คนล่วงทุกข์ได้ เพราะความเพียร

 
chatchai.k
วันที่  11 มิ.ย. 2555
หมายเลข  21243
อ่าน  5,773

คนล่วงทุกข์ได้ เพราะความเพียร คำกล่าวนี้ หมายความว่าอย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุคคลย่อมล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร เป็นพระพุทธพจน์ ที่อยู่ใน อาฬวกสูตร โดยพระพุทธเจ้าทรงแสดงกับอาฬวกยักษ์ ครับ ซึ่งข้อความโดยตรง มีดังนี้ ครับ

[เล่มที่ 46] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้าที่ 439

อาฬวกยักษ์ทูลถามว่า

บุคคลย่อมข้ามโอฆะได้อย่างไร บุคคลย่อมข้ามอรรณพได้อย่างไร บุคคลย่อมล่วงทุกข์ได้อย่างไร ย่อมบริสุทธิ์ได้อย่างไร.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า

บุคคลย่อมข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา ย่อมข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท ย่อมล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 11 มิ.ย. 2555

ซึ่งความหมาย อรรถ ของคำว่า ย่อมล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร เป็นดังนี้ครับ

ในอรรถกถา แสดงโดยนัยสูงสุด คือ พระอนาคามี มีความเพียรเพื่อล่วงทุกข์จนถึงการเป็นพระอรหันต์ แต่กว่าจะถึง นัยสูงสุดนั้น ก็จะต้องเริ่มจากความเข้าใจเบื้องต้น ในเรื่อง ความเพียร การล่วงทุกข์ว่าเป็นอย่างไร ครับ

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก ความเข้าใจพระธรรม จึงต้องศึกษาด้วยความละเอียด ให้สอดคล้องทั้ง ๓ ปิฎก ดังนั้น เมื่อศึกษาพระอภิธรรม ก็เข้าใจครับว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีเรา มีแต่ธรรม และเป็นอนัตตา คือ ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ ทุอย่างต้องอาศัยเหตุ ปัจจัย จึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จึงไม่มีเรา ไม่มีบุคคล ที่จะล่วงทุกข์ ที่จะทำความเพียรแต่เป็นหน้าที่ของธรรมที่จะทำให้ล่วงทุกข์ได้ ซึ่งในความเป็นจริง ความเพียรที่เป็นวิริยเจตสิก เกิดกับจิตเกือบทุกประเภท แม้ในขณะที่อกุศลจิตเกิดก็มีความเพียรแล้ว เพียรเป็นไปในอกุศล แม้ในขณะที่กุศลจิตเกิดก็มีความเพียรแล้ว เพียรเป็นไปในกุศล

เพราะฉะนั้นในขณะนี้ โดยไม่รู้ตัวเลย มีความเพียรเกิดอยู่ ที่เป็นวิริยเจตสิก ไม่ต้องทำความเพียรก็มีความเพียรเกิดแล้ว เกิดกับจิตเกือบทุกขณะ จึงไม่มีเรา ไม่มีตัวตน ที่จะทำความเพียร ให้ความเพียรเกิดขึ้นเลย ครับ

ที่สำคัญ การล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ในความเป็นจริง เมื่อจิตเกิดขึ้น จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งไม่ใช่เพียงเจตสิกเดียวเท่านั้น แต่มีเจตสิกอื่นหลายๆ เจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราฉะนั้น เมื่อจิตเกิดขึ้น ไม่ใช่มีความพียรที่เป็นวิริยเจตสิกเท่านั้น ต้องมี เจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย มี ผัสสะ เวทนา สัญญาเจตสิก เป็นต้น ซึ่งการจะล่วงทุกข์ได้ ก็ต้องมีสภาพธรรมที่ละทุกข์ คือ สภาพธรรมที่ละกิเลส เพราะกิเลสเป็นเหตุแห่งทุกข์ สภาพธรรมนั้นจะต้องตรงข้ามกับกิเลสที่ไม่ดี คือ ธรรมฝ่ายดี คือ เจตสิกที่ดี นั่นเอง นั่นคือ ปัญญาเจตสิก และ ศรัทธาเจตสิก รวมทั้งเจตสิกที่ดีอย่างอื่นๆ เกิดขึ้น และก็ต้องมีความเพียรเกิดขึ้น ที่เป็นวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ดังนั้น จะล่วงทุกข์ด้วยความเพียร มีแต่ความเพียรอย่างเดียว ไม่มีปัญญา ไม่มี สภาพธรมฝ่ายดีอย่างอื่น ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 11 มิ.ย. 2555

เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยินคำว่า ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ก็เป็นอันเข้าใจได้ว่า เพราะมีปัญญาเกิดขึ้นในขณะนั้น พร้อมๆ กับความเพียร ย่อมล่วงทุกข์ได้ เพราะ ปัญญา และสภาพธรรมที่ดีอย่างอื่น ทำหน้าที่ละกิเลสประการต่างๆ จึงล่วงทุกข์ได้ ครับ

ขณะที่สติปัฏฐานเกิดรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ ขณะนั้นมี ความเพียรแล้ว พร้อมๆ กับปัญญาและสติ เป็นต้น ทำหน้าที่รู้ความจริง ละคลายกิเลส ความไม่รู้ เป็นต้น ในขณะนั้น ชื่อว่า กำลังล่วงทุกข์ด้วยควาเมพียร ไปทีละน้อย โดยที่ไม่ต้องไปทำความเพียร เพราะความเพียรเกิดแล้ว ในขณะที่ปัญญาเกิดขึ้น วิริยเจตสิกเกิดพร้อมปัญญา ครับ แต่เมื่อใดที่จะทำความเพียร ลืมความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ว่า มีเหตุปัจจัย จึงจะเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าสติและปัญญาจะเกิดหรือไม่ ย่อมเพียรผิด เป็นมิจฉาวายามะ ย่อมทำให้ไม่สามารถล่วงทุกข์ได้เลย แต่ขณะใดที่เข้าใจความเป็นอนัตตา โดยเข้าใจหนทางที่ถูก โดยเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ขณะที่เข้าใจ มีความเพียร เกิดร่วมด้วย พร้อมกับปัญญา เพียรถูกแล้วในขณะนั้น โดยไม่ต้องไปทำความเพียรและ ขณะที่เข้าใจ ก็ค่อยๆ ล่วงทุกข์ เพราะขณะนั้น มีความเพียรเกิดพร้อมปัญญา และเมื่อปัญญาเกิด ที่เป็นสติปัฏฐาน รู้ความจริงของในสภาพธรรมในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ ขณะนั้น มีความเพียรแล้ว ที่เป็นสัมมาวายามะ ความเพียรชอบ พร้อมกับปัญญา ขณะนั้น ย่อมค่อยๆ ล่วงทุกข์ไปทีละน้อย เพราะ รู้จักทุกข์ตามความเป็นจริงที่เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ครับ

เพราะฉะนั้น แทนที่จะไปทำความเพียร ก็เข้าใจว่า ความพียรเกิดอยู่แล้วเป็นปกติ แต่หนทางที่ถูก ก็คืออบรมเหตุ คือการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ขณะนั้น ก็มีความเพียรแล้ว เพียรที่จะศึกษาพระธรรมในหนทางที่ถูกต้อง ปัญญาที่เกิดขึ้นพร้อมความเพียร ย่อมล่วงทุกข์ได้ในที่สุด ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

อาฬวกสูตร

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chulalak
วันที่ 11 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nong
วันที่ 11 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 11 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตามความเป็นจริงแล้ว ชีวิตของบุคคลผู้ยังเต็มไปด้วยกิเลสประการต่างๆ ก็ย่อมเป็นไปกับอกุศลมากกว่ากุศล ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากกิเลสที่สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ดังนั้น จึงเป็นธรรมดาที่ยังเป็นผู้เกียจคร้าน ยังเป็นผู้มีการทอดธุระ ยังเป็นผู้ที่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ เกียจคร้านเพราะจิตเป็นไปในกายทุจริตบ้าง วจีทุจริตบ้าง มโนทุจริตบ้าง ซึ่งไม่ได้เป็นไปในกุศลธรรมเลย แต่เมื่อ อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ และมีความเข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้นไปตามลำดับ วิริยะ สภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับความเกียจคร้าน กล่าวคือ ความเพียรที่เกิดร่วมกับความเห็นถูก ก็จะเพียรไปในกุศลธรรมมากขึ้น เพียรละเว้นอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรเจริญกุศลมากขึ้นในชีวิตประจำวัน ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ล้วนเกิดจากความเข้าใจพระธรรม ซึ่งไม่มีตัวตนที่จะไปทำ ไม่มีตัวตนที่เพียร แต่สภาพธรรมกล่าวคือจิตและเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) เกิดขึ้นเป็นไปในกุศลธรรมนั่นเอง เพราะเหตุว่าทุกอย่างเป็นธรรมและเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง ความเพียรที่เป็นไปกับการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา พร้อมทั้งเจริญกุศลประการต่างๆ เพื่อขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน เป็นความเพียรที่คล้อยไปสู่การดับกิเลสพ้นจากทุกข์ได้ในที่สุด ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 11 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เซจาน้อย
วันที่ 11 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"ความพียรเกิดอยู่แล้วเป็นปกติ แต่หนทางที่ถูก ก็คืออบรมเหตุ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ขณะนั้น ก็มีความเพียรแล้ว เพียรที่จะศึกษาพระธรรมในหนทางที่ถูกต้อง ปัญญาที่เกิดขึ้นพร้อมความเพียร ย่อมล่วงทุกข์ได้ในที่สุด ครับ"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Graabphra
วันที่ 12 มิ.ย. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Supakorn_Laohasongkram
วันที่ 24 มี.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ