ปฏิกูลอสุภะ ที่เป็นสมถ กับ วิปัสนา ต่างกันอย่างไร

 
rojer
วันที่  9 ก.ค. 2555
หมายเลข  21381
อ่าน  2,544

๑. เข้าใจว่า ถ้าเป็นสมถะ ก็ คือ การคิดถึง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ว่าเป็นของสกปรก แล้วจิตสงบขึ้น

ส่วนถ้าเป็นวิปัสสนา จะเป็นอย่างไรครับ
เช่น เห็นเส้นผม แล้วก็ระลึก ถึง อสุภสัญญา หรือว่า เห็นเป็นแค่ลักษณะ ธาตุดิน

อย่างนี้เป็นการคิดพิจารณาเอาเอง หรือว่า เป็น การระลึกแบบวิปัสสนาครับ

ช่วยอธิบายด้วยครับ

๒. ปฏิกูล มนสิการบรรพ กับ ธาตุมนสิการบรรพ ต่างกันอย่างไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 10 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. เข้าใจว่า ถ้าเป็นสมถะ ก็ คือ การคิดถึง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ว่าเป็นของสกปรก แล้วจิตสงบขึ้น ส่วนถ้าเป็นวิปัสสนา จะเป็นอย่างไรครับ

เช่น เห็นเส้นผม แล้วก็ระลึก ถึง อสุภสัญญา หรือว่า เห็นเป็นแค่ลักษณะ ธาตุดิน อย่างนี้เป็นการคิดพิจารณาเอาเอง หรือว่า เป็น การระลึกแบบวิปัสสนา ครับ


- ปฏิกูลมนสิการบรรพ มีทั้งที่เป็นนัย สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา

โดยนัยสมถภาวนานั้น เป็นไปเพื่อความสงบแห่งจิต คือ เกิดกุศลธรรม ต่อเนื่องกันไป เพราะ พิจารณาอารมณ์ต่างๆ มี การพิจารณา โดยความปฏิกูลในส่วนต่างๆ ของร่างกาย เป็นต้น ซึ่ง สำหรับ ปฏิกูลมนสิการนั้น โดยนัยสมถภาวนานั้น โดยปกติแล้ว ผู้ที่ไม่มีปัญญา ก็มักเป็นอกุศล กับ สิ่งที่อยู่ในส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ว่า สวย งาม และเกิดความยินดี พอใจ ใน ผม ขน เล็บ ในส่วนต่างๆ ของร่าย เพราะไม่รู้ความจริงของส่วนต่างๆ ของร่างกายว่า ปฏิกูล ไม่สะอาด ไม่น่ายินดี ด้วยโลภะ ความติดข้อง

การเจริญสมถภาวนา ในการพิจารณาโดยความปฏิกูล ก็เริ่มจาก การฟัง ศึกษา และ คิดพิจารณาตามความเป็นจริงในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ว่า เป็นสิ่งที่ไม่สะอาด เพราะ เกิดจากเหตุที่ไม่สะอาด เป็นต้น เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริงเช่นนี้ ก็เกิดกุศลจิตที่ไม่ติดข้อง ไม่ยินดี ในส่วนต่างๆ ในขณะที่พิจารณาในขณะนั้น

ดังนั้น จะต้องเป็นปัญญาที่มีความเห็นถูก จึงเกิดความไม่ยินดี แต่ไม่ใช่ การพิจารณาส่วนต่างๆ ของร่างกาย และเกิดความไม่ชอบ ไม่ยินดี ด้วยโทสะ ในขณะนั้น ไม่ใช่เป็นการพิจารณาโดยความเป็นปฏิกูล เพราะ จิตเป็นอกุศล ซึ่ง จิตก็สงบด้วยกุศลจิตที่พิจารณาถูกต้องว่า เป็นสิ่งไม่สะอาด แต่ ปฏิกูลโดยนัยสมถภวนา ไม่ได้ไถ่ถอนความยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล เพราะ ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ได้รู้ว่า ผม ขน เล็บ เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 10 ก.ค. 2555

ส่วน ปฏิกูลมนสิการ ที่เป็นโดยนัย วิปัสสนาภาวนา

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจครับว่า วิปัสสนาภาวนา ปัญญารู้อะไร เป็นสำคัญ คือ รู้ตัวจริงของสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูป ที่กำลังปรากฏ ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา เพื่อไถ่ถอนความยึดถือด้วยความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคล ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ครับ

เพราะฉะนั้น ปฏิกูลมนสิการบรรพ ก็ต้องเป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ โดยไม่ใช่การคิดนึก พิจารณา เป็นเรื่องราว แต่รู้ตัวจริงที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ซึ่งปฏิกูลมนสิการบรรพ อยู่ในหมวดของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็เป็นหมวดในส่วนของกาย เมื่อเป็นส่วนของกายแล้ว สภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏทางกาย ก็คือ ธาตุดิน ไฟ ลม คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เพราะฉะนั้น ปฏิกูลมนสิการบรรพ ที่เป็นนัยวิปัสสนา ก็คือ ในชีวิตประจำวัน เมื่อจับที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง

ขณะนั้นอะไรปรากฏ คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เป็นต้น ปรากฏ อย่างใดอย่างหนึ่ง สติก็ระลึกรู้ ในขณะนั้นว่า เป็นแต่เพียง เย็น ไม่ใช่ผม เป็นแต่เพียงลักษณะที่อ่อน ไม่ใช่ ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ก็ไถ่ถอนความเห็นผิดว่า มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่เป็นสมมติบัญญัติ แต่รู้ตามความเป็นจริง เพราะ สติระลึกรู้ตรงลักษณะ ที่เป็น เย็น ร้อน เป็นต้น ในขณะที่จับ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ครับ

จึงเป็นการไถ่ถอนความเห็นผิดว่า มี ผม ขน ... ที่สมมติในส่วนต่างๆ ที่เนื่องด้วยกาย นั่นเอง ครับ

ปฏิกูลมนสิการ โดยนัยวิปัสสนา จึงเป็นการู้ความจริงของสภาพธรรม ที่เนื่องด้วย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ในขณะที่จับ สัมผัส ว่าเป็นแต่เพียง สภาพธรรม ก็เป็นปัญญา ที่ไถ่ถอนความเห็นผิดว่า มีผมของเรา ขนของเรา เป็นต้น เพราะสิ่งที่ปรากฏมีแต่เพียงธรรม เท่านั้น

ปฏิกูลมนสิการ โดยนัยสมถภาวนา ก็ไม่ได้รู้ความจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรม เป็นเพียงทำให้จิตสงบขึ้น เพราะ รู้ว่าเป็นของไม่สะอาด ตามความเป็นจริง จึงสงบเพราะไม่ติดข้องในขณะนั้น ที่พิจารณาถูก ครับ

เชิญคลิกฟังที่นี่ครับ

ความเป็นปฏิกูลของกายโดยนัยของสมถภาวนา

ความเป็นปฏิกูลของกายโดยนัยของวิปัสสนาภาวนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 10 ก.ค. 2555

๒. ปฏิกูลมนสิการบรรพ กับ ธาตุมนสิการบรรพ ต่างกันอย่างไรครับ

ปฏิกูลมนสิการบรรพ เป็นการพิจารณาโดยความเป็นของปฏิกูล ในส่วนต่างๆ ของร่างกาย นี่โดยนัยสมถภาวนา และ เมื่อเป็นวิปัสสนา ก็อาศัย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ส่วนละเอียดที่สมมติ บัญญัติขึ้นในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ซึ่งความปฏิกูลนั้น มีเพียงธาตุดิน และ ธาตุน้ำเท่านั้น ส่วน ธาตุลม และธาตุไฟ ไม่ได้แสดงถึงความปฏิกูล ส่วน ธาตุมนสิการบรรพ เป็นการพิจารณา โดยความเป็นธาตุ คือ เป็นแต่เพียง ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่มีสัตว์ บุคคล จึงกว้างขวางกว่า ปฏิกูลมนสิการที่เป็นเพียง ธาตุดิน และ ธาตุน้ำเท่านั้น และ แสดง โดยส่วนละเอียด ที่เป็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แต่ ธาตุบรรพ จะเป็นการแสดงโดยมุมกว้าง โดย เป็นส่วนหยาบ คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เพราฉะนั้น ธาตุมนสิการ จึงแสดงถึงความจริงว่ามีแต่เพียงธาตุเท่านั้นที่ปรากฏ และที่สำคัญ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นประธานของรูปธรรม เป็นใหญ่ในรูปธรรม ส่วน ปฏิกูลมนสิการ เป็นส่วนละเอียด อีกทีหนึ่ง ครับ

เชิญคลิกฟังที่นี่ครับ

ปฏิกูลมนสิการ

ปฏิกูลมนสิการบรรพ

ธาตุไฟและธาตุลมไม่ปรากฏความเป็นปฏิกูล

ทำไมถึงทรงยกธาตุมนสิการเป็นบรรพหนึ่ง

ทบทวนธาตุมนสิการบรรพ

ธาตุมนสิการบรรพ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 10 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ภาวนาทั้งสองอย่าง คือ สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา (สติปัฏฐาน) เป็นเรื่องของปัญญาทั้งหมด ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่ใช่สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา,

สมถภาวนา เป็นการอบรมเจริญกุศลที่สามารถทำให้นิวรณ์ซึ่งเป็นอกุศลธรรมทั้งปวง มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น นั้น สงบระงับ ซึ่งผู้อบรมนั้นจะต้องเป็นผู้มีปัญญาที่รู้ความต่างระหว่างอกุศล กับ กุศล เห็นโทษของอกุศลธรรมประการต่างๆ จึงจะเจริญได้ และ ในขณะนั้นก็จะต้องมีอารมณ์ของสมถภาวนาที่จะทำให้จิตสงบจากอกุศลธรรม แม้แต่ในเรื่องของความไม่งามของร่างกาย ที่เป็นของปฏิกูลต่างๆ ซึ่งผู้เจริญจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย เมื่ออบรมเจริญกุศลประเภทนี้เพิ่มขึ้นๆ ก็จะเป็นเหตุให้อกุศลจิตไม่สามารถเกิดแทรกคั่นได้ การเจริญสมถภาวนาทำให้จิตสงบได้ระงับอกุศลได้เพียงชั่วคราว แต่ไม่สามารถดับกิเลสได้ การอบรมเจริญสติปัฏฐานหรือวิปัสสนาภาวนาเท่านั้น ที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงไม่เกิดอีกเลย ซึ่งเป็นทางเดียวที่ทำให้สัตว์ดำเนินไปถึงซึ่งการพ้นจากทุกข์ได้จริง เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง สภาพธรรมที่มีจริงนั้น ก็ไม่พ้นไปจากสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ซึ่งเป็นรูปธรรมและนามธรรม ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยใดก็ตาม ก็เพื่อที่จะอุปการะเกื้อกูลให้เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ว่ามีแต่ธรรม มีแต่ธาตุแต่ละอย่างๆ เท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ต้องเริ่มจากการสะสมปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ขณะนี้มีธรรมอะไรบ้าง ที่ควรรู้ควรศึกษาให้เข้าใจ สิ่งสำคัญ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก ตั้งแต่ต้น ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Graabphra
วันที่ 10 ก.ค. 2555

ขอบพระคุณในธรรมทานจากท่านอาจารย์ และท่านที่ร่วมสนทนา

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
akrapat
วันที่ 10 ก.ค. 2555

อนุโมทนากับ ทุกๆ ท่านครับ ผู้ดูแลเว็บบ้านธรรมะ วิทยากรผู้ทรงภูมิรู้ภูมิธรรมทุกท่าน นับเป็นวาสนาที่ผ่านเข้ามาเจอสหายธรรมทุกท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 11 ก.ค. 2555

พิจารณาปฏิกูลโดยสมถะ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไม่งาม มุ่งไปในเรื่องของจิต ทำให้จิตสงบจากกิเลสชั่วขณะ และมีปัญญาประกอบด้วย

พิจารณาปฏิกูล โดยวิปัสสนาเป็นไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นปัญญา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
saekue20
วันที่ 13 ก.ค. 2555

ขออนุโมทนา

สาธุ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ