ความจำที่มั่นคงที่จะเป็นปทัฏฐาน

 
peeraphon
วันที่  4 เม.ย. 2555
หมายเลข  20909
อ่าน  2,796

ถ้าคิดเรื่องปรมัตถธรรมมากแล้วก็พิจารณาโดยละเอียดโดยแยบคาย เข้าใจขึ้น นั่นจะเป็นสัญญา ความจำที่มั่นคงที่จะเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ ที่จะให้สติเกิด ระลึกได้ เพราะ ว่ากำลังปรากฏ

ขอกราบเรียนถามอาจารย์ทุกท่านครับ

จากกระทู้ที่ว่าด้วย สติปัฎฐาน คำว่า "ถ้าคิดเรื่องปรมัตถธรรมมากแล้วก็พิจารณาโดยละเอียด โดยแยบคาย เข้าใจขึ้น นั่นจะเป็นสัญญา ความจำที่มั่นคงที่จะเป็นปทัฎฐาน" อยากขอความกรุณาให้ท่านอาจารย์ ช่วยขยายข้อความนี้ ให้กระจ่าง โดยละเอียดครับ

ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนา ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความจำ (สัญญา) ที่มั่นคง หรือ ถิรสัญญาเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด?

ความจำ หรือ สัญญาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง หมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นกุศล หรืออกุศล สัญญา ความจำ ต้องเกิดด้วยเสมอ ดังนั้นตามปกติ ในชีวิตประจำวัน กุศลหรืออกุศลเกิดขึ้นมาก ก็ต้องเป็นอกุศล ดังนั้น สัญญาความจำตามปกติในวันๆ หนึ่ง ก็จำผิด จำด้วยความเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นความจำที่มั่นคงในทางที่ผิด ซึ่งไม่ใช่เหตุให้เกิดสติปัฏฐานแน่นอน ครับ แต่การจำที่มั่นคงที่จะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดนั้น คือขณะที่ฟังเข้าใจในเรื่องสภาพธัมมะ ว่า ธรรมคืออะไร อยู่ในขณะไหน ขณะที่เข้าใจ ขณะที่ฟัง ก็มีสัญญาความจำเกิดด้วย ขณะที่เข้าใจในเรื่องสภาพธัมมะที่กำลังฟังขณะนั้นก็เริ่มสะสม การจำถูก (เพราะมีปัญญาเกิดร่วมด้วย) จำว่าเป็นธรรมเท่านั้นในขณะนี้ (แม้ขั้นการฟัง) ไม่ต้องไปหาธรรมที่อื่น ฟังจนเข้าใจ จนเหตุปัจจัยพร้อม ความจำที่มั่นคง อันเนื่องมาจากการฟังพระธรรมในเรื่องสภาพธัมมะที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ก็เป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้น (สติขั้นสติปัฏฐาน) ระลึกสภาพธัมมะที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ตรงตามสภาพธัมมะที่กำลังปรากฏโดยไม่ใช่ขั้นคิดนึกและขั้นการฟังครับ แต่ที่สำคัญ ความจำหรือสัญญาที่มั่นคง ที่จะเป็นปัจจัยให้สติเกิด ต้องจำถูกในเรื่องสภาพธัมมะ โดยมีปัญญาเกิดร่วมด้วยกับสํญญานั้น จึงจะเป็นปัจจัยให้สติเกิด ครับ

ดังนั้น จากคำถามที่ว่า ถ้าคิดเรื่องปรมัตถธรรมมากแล้วก็พิจารณาโดยละเอียด โดยแยบคาย เข้าใจขึ้น นั่นจะเป็นสัญญา ความจำที่มั่นคงที่จะเป็นปทัฎฐาน คำนี้หมายถึงอะไร


- สัญญาที่มั่นคง ความจำที่มั่นคง ซึ่งหมายถึง ความจำในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ อันอาศัยการฟังพระธรรม แค่จำชื่อใช่ไหม ไม่ใช่ครับ หรือ เพียงเข้าใจเหตุผล ของจิต เจตสิก เช่น จิตมีเท่าไหร่ ทำไมถึงเป็นสเหตุก อเหตุก วิถีจิต เป็นอย่างไร อันนี้ถึงแม้จะเข้าใจเหตุผลได้ แต่ยังไม่ใช่ความจำที่มั่นคงที่เป็นเหตุใกล้เกิดสติปัฏฐานเลย เพราะไม่ได้เข้าใจ คิดพิจารณาแยบคาย ว่าเป็นแต่เพียงธรรมในขณะนี้ และกำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน เพราะสภาพธรรมแต่ละอย่างเมื่อเกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วยครับ ดังนั้นไม่ใช่เพียงจำ ที่เป็นสัญญาเท่านั้น ต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น จึงกล่าวได้ว่า สัญญาที่มั่นคงหรือความจำที่มั่นคงพร้อมๆ กับความเข้าใจที่เกิดขึ้นด้วยครับ ปัญญาอย่างไร ไม่ใช่ปัญญาเข้าใจเหตุผลในอภิธรรมว่า สเหตุกเป็นอย่างไร วิถีจิตเป็นอย่างไร แต่เป็นปัญญาที่รู้ว่า สิ่งศึกษาคือขณะนี้ กำลังมีธรรม ปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวัน ศึกษาเพื่อละคลายไถ่ถอนความเป็นสัตว์ บุคคล เพราะคิดแยบคายด้วยเข้าใจว่าเป็นธรรม จึงเป็นเหตุใกล้ให้สติปัฏฐานเกิด ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 4 เม.ย. 2555

ดังนั้นการคิดเรื่องปรมัตถธรรม หรือ ศึกษาพระอภิธรรม แล้วก็พิจารณาโดยแยบคาย คำนี้สำคัญ พิจารณาโดยแยบคายอย่างไรเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด คือ พิจารณา ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ปรมัตถธรรม พระอภิธรรม ที่ศึกษามา ไม่ว่าจะเป็น จักขุวิญญาณ วิถีจิต จิต เจตสิก รูป ที่เป็นชื่อต่างๆ ในหนังสือที่ได้ศึกษา คือ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นพระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงที่กำลังปรากฏ ไม่ได้อยู่ในพระไตรปิฎก ในหนังสือ ครับ การพิจารณาโดยแยบคาย ว่า เป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ และไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล นี่คือ การพิจารณาโดยแยบคายในการได้ศึกษาปรมัตถธรรม อันจะทำให้สติปัฏฐานเกิด ครับ และประการสำคัญที่สุด การพิจารณาอย่างแยบคายว่า ปรมัตถธรรม พระอภิธรรมที่ศึกษา จุดประสงค์ เพื่อเข้าใจความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ และเพื่อไถ่ถอนความ เป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล ด้วยเข้าใจว่ามีแต่ธรรมที่กำลังปรากฏ ก็เป็นการพิจารณาโดยแยบคายถูกต้อง อันจะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด ครับ

หากไม่พิจารณาโดยแยบคาย ในการศึกษาปรมัตถธรรม อภิธรรม ก็จะกลายเป็นการศึกษาตำราอย่างหนึ่ง ที่จะมุ่งจำชื่อ เรื่องราว และอยากรู้ในส่วนต่างๆ แต่ลืมไปว่า คือ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นพระอภิธรรมที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ครับ ดังที่ สถานที่ต่างๆ ก็มีการศึกษาปรมัตถธรรม อภิธรรม มากมาย แต่ศึกษาอย่างไร จะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ ต้องศึกษาแล้วพิจารณาโดยแยบคายว่า ศึกษาเพื่อเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้ และสิ่งที่ศึกษาก็คือ สิ่งที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน และไม่มีเรา มีแต่ธรรมเป็นไป อันศึกษาเพื่อละคลายความไม่รู้และความเห็นผิดว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล นี่คือการคิดพิจารณาโดยแยบคาย ในการศึกษาปรมัตธรรม อภิธรรม อันเป็นเหตุใกล้ให้สติปัฏฐานเกิด ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

เชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ ในเรื่องเหตุใกล้ให้เกิดสติ ครับ

สัญญาที่มั่นคงเป็นเหตุใกล้

เรียนอย่างไรให้มีสติ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 4 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิ่งที่สำคัญที่สุด ต้องเริ่มที่การฟังพระธรรมให้เข้าใจ ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งแสดงถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด จากที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าขณะนี้เป็นธรรม ก็จะค่อยๆ สะสมความเข้าใจที่ถูกต้องไปตามลำดับ มีความเข้าใจว่าธรรมไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน มีจริงในขณะนี้ ฟังจนกว่าจะเข้าใจจริงๆ เป็นสัญญาที่มั่นคง อันเป็นสัญญาที่จำสภาพธรรมอันเกิดพร้อมกับปัญญา เพราะมีการฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ จึงมีเหตุที่จะทำให้มีการพิจารณาหรือระลึกถึงพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังอย่างถูกต้องแยบคาย ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากเรื่องของธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ในขณะนั้นก็เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมเลย ก็คงจะไม่มีการพิจารณาไตร่ตรองพระธรรมอย่างแน่นอน

สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ นั่นเอง ที่จะเป็นที่ตั้งให้สติเกิดขึ้น ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และปัญญารู้ตามความเป็นจริง (สติปัฏฐาน) เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย จริงๆ ไม่ใช่เรื่องหวัง ไม่ใช่เรื่องต้องการ ไม่ใช่เรื่องของความจดจ้อง ไม่ใช่เรื่องของการไปกระทำอะไรด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความเห็นผิด และ ด้วยความไม่รู้ แต่เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาไปตามลำดับ

เรื่องเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของปัญญาที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สติเกิดขึ้นระลึกและปัญญารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยการฟังในสิ่งที่มีจริงเนืองๆ บ่อยๆ พิจารณาเหตุผลแล้วก็เจริญเหตุให้สมควรแก่ผลด้วย ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง มีจริงในขณะนี้ หนทางที่จะเป็นไปเพื่อการรู้ธรรมตามความเป็นจริง ก็มีจริง แต่ต้องเป็นหนทางแห่งปัญญา เพราะฉะนั้น ก็ต้องกลับมาที่ฟังพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 5 เม.ย. 2555

เริ่มต้นจากสัญญาความจำที่มั่นคงว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมะที่มีจริง และ ปัญญาที่รู้ความจริงจากการฟังที่มั่นคง เป็นเหตุให้สติเกิดระลึกขณะนั้นว่าเป็นธรรมะแต่ละหนึ่ง เท่านั้น ไม่ปนกับทวารอื่น โลกอื่น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 5 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
dhanan
วันที่ 5 เม.ย. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 5 เม.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Patikul
วันที่ 7 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ให้ "เข้าใจจนจรดกระดูก"

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
panasda
วันที่ 14 ก.พ. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 14 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Sea
วันที่ 19 เม.ย. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ