ตทาลัมพนจิต กับ ทวิปัญจวิญญาณ รู้อารมณ์เดียวกันหรือไม่

 
rojer
วันที่  11 เม.ย. 2555
หมายเลข  20945
อ่าน  2,169

ขอถามดังนี้

๑. ตทาลัมพนจิต กับทวิปัญจวิญญาณจิต จะต้องรู้อารมณ์เดียวกันหรือไม่

๒. เจตสิกที่เกิดร่วมกับตทาลัมพนจิตเมื่อรู้อารมณ์ที่เป็น อิฏฐารมณ์ หรือ อนิฏฐารมณ์

จะเท่ากับเจตสิกที่เกิดกับ ทวิปัญจวิญญาณจิต หรือไม่

๓. เจตสิกที่เกิดกับตทาลัมพนจิต ทางปัญจทวาร และทางมโนทวาร มีเท่ากันหรือไม่

และมีเจตสิกอะไรบ้าง

ขอความรู้ด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 11 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิตที่จะกระทำตทาลัมพนกิจได้นั้น ล้วนแต่เป็นวิบากจิตทั้งสิ้น (ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่กิริยา) มี ๑๑ ดวง ได้แก่ คือ อุเบกขาสันติรณจิต ๒ ดวง โสมนัสสันติรณจิต ๑ ดวง และ มหาวิบาก ๘ ดวง ที่เรียกว่า ตทาลัมพนจิต ก็เรียกตามจิตที่กระทำกิจนี้

ตทาลัมพนจิต เป็นจิตที่รับรู้อารมณ์ต่อจากชวนจิต โดยวิสัยของกามบุคคล ซึ่งเป็นผู้ปฏิสนธิด้วยวิบากของกุศลกรรม หรืออกุศลกรรมที่ยังเป็นไปในกาม เมื่ออารมณ์ยังมีอายุเหลืออยู่ ตทาลัมพนจิตซึ่งเป็นวิบากของกรรมที่เป็นกามวจร จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่เหลือ ๒ ขณะ และตทาลัมพนจิต ดวงสุดท้ายก็ดับไปพร้อมกับอารมณ์ซึ่งเป็นสภาวรูป รูปๆ หนึ่ง นั้น กามชวนะ จะเป็นกุศล หรืออกุศล ก็ตาม ถ้าอายุของรูปยังเหลืออยู่ ก็ย่อมเป็นเหตุให้ตทาลัมพนจิต เกิดต่อได้

ตทาลัมพนจิต เกิดได้ทั้งทางปัญจทวาร และ ทางมโนทวาร ที่สำคัญ จะต้องเกิดต่อจากกามชวนะ ไม่ใช่อัปปนาชวนะ ไม่ใช่โลกุตตรชวนะ และ จะต้องเกิดกับกามบุคคล คือ บุคคลในกามภูมิ เท่านั้น ตทาลัมพนจิต เป็นจิตประเภทหนึ่ง จิตทุกประเภทเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ ตทาลัมพนจิตก็เช่นเดียวกัน เกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ ถ้าเป็นทางปัญจทวารอารมณ์ของตทาลัมพนจิต ต้องเป็นอติมหันตารมณ์ คือ เป็นอารมณ์ที่ใหญ่ยิ่ง และถ้าเป็นอารมณ์ทางมโนทวาร ต้องเป็นอารมณ์ที่ชัดเจนอย่างยิ่ง คือ เป็นวิภูตารมณ์ อารมณ์ทั้งสองอย่างนั้น ต้องเป็นปรมัตถอารมณ์เท่านั้น

ดังนั้น จากคำถามที่ว่า ตทาลัมพนจิต กับ ทวิปัญจวิญญาณจิต จะต้องรู้อารมณ์เดียวกันหรือไม่?

- พิจารณาได้ว่า วิถีจิตที่เกิดขึ้นทางทวารหนึ่งทวารใด นั้น จะต้องรู้อารมณ์เดียวกันทั้งหมด เช่น ถ้าเป็นทางตา วิถีจิตทั้งหมดทุกขณะ ตั้งแต่จักขุทวาราวัชชนจิต จนถึง ตทาลัมพนจิต ก็รู้อารมณ์เดียวกันทั้งหมด คือ รู้ สี ซึ่งเป็นรูปารมณ์ ดังนั้น พอจะสรุปได้ว่า ตทาลัมพนจิต ที่เกิดทางปัญจทวาร ก็รู้อารมณ์เดียวกันกับอารมณ์ที่ทวิปัญจวิญญาณ รู้ นั่นเอง

๒. เจตสิกที่เกิดร่วมกับตทาลัมพนจิตเมื่อรู้อารมณ์ที่เป็น อิฏฐารมณ์ หรือ อนิฏฐารมณ์จะเท่ากับเจตสิกที่เกิดกับ ทวิปัญจวิญญาณจิต หรือไม่?

- จากความเข้าใจเบื้องต้น ตทาลัมพนจิต เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม การที่ตทาลัมพนจิตที่เกิดขึ้นต่อจากกามชวนะ นี้ จะเป็น กุศลวิบาก คือ เป็นผลของกุศลกรรม หรือ เป็นอกุศลวิบาก ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม และจะเป็นจิตที่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา หรือ อุเบกขา นั้น ทั้งนี้ ต้องแล้วแต่อารมณ์ ที่ประสบนั้นเป็นสำคัญ กล่าวคือ ถ้าอารมณ์นั้นเป็น อติอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ดีมาก ตทาลัมพนะที่เกิด ย่อมเป็นกุศลวิบาก และประกอบด้วยโสมนัสเวทนา, ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอิฏฐารมณ์ คือเป็นอารมณ์ที่ดีอย่างปานกลาง อย่างสามัญ ทั่วๆ ไป ตทาลัมพนะที่เกิด ก็เป็นกุศลวิบากเหมือนกัน แต่เป็นกุศลวิบากที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา แต่ถ้าอารมณ์นั้นเป็น อนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ตทาลัมพนะ ที่เกิด ต้องเป็นอกุศลวิบาก เท่านั้น และเป็นจิตที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาแต่อย่างเดียว

สรุป ได้ว่า ถ้าเป็นโสมนัสสันติรณกุศลวิบาก (ที่กระทำตทาลัมพนกิจ) ก็จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๑ ดวง คือ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรียเจตสิก มนสิการะ วิตักกะ วิจาระ อธิโมกขเจตสิก ปีติ ในกรณีที่รู้อารมณ์ที่เป็นอติอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ดียิ่ง

ถ้าเป็นอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก (ที่กระทำตทาลัมพนกิจ) อันเป็นผลของกุศลกรรมรู้อารมณ์ที่ดีปานกลาง ก็จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๐ ดวง คือ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรียเจตสิก มนสิการะ วิตักกะ วิจาระ อธิโมกขเจตสิก ถ้าเป็นอุเบกขาสันติรณอกุศลวิบาก (ที่กระทำตทาลัมพนกิจ) ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม ก็จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๐ ดวง คือ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรียเจตสิก มนสิการะ วิตักกะ วิจาระ อธิโมกขเจตสิก ถ้าเป็นมหาวิบาก ๘ ดวงหนึ่งดวงใดที่กระทำตทาลัมพนกิจ ก็จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่านี้ ทั้งสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ปกิณณกเจตสิก และโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ซึ่งจะแตกต่างจากทวิปัญจวิญญาณ ซึ่งมีเพียง สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง คือ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรียเจตสิก มนสิการะ เกิดร่วมด้วยเท่านั้น

๓. เจตสิกที่เกิดกับตทาลัมพนจิต ทางปัญจทวาร และทางมโนทวาร มีเท่ากันหรือไม่และมีเจตสิกอะไรบ้าง

- ตทาลัมพนจิต ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเกิดทางปัญจทวารหรือทางมโนทวาร ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นผลของกุศลกรรมหรือผลของอกุศลกรรม ดังที่ได้แสดงความคิดเห็นในคำถามข้อที่ ๒ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prachern.s
วันที่ 12 เม.ย. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 12 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิตที่เกิดขึ้นจะต้องมีอารมณ์ ซึ่งในวิถีจิต ๑๗ ขณะ จิตที่เป็นวิถีจิตต้องมีอารมณ์ ครับ เช่น วิถีจิตทางปัญจทวาร มีรูปเป็นอารมณ์ เช่น มี สี เป็นอารมณ์ จิตที่เกิดขึ้นทางปัญจทวาร วิถีจิตแรก คือ จิตขณะแรกทางปัญจทวาร คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ก็ต้องมี สี เป็นอารมณ์ จักขุวิญญาณ จิตเห็นที่เกิดขึ้นก็ต้องมีสีเป็นอารมณ์ สัมปฏิจฉันนะ สันติรณะ โวฎฐัพพนะ ชวนจิต ๗ ขณะ และตทาลัมพนะจิต อีก ๒ ขณะ ก็ต้องมี สี เป็นอารมณ์

สรุปได้ว่า จิตที่เป็นวิถีจิตที่เกิดขึ้น ทุกๆ จิต จะต้องมีอารมณ์เดียวกัน เหมือนกันหมด

ส่วนเจตสิกที่เกิดกับจิตนั้น ก็แตกต่างกันไป ตามประเภทของจิตครับ ซึ่งเจตสิก คือ สภาพธรรมที่ปรุงแต่งอย่างยิ่ง ปรุงแต่งจิต หากไม่มีเจตสิก จิตก็เกิดไม่ได้ แต่ที่จิตมีหลากหลาย มากมาย เพราะ เจตสิกมีหลายประเภท จึงประกอบกับจิต ทำให้จิตมีหลายประเภท ครับ ดังนั้น จิตที่ทำหน้าที่แตกต่างกันไป ที่เป็นจิตแต่ละประเภท ก็มีเจตสิกแตกต่างกันด้วย ครับ

ที่สำคัญที่สุด ประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม โดยเฉพาะพระอภิธรรม ไม่ใช่การศึกษาวิชาพระพุทธศาสนาที่เป็นวิชาการ และไม่ใช่เป็นเรื่องของการหาคำตอบ เป็นตัวเลข แต่ศึกษาพระอภิธรรมเพื่อเข้าใจตัวจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ ดังนั้น การศึกษาเรื่องจิต เจตสิก รูป คือ เพื่อให้เข้าใจว่าไม่มีเรา มีแต่ธรรมที่เป็นไป เป็นไปตามเหตุปัจจัย ซึ่งการศึกษาด้วยจิตที่ถูกเช่นนี้ ย่อมนำมาซึ่งความเจริญขึ้นของปัญญา แต่ไม่ใช่สัญญาที่เป็นความจำในเรื่องราวเป็นตัวเลขต่างๆ ซึ่งชาตินี้ตายไปก็ลืมหมด แต่ความจำด้วยความเข้าใจ ว่ามีแต่ธรรม ไม่ใช่เรา ซึ่งเป็นการเจริญขึ้นของปัญญาที่เป็นไปเพื่อละกิเลส คือ มีความเข้าใจถูกว่าเป็นแต่เพียงธรรม ย่อมสะสมต่อไปในชาติหน้า ซึ่งก็จะทำให้เกื้อกูลต่อการเจริญสติปัฏฐาน คือ ทำให้เกิดสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา และเป็นไปเพื่อดับกิเลสได้ เพราะ ศึกษาด้วยความเห็นถูกในเรื่องพระอภิธรรม ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 12 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
rojer
วันที่ 12 เม.ย. 2555

ขอบคุณและอนุโมทนาทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 12 เม.ย. 2555

ที่ศึกษาพระอภิธรรม จิต เจตสิก รูป เพื่อให้เข้าถึงความจริงของสัจจธรรมว่า ธรรมะแต่ละอย่าง แต่ละหนึ่ง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไป ไม่ใช่เรา และที่สำคัญ ไม่ใช่ไปรู้ขณะของจิตว่าแต่ละดวงมีเจตสิกประกอบร่วมด้วยกี่ดวง ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
rojer
วันที่ 12 เม.ย. 2555

เข้าใจในความหวังดีที่ท่าน Paderm และคุณ wannee ต้องการจะบอกครับ

ว่าศึกษาอภิธรรม เพื่อให้เข้าใจ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็น จิต เจตสิก รูป ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เป็นตัวตนไปเรียนที่จะจดจำ จำนวนจิตและเจตสิก

แต่ที่ต้องถามก็ด้วยความสงสัยครับ แล้วก็เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่นด้วย

(สำหรับผู้ที่ยังรู้ไม่ละเอียดก็จะได้รู้เพิ่มมากขึ้น ตามที่ท่านอ.คำปั่นตอบมาครับ)

ไม่เช่นนั้น ก็ยังงงว่า เป็นวิบากจิตเหมือนกัน แต่รู้อารมณ์ ต่อจากชวนจิต ที่เป็นกุศล อกุศล นั้นเป็นอย่างไร และอารมณ์ที่จะทำให้ตทาลัมพนเกิด ก็ต้องเป็น อารมณ์ปรมัตถ์ ไม่ใช่อารมณ์บัญญัติ

ส่วนที่ถามเรื่อง เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ก็เผื่อว่าจะเป็นเหตุใ้ห้สติปัฏฐานเกิดระลึกได้ครับ

แล้วนอกจากนั้นผู้ที่สนใจเรื่อง ตทาลัมพนา เมื่อ Search หาในกระทู้ ก็จะได้มี Link โยงไปอ่านได้ครอบคลุมละเอียดขึ้น เพื่อเพิ่มความเข้าใจให้ถูกต้องมากขึ้นครับ

ขอบคุณในความปรารถนาดีของทั้งสองท่านครับ

คราวหน้าถ้ามีอะไรที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ไม่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญสติปัฏฐาน กรุณาเขียนมาชี้แนะได้เลยครับ

ยินดีมากๆ เลยที่จะรับฟังคำเสนอแนะครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 12 เม.ย. 2555

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

ขอเรียนร่วมสนทนาในประเด็นนี้นะครับ

บางครั้งการศึกษาธรรม ส่วนใหญ่จะพยายามหาชื่อ ก่อนที่จะสำเหนียก หรือ เข้าใจ ว่า คือ ตัวธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ซึ่งเหตุให้เกิดสติปัฏฐาน ไม่ใช่การรู้ว่า จิตแต่ละประเภท มีเจตสิกต่างกันเท่าไหร่ อย่างไร ไม่เช่นนั้น ตามสถานที่ศึกษาพระอภิธรรมต่างๆ ที่ศึกษากัน รู้รายละเอียดของปรมัตถธรรมได้อย่างละเอียดได้ทั้งหมด คงจะเป็นปัจจัยให้เกิดสติปัฏฐาน นั่นไม่ใช่ครับ เพราะ เหตุให้เกิดสติปัฏฐาน คือ สัญญาที่มั่นคง คือ ความจำที่พร้อมกับความเข้าใจสภาพธรรมว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขั้นการฟัง ที่เรียกว่า สัจจญาณ คือ ความเข้าใจว่า สิ่งที่ศึกษาคือสภาพธรรมที่มีกำลัง ในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา และศึกษาเพื่อน้อมไปสู่การรู้ว่าขณะนี้เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา นี่คือ สัจจญาณ ที่จะนำไปสู่ กิจจญาณ คือ สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่มีในขณะนี้ ซึ่งเราก็จะต้องเป็นผู้ตรงว่า ขณะที่พยายามหาชื่อ พยายามรู้ ว่าจิตแต่ละประเภทนั้น มีเจตสิกแตกต่างกันเท่าไหร่ วิถีจิตอย่างละเอียดเป็นอย่างไร ได้เกิดความคิดที่น้อมเข้าไปว่า คือ สภาพธรรมในขณะนี้หรือไม่ หรือว่าขณะนั้นกำลัง หาคำตอบอยู่ และได้คำตอบแล้ว แต่ก็ลืมไปอีกว่า คือ สภาพธรรมในขณะนี้ หากไม่มี การสนทนาและการเตือนเพื่อให้กลับมาสู่สภาพธรรมในขณะนี้ ครับ ดังนั้นเหตุให้เกิด สติปัฏฐาน จึงไม่ใช่ รู้ว่าจิตแต่ละจิต มีเจตสิกต่างกันเท่าไหร่ และรู้ว่าจิตแต่ละจิต มี เจตสิกอะไรบ้าง เพราะว่า สติปัฏฐานเบื้องต้นไม่ใช่การรู้เจตสิกแต่ละอย่าง เพราะเป็น ปัญญาระดับสูงมากแล้วครับ ซึ่งเหตุให้เกิดสติปัฏฐาน คือ มีสัจจญาณ มีความเข้าใจ ขั้นการฟัง ว่าขณะนี้เป็นธรรม ไม่ใช่เรา และพระอภิธรรมคือ สภาพธรรมในขณะนี้ ที่ กำลังปรากฏ ครับ และอีกประเด็นหนึ่ง ประโยชน์ของผู้รับฟังและผู้อื่นที่จะได้ประโยชน์จากการศึกษาพระธรรม คือ การได้ประโยชน์ในเรื่องการรู้ความแตกต่างของชื่อ เจตสิก ต่างๆ หรือ ประโยชน์ที่จะนำไปสู่การเกิดสติปัฏฐาน ที่เป็นประโยชน์จริงๆ คือ การน้อม เข้ามาว่าคือสภาพธรรมในขณะนี้ ครับ ซึ่งกระผมขอนำคำแนะนำจากท่านอาจารย์สุจินต์ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องการศึกษาพระอภิธรรมดังนี้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 12 เม.ย. 2555

อย่าเพิ่งไปไหนไกล

อรวรรณ แต่ในการศึกษาเพื่อให้ทราบความละเอียดของวิถีจิต ผู้ศึกษาฟังทั้งศัพท์ภาษาบาลีและความยุ่งยากก็แยกแยะไม่ออกว่า แล้วความละเอียดขนาดไหนที่สามารถทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏขณะนี้

สุ. คุณอรวรรณ มีเพื่อนหลายคนไหมคะ

อรวรรณ หลายคนค่ะ

สุ. เพื่อนดีของคุณอรวรรณคือใคร ไม่ต้องเป็นชื่อ คนที่สามารถจะทำให้คุณอรวรรณ มีความเห็นที่ถูกต้อง ไม่ใช่ให้เห็นผิด เข้าใจผิด ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นขณะนี้มีสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าเป็นเพื่อนที่ดี จะพาให้คุณอรวรรณ ห่างไกลจากสิ่งที่ปรา ไปสนใจเรื่องที่คุณอรวรรณไม่สามารถจะรู้ได้ หรือรู้ว่าแม้ว่าสิ่งนี้มี แต่ก็ยากแสนยาก เพราะว่าไม่เคยคิดที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ คิดเรื่องราวทั้งหมด มาจากสิ่งที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง คิดนึกบ้าง เป็นเรื่องราวมากมาย โดยที่แม้ขณะนี้ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ก็เห็นเป็นคนนั้นคนนี้ เป็นอย่างนี้ไปทุกชาติ กับคนที่รู้ว่า ทำไมไม่รู้สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นประโยชน์สูงสุดที่จะรู้ว่า อะไรเป็นปรมัตถ์ อะไรเป็นบัญญัติ มิฉะนั้นก็พูดแต่ชื่อ ปรมัตถ์กับบัญญัติ บัญญัติเป็นสิ่งที่ไม่มีจริง ปรมัตถ์เป็นสิ่งที่มีจริง และเมื่อไรจะรู้จักตัวปรมัตถ์ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง

เพราะฉะนั้นใครจะพาคุณอรวรรณไปไหนไกลๆ ตามไป หรือให้มาสู่การเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่กำลังมีจริงๆ และยังจะมีต่อไปอีกนานแสนนาน ถ้าไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้จริงๆ ประโยชน์อะไรกับการที่มีเห็นแล้วกี่ภพกี่ชาติก็ไม่รู้เลยว่า เป็นธรรม

เพราะฉะนั้นไม่อยากจะพาไปไหน แต่ว่าให้ฟังจนกระทั่งสามารถไม่สนใจสิ่งอื่น และมีสิ่งที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้าจริงๆ ไม่ห่างเหินจากสิ่งที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้า

เชิญคลิกฟังที่นี่ครับ

อย่าเพิ่งไปไหนไกล

และเชิญคลิกฟังอีก ๒ กระทู้นี้ครับ

สัญญาที่มั่นคงเป็นเหตุใกล้

เรียนอย่างไรให้มีสติ

เชิญคลิกอ่านกระทู้นี้ครับ มีประโยชน์มาก

ความจำที่มั่นคงที่จะเป็นปทัฏฐาน

หวังว่าคงเป็นประโยชน์นะครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
rojer
วันที่ 16 เม.ย. 2555

เพราะมัวแต่หาค้นคว้า หาคำตอบที่ไม่ใช่สภาพธรรมปัจจุบัน จึงไม่สามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในณะนี้ได้

ขอบคุณในความเมตตา ของท่าน Paderm ครับ ที่อุตส่าห์อธิบายให้เข้าใจ และยังนำคำสอนของท่านอ. มาเพื่อเพิ่มความเข้าใจให้มากขึ้นด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
natre
วันที่ 30 ส.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Thanapolb
วันที่ 1 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

และกราบบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขออนุโมทนากับกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Witt
วันที่ 12 ก.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Witt
วันที่ 28 ก.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ