ธรรมธาตุ

 
gboy
วันที่  31 ก.ค. 2555
หมายเลข  21494
อ่าน  3,220

ธรรมธาตุกับธรรมารมณ์ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรครับ

ขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 1 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมธาตุ ที่จะจัดอยู่ในหมวด ธาตุ ๑๘ เป็นสภาพธรรมทั้งรูปธรรม และ นามธรรม ได้แก่ เจตสิกทั้งหมด ๕๒ ประเภท สุขุมรูป ๑๖ และ นิพพาน ครับ

ธัมมารมณ์ คือ อารมณ์ที่จิตรู้ได้เฉพาะทางใจทางเดียวเท่านั้น มี ๖ อย่างคือ ปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ จิต เจตสิก นิพพาน บัญญัติ

ดังนั้น ธรรมธาตุ ไม่มีปสาทรูป ๕ เพราะ ธาตุ โดยนัย ๑๘ มี ปสาทรูป ๕ ที่เป็น จักขุธาตุ โสตธาตุ ฆานธาตุ ชิวหาธาตุ กายธาตุ แล้ว ครับ

และ ที่สำคัญ ธัมมธาตุ ไม่มีบัญญัติ เพราะ เมื่อพูดถึง ธาตุ ๑๘ คำว่า ธาตุในที่นี้ มุ่งหมายถึง สภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นปรมัตถธรรม ไม่หมายรวมสภาพธรรมที่ไม่มีจริงที่เป็นบัญญัติ เพราะฉะนั้น ธัมมธาตุ จึงไม่มีบัญญัติ แต่ ธัมมารมณ์มีบัญญัติด้วย เพราะ ธัมมารมณ์ มุ่งหมายถึง สภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ คือ เป็นสิ่งที่ถูกจิตรู้ รู้ได้ทางใจ ซึ่ง จิต สามารถรู้บัญญัติได้ บัญญัติจึงเป็นธัมมารมณ์ แต่ บัญญัติ ไม่เป็น ธาตุ ไม่เป็นธัมมธาตุ เพราะ ไม่ใช่สภาพธรรมที่มีจริง เพราะ ธาตุ คือ สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะ นั่นคือ มีลักษณะให้รู้บัญญัติ ไม่มีลักษณะให้รู้ ธรรมธาตุ จึงกล่าวโดยนัย ที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ส่วน ธัมมารมณ์ มุ่งหมาย ถึงอารมณ์ที่รู้ได้ทางใจ อันเป็นการรวมถึง สภาพธรรมที่ไม่มีจริง ไม่มีลักษณะ แต่ก็รู้ได้ทางใจ ครับ

ที่สำคัญที่สุด ประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม ไม่ใช่เป็นไปแต่ในเรื่องของชื่อ แต่ประโยชน์ที่สำคัญ คือ พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงทุกคำ แสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริง และ เพื่อให้เข้าใจความจริงในขณะนี้ เพื่อไถ่ถอนความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคล เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยินพระธรรม ไม่ว่าคำใด ควรน้อมเข้ามาในตน ด้วยความเข้าใจถูก ว่า เป็นความจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมเป็นไป การศึกษาด้วยความเข้าใจเช่นนี้ ย่อมไม่ติดที่ชื่อ และ ไม่หนัก แต่เบาด้วยความเข้าใจว่าเป็นแต่เพียงธรรม แม้จะไม่รู้รายละเอียดของชื่อทั้งหมด ในพระไตรปิฎก แต่ สำคัญ คือ รู้ตัวจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 1 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น มีความหลากหลาย เป็นไปเพื่อประโยชน์ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกของผู้ที่มีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาอย่างแท้จริง

ธัมมธาตุ กับ ธัมมารมณ์ มีความแตกต่างกันอย่างไร?

ไม่ใช่เพียงแค่คำตอบว่า แตกต่างกันหรือไม่แตกต่างกัน ซึ่งจะต้องเข้าใจว่า เมื่อกล่าวถึงธาตุแล้ว ก็ต้องมุ่งหมายถึงเฉพาะสภาพธรรมที่มีจริงเท่านั้นๆ เพราะสภาพธรรมที่มีจริงนั้น เป็นธาตุแต่ละอย่างๆ ที่หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ไม่ได้ ธรรมธาตุ เป็นหนึ่งในธาตุ ๑๘ ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ สุขุมรูป ๑๖ เจตสิกทั้งหมดและพระนิพพาน เพราะสภาพธรรมนอกเหนือไปจากธรรมธาตุ ก็เป็นธาตุแต่ละอย่างๆ แล้ว เช่น จักขุปสาทรูป ก็เป็นจักขุธาตุ จิตเห็น ก็เป็น จักขุวิญญาณธาตุ เป็นต้น เป็นแต่ละอย่างๆ โดยที่ไม่ปะปนกัน

ส่วนพระธรรมที่แสดงเรื่องของอารมณ์ นั้น มุ่งหมายถึง สิ่งที่จิตรู้ สิ่งใดก็ตามที่จิตรู้ สิ่งนั้น เรียกว่า อารมณ์ อารมณ์เมื่อกล่าวอย่างกว้างๆ แล้ว มี ๖ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (ซึ่งเป็นอารมณ์ทาง ๕ ทวาร คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น และ ทางกาย) และ ธรรมารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ไม่สามารถรู้ได้ทาง ๕ ทวาร แต่รู้ได้เฉพาะทางใจ คือ ทางมโนทวารเท่านั้น มีดังนี้ คือ ปสาทรูป ๕ สุขุมรุป ๑๖ จิตทั้งหมด เจตสิกทั้งหมด นิพพาน และ บัญญัติ

ธัมมธาตุ เป็นปรมัตถธรรมล้วนๆ ส่วนธรรมารมณ์ มีทั้งปรมัตถธรรมและบัญญัติ ครับ

ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่นี่ครับ

ธรรมารมณ์เป็นสภาพธรรมที่รู้ได้ทางมโนทวาร

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 1 ส.ค. 2555

ธรรมารมณ์ กว้างกว่า ธรรมธาตุ

ไม่ว่าจะแสดงธรรมโดยชื่ออะไรก็ตาม ทั้งหมดก็เป็นธรรมะที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยปัญญา เริ่มจากการฟังเบื้องต้น ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมะ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 1 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
gboy
วันที่ 1 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 4 ส.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
peem
วันที่ 23 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ