การนั่งสมาธิ

 
Patchanas
วันที่  5 ก.ค. 2555
หมายเลข  21355
อ่าน  3,872

ขอความเห็นเรื่องการนั่งสมาธิครับ

ผม นั่งสมาธิโดยใช้การกำหนดลมหายใจ แล้วก็เคยมีประสบการณ์ที่ จิต แน่วแน่ และ สัมผัสการรับรู้ทางกาย เช่น เสียงนั้น ค่อยๆ เบาลง จากนั้น ก็มีการอาการเหมือนจิต วูบลง และจนในที่สุด ลมหายใจก็หายไปด้วย เหลือ แต่ จิตดวงเดียวล้วนๆ ทรงอยู่ ในขณะนั้น สติผมก็ยังคงมี

ขอทราบว่า ภาวะดังกล่วาเป็นภาวะอะไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สมาธิ คือ ความตั้งมั่นแห่งจิต ซึ่งหากศึกษาโดยความละเอียดแล้ว

สมาธิ องค์ธรรม คือ เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเป็นเจตสิกที่แสดงถึงลักษณะของความตั้งมั่นในขณะนั้น ซึ่ง เอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกประเภท ดังนั้นเกิดกับจิตที่เป็นกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ ครับ

เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีสมาธิอยู่แล้ว ไม่ต้องฝึก เพราะ เอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกประเภทและทุกขณะ เป็น ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะนั่นเอง จึงไม่ต้องฝึกก็มีสมาธิชั่วขณะอยู่แล้วครับ และที่สำคัญ เราจะต้องแยก คำว่า สมาธิ กับ การเจริญสมถภาวนา ออกจากกันครับ คือ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

สมาธิ คือ ความตั้งมั่นของจิต ซึ่งตามที่กล่าวแล้ว สมาธิ เป็นได้ทั้งกุศล อกุศล ดังนั้น จึงมีความตั้งมั่นที่เป็นไปในอกุศล ก็มี เรียกว่า มิจฉาสมาธิ และ มีความตั้งมั่นที่เป็นไปในกุศลก็มี ที่เรียกว่า สัมมาสมาธิ ครับ ดังนั้น หากกล่าวคำว่า สมาธิ จึงไม่ได้ตัดสินเลยทันทีครับว่า เมื่อมีสมาธิแล้วจะเป็นสิ่งที่ดีครับ

ส่วน ถ้าเป็น สมถภาวนา หมายถึง การอบรมเจริญความสงบ ความสงบในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ความสงบ คือ สมาธิ ความไม่คิดฟุ้งซ่าน มีสมาธิ จะเป็นความสงบนะครับ แต่ ความสงบในที่นี้ มุ่งหมายถึง สงบจากกิเลส คือ เป็นกุศลในขณะนั้นนั่นเอง

ดังนั้น เมื่อกล่าวถึง การเจริญสมถภาวนา จึงมุ่งหมายถึง การเจริญความสงบ ที่เป็นฝ่ายกุศล เท่านั้นครับ คือ เจริญความสงบ คือ เกิดกุศลนั้นบ่อยๆ จนมีความตั้งมั่นในกุศล เป็นสัมมาสมาธิในขณะนั้นและก็เป็นความสงบที่เป็นกุศลด้วย ครับ

สมาธิ และ สมถภาวนา จึงแยกกันตามที่กล่าวมา ซึ่ง การระลึกรู้ลมหายใจ จึงไม่ใช่เรื่องของการฝึกสมาธิ แต่เป็นการเจริญสมถภาวนา และ วิปัสสนาด้วย ในการะลึกรู้ลมหายใจ และ ต้องเป็นปัญญาระดับสูงมาก ในการระลึกรู้ลมหายใจ ครับ

พระพุทธศาสนา คือ คำสั่งสอน ของผู้รู้ ดังนั้น คำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา ปัญญา คือ ความรู้ อวิชชา คือ ความไม่รู้ เป็นอกุศล ดังนั้น สิ่งใดก็ตามที่ทำแล้ว ทำให้ไม่รู้มากขึ้น มีแต่ความสงสัย ที่สำคัญ ทำให้ผิดปกติในชีวิตประจำวัน นั่นไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า ครับ

ดังนั้น การเจริญอบรมปัญญาที่ถูกต้อง ไม่ใช่เป็นเรื่องของความสงบ และ ความสงบก็ไม่ใช่การนิ่ง แต่ หนทางการอบรมปัญญาที่ถูกต้อง คือ การรู้ความจริงในชีวิตประจำวันว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ดังนั้น กำหนดลมหายใจ แต่สงสัย ไม่สามารถรู้ความจริงในชีวิตประจำวัน ก็ทำให้ไม่รู้มากขึ้น ควรกลับมาที่การศึกษาพระธรรมให้เข้าใจในขั้นการฟังให้ถูกต้อง ว่า ธรรมคือะไร และปัญญาที่ถูกต้องควรรู้อะไร นั่นคือ การรู้ความจริงในชีวิตประจำวัน ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wanipa
วันที่ 6 ก.ค. 2555
ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในบุญกุศลค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 6 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญอยู่ที่ค่อยๆ ฟังค่อยๆ ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับเพราะเหตุว่า ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมให้เข้าใจแล้ว ปฏิบัติผิดแน่นอน ยังไม่เข้าใจเลยว่าสมาธิคืออะไร? ก็ไปทำแล้ว จะถูกได้อย่างไร

พระธรรมคำสอนทั้งหมดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่มีแม้แต่บทเดียวที่สอนให้ไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ด้วยความเป็นตัวตนจดจ้องต้องการ คำสอนทั้งหมดเป็นไปเพื่อปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอดแม้แต่ในเรื่องของสมาธิ ควรที่จะเป็นเรื่องเข้าใจให้ถูกว่าเป็นธรรมที่มีจริง เกิดได้กับจิตทุกขณะ ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นจิตประเภทใด สมาธิจึงไม่ใช่การไปทำ ขณะที่ไปทำอะไรด้วยความเห็นผิดโดยที่เข้าใจว่าถูก นั่นก็เป็นสมาธิเหมือนกัน แต่เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะเกิดร่วมกับอกุศล พร้อมทั้งเกิดร่วมกับความเห็นผิด

เพราะฉะนั้นจึงควรเริ่มต้นที่การฟังพระธรรม ให้เข้าใจ ยังไม่ได้ศึกษา ก็ต้องศึกษาก่อน ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 6 ก.ค. 2555
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 21355 โดย Patchanas

ขอความเห็นเรื่องการนั่งสมาธิครับ

ผม นั่งสมาธิโดยใช้การกำหนดลมหายใจ แล้วก็เคยมีประสบการณ์ที่ จิต แน่วแน่ และ สัมผัสการรับรู้ทางกาย เช่น เสียงนั้น ค่อยๆ เบาลง จากนั้น ก็มีการอาการเหมือนจิต วูบลง และจนในที่สุด ลมหายใจก็หายไปด้วย เหลือ แต่ จิตดวงเดียวล้วนๆ ทรงอยู่ ในขณะนั้น สติผมก็ยังคงมี

ขอทราบว่า ภาวะดังกล่วาเป็นภาวะอะไรครับ

ผมได้ฟังการสนทนาธรรมภาษาอังกฤษที่ประเทศอินเดีย ซึ่งท่านอาจารย์สุจินต์ได้ตอบคำถามลักษณะนี้ไว้น่าสนใจครับ (แปลจากภาษาอังกฤษโดยสรุป)

ผู้ถาม ผมเคยบวชเรียนและฝึกสมาธิขณะที่เป็นพระภิกษุ มีอยู่คราวหนึ่งท่านฝึกภาวนาพุธ-โธ พร้อมกับหายใจเข้า-ออก จนกระทั่งมีความรู้สึกเหลือแต่เพียงลมหายใจเท่านั้น ตัวตนร่างกายหายไปหมด ดูเหมือนว่าจะเป็นการละคลายจากตัวตน แต่ก็ยังสงสัยอยู่ว่า เมื่อออกจากสมาธิมาแล้ว ก็ยังมีตัวตนอยู่อีกเหมือนเดิม

ดังนี้ ถือเป็นการปฏิบัติเพื่อละคลายกิเลสได้หรือไม่ครับ

ท่านอาจารย์สุจินต์ ในขณะที่นั่งสมาธินั้นมีแต่อวิชชา คือไม่มีความเข้าใจเลย มีแต่กลับจะนำไปสู่ความไม่รู้มากยิ่งขึ้น ไม่รู้เรื่องเลยว่านั้นคืออะไร เป็นแต่เพียงขณะหนึ่งของความคิดเท่านั้น เพราะว่าจริงๆ แล้ว ตัวคุณจะไม่อยู่ที่นั้นได้หรือ เมื่อแท้จริงแล้ว ตัวของคุณก็กำลังนั่งอยู่ขณะนั้น เป็นไปไม่ได้เลย แต่ความคิดทำให้ดูเหมือนว่าตัวคุณไม่มีในขณะที่กำลังสนใจนิมิตที่ปรากฏหรือตรึกอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความสงสัยมากยิ่งขึ้น พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนแต่จะให้เข้าใจยิ่งขึ้น เข้าใจสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน เมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ การไปทำอะไรให้ผิดปกติ ไม่ใช่เป็นเรื่องของปัญญา แต่เป็นโลภะที่เป็นปัจจัยของสภาวะที่ผิดเพี้ยนไปจากปกติตามความเป็นจริง เพราะหากเป็นปัญญาแล้ว จะรู้ความเป็นจริงทุกประการ อวิชชาไม่อาจที่จะรู้ความเป็นจริงได้เลย

จากคำอธิบายของท่านอาจารย์สุจินต์ข้างต้น จะเห็นได้นะครับว่า การทำสมาธิ หากไม่ได้ศึกษาเรื่องของการเจริญสมถกรรมฐานให้เข้าใจจริงๆ เสียก่อนแล้ว สมาธิที่ไปคทำให้เกิดขึ้นก็จะเป็นไปกับความไม่รู้ความจริงใดๆ เลย กลายเป็นสมาธิที่ประกอบด้วยอวิชชา นั้นก็คือ มิจฉาสมาธิดีๆ นี้เอง

การทำความเข้าใจเรื่องนี้ต้องเป็นผู้ที่ตรงมากๆ ต้องพิจารณาด้วยเหตุและผลจริงๆ ว่า การไปนั่งสมาธิโดยยังไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจนั้น ทำให้เกิดปัญญาจริงๆ หรือ?

ลองอ่านกระทู้ที่ท่านอาจารย์สุจินต์ตอบปัญหาเรื่องนี้อีกกระทู้นะครับ

จะนั่งสมาธิอีกแล้วครับ

ขอบพระคุณอาจารย์ผเดิม และอาจารย์คำปั่น ที่ให้ความรู้เพิ่มเติมด้วยครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 6 ก.ค. 2555

เป็นไปไม่ได้ที่เหลือจิตดวงเดียว เพราะจิตเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตดวงใหม่เกิดขึ้น ที่สำคัญคือการศึกษาธรรมะให้เข้าใจก่อน ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ปฏิบัติผิดค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
kinder
วันที่ 6 ก.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 6 ก.ค. 2555
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 21355 โดย Patchanas

ขอความเห็นเรื่องการนั่งสมาธิครับ ผม นั่งสมาธิโดยใช้การกำหนดลมหายใจ แล้วก็เคยมี

ประสบการณ์ที่ จิต แน่วแน่ และ สัมผัสการรับรู้ทางกาย เช่น เสียงนั้น ค่อยๆ เบาลง จาก

นั้น ก็มีการอาการเหมือนจิต วูบลง และจนในที่สุด ลมหายใจก็หายไปด้วย เหลือ แต่ จิต

ดวงเดียวล้วนๆ ทรงอยู่ ในขณะนั้น สติผมก็ยังคงมี ขอทราบว่า ภาวะดังกล่วาเป็นภาวะ

อะไรครับ

สภาวะที่กล่าวมาทั้งหมด ... ไม่ใช่ความรู้ (ปัญญา) ค่ะ

เพราะถ้าเป็นความรู้ ท่านจะไม่มีความสงสัยเช่นนี้

ฌานลาภีบุคคลเป็นผู้มีปัญญา เพราะท่านเห็นโทษของอกุศล

และรู้ "เหตุ" ที่จะทำกุศลเจริญยิ่งขึ้น จนอกุศลแทบหมดโอกาสที่จะเกิด

เพราะตราบใดที่ฌานจิตเกิด อกุศลจิตก็เกิดไม่ได้

จึงเป็นความสงบที่แนบแน่นและยาวนาน

เพราะ สงบจากอกุศล ไม่ใช่สภาวะที่นิ่งๆ แล้วไม่รู้อะไร

ขณะที่ท่านรับรู้ ... เสียงที่เบาลง จิตวูบลงหรือลมหายใจหายไป

ขณะนั้น ... จิตสงบหรือไม่คะ?

(สงบเพราะอะไรและไม่สงบเพราะอะไร ... เป็นสิ่งที่ท่านต้องทราบด้วยนะคะ)

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Patchanas
วันที่ 12 ก.ค. 2555

ขณะที่ ลมหายใจ หายไป และสัมผัสทางกายทั้งหมดหายไป ผมยังมีสติอยู่และก็สังเกต จิต ว่าเป็นอย่างไร ก็ รู้สึกว่า เป็น อุเบกขา ไม่มี โลภะ โทสะ ครับ คือ มีสติรู้อยู่กับจิต จน ชั่วครู่หนึ่งซึ่งไม่รู้ว่านานเท่าใด จิตก็ถอนออกมาสู่ ความรู้สึกลมหายใจ ได้ยินเสียง และ รู้สึกทางกาย ถ้าจะถามว่ารู้อะไรก็คือรู้ความว่างๆ และมีสติตลอดสายครับ และรู้ว่า ไม่มี โลภะ และโทสะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
เซจาน้อย
วันที่ 13 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"ธรรมไม่มีทำไง เพราะไม่มีใครทำ" ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน"

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
best46
วันที่ 13 ส.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 11 นะครับ

เมื่อก่อนนะครับ ผมก็เคยฝึกสมาธิแบบที่คุณความคิดเห็นที่ 11 มาเหมือนกันครับ มีอาการเดียวกันเลย ทั้งๆ ที่เพิ่งฝึกได้วันสองวันด้วยครับ

แต่หลังจากที่ผมศึกษาพระธรรมจากเว็บไซต์นี้ ก็ทำให้ผมได้เข้าใจสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทำให้ผมเป็นคนมีเหตุผลมากขึ้น ตรงต่อความเป็นจริงมากขึ้น แล้วก็มาทราบว่าที่ผ่านมาตัวเองเข้าใจผิด หลงผิดมาตลอด สิ่งที่พระศาสดาสอน กลับไม่ใช่สิ่งที่ผมพากเพียรทำมาตลอด

ผมก็มานั่งคิดว่า นักปฏิบัติหลายๆ คนที่บอกว่า ตนเองนั่งสมาธิไปแล้วเห็นนู่นเห็นนี่ แล้วก็บอกว่าเขาถึงขั้นนั้นขั้นนี่ ที่แท้แล้วเขาเข้าถึงจริงๆ หรือเปล่า และที่เขาเห็นในนิมิตสมาธินั้นคืออะไร แต่ทำไมกลับไม่ตรงกับพระไตรปิฎก

จากนั้นก็เริ่มพิจารณา แล้วก็ถึงได้เข้าใจว่า มันก็คือความคิดของเรานี่เอง ไม่ใช่การรู้เห็นอะไรเลย เรากำลังเห็นสิ่งที่เราคิด ด้วยเหตุนี้เราถึงได้ยินนักปฏิบัติบอกเล่าประสบการณ์ในจิตที่บางทีก็เหมือนกัน บางทีก็ต่างกัน อาการแบบนี้ ก็ทำนองเดียวกับคนที่บอกว่าเจ้าตัวมีประสบการณ์ตายแล้วฟื้นนั่นแหละครับ ที่บอกว่าวิญญาณออกจากร่างตัวเองแล้วเห็นนั่นเห็นนี่ เห็นถ้ำ เห็นโพลง เห็นนรก สวรรค์ แต่แท้ที่จริง เป็นแต่เพียง ความคิด ที่ฟุ้งซ่านครับ

ในขณะที่ท่านทำสมาธิแล้วเห็นนั่นเห็นนี่ รู้สึกอย่างนั้น รู้สึกอย่างนี้ วูบบ้าง อะไรบ้าง ท่านรู้สึกว่ามันไม่ได้ฟุ้งซ่าน แต่หารู้ไม่ว่า จิตของท่านตอนนั้นได้ฟุ้งซ่านแล้วครับ

จริงๆ ท่านผู้รู้ในกระทู้นี้ก็ได้ตอบไว้แล้วนะครับ ว่า มันคือความคิดของเราเองที่กำลังฟุ้งซ่าน แต่มันเป็นความสั้นๆ ซึ่งเราอาจจะมองข้ามไป แต่ขอให้ย้อนกลับไปอ่านแล้วก็พิจารณาตามดีๆ ครับ ว่าเป็นความจริงอย่างนั้นหรือเปล่า สังเกตสิ่งที่คนในนี้จะย้ำๆ กันนะครับ

จริงๆ แล้วการไปทำอย่างนั้น ไม่ใช่สิ่งที่พระองค์ทรงสอนครับ เพราะสิ่งที่ทรงสอนมาทั้งหมดก็เพื่อจะให้เราได้เข้าใจว่า ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเพียงธาตุ เป็นเพียงสภาวะที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ไม่มีตัวตน เรา เขา อยู่เลย

ในความเป็นจริง การเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัสทางกาย คิดนึก ก็เป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่งๆ ของสภาวธรรม แต่เพราะความยึดมั่น จึงมีความเข้าใจผิดสำคัญว่า มีตัวเรา ตัวเขาอยู่จริง

การปฏิบัติ ตามความหมายที่ถูกจริงๆ ก็คือ การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงครับ ไม่ใช่การลงมือหรือกระทำตามความหมายในภาษาไทย

แล้วถามว่า สภาพธรรมอยู่ที่ไหน? สภาพธรรมมีอยู่แล้วครับทุกๆ ขณะในชีวิตประจำวัน จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็รู้ในขณะนี้แหละครับ ขณะที่ยังลืมตามอยู่ ก็มีสภาพธรรมแล้ว เพราะฉะนั้น การปฏิบัติไม่ใช่สิ่งอื่นใด แต่ก็คือการรู้ขณะนี้แหละครับ ตามความเป็นจริง

ผมก็เพิ่งเข้าเป็นสมาชิกของที่นี่ได้ไม่นาน แต่ก็ได้เรียนรู้อะไรเยอะแยะเลย ก็อยากจะบอกว่า เป็นผู้ร่วมเดินทางคนหนึ่ง แต่มาเจอศาลาหลังน้อยคือที่นี่ มีน้ำท่าอาหารพอให้ได้เดินทางต่อได้ไกลเลยทีเดียว ถ้าท่านมีข้อสงสัยหรือไม่เห็นด้วยยังไง ก็ถามมันที่นี่แหละครับ ถามไปเลย คำตอบที่ได้เป็นประโยชน์จริงๆ ครับ เพราะคนในนี้มีเขามีความรู้ความเข้าใจกันจริงๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
Graabphra
วันที่ 5 ต.ค. 2555
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ