อดทน อัดกลั้น ข่มใจ

 
natre
วันที่  30 ส.ค. 2555
หมายเลข  21637
อ่าน  4,166

อดทน อดกลั้น ข่มใจ มีบัญญัติไว้ในเจตสิกปรมัตถ์เป็นเช่นใด


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อดทน อดกลั้น ข่มใจ คือ ขันติ ความอดทน เป็น อโทสเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตที่ดีงาม เพราะ ในขณะที่อดทน คือ ขณะนั้น ไม่โกรธ ด้วยกุศลจิต จึงเป็นอโทสเจตสิก และแม้ขณะที่มีเมตตา ขณะนั้น แสดงลักษณะถึงความไม่โกรธ แต่มีเมตตา จึงมีองค์ธรรม เป็นอโทสเจตสิก เช่นเดียวกัน ครับ

แต่ ความอดทน มีหลายระดับ ครับ

- ความอดทนต่อร้อนหนาว ด้วยกุศลจิต เป็นอโทสเจตสิก

- ความอดทนต่อ คำพูดไม่ดี วาจาไม่ดี หรือ การกระทำทางกาย วาจา ที่ไม่ดีของผู้อื่นด้วยกุศลจิต ความอดทนนั้นเป็น อโทสเจตสิก

- และ ความอดทน ที่เราอาจจะไม่ค่อยได้ยิน คือ ขันติญาณ ที่เป็นวิปัสสนาญาณขั้นสูง เป็นความอดทนอย่างยิ่ง ที่จะรู้ความจริงในสภาพธรรมตามความเป็นจริง อย่างละเอียด ลึกซึ้ง เป็นความอดทน คือ ขันติญาณ ที่เป็น อโมหเจตสิก ที่เป็นปัญญา ครับ

ดังนั้น ความอดทน จึงมีหลายระดับ ตามระดับของกุศล แต่สำคัญ คือ จะต้องเป็นเจตสิกที่ดี มีโทสเจตสิก และ โมหเจตสิก จึงจะอดทนได้ ซึ่งอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็จะเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของความอดทนในระดับต่างๆ คือ ความเจริญขึ้นของกุศลธรรม และ ที่สำคัญที่สุด คือ อดทนที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมต่อไป ย่อมถึงขันติ เป็นตบะอย่างยิ่ง ที่จะเผากิเลสจนหมดสิ้น ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 30 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก่อนอื่นต้องเริ่มที่ความเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม ทุกขณะของชีวิตเป็นธรรม แต่ดูเหมือนจะไปหาว่า ขณะไหน เป็นความอดทน ขณะไหนมีความอดทน แต่ความอดทนมีแล้ว เกิดแล้ว เป็นไปแล้ว ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ที่เป็นกุศลขันธ์ อันมี อโทสะเป็นประธาน (เพราะ รูปธรรม อดทนไม่ได้) เช่น อดทนที่จะไม่ว่าร้ายผู้อื่น อดทนที่จะไม่ทำร้ายผู้อื่น อดทนที่จะไม่กระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ อดทนในการที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับ เพราะพระธรรมเป็นเรื่องยาก ต้องมีความอดทนในการฟัง ในการศึกษาต่อไป เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ คือความอดทนในชีวิตประจำวัน ละเอียดยิ่งไปกว่านั้น คือ อดทนทั้งต่ออกุศล อดทนต่อผลของอกุศล นอกจากนั้น ยังอดทนต่อผลของกุศล ด้วย กล่าวคือ เมื่อได้รับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ อันเป็นผลของอกุศล และ ได้รับสิ่งที่น่าพอใจอันเป็นผลของกุศล ก็อดทนที่จะไม่เป็นไปด้วยอำนาจของอกุศล ทั้งโทสะและโลภะ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความอดทน เป็นธรรมเครื่องเผาบาปธรรม พร้อมทั้งเป็นธรรมที่ทำให้ถึงซึ่งฝั่ง คือ การดับกิเลส (บารมี) ที่ควรเจริญในชีวิตประจำวัน เพื่อเกื้อกูลต่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ด้วย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 30 ส.ค. 2555

ขออนุญาตเรียนสอบถามเพิ่มเติมนะครับ

เนื่องจาก "ขันติ" ถือได้ว่ามีความสำคัญ แม้ในโอวาทปาฏิโมกข์ ท่านก็ได้กล่าวถึง ขันติ ว่าเป็นตบะ อันเป็นเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง นอกจากนั้น ขันติ ยังเป็นบารมีหนึ่งในสิบอีกด้วย ท่านได้กล่าวถึงเรื่องการเจริญขันติ ไว้อย่างไรบ้างครับ การเจริญปัญญา ความเข้าใจ ความเป็นจริง มีส่วนทำให้ขันติเจริญขึ้นด้วยหรือไม่ อย่างไร ครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 31 ส.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

ขันติ เป็นสภาพธรรมฝ่ายดีที่เป็น อโทสเจตสิกและขันติ อีกนัย ยังเป็น ปัญญาเจตสิก เมื่อกล่าวโดยทั่วไปแล้ว อโทสเจตสิก เกิดกับจิตที่เป็นกุศล ทุกๆ ประเภท

ดังนั้น ขณะใดที่กุศลเกิด มี อโทสเจตสิกด้วย ซึ่งการจะเผากิเลส ที่เป็นตบะ จะต้องอาศัยความอดทนในระดับต่างๆ จึงจะเผากิเลส หรือ ละกิเลสได้ ครับ ขันติจึงเป็นตบะอย่างยิ่ง คือ เป็นธรรม ที่เป็นเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง เผากิเลสตั้งแต่เบื้องต้น คือ มีความอดทน ที่จะงดเว้นจากบาปทาง กาย วาจา ที่จะไม่โกรธ เพราะ มีขันติ มีการไม่กล่าวร้าย ไม่ว่าร้าย ที่เป็นกุศลขั้นศีล และเผากิเลสที่ไม่อดทน ด้วยความอดทน ที่เป็นอธิวาสนขันติ คือ อดทนต่อร้อนและหนาว ด้วยกุศล ด้วยขันติ และในบารมี ๑๐ ขันติก็แสดงว่า อดทนที่จะทำกุศล เจริญกุศลต่อไป

ความอดทน จึงเห็นได้ เมื่อยังเป็นผู้ที่ยังทำกุศล อบรมเจริญกุศลประการต่างๆ อันแสดงถึงความอดทนที่เป็นบารมี ที่จะทำให้กุศลเจริญขึ้น ครับ นี่คือ นัยของขันติบารมี และ ขันติที่เป็นธรรมเครื่องเผากิเลส โดยนัยวิปัสสนา คือ อดทนที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา แต่ละขณะ แต่ละขณะ นี่ก็เป็นความอดทนที่เป็นขันติอีกระดับหนึ่ง ที่เผากิเลส เป็นตบะเผาความไม่รู้ไปแต่ละขณะ จนถึงขันติญาณ ที่เป็น วิปัสสนาญาณระดับสูง เป็นขันติที่เป็นปัญญา ที่เผากิเลส ด้วยปัญญาระดับสูง ไปตามองค์นั้นๆ ครับ

ที่สำคัญ การจะถึงการดับกิเลส ก็ต้องอาศัยความอดทนทีละเล็กละน้อย ซึ่งมาจากความอดทนที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ให้เข้าใจ อดทน ที่จะฟังให้เข้าใจ ไปเรื่อยๆ ขณะที่เข้าใจ ปัญญาเกิด ก็เผากิเลสด้วยปัญญา และ เพราะอาศัยขันติ คือความอดทนในการฟังพระธรรม ก็เป็นเครื่องเผากิเลสในขณะนั้น ครับ

จะเห็นนะครับว่า ขันติเป็นธรรมเครื่องผากิเลส ซึ่งมีหลายระดับ ตามที่กล่าวมา ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

อดทนที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 31 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 31 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณอาจารย์ผเดิมที่กรุณาอธิบายในรายละเอียดของขันติเพิ่มเติม

ผมขออนุญาตรบกวนสอบถามอาจารย์เพิ่มเติมอีกนิดครับว่า

ที่ปรากฏในหนังสือ เรื่อง บารมีในชีวิตประจำวัน ท่านกล่าวถึง ลักขณาทิจตุกกะ ของขันติบารมีว่า

มีความอดทน เป็น ลักษณะ

มีความอดกลั้นสิ่งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา เป็น รส

มีความอดกลั้น หรือ ความไม่โกรธ เป็น ปัจจุปัฏฐาน

และมีการเห็นตามความจริง เป็น ปทัฏฐาน

ในเรื่องของ ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน นั้น อาจารย์ผเดิมและอาจารย์คำปั่น ได้อธิบายไว้ข้างต้นแล้ว โดยละเอียดกว้างขวาง

ส่วน ปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ให้เกิด ขันติ นี้น่าสนใจนะครับ

ท่านกล่าวว่า มีการเห็นตามความจริง เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ขันติ

คำว่า "เห็นตามความเป็นจริง" นี้ อาจหมายเอาได้ถึง ปัญญา ที่เกิดขึ้น เห็นตามความจริง ตรงนี้จึงน่าสนใจ และรบกวนขอคำอธิบาย และแจกแจงเพิ่มขึ้นอีกสักนิดนะครับ เพราะว่า ขันติ มีความสำคัญและจำเป็นมาก อันเป็นได้ถึงบารมี และกล่าวไว้ในพระปาฏิโมกข์ หากเหตุใกล้ให้เกิดขันติ คือ ปัญญา ดังนั้น ก็ต้องเริ่มต้นที่จะเข้าใจความเป็นจริงก่อน ขันติ ที่แท้จริง จึงจะเริ่ม เจริญ ขึ้นจริงๆ

ขออนุญาตขอความเห็นด้วยนะครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 31 ส.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

มีการเห็นตามความจริง เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ขันติ คือ มีการเห็นตามความเป็นจริง ที่มีหลายระดับ ทั้งการเห็นตามความเป็นจริง ด้วยปัญญา ที่เป็นระดับเบื้องต้นที่เห็นว่า สัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน จึงไม่โกรธผู้อื่น ที่ทำผิดกับตน เพราะ บุคคลนั้นจะต้องได้รับกรรมที่ไม่ดี จึงไม่โกรธบุคคลนั้น เกิดขันติ ความอดทน เพราะ เห็นตามความเป็นจริง ตามระดับปัญญาระดับนี้

และการเห็นตามความเป็นจริงอีกระดับหนึ่ง คือ เห็นตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นไป จึงเกิดความอดทนเกิดขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น เห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียง ธรรม ไม่ใช่เรา แทนที่จะโกรธคนอื่น ที่ทำไม่ดีกับเรา ก็มีความเห็นถูก ตามความเป็นจริงว่า ไม่มีใครที่ทำผิด ทำร้ายเรา เพราะ ไม่มีเขา ไม่มีเรา มีแต่ธรรม การเห็นตามความเป็นจริง แม้เพียงขั้นคิดนึก คือ คิดถูก ก็เป็นปัจจัย ให้เกิดขันติ ความอดทน ที่จะไม่โกรธผู้อื่นในชีวิตประจำวัน ได้ตามความเป็นจริง ครับ

และ เมื่อปัญญาคมกล้า ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏในชีวิตประจำวันที่เป็นสติปัฏฐาน ขณะนั้น แทนที่จะโกรธการกระทำของผู้อื่น ก็รู้ลักษณะของจิต ของตนเองว่า เป็นธรรม หรือ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏว่า ไม่มีใคร เป็นแต่เพียงธรรม จึงเกิดความอดทน ขันติ ได้ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
nong
วันที่ 1 ก.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
orawan.c
วันที่ 1 ก.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
peem
วันที่ 15 ม.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Saye
วันที่ 18 พ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ