ภัทรฆฏเภทกชาดก.. คนโง่เขลาเดือดร้อนภายหลัง

 
pirmsombat
วันที่  7 ก.ย. 2555
หมายเลข  21691
อ่าน  1,261

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 58] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ 321

. กุมภวรรค

. ภัทรฆฏเภทกชาดก

คนโง่เขลาเดือดร้อนภายหลัง

[๔๗๒] นักเลงได้หม้อสารพัดนึกอันเป็นยอด

ทรัพย์ใบหนึ่ง ยังรักษาหม้อนั้นไว้ได้ตราบใด

เขาก็จะได้รับความสุขอยู่ตราบนั้น.

[๔๗๓] เมื่อใด เขาประมาทและเย่อหยิ่ง

ได้ทำลายหม้อให้แตก เพราะความประมาท

เมื่อนั้น ก็เป็นคนเปลือยและนุ่งผ้าเก่า

เป็นคนโง่เขลา ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง.

[๔๗๔] คนผู้ประมาทโง่เขลา ได้ทรัพย์มาแล้ว

ย่อมใช้สอยไปอย่างนี้ จะต้องเดือดร้อนในภายหลัง

เหมือนนักเลงทุบหม้อขอดทรัพย์เสีย ฉะนั้น.

จบภัตรฆฏเภทกชาดกที่๑

อรรถกถาสุปัตตวรรคที่ ๕

อรรถกถาภัทรฆฏเภทกชาดกที่ ๑

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรง

๑.บาลี. เป็นกุมภวรรค.

ปรารภหลานของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้น

ว่า สพฺพกามททํ กุมฺภํ ดังนี้

ได้ยินว่า หลานของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้น ผลาญเงิน ๔๐ โกฏิ

อันเป็นของบิดามารดา ให้ฉิบหายไปด้วยการดื่มสุรา

แล้วจึงได้ไปยังสำนักของท่านเศรษฐี. แม้ท่านเศรษฐีก็ได้ให้ทรัพย์แก่เขาพันหนึ่ง

โดยสั่งว่าจะทำการค้าขาย. เขาก็ทำทรัพย์ทั้งพันให้ฉิบหาย

แล้วได้มาอีก. ท่านเศรษฐีก็ให้ทรัพย์เขาอีก ๕๐๐ เขาทำทรัพย์ ๕๐๐ นั้น

ให้ฉิบหายแล้วกลับมาขออีก ท่านเศรษฐีจึงให้ผ้าสาฎกเนื้อหยาบไป ๒ ผืน.

เขาทำผ้าสาฎกแม้ทั้งสองผืนนั้นให้ฉิบหายแล้วมาหาอีก

ท่านเศรษฐีจึงให้คนใช้จับคอลากออกไป. เขากลายเป็นคนอนาถา

อาศัยฝาเรือนคนอื่นตายไป. ชนทั้งหลายจึงลากเขาไปทิ้งเสียภายนอกบ้าน.

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีไปยังพระวิหาร กราบทูลความเป็นไปของหลานชายนั้นทั้งหมด

ให้พระตถาคตเจ้าทรงทราบ. พระศาสดาตรัสว่า

เมื่อก่อน เราแม้ให้หม้อสารพัดนึก ก็ยังไม่สามารถทำบุคคลใดให้อิ่มหนำได้

ท่านจะทำบุคคลนั้นให้อิ่มหนำได้อย่างไร

อันท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้นทูลอาราธนาแล้ว

จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี

พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลเศรษฐี เมื่อบิดาล่วงลับไปแล้ว

ก็ได้ตำแหน่งเศรษฐี. ในเรือนของท่านเศรษฐี ได้มีทรัพย์ฝั่งดินไว้

ประมาณ ๔๐ โกฏิ. อนึ่ง พระโพธิสัตว์นั้น มีบุตรคนเดียวเท่านั้น.

พระโพธิสัตว์กระทำบุญมีทานเป็นต้น กระทำกาลกิริยาแล้ว

บังเกิดเป็นท้าวสักกะเทวราช.

ครั้งนั้น บุตรของท่านเศรษฐีนั้น

ไม่จัดแจงทานวัตรอะไรๆ ได้แต่ให้สร้างมณฑป อันมหาชนแวดล้อมนั่งอยู่

ปรารภจะดื่มสุรา. เขาให้ทรัพย์ทีละพันแก่คนผู้กระทำการเต้นรำ

เล่นระบำ รำฟ้อน และขับร้องเป็นต้น ถึงความเป็นนักเลงหญิง

นักเลงสุรา และนักเลงกินเนื้อเป็นต้น. เป็นผู้ต้องการแต่มหรสพเท่านั้นว่า

ท่านจงขับร้อง ท่านจงฟ้อนรำ ท่านจงประโคม เป็นผู้ประมาทมัวเมา

เที่ยวไปไม่นานนัก ได้ผลาญทรัพย์ ๔๐ โกฏิ และอุปกรณ์

เครื่องอุปโภค บริโภค ให้ฉิบหาย กลายเป็นคนเข็ญใจ กำพร้า นุ่งผ้าเก่าเที่ยวไป.

ท้าวสักกะทรงรำพึงถึง ทรงทราบว่า บุตรตกระกำลำบาก

จึงมาเพราะความรักบุตร ได้ให้หม้อสารพัดนึกแล้ว โอวาทสั่งสอนว่า

ดูก่อนพ่อ เจ้าจงรักษาหม้อนี้ไว้อย่าให้แตกทำลายไป

ก็เมื่อเจ้ายังมีหม้อใบนี้อยู่ ในชื่อว่าความสิ้นเปลืองแห่งทรัพย์จักไม่มีเลย ดังนี้

แล้วก็กลับไปเทวโลก. จำเดิมแต่นั้น เขาก็เที่ยวดื่มสุรา. อยู่มาวันหนึ่งเขาเมามาก

โยนหม้อนั้นขึ้นไปในอากาศแล้วรับ ครั้งหนึ่ง พลาดไป.

หม้อตกบนพื้นดินแตกไป. ตั้งแต่นั้นมา ก็กลับเป็นคนจน นุ่งผ้าท่อนเก่า

มือถือกระเบื้องเที่ยวภิกขาจารอาศัยฝาเรือนคนอื่นอยู่จนตายไป

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว

จึงตรัสอภิสัมพุทธคาถาเหล่านี้ว่า :-

นักเลงได้หม้อ อันเป็นหม้อสารพัดนึกใบหนึ่ง

ยังรักษาหม้อนั้นไว้ได้ตราบใด

เขาก็จะได้รับความสุขอยู่ตราบนั้น.

เมื่อใด เขาประมาทและเย่อหยิ่ง

ได้ทำลายหม้อให้แตก เพราะความประมาท เมื่อนั้น

ก็เป็นคนเปลือยและนุ่งผ้าเก่า

เป็นคนโง่เขลา ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง.

คนผู้ประมาทโง่เขลา ได้ทรัพย์มาแล้ว

ใช้สอยไปอย่างนี้ จะต้องเดือดร้อนในภายหลัง

เหมือนนักเลงทุบหม้อสารพัดนึกฉะนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพกามททํ ได้แก่ หม้อที่สามารถ

ให้วัตถุอันน่าใคร่ทั้งปวง. บทว่า กูฏํ เป็นไวพจน์ของ กุมภะหม้อ.

บทว่า ยาว แปลว่า ตลอดกาลเพียงใด. บทว่า อนุปาเลติ ความว่า

คนใดคนหนึ่ง ได้หม้อเห็นปานนี้ ยังรักษาไว้ตราบ เขาย่อมได้

ความสุขอยู่ตราบนั้น. บทว่า มตฺโต จ ทิตฺโต จ ความว่า ชื่อว่า

มัตตะ เพราะเมาเหล้า ชื่อว่า ทิตตะ เพราะเย่อหยิ่ง บทว่า ปมาทา

กุมฺภมพฺภิทา แปลว่า ทำลายหม้อเสีย เพราะความประมาท. บทว่า

นคฺโค จ โปตฺโถ จ ความว่า บางคราว เป็นคนเปลือย บางคราว

เป็นคนนุ่งผ้าเก่า เพราะเป็นคนนุ่งผ้าท่อนเก่า. บทว่า เอวเมว ก็คือ

เอวเมว แปลว่า อย่างนั้นนั่นแหละ. บทว่า ปมตฺโต ได้แก่ ด้วย

ความประมาท. บทว่า ตปฺปติ ได้แก่ ย่อมเศร้าโศก.

พระศาสดาครั้นตรัสพระคาถาดังนี้แล้ว ทรงประชุมชาดกว่า

นักเลงผู้ทำลายหม้อความเจริญในครั้งนั้นได้เป็นหลานเศรษฐีในบัดนี้

ส่วนท้าวสักกะ คือเราตถาคต ฉะนั้นแล.

จบอรรถกถาภัทรฆฏเภทกชาดกที่๑


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เข้าใจ
วันที่ 7 ก.ย. 2555

เป็นเรื่องแปลกนะครับ เมื่อเป็นคนประมาทมัวเมาอยู่ก็เป็นคนประมาทมัวเมาอยู่เช่นนั้น กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pirmsombat
วันที่ 8 ก.ย. 2555

ชาตินี้ทำอะไรก็เพราะชาติก่อนเคยทำมาแล้ว

ดังนั้นต้องศึกษาอบรมธรรม เพื่อปํญญาเจริญขึ้น

เป็นเหตุที่จะปฏิบัติดี ละอกุศล กระทำสี่งที่ให้ผลเป็นความสุข

ขอบพระคุณและอนุโมทนาคุณเข้าใจ คุณเมตตา และ ทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 8 ก.ย. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณหมอเพิ่ม ที่นำพระสูตรมา

คอยเตือนให้เห็นโทษของอกุศลของแต่ละคนที่ได้สะสมกันมาในแต่ละภพชาติ แม้

ชาตินี้อกุศลที่ได้เกิดขึ้นก็เพราะชาติก่อนเคยกระทำมาแล้ว ดังนั้นการได้มีโอกาส

ศึกษาพระสูตรต่างๆ จะเห็นถึงกุศลและอกุศลของแต่ละบุคคลในแต่ละภพแต่ละชาติ

ที่ได้สะสมมา เราซึ่งอยู่ในกาลนี้ยังมีโอกาสได้ศึกษาพระธรรมจึงควรสะท้อนให้เห็น

โทษของอกุศล และเห็นคุณของกุศลตามที่ได้ศึกษามา และสิ่งสำคัญที่สุดคือไม่

เพียงแต่อบรมเจริญปัญญา อบรมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ

ควรที่จะเห็นโทษของอกุศล เห็นโทษของความเป็นผู้ประมาท มีความละอายกิเลส

อกุศลทั้งหลาย ค่อยๆ ขัดเกลากิเลสอกุศลของตน

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kinder
วันที่ 9 ก.ย. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 9 ก.ย. 2555

คนที่ไม่ให้ทาน เพราะความตระหนี่และความประมาท ท่านเปรียบคนที่ประมาท

เหมือนคนตาย ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ