การใช้คำพูด (ศีลข้อ 4)

 
lovedhamma
วันที่  22 พ.ค. 2555
หมายเลข  21148
อ่าน  16,991

ศีลข้อ ๔ ที่บอกว่า ห้ามพูดปด และ คำหยาบ แต่คำ ๒ คำนี้ คือ กู กับ มึง ในอดีตเป็นเรื่องปกติ ... ทุกวันนี้ถือเป็นคำหยาบ แต่อย่างไรก็ตาม ในการอยู่ร่วมกันในสังคมของเพศชายล้วนหรือการหยอกเล่นในหมู่เพื่อนฝูง ก็คงยากที่จะไม่ให้พูด ในเหตุการณ์/กรณีนี้ จะถือว่าเป็นเรื่องผิดศีลเกี่ยวกับการพูดรึเปล่าครับ

ขอทราบอย่างละเอียดด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 22 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จริงๆ แล้ว ในเรื่องของศีล ๕ ในข้อที่ ๔ มุ่งหมายถึงเฉพาะการงดเว้นจากการกล่าวเท็จ หมายความว่า ถ้ามีความจงใจที่จะกล่าวคำเท็จ กล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ได้เห็นก็บอกว่าไม่เห็น กระทำก็บอกว่าไม่ได้กระทำ อย่างนี้ คือลักษณะของการกล่าวคำเท็จ ผิดศีลข้อที่ ๔ สำหรับประเด็นเรื่องคำหยาบคาย สำคัญอยู่ที่จิต ว่าจะเป็นคำหยาบหรือไม่หยาบ ถ้ามีการพูดคำที่หยาบคาย กล้าแข็ง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เสียดสีผู้อื่น นี้คือ ลักษณะของการพูดหยาบคาย ซึ่งเป็นอกุศล เป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย ไม่เป็นประโยชน์เลยแม้แต่น้อย ซึ่งองค์ของผรุสวาจา มี ๓ คือ มีบุคคลที่จะพึงด่า ๑ ตนเองมีความโกรธ ๑ และได้ด่าผู้นั้น ๑ ดังนั้น การพูดคำที่พูดกันเป็นปกติ ก็สามารถพิจารณาจากองค์ ๓ ประการนี้ได้ว่าเป็นวาจาหยาบหรือไม่หยาบ

ชีวิตประจำวัน ยากที่พ้นไปจากอกุศล เมื่อกล่าวอย่างกว้างๆ แล้วขณะใดที่จิตไม่ได้เป็นไปใน ทาน ศีล-การอบรมความสงบของจิต และ การอบรมเจริญปัญญาแล้ว นอกจากนั้น เป็นอกุศลทั้งหมด หลังเห็น หลังได้ยิน หลังได้กลิ่นเป็นต้น อกุศลเกิดขึ้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ การกล่าววาจาหยาบก็เช่นเดียวกัน ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับได้ ก็ยังมีเหตุปัจจัยให้กล่าววาจาหยาบออกมาได้ เพราะผู้ที่จะดับการกล่าววาจาหยาบคายได้อย่างเด็ดขาด ต้องถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามี

วาจาหยาบ เพราะจิตใจหยาบ เนื่องจากเป็นกุศลจิต แม้จะเป็นวาจาที่ดูไพเราะ แต่เจตนาร้าย มุ่งร้ายต่อผู้อื่น ก็เป็นวาจาหยาบ เพราะฉะนั้น การได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ก็จะทำให้เห็นโทษของอกุศลที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แม้ว่าจะยังไม่สามารถดับได้อย่างเด็ดขาด แต่ก็สามารถขัดเกลาได้ในชีวิตประจำวัน มีความละอาย และความเกรงกลัวที่จะถอยกลับจากอกุศลประการนั้นๆ ได้ ครับ.

ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ผรุสวาจาประกอบด้วยองค์ ๓

ผรุสวาจาเกิดจากจิตที่ประทุษร้าย

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 22 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก แม้แต่การใช้คำพูด โดยเฉพาะ ใน อกุศลกรรมบถ ข้อ วาจาหยาบ คือ ผรุสวาจา

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจครับว่า สิ่งที่มีจริง คือ จิต เจตสิกและรูป ดังนั้น วาจา ที่เป็นเสียงคำพูด จะมีได้ ก็เพราะ อาศัย จิต เจตสิกและรูป พราะ มีจิตที่ต้องการที่จะพูด จึงพูด ซึ่งการพูด ก็พูดด้วยจิตที่แตกต่างกัน ดังนั้น วาจาหยาบ จึงมีเหตุมาจาก จิต และเจตสิก คือ จิตที่ไม่ดี เป็นอกุศลจิต อันประกอบด้วยโทสเจตสิก เพราะฉะนั้น วาจาหยาบ จึงเป็น วาจาที่มาจากจิตที่หยาบ คือ จิตที่เป็นอกุศลจิต คือ โทสมูลจิต ไม่ใช่โลภะ และ โมหมูลจิต ครับ เป็นจิตที่เป็นโทสะ เป็นสำคัญ จึงกล่าววาจาหยาบ เพราะฉะนั้น จะเป็นวาจาหยาบหรือไม่ สำคัญที่ใจ คือ จิต ว่าหยาบด้วยอกุศลที่เป็นโทสะหรือไม่ เป็นสำคัญ

แม้แต่ภาษา คำพูด ที่ฟังอาจจะหยาบ ที่เป็นสรรพนาม ที่คนในปัจจุบัน ถือว่าเป็นคำพูดที่ไม่ไพเราะ แต่ ถ้าจิตขณะนั้น ไม่มีเจตนาว่าร้าย ด้วยโทสะ การใช้สรรพนามเรียกกันนั้น ก็ไม่ชื่อว่า วาจาหยาบในทางพระพุทธศาสนา เพราะ จิตไม่หยาบด้วยโทสมูลจิต ที่ไม่มีจิตคิดจะว่าร้ายนั่นเอง

และ โดยนัยตรงกันข้าม หากใช้วาจาที่สละสลวย ที่คนถือกัน ค่านิยมในสังคมใช้กัน ว่าไพเราะ แต่มีเจตนาไม่ดี เจตนาว่าร้ายด้วย จิตที่เป็นโทสะ เช่น เพื่อนคนหนึ่งแต่งตัวไม่ดีเท่าไหร่ เพื่อนอีกคนก็กล่าวว่า แหม คุณดูสวยมากๆ เลยนะ ด้วยจิตที่มีเจตนาว่า จิตหยาบในขณะนั้น แม้คำพูดนั้นจะดูไม่หยาบ และใช้สรรพนามว่า คุณ ครับ เป็น วาจาหยาบแล้ว เป็นผรุสวาจา เพราะ จิตหยาบ เป็นสำคัญ และ ถึงแม้จะพูด ด้วยวาจา ที่เป็นเนื้อหา ที่เป็นธรรมของพระพุทธเจ้า แต่มีเจตนาว่า เสียดสี กระทบผู้อื่น ขณะนั้น เป็นจิตหยาบด้วยอกุศล เป็นโทสมูลจิต แม้เนื้อหา จะเป็นธรรม แต่ จิตหยาบ เจตนาว่าคนอื่นด้วยธรรม ก็ชื่อว่า เป็นผรุสวาจา วาจาหยาบ ครับ

เพราะฉะนั้น สำคัญที่จิตเป็นสำคัญ ครับ ว่า จะเป็นผรุสวาจา วาจาหยาบหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหา เรื่องราวที่พูด เป็นสำคัญ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 22 พ.ค. 2555

ท่านพระปิลินทวัชชะ กล่าววาจาว่า คนถ่อย เรียกพระภิกษุทั้งหลาย ฟังดูแล้ว ก็เหมือนวาจาหยาบ เพราะ คำว่าถ่อย ไม่น่าฟังเลย ที่สังคมปัจจุบัน สำคัญว่า เป็นวาจาที่ไม่ดี แต่ ท่านกล่าวด้วย การสะสม มาในอดีต ที่เคยใช้คำนี้ มาแล้ว ๕๐๐ ชาติ ติดต่อกัน และ ไม่สามารถละ วาสนา ความเคยชินที่ไม่ดีได้ นอกจากพระพุทธเจ้า ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็กล่าว คำพูด ว่า คนถ่อยมานี่ เป็นต้น จนภิกษุทั้งหลาย ทนไม่ได้ ไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า ตรัสว่า ปิลินทวัชชะ ไม่ได้กล่าวร้าย ไม่มีวาจาหยาบเลย เพราะ ท่านดับกิเลสแล้ว จิตขณะที่พูดไม่เป็นอกุศล และ กุศลเลย เป็นกิริยาจิตเท่านั้น แต่ท่านกล่าวด้วย ความเคยชินตามที่สะสมมาในอดีตชาติ ครับ

นี่แสดงให้เห็นถึง วาจาจะหยาบหรือไม่ สำคัญที่จิตเป็นสำคัญ ครับ

สรุปได้ว่า แม้จะมีการพูด ที่เป็นสรรพนามที่ไม่ดีในปัจจุบัน ที่ใช้แทนตนเอง และผู้อื่น แต่ไม่ได้มีเจตนาว่าร้ายคนอื่น ด้วย จิตที่เป็นโทสมูลจิตที่เป็น จิตหยาบ ไม่ชื่อว่า เป็นบาป ที่เป็นอกุศลกรรมบถ ข้อ ผรุสวาจา ครับ

ที่สำคัญ ในเรื่องของ วาจา คำพูดนั้น ไม่ใช่มีเพียง การงดเว้นจากวาจาที่หยาบเท่านั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดง วาจาที่ดี คือ การพูดคำจริง การพูดคำไม่เพ้อเจ้อ การไม่พูดส่อเสียด และ ประการสุดท้าย ที่ตรงกันข้าม กับ การพูดวาจาหยาบ คือ การพูดวาจาอ่อนหวาน

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 22 พ.ค. 2555

การพูดวาจาอ่อนหวาน คือ การพูดด้วยกุศลจิต แม้ว่าจะใช้สรรพนามว่าอะไรก็ตาม หากพูดด้วยจิตที่เป็นกุศล มีความหวังดี มีเมตตาในขณะนั้น ขณะนั้น เป็นวาจาที่อ่อนหวาน อ่อนหวานด้วยกุศล และ หากเป็นผู้ที่ขัดเกลากิเลสมากขึ้น ผู้ที่มีปัญญาย่อมคำนึงถึงประชุมชน และ สังคมในยุคนั้นว่า สังคมสมัยนั้น ยอมรับภาษาอะไร ว่าอย่างไร จึงใช้ภาษาให้เหมาะสม กับ ยุคสมัยนั้น เพื่อไม่ให้เป็นที่ติเตียนของชาวโลกและสังคมนั้นด้วย เมื่อสมัยนี้ คำพูด ว่า กู มึง เป็นสรรพนามที่ไม่เพราะ ไม่เหมาะสม ผู้มีปัญญา ขัดเกลากิเลส คำนึงถึงจิตผู้อื่นด้วย ไม่ใช่จิตของตนเท่านั้น ก็พูดถ้อยคำภาษาที่เหมาะสมในสมัยนี้ เช่น คุณ ผม เธอ เรา เขา ที่ไม่ใช่คำหยาบ ตามสมมติชาวโลกด้วย และ ก็กล่าวด้วย วาจา ที่เกิดจากกุศลจิตเป็นสำคัญด้วย ครับ

เพราะฉะนั้น เมื่อได้ศึกษาพระธรรม ก็สามารถ ละ ขัดเกลากิเลส ในคำพูดที่ไม่เหมาะสม ที่ชาวโลก ติเตียน เพื่อรักษาจิตของผู้อื่น และที่ลืมไม่ได้ คือ วาจาที่อ่อนหวาน วาจาที่ดี สำคัญที่จิตเป็นสำคัญ และ ไม่มีวาจาอะไรเลย ที่เป็นวาจาที่ประเสริฐสูงสุด เท่ากับ วาจาที่กล่าว ความจริงของสภาพธรรมที่เป็นความจริง ที่เป็นอริยสัจจะ คือ กล่าว ธรรม ชื่อว่า เป็นวาจาที่ดี ประเสริฐสูงสุด ครับ อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้น ก็ย่อมทำให้กาย และวาจาดีขึ้น และก็ค่อยๆ ละ วาจาที่ไม่เหมาะสม ตามสมมติชาวโลกได้ทีละน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่า จะหมดสิ้นไป เพราะ ผู้ที่จะละ วาสนา การสะสมที่ไม่ดีได้ทั้งหมด คือ พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น แต่ก็สามารถขัดเกลาได้บ้างตามกำลังของปัญญา ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pat_jesty
วันที่ 22 พ.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 23 พ.ค. 2555

เมื่อมีความเข้าใจเรื่องศีลละเอียดขึ้น กาย วาจา ใจก็ดีขึ้นตามนั้น

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 23 พ.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ.ผเดิม และทุกท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เข้าใจ
วันที่ 6 ส.ค. 2555

กราบอนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ