นาม-รูป คืออะไร

 
Bagelman
วันที่  31 มี.ค. 2555
หมายเลข  20889
อ่าน  54,726

นาม-รูป คืออะไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 31 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

นามธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริง เป็นธรรมที่น้อมไปสู่อารมณ์ หมายถึง สภาพธรรมที่รู้อารมณ์ได้ คือ จิตและเจตสิก ทั้งจิตและเจตสิกเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ แต่จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เจตสิกเป็นเพียงส่วนประกอบ เป็นเครื่องช่วยปรุงแต่งให้เป็นประเภทต่างๆ ถ้าจิตไม่เกิดขึ้น เจตสิกจะเกิดไม่ได้เลย นิพพานก็เป็นนามธรรม แต่เป็นสภาพที่ไม่รู้อารมณ์ ที่เป็นนามธรรม เพราะไม่ใช่รูป และเป็นสภาพธรรมที่ถูกน้อมไปเป็นอารมณ์ของจิตเจตสิกได้ นามธรรมจึงเป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่เป็น จิต เจตสิกและพระนิพพาน ครับ

รูป (สภาพที่แตกดับ, สภาพที่ไม่รู้อารมณ์) + ปรมตฺถ (สิ่งที่มีจริง) สิ่งที่มีจริงคือ

รูป หมายถึง สภาพที่ไม่รู้อารมณ์และแตกดับเสื่อมสลายได้ด้วยปัจจัยที่เป็นข้าศึก มีความร้อน ความเย็น เป็นต้น รูปธรรมจึงไม่ได้หมายถึงสิ่งที่จับต้องได้ เป็นรูปธรรม แต่สภาพธรรมใดไม่รู้อะไรเลย ชื่อว่ารูปธรรม เช่น สี เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็งเหล่านี้ เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร ใครจะด่า ว่า รูปเหล่านี้ รูปไม่รู้อะไรทั้งสิ้นครับ รูปธรรมมีทั้งหมด ๒๘ รูป ครับ

พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องนามธรรมและรูปธรรม เพื่อให้เห็นว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล มีแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา เพื่อละคลาย ไถ่ถอนความเห็นผิดว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล อันเป็นไปเพื่อละคลายกิเลส ซึ่งก็เริ่มด้วยการฟังพระธรรม ว่า ธรรมคืออะไร เพื่อให้เข้าใจเบื้องต้นในขั้นการฟังว่า มีแต่ธรรม ที่เป็นนามธรรม และ รูปธรรมเท่านั้น อันจะเป็นปัจจัย ประจักษ์นามธรรมและรูปธรรมในชีวิตประจำวัน ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

นามรูป

นามรูปและโลก

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 31 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ธรรม คือ อะไร? ยังไม่ต้องใส่ชื่อก็ได้

ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกประการ เป็นธรรม เช่น เห็น เป็นธรรม ได้ยิน เป็นธรรม โกรธ เป็นธรรม ติดข้อง เป็นธรรม ความละอาย เป็นธรรม ความเข้าใจ เป็นธรรม สี เป็นธรรม เสียง เป็นธรรม เป็นต้น เพราะมีจริง เป็นสภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตนๆ ซึ่งไม่มีใครจะไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าจะมีชื่อว่าอย่างไร ธรรม ย่อมไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ เมื่อกล่าวถึง ธรรม แล้ว ก็เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่มีจริง สำหรับสิ่งทีมีจริงนั้น ก็แยกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม (จิต เจตสิกและพระนิพพาน) และ รูปธรรม ธรรม เมื่อว่าโดยความหมายแล้ว นามธรรม เป็นสภาพธรรมที่น้อมไปสู่อารมณ์ (อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้) เช่น เห็น เป็นนามธรรม เพราะเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ ในขณะนั้น มีจิตเห็น พร้อมทั้งเจตสิกเกิดขึ้น ตามเหตุตามปัจจัยแล้วดับไป เป็นต้น ซึ่งได้แก่ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) และ เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต ตัวอย่างเจตสิก เช่น โลภะ โทสะ โมหะ ผัสสะ เวทนา เจตนา เป็นต้น)

[นอกจากนั้น ก็ยังมีนามธรรม อีกประเภทหนึ่ง คือพระนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นนามธรรมที่ไม่รู้อารมณ์]

ส่วน รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่รู้อะไร ไม่รู้อารมณ์เหมือนอย่างนามธรรม รูปธรรม มีทั้งหมด ๒๘ รูป มี สี เสียง กลิ่น รส เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว เป็นต้น ธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น ไม่ต้องไปหาที่ไหน เพราะมีจริงทุกขณะ ทุกขณะเป็นธรรม ไม่พ้นไปจากธรรม กล่าวคือ จิต เจตสิก และ รูป แต่ละอย่างแต่ละประการ เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ไม่ปะปนกัน หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลในสภาพธรรมเหล่านั้นไม่ได้เลยจริงๆ ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวัน (ในแต่ละภพในแต่ละชาติ) ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับไป ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงขณะที่จุติเกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้นั้น มีแต่นามธรรมกับรูปธรรม เท่านั้น ถ้ายังไม่ได้ศึกษาก็ยังไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่เมื่อได้ศึกษาแล้ว ก็จะมีความเข้าใจว่า มีธรรมอยู่ตลอดเวลา ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่พ้นหกทางนี้เลย ซึ่งจะต้องอาศัยการฟัง การศึกษาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปตามลำดับ เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง ว่า เป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่มีจริงและกำลังปรากฏ ซึ่งมีให้ศึกษาอยู่ทุกขณะจริงๆ การที่จะรู้ธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ต้องมีความรู้ตั้งแต่ขั้นต้น คือ เริ่มจากการฟังธรรม ซึ่งก็คือ ฟังในสิ่งที่มีจริง ซึ่งเป็นเรื่องของนามธรรม และ รูปธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ขาดการฟัง ค่อยๆ เพิ่มพูนความมั่นคงในความเป็นจริงของสภาพธรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 1 เม.ย. 2555

นามธรรม หมายถึง สภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ ความรู้สึกต่างๆ ความคิด ฯลฯ

ส่วนรูปธรรม หมายถึง สภาพที่ไม่รู้อะไร รูป ไม่มีความรู้สึก รูป ไม่เจ็บ รูป ไม่ทุกข์ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
jaturong
วันที่ 3 เม.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
dhanan
วันที่ 4 เม.ย. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เซจาน้อย
วันที่ 6 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
homenumber5
วันที่ 7 เม.ย. 2555

เรียนอ. ผเดิม, อ. คำปันและทุกท่าน

ด้วยคำถามเจ้าของกระทู้สั้น นัยความหมายที่ อ.ทั้งสองอธิบายมานั้น เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ระดับหนึ่ง ขอเรียนถามเพิ่มเติมดังนี้ค่ะ

๑. นามธรรม ที่ว่านี้ คือ จิต ๑๒๑ เจตสิก ๕๒ ตามพระอภิธรรมใช่ไหมคะ

๒. รูปธรรม ที่ กล่าวถึง คือ รูปปรมัตถ์ มี ๒๘ รูปนั้น เกิดจาก จิตทำงานกับเจตสิก แล้ว สร้างรูปขึ้นมาใช่ไหม

๓. กรรม นั้นเกิดจาก จิตทำงานกับเจตสิกใชไหม

๔. ดังนั้น จิตทำงานกับเจตสิก ที่ภาษาพระอภิธรรมเรียกว่า จิตตุปาทะนั้น ก่อให้เกิดกรรม แล้วจึงสร้างรูปใช่หรือไม่ คะ

๕. ขอทราบกระบวนการสร้างรูปปรมัตถ์ ที่อ่านง่ายเข้าใจง่ายด้วย เคยอ่านจากพระอภิธรรมเองเข้าใจยากมาก และยังมีคำที่คล้าย รูป (ดิฉันเข้าใจเอง) เช่น ทสกกลาป

๖. กระบวนการสร้าง ร่างกาย คน นี้ เป็นกระบวนการเดียวกับการสร้างรูปปรมัตถ์หรือไม่ หากไม่ใช่ รูปร่างกายคนนี้ในธรรมกล่าวไว้อย่างไรคะ

๗. ฟังมาว่า เมื่อตาเนื้อมองภาพ เกิดเป็น จักขุปสาทรูป แล้วส่งต่อๆ ไปสร้างรูปในอนาคตพาไปเกิดในภพภูมิใหม่ ข้อนี้ มีรายละเอียดอย่างไรคะ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 9 เม.ย. 2555

เรียนความเห็นที่ 8 ครับ

๑. นามธรรม ที่ว่านี้คือ จิต ๑๒๑ เจตสิก ๕๒ ตามพระอภิธรรมใช่ไหมคะ

- ถูกต้อง ครับ

๒. รูปธรรม ที่กล่าวถึง คือ รูปปรมัตถ์ มี ๒๘ รูปนั้น เกิดจาก จิตทำงานกับเจตสิก แล้วสร้างรูปขึ้นมาใช่ไหม

- ไม่จำเป็นครับ รูปเกิดจากสมุฏฐานอื่น มี อุตุ ไม่ใช่ จิต เจตสิกก็ได้ครับ

๓. กรรม นั้นเกิดจาก จิตทำงานกับเจตสิกใช่ไหม

- กรรม คือ เจตนาเจตสิก ก็ต้องอาศัยจิตเกิดร่วมด้วยครับ

๔. ดังนั้น จิตทำงานกับเจตสิก ที่ภาษาพระอภิธรรมเรียกว่า จิตตุปาทะนั้น ก่อให้เกิดกรรม แล้วจึงสร้างรูปใช่หรือไม่ คะ

- กรรม ก็คือ เจตนาเจตสิก ครับ ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดรูปได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า รูปทุกรูปเกิดจากจิต เจตสิก ครับ

๕. ขอทราบกระบวนการสร้างรูปปรมัตถ์ ที่อ่านง่ายเข้าใจง่ายด้วย เคยอ่านจากพระอภิธรรมเอง เข้าใจยากมาก และยังมีคำที่คล้าย รูป (ดิฉันเข้าใจเอง) เช่น ทสกกลาป

- รูปเกิดขึ้นได้ เพราะอาศัย สมุฏฐาน ๔ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ใน ปรมัตถธรรมสังเขป ครับ

๖. กระบวนการสร้าง ร่างกาย คน นี้ เป็นกระบวนการเดียวกับการสร้างรูปปรมัตถ์หรือไม่ หากไม่ใช่ รูปร่างกายคนนี้ในธรรมกล่าวไว้อย่างไรคะ

- ร่างกายมุษย์ประกอบด้วย รูปที่เกิดจากสมุฏฐานต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะจิต ครับ

๗. ฟังมาว่า เมื่อตาเนื้อมองภาพ เกิดเป็น จักขุปสาทรูป แล้วส่งต่อๆ ไปสร้างรูปในอนาคต พาไปเกิดในภพภูมิใหม่ ข้อนี้ มีรายละเอียดอย่างไรคะ

- จักขุปสาทรูป เกิดดับของเขาอยู่แล้วครับ เพราะอาศัยกรรมเป็นสมุฏฐาน ไม่จำเป็นจะต้องมองเห็นก่อน จักขุปสาทรูปจึงเกิด ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
muse
วันที่ 30 ก.ย. 2558

รูป ๒๓ อย่าง มีอะไรบ้างคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ต.ค. 2558

รูปปรมัตถ์เป็นสภาวธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นและดับไปเช่นเดียวกันกับจิตและเจตสิก รูปปรมัตถ์มี ๒๘ รูป หรือ ๒๘ ประเภท มีความหมายไม่เหมือนที่เข้าใจกันว่า โต๊ะเป็นรูปหนึ่ง เก้าอี้เป็นรูปหนึ่ง หนังสือเป็นรูปหนึ่ง อย่างนี้เป็นต้น ในรูปปรมัตถ์ ๒๘ ประเภทนั้น มีรูปที่จิตรู้ได้ทางตา คือ มองเห็นได้เพียงรูปเดียว คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา เท่านั้น ส่วนอีก ๒๗ รูปนั้น จิตเห็นไม่ได้ แต่รู้ได้ทางอื่นตามประเภทของรูปนั้นๆ เช่น เสียงที่รู้ได้ทางหู เป็นต้น

ดาวน์โหลดหนังสือ --> ปรมัตถธรรมสังเขป

รูป ๒๘ รูป เป็นมหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป ๒๔

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ