่เกิดขึ้นทางมโนทวาร ไม่ต้องมีรูปกระทบกับปสาทะ จึงไม่มีอตีตภวังค์

ตามที่ได้กล่าวข้างต้นว่า อตีตภวังค์ เป็นการสมมติชื่อว่า เป็นภวังค์ในขณะที่รูปมากระทบกับปสาทรูปเมื่อไม่ได้อาศัยปสาทรูป และไม่มีรูปมากระทบปสาทรูป จึงไม่มีอตีตภวังค์ ตามชื่อที่ตั้งว่า อตีตภวังค์ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 26 มี.ค. 2555

คำถามที่ ๖ : การเกิดดับไปของจิต เมื่อมีจิตเห็น แล้ว จะต้องมี มโนทวารวิถีจิต เกิดขึ้น ทุกครั้งไปหรือไม่ครับ. หรือว่า จิตเห็นดับแล้ว จิตได้ยินต่อไปได้อีก โดยที่ยังไม่คิด


- เมื่อมีการเห็นเกิดขึ้นทางปัญจทวาร มโนทวารวิถ็จะต้องเกิดขึ้น รู้อารมณ์นั้นต่อแต่ถ้าเป็นมโนทวารวิถีวาระแรก จะต้องยังไม่คิดเป็นเรื่องราว ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร ก็ยังมีรูปนั้นเองเป็นอารมณ์เดียวกับทางปัญจทวาร เพราะฉะนั้น จะต้องเป็นอย่างนี้เสมอคือ ปัญจทวารวาระแรก มีรูปเป็นอารมณ์ และ มโนทวารวาระแรกก็สืบต่อ มีรูปเป็นอารมณ์เหมือนกัน โดยที่ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไรครับ ซึ่งวาระแรกนี้ ยังไม่ได้คิดเป็นเรื่องราวครับ เพียงแต่วาระหลังๆ มโนทวารวิถีจึงเกิดขึ้น นึกถึงรูปร่างสัณฐานเป็นสัตว์ บุคคลต่างๆ และ ปัญจทวารวิถีอื่นๆ มีการได้ยิน ได้กลิ่น เป็นต้น จึงเกิดต่อครับ


นั่งคุยกับเพื่อนๆ และโดนเพื่อนด่าทอ ขณะนั้น รู้สึกโกรธ ผมจะเรียงอย่างนี้ได้หรือไม่ครับขณะนั้น หูได้ยิน โสตวิญญาณทำกิจ สืบต่ออารมณ์ สัมปฏิจฉันนจิตรับอารมณ์ของรูปที่เป็นเสียง, สันตีรณจิต ทำกิจพิจารณาเสียงนั้น, โวฎฐัพพนจิต ทำกิจให้เกิดกุศล หรือ อกุศล (ขอไม่พูดถึง กิริยาจิต) , ชวนวิถีจิตเกิด เป็น อกุศล ทั้งหมด, ตทาลัมพนวิถี ทำกิจรู้อารมณ์ต่อไป อีก วิถีจิตหนึ่ง.

คำถามที่ ๗ : หากขณะนั้นรู้สึกโกรธ จริงๆ โทสะ ที่เป็นอารมณ์ ขุ่นเคืองใจ โทสเจตสิกจะเกิดขึ้นใน วิถีจิตไหนครับ


- จากที่กล่าวมานั้น จิตเกิดดับนับวาระวิถีนับไม่ถ้วนแล้วครับ คือว่า เมื่อได้ยินเสียง ยังไม่รู้ว่าเป็นเสียงอะไรของใคร ทางปัญจทวาร ก็มีชวนจิต ซึ่งแม้เพียงได้ยินเสียง เพียงเสียงเท่านั้น ยังไม่รู้ว่าเป็นเสียงใคร ก็เกิดอกุศล เกิดโทสเจตสิกและโทสมูลจิตในเสียงนั้นแล้ว ซึ่งกุศล อกุศล จะต้องเกิดที่ ชวนจิตเสมอ ครับ เช่น เสียงอะไรที่ได้ยินดังๆ ยังไม่รู้ว่าเป็นเสียงอะไรเลย ชวนจิตเป็นอกุศลแล้วทางปัญจทวาร เพียงได้ยินเสียงนั้นครับ และมโนทวารวาระแรกที่สืบต่อ ชวนจิตนั้นก็ต้องเป็นจิตชาติเดียวกันด้วยคือ เป็นอกุศลจิตที่เป็นโทสะ ต่อมา มโนทวารวิถีจิตวาระอื่นๆ ก็เกิดต่อคิดนึกรู้ว่าเป็นเสียงอะไร ก็เกิดอกุศลต่อ แต่มีเรื่องราว บัญญัติเป็นอารมณ์แล้ว แต่ ชวนจิตก็เป็นอกุศลได้ แต่ไม่ใช่โกรธในรูป คือ เสียงแล้ว โกรธในเรื่องราวที่สมมติว่าเป็นเพื่อนที่ด่า

สรุปได้ว่า โทสเจตสิกและโทสมูลจิตที่เป็นอกุศลจิตเกิดที่ชวนจิต เกิดได้ตั้งแต่ทางปัญจทวารวิถีวาระแรกแล้ว รวมทั้งมโนทวารวิถีวาระแรกและมโนทวารวิถีจิตวาระต่อๆ ไปด้วยครับ


คำถามที่ ๘ : มโนทวาร คิด สืบต่อจาก ตทาลัมพนวิถี. หากว่าเป็นผู้ศึกษาธรรมะมาอย่างดี และขณะนั้น สติระลึกรู้ จากการสะสมปัญญาในการฟังมาพอสมควร สติเจตสิกจะมาเกิดทำกิจพร้อมกับจิตดวงไหน และ เมื่อ สติเกิด สติเป็นธรรมะฝ่ายดี ซึ่งเกิดขึ้นกับกุศลจิต เท่านั้น. ขณะนั้น ชวนวิถี จะเป็น กุศล ทั้งหมดเลยหรือไม่ครับ?


- สติ เป็นเจตสิกที่ดี เกิดกับจิตที่ดี มี กุศลจิตเป็นต้น ขณะที่สติปัฏฐานเกิด มีสติและปัญญาที่เกิดกับกุศลจิตนั้น กุศลจิตที่มีสติ จะต้องเกิดที่ ชวนจิตเท่านั้น ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งทางปัญจทวารและมโนทวาร ครับ และ ชวนจิตที่มี ๗ ขณะนั้น ก็จะต้องเป็นกุศลจิตทั้ง ๗ ขณะ และหากสติปัฏฐานเกิดที่ ปัญจทวารวิถีจิตวาระแรก ชวนจิตของปัญจทวารวาระแรกก็ต้องเป็นกุศล มโนทวารวิถีวาระแรกที่สืบต่อ ชวนจิตก็ต้องเป็นกุศลด้วย แต่มโนทวารวิถีวาระหลังๆ ต่อมา ไม่จำเป็นจะต้องเป็นกุศลที่ชวนจิตแล้วครับ


คำถามที่ ๙ : จากการที่อ่านมา ชวนจิต ทั้ง ๗ ขณะ สามารถที่จะเป็นไปได้ทั้ง กุศลหรือ อกุศล อย่างใดอย่างหนึ่ง. นั่นคือความละเอียด รวดเร็วมาก ด้วยการแล่นไป ดังนั้นผมเข้าใจว่า กุศลจิต ก็สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งหมด สามารถเกิดคละกันไป หรือ อกุศลจิตก็สามารถเกิดได้ทั้งหมด ๗ ขณะเช่นเดียวกัน ดังนั้นมีสาเหตุอะไร ที่จะทำให้ กุศลจิตเกิดทั้ง ๗ ขณะ. สาเหตุอะไรที่จะทำให้เกิดคละกันไป และสาเหตุ อะไรที่จะทำให้อกุศลจิตเกิดขึ้นทั้งหมด ๗ ขณะครับ?


- ชวนจิตเกิดขึ้น โดยมากแล้ว คือ ๗ ขณะ จะต้องเป็นจิตชาติเดียวกันหมด เช่น ขณะแรกของชวนจิตเป็นกุศล ชวนะที่ ๒-๗ ก็ต้องเป็นกุศลด้วยครับ จะไม่เกิดคละกันว่า ๑ เป็นกุศล ๒-๕ เป็นอกุศล ๖-๗ เป็นกุศล จะต้องเป็นจิตประเภทเดียวกัน ชาติเดียวกันทั้ง ๗ ขณะ ครับ

ส่วนเหตุผลที่ต้องเหมือนกันหมด เพราะด้วยอำนาจของปัจจัยคือ อาเสวนปัจจัยที่ทำให้ จิตที่สืบต่อในขณะที่ ๒-๗ เป็นจิตประเภทเดียวกันกับจิตขณะแรกของชวนจิตครับ ธรรมะเป็นอย่างนั้นเอง เช่นเดียวกับ อกุศลจิตก็จะต้องเป็นจิตชาติเดียวกันทั้ง ๗ ขณะหมด เพราะด้วยอำนาจปัจจัยเดียวกัน คือ อาเสวนปัจจัย ครับ

เชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ เรื่องนี้ครับ

จะได้คำตอบเรื่อง ชวนจิตที่ซ้ำกัน ๗ ขณะ ครับ

อาเสวนปัจจัย

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 27 มี.ค. 2555

ขออนุญาตเรียนแนะนำ คุณ peeraphon ในเรื่อง แนวทางการศึกษาพระธรรมที่ถูกต้องโดยเฉพาะพระอภิธรรมดังนี้ครับ

การศึกษาพระธรรม ท่านอาจารย์สุจินต์เน้นเสมอครับว่า ให้เริ่มจากความเข้าใจ แม้แต่คำว่า ธรรมะคืออะไร ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ โดยที่ไม่ต้องเริ่มไปไหนไกลๆ ในเรื่องราวของสภาพธรรม เพราะการศึกษาธรรมะ ไม่ใ่ช่ ศึกษา วิชาพระพุทธศาสนา ที่จะเป็นการเรียนเรื่องราวธรรมะ แต่ลืมกลับมาที่ความเข้าใจขณะนี้ คือ ตัวสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สำคัญที่สุด ต้องไม่ลืมว่า ศึกษาธรรมะเพื่อเข้าใจความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้

ในสมัยพุทธกาล ไม่มีการเรียนพระอภิธรรม ไม่มีหนังสือพระอภิธรรม แต่พระอภิธรรมคือ ความจริงที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน ผู้คนสมัยพุทธกาล จึงฟังธรรมะจากพระพุทธเจ้า และสำเหนียกด้วยความเห็นถูกว่า ขณะนี้กำลังมีธรรม และเริ่มเข้าใจความจริงที่มีในขณะนี้ ขณะนั้นชื่อว่า เรียนพระอภิธรรม เรียนตัวจริงที่กำลังมี กำลังปรากฏจริงๆ ครับ

ซึ่งจะขอยกคำกล่าวของท่านอาจารย์ สุจินต์ ในเรื่องที่เตือนการศึกษาพระอภิธรรมครับ เป็นประโยชน์มาก จะทำให้เราดึงตัวเองกลับมาสู่การศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง

เชิญอ่านและคลิกฟังได้ครับ

อย่าเพิ่งไปไหนไกล

อรวรรณ แต่ในการศึกษาพื่อให้ทราบความละเอียดของวิถีจิต ผู้ศึกษาฟังทั้งศัพท์ภาษาบาลีและความยุ่งยากก็แยกแยะไม่ออกว่า แล้วความละเอียดขนาดไหนที่สามารถทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏขณะนี้

สุ. คุณอรวรรณมีเพื่อนหลายคนไหมคะ

อรวรรณ หลายคนค่ะ

สุ. เพื่อนดีของคุณอรวรรณคือใคร ไม่ต้องเป็นชื่อ คนที่สามารถจะทำให้คุณอรวรรณมีความเห็นที่ถูกต้อง ไม่ใช่ให้เห็นผิด เข้าใจผิด ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นขณะนี้มีสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าเป็นเพื่อนที่ดี จะพาให้คุณอรวรรณห่างไกลจากสิ่งที่ปรากฏ ไปสนใจเรื่องที่คุณอรวรรณไม่สามารถจะรู้ได้ หรือรู้ว่าแม้ว่าสิ่งนี้มี แต่ก็ยากแสนยาก เพราะว่าไม่เคยคิดที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ คิดเรื่องราวทั้งหมด มาจากสิ่งที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง คิดนึกบ้าง เป็นเรื่องราวมากมาย โดยที่แม้ขณะนี้ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ก็เห็นเป็นคนนั้นคนนี้ เป็นอย่างนี้ไปทุกชาติ กับคนที่รู้ว่า ทำไมไม่รู้สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นประโยชน์สูงสุดที่จะรู้ว่า อะไรเป็นปรมัตถ์ อะไรเป็นบัญญัติ มิฉะนั้นก็พูดแต่ชื่อ ปรมัตถ์กับบัญญัติ บัญญัติเป็นสิ่งที่ไม่มีจริง ปรมัตถ์เป็นสิ่งที่มีจริง และเมื่อไรจะรู้จักตัวปรมัตถ์ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง

เพราะฉะนั้นใครจะพาคุณอรวรรณไปไหนไกลๆ ตามไป หรือให้มาสู่การเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่กำลังมีจริงๆ และยังจะมีต่อไปอีกนานแสนนาน ถ้าไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้จริงๆ ประโยชน์อะไรกับการที่มีเห็นแล้วกี่ภพกี่ชาติก็ไม่รู้เลยว่า เป็นธรรม เพราะฉะนั้นไม่อยากจะพาไปไหน แต่ว่าให้ฟังจนกระทั่งสามารถไม่สนใจสิ่งอื่น และมีสิ่งที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้าจริงๆ ไม่ห่างเหินจากสิ่งที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้า

เชิญคลิกฟังที่นี่ครับ

อย่าเพิ่งไปไหนไกล

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
peeraphon
วันที่ 27 มี.ค. 2555

ขอขอบพระคุณ อาจารย์ ทุกท่านครับ เข้าใจชัดครับ.

แต่อยากเรียนถามอาจารย์ผเดิมเพิ่มเติมครับ

ผมเข้าใจว่า ศึกษาพระธรรมในเรื่องของ ปรมัตถธรรม นั้น น่าจะเป็นพื้นฐานที่ควรเข้าใจให้ละเอียดก่อน ซึ่งพอเริ่มศึกษา ก็พอเข้าใจได้ ประกอบกับการฟัง แต่จะมาติดตรงภาษาบาลี ที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน และมีคำแปลได้หลายๆ อย่าง มีคำแทนได้หลายๆ อย่าง และคิดว่าไม่ยากเกินไปที่จะเข้าใจได้. แต่หากว่าท่านอาจารย์ เห็นว่า ผม ควรเริ่มต้นศึกษาตรงที่อื่นก่อนอยากจะช่วยให้รบกวนแนะนำด้วยครับ.

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ และ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 27 มี.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

อยากจะแนะนำอย่างนี้ครับ คือ การศึกษาธรรมะจะต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ที่สำคัญ จะต้องเริ่มจากการตั้งจิตไว้ชอบ ถูกต้องว่า ศึกษาพระธรรม ไม่ว่าส่วนใด แม้แต่ในเรื่อง ปรมัตถธรรมที่เป็นพระอภิธรรม ก็ต้องศึกษาก็เพื่อเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ และเข้าใจ เป็นสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่หากเพลินคือ อยากรู้เรื่องราวของสภาพธรรมมาก เรา ก็จะถูกทำให้ห่างออกไปจากความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ดังนั้น การเข้าใจความจริงในสภาพธรรมในขณะนี้ ที่เป็นเบื้องต้น โดยเริ่มจากความเข้าใจธรรมะให้ถูกต้อง จริงๆ ก็จะเป็นประโยชน์ โดยไม่ไปไหนไกลๆ ที่เป็นเรื่องราวของธรรมะ โดยห่างเหิน จากการพิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน

ดังนั้น จะต้องเข้าใจใหม่ครับว่า การศึกษาธรรมะที่เป็นเรื่องราวในปรมัตถธรรม ไม่ใช่ พื้นฐานพระอภิธรรมที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เพราะ มีสถานที่ต่างๆ ที่มีการเรียน พระอภิธรรมากมาย นับไม่ถ้วน แต่ไม่ได้ไตร่ตรองที่จะมาเข้าใจว่า อภิธรรม ปรมัตถธรรม คือ ขณะนี้ กำลังปรากฏ ศึกษาเพื่อเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้

ดังนั้น พื้นฐานพระอภิธรรมที่ถูกต้อง ในการศึกษาปรมัตถธรรม ศึกษาเพื่อน้อมมาว่า คือ ขณะนี้เอง โดยศึกษาเพื่อเข้าใจความจริงในขณะนี้ โดยไม่ได้มุ่งจำชื่อเรื่องราว แต่เข้าใจในสิ่งที่อ่าน คือ ขณะนี้ เข้าใจขณะนี้ครับ ธรรมะจึงไม่ใช่เรื่องบังคับให้อ่าน หรือ ไม่อ่าน แต่สำคัญที่เริ่มจากความเข้าใจถูกเบื้องต้นว่า ไม่ใช่ศึกษาแบบวิชาการ แต่ศึกษาเพื่อเข้าใจตัวจริงในขณะนี้ ครับ

ซึ่งกระผมได้ตัดต่อไฟล์ธรรมะใหม่ อันเป็นแนวทางการศึกษาพระธรรมที่ถูกต้องซึ่งท่านอาจารย์อธิบายไว้ได้ดีมาก เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้น และผู้ที่ศึกษาธรรมานานแล้ว จะได้ไม่หลงไป หรือ ห่างออกไปจากแนวทางการศึกษาธรรมะที่ถูกต้อง ครับ

เชิญ คุณ peeraphon และสหายธรรมทุกๆ ท่าน

คลิกฟังธรรมที่นี่นะครับ มีประโยขนฺ์มากๆ ครับ ๖ นาทีอันมีค่า หากเข้าใจถูกครับ

แนวทางการศึกษาพระธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
peeraphon
วันที่ 27 มี.ค. 2555

เรียน อาจารย์ ผเดิม ครับ

หากเข้าใจว่าการเรียนชื่อ ก็เป็นการจำแค่ชื่อ แต่ไม่ได้รู้เข้าใจลักษณะ สภาพธรรมะที่กำลังปรากฏว่า เป็นสิ่งที่มีจริงๆ แม้ขณะนี้ที่กำลังอ่านอยู่นี้ ก็มีจริงๆ นั่นก็เป็นการศึกษาที่ไม่ได้เข้าใจธรรมะ แต่เป็นการเข้าใจชื่อ.

แต่หากว่า ศึกษา เรื่อง ปรมัตถธรรม เพื่อรู้ความละเอียดของจิต เจตสิก รูป นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพื่อเข้าใจให้ละเอียดลึกซึ้ง มากยิ่งขึ้น ในขณะที่ เห็นเกิด ได้ยินเกิด ได้กลิ่นเกิด ได้รสเกิด และ ในขณะที่นึกคิดเกิด เพื่อมีปัญญาในขั้นอ่าน และขั้นฟัง เห็นสิ่งที่เกิดดับไปในชีวิตประจำวันว่า ไม่เที่ยง และไม่ได้เป็นไปเพื่อการจำชื่อ เพราะเมื่อสติ เกิด ก็ไม่ได้ระลึกถึงชื่อ แต่ระลึกถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้น ตรงนี้ เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องใช่หรือไม่ครับ?

เพราะการศึกษา ปรมัตถธรรม ทำให้มีความเข้าใจ มากขึ้นว่า สุดท้ายแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมะ ไม่มีอะไรเที่ยงเลยซักอย่างครับ

ขอบพระคุณครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
peeraphon
วันที่ 27 มี.ค. 2555

เรียน อาจารย์ ผเดิมครับ

สาเหตุที่ผมคิดว่า ไม่จำเป็นต้อง รู้ หรือ จำ ตัวอักษร ที่เป็นทั้งภาษาบาลี เพราะ ที่ได้อ่านมาหลายๆ บท ก็มีหลายๆ ท่านที่ ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน โดยที่แค่ฟังอย่างเดียว โดยที่ไม่ต้องจำอะไรเลย. ไม่มีชื่อในขณะนั้นด้วย และก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นพระ และคิดว่า หากว่าจะจำมาจากชาติที่แล้ว ก็คงไม่สามารถทำได้ แต่ที่บรรลุได้ เพราะปัญญาถึงพร้อมประจักษ์แจ้งในขณะนั้น แต่การศึกษาเพิ่มเติม ในตำรา ต่างๆ เพื่อเพิ่มความเข้าใจ ก็อาจจะเป็นเหตุให้ปัญญาเกิด เหมือนกับที่ฟัง ใช่หรือไม่ครับ?

ขอบพระคุณครับ

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 27 มี.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 8 ครับ

หากศึกษาปรมัตถธรรม เพื่อเข้าใจว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรม และเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล อันนี้ถูกต้องครับ และเข้าใจถึงความละเอียดของสภาพธรรม ว่ามีแต่ธรรมะ ไม่ใช่เรา ชีวิตที่ดำเนินไป ก็คือ วิถีจิตที่ดำเนินไปนั่นเอง อันเป็นไปเพื่อละคลายกิเลสขั้นการฟัง จากการศึกษาพระอภิธรรม มีวิถีจิต เป็นต้น ว่าเป็นแต่เพียงธรรมะ ไม่ใช่เรา นี่ชื่อว่า ศึกษาธรรมะที่ถูกต้อง ดังนั้น ที่ คุณ peeraphon กล่าวในความเห็นที่ 8 ชื่อว่าเป็นการศึกษาธรรมะที่ถูกต้อง อันเป็นไปเพื่อไถ่ถอนความเห็นผิดว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล ครับ

อนุโมทนาในความเห็นถูก ครับ

เรียนความเห็นที่ 9 ครับ

การเรียนพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพิ่มเติม ที่เป็นปริยัติ อันจะนำไปสู่ปฏิบัตินั้น ต้องเป็นการการศึกษาโดยเริ่มจากความเข้าใจที่ว่า เพื่อเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้ เมื่อศึกษาด้วยจุดประสงค์ที่ถูกต้อง ปริยัตินั้นเอง ย่อมน้อมไปสู่ปฏิบัติครับ ดังนั้น การอ่านปรมัตถธรรม หรือ ไม่ว่าพระไตรปิฎก หรือ พระธรรมส่วนใด จะต้องเริ่มจากจุดประสงค์ที่ถูกต้องในการศึกษา คือ เป็นไปเพื่อเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้ ก็จะทำให้ถึงการบรรลุธรรมะได้ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
peeraphon
วันที่ 27 มี.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
wannee.s
วันที่ 27 มี.ค. 2555

วิถีจิต หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ของโลกนี้ คือ รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตคือ ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ เพราะไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้ แต่ที่สำคัญคือ การรู้จักธรรมะในขณะนี้ที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรมะที่มีจริงอย่างหนึ่งเท่านั้นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
peeraphon
วันที่ 28 มี.ค. 2555

กราบเรียนอาจารย์ทุกท่านครับ

การฟังพระธรรม เพื่อเจริญปัญญา นั่นก็คือการฟังไปเรื่อยๆ นึกคิดตาม และหากปัญญาถึงระดับขั้นที่ สติสามารถเกิด รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้แล้ว โดยไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องไปทำ ไม่ต้องฝืน พร้อมถึง การพิจาราณา สังเกต สภาพธรรมะที่ปรากฏเรื่อยๆ จึงค่อยๆ เข้าใจ ในขณะนั้นและสะสมไป ให้ชำนาญ ทั้ง ๖ ทวาร โดยที่จุดมุ่งหมายคือการละอวิชชาทั้งหลาย แต่ไปทีละขั้น เหมือนลำดับขั้น ของพระโสดาบัน. พระสกทาคามี. พระอนาคามี และพระอรหันต์

ข้อความที่พยายามพิมพ์ออกมาจากความเข้าใจนี้ถูกต้องหรือไม่ครับ?

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
paderm
วันที่ 28 มี.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 13 ครับ

ถูกต้องแล้วครับ กิเลสมีมาก จึงต้องละไปตามลำดับโดยเริ่มจากปัญญาขั้นการฟังและปัญญาที่เจริญจากขั้นการฟัง ย่อมถึงการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่เป็นขั้นปฏิบัติ และย่อมถึง ปฏิเวธ คือ การบรรลุธรรม ก็เป็นไปตามลำดับเช่นกันโดยเป็นหน้าที่ของธรรมะไม่ใช่เรา สำคัญ คือ การอบรมเหตุ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเท่านั้น ธรรมะจะทำหน้าที่เอง

ขออนุโมทนาในความเห็นถูก ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
จิตและเจตสิก
วันที่ 28 มี.ค. 2555

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 28 มี.ค. 2555

เป็นประโยชน์มากครับ

โดยเฉพาะข้อความที่เตือนให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ซึ่งไม่มีชื่อ แต่มีจริงๆ และ ... กำลังปรากฏ ...

"... ฟังจนกระทั่งสามารถไม่สนใจสิ่งอื่น และ มีสิ่งที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้าจริงๆ ไม่ห่างเหินจากสิ่งที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้า ..."

ขอขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
ผิน
วันที่ 29 มี.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ