ความประมาท เป็นทางแห่งความเสื่อม

 
chatchai.k
วันที่  14 มิ.ย. 2555
หมายเลข  21262
อ่าน  45,302

ความประมาท เป็นทางแห่งความเสื่อม ข้อความนี้ หมายความว่าอย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจคำว่าประมาท และ ไม่ประมาทให้ถูกต้องว่าคืออะไรก่อนครับ ความประมาท คือ ขณะที่ไม่มีสติ ซึ่งสติเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ขณะที่ไม่มีสติ ที่ชื่อว่า ความประมาท หมายถึง ขณะที่เป็นอกุศล ดังนั้น ขณะใดก็ตาม ที่เป็นอกุศลจิต ไม่ว่าจะมาก หรือ น้อย ชื่อว่าประมาทแล้วในขณะนั้นครับ

ความไม่ประมาท หมายถึง ขณะที่มีสติ เป็นกุศลจิต ดังนั้น ขณะใดที่เป็นกุศลจิตไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตขั้นใด ไม่ว่าจะเป็นกุศลขั้นทาน ศีล ภาวนา ขณะนั้นชื่อว่าไม่ประมาท เพราะมีสติ อยู่โดยไม่ปราศจากสติในขณะนั้น ดังนั้น ความประมาท จึงไม่ใช่ความหมายทางโลก ที่ทำอะไรด้วยความประมาท ข้ามถนน ไม่ดู ก็กล่าวว่าประมาท นั่นไม่ใช่ความหมายของความประมาทที่ถูกต้อง ครับ

ดังนั้น คำที่ผู้ถาม ถามว่า ความประมาทเป็นทางแห่งความเสื่อม ก็มีในนัยนี้ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงด้วย ครับ ซึ่งความประมาทเป็นทางแห่งความเสื่อม มีความละอียดลึกซึ้งหลายระดับ ตั้งแต่เบื้องต้น จนถึงสูงสุด ครับ ซึ่งคำนี้ มีมาในคำสอนของพระพุทธเจ้า ในชาดก ที่เป็นเรื่องที่พระโพธิสัตว์ เกิดเป็นเทวดา เห็นพระราชาและอำมาตย์ทั้งหลาย ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่ดี ทำให้ประชาชนเดือดร้อนไปทั่ว พระโพธิสัตว์ที่เป็นรุกขเทวดา จึงเข้าไปหาพระราชา และได้กล่าวคาถาเตือนพระราชาว่า

[เล่มที่ 61] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้าที่ 513

ภัณฑุติณฑุกชาดก

[๒๔๑๙] ความไม่ประมาท เป็นทางไม่ตาย ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย ผู้ไม่ประมาท ย่อมไม่ตาย คนประมาทเป็นเหมือนคนตายแล้ว. เพราะมัวเมาจึงเกิดความประมาท เพราะ ประมาทจึงเกิดความเสื่อม และเพราะความเสื่อมจึงเกิดโทษ ดูก่อน ท่านผู้มีภาระครอบครองรัฐ อย่าประมาทเลย. เพราะกษัตริย์เป็นอันมาก หากมีความประมาท ต้องเสื่อมประโยชน์ของแว่นแคว้น เสื่อมทั้งแว่นแคว้น อนึ่ง ชาวบ้านประมาท ก็เสื่อมจากบ้าน บรรพชิต ประมาท ก็เสื่อมจากอนาคาริยวิสัย (การบวช) .

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 15 มิ.ย. 2555

ความไม่ประมาท คือ การอยู่ไม่ปราศจากสติ หมายถึง มีสติ คือ ขณะที่เป็นกุศลธรรม ชื่อว่า ไม่ประมาท ไม่ปราศจากสติ เพราะ ขณะที่เป็นกุศล มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะที่เป็นอกุศล ไม่มีสติเกิดร่วมด้วย ดังนั้น กุศลธรรม กุศลจิตที่เกิดขึ้นว่าไม่ประมาท ความไม่ประมาท เป็นทางแห่งความไม่ตาย คือ การทำกุศลที่เป็นการอบรมปัญญา เจริญสติปัฏฐาน เป็นทางแห่งความไม่ตาย ย่อมถึงพระนิพพานที่ทำให้ไม่ตาย ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย คือ ในอนาคต จะดับกิเลสหมด ไม่เกิดอีก เมื่อไม่เกิด ก็ไม่ตาย ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ในที่นี้ มุ่งหมายถึง ผู้ที่ไม่ได้อบรมปัญญา ย่อม ประมาท คือ ไม่มีกุศลที่เป็นไปในการเจริญวิปัสสนา ย่อมไม่สามารถดับกิเลสได้เลย จึงต้องเกิดและตายบ่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด การตายบ่อยๆ จึงชื่อว่าเป็นทางแห่งความตาย จึงไม่ใช่ความหมายทางโลก ที่ทำอะไรไม่ระวัง จะเป็นทางแห่งความตาย

คนประมาทเป็นเหมือนคนตายแล้ว คือ คนที่ประมาท ประมาทในกุศลธรรม คือ ไม่ ทำความดีประการต่างๆ ก็เหมือนคนที่ตายแล้ว คือ คนตายก็ไม่สามารถทำความดีอะไรได้เช่นกัน จึงไม่ต่างกันเลย ไม่ว่าอยู่ หรือ ตาย สำหรับคนที่ประมาท ไม่ทำควมดี อบรม ปัญญา

และมาถึงคำว่า ความประมาทเป็นทางแห่งความเสื่อม

ซึ่งข้อความในชาดกก็อธิบายไว้ครับ ทั้งนัยเบื้องต้นละถึงสูงสุด คือ เมื่อมัวเมาย่อมประมาท คือ มัวเมาในโรค คือ สำคัญว่าจะไม่มีโรค มัวเมาในวัย คือ สำคัญว่ายังไม่แก่ มัวเมาในชีวิต คือ สำคัญว่าไม่ตาย ย่อมประมาท คือ ทำให้ประพฤติไม่ดี กระทำทางกาย วาจาไม่ดี และเป็นอกุศลธรรมเกิดขึ้น ชื่อว่าประมาท เมื่อประมาท กระทำสิ่งที่ไม่ดี ย่อมเสื่อม คือ เสื่อมจากคุณความดีในขณะนั้นประการหนึ่ง เพราะ ขณะนั้นเป็นอกุศลธรรมและย่อมเสื่อมจากโภคทรัพย์ เสื่อมจากญาติ เสื่อมจากมิตร ด้วยครับ เพราะ มีความประมาท คือ การทำอกุศลธรรม มี การฆ่าสัตว์ เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 15 มิ.ย. 2555

ดังนั้น ความประมาท แสดงถึง โดยนัยว่า การไม่ทำกิจการงานให้เหมาะสม ไม่ทำหน้าที่ให้สมควร เช่น พระราชา ไม่ทำหน้าที่ให้สมควร บุตร ไม่ทำหน้าที่อันสมควร ก็ชื่อว่าประมาท ประมาทเพราะ มีอกุศลจิตเป็นมูล ถ้าไม่มีอกุศล ก็จะไม่ทำหน้าที่ที่ไม่ดี แต่ถ้ากุศลเกิด ไม่ประมาท ย่อมมีสติ ย่อมรู้สิ่งที่ควรทำ และกระทำสิ่งที่สมควร เพราะฉะนั้น แม้กิจการงานทางโลก การทำหน้าที่ต่างๆ การทำไม่สมควรก็ชื่อว่า ประมาท เพราะมีอกุศลจิตเกิดขึ้นนั่นเองครับ อกุศลเกิดเมื่อใด ประมาทเมื่อนั้น และ ย่อมทำสิ่งที่ไม่สมควร อันมีความประมาทเป็นปัจจัย หรือ อกุศลจิตเป็นปัจจัย เมื่อประมาทย่อมเป็นทางแห่งความเสื่อม ดังข้อความในพระไตรปิฎกที่ว่า

เพราะมัวเมา จึงเกิดความประมาท เพราะประมาท จึงเกิดความเสื่อม และเพราะความเสื่อม จึงเกิดโทษ ดูก่อนท่าน ผู้มีภาระครอบครองรัฐ อย่าประมาทเลย. เพราะกษัตริย์เป็น อันมาก หากมีความประมาท ต้องเสื่อมประโยชน์ของแว่นแคว้น เสื่อมทั้งแว่นแคว้น อนึ่ง ชาวบ้านประมาท ก็เสื่อมจากบ้าน บรรพชิตประมาท ก็เสื่อมจากอนาคาริยวิสัย.


- พระราชา ทำหน้าที่ไม่สมควร เพราะประมาทด้วยอกุศลธรรม ย่อมเสื่อมจาการแว่นแคว้น ชาวบ้าน คนทั่วไป หากประมาทก็ย่อมเสื่อมจากที่อยู่ ที่อาศัย ทรัพย์สิน เช่น การประมาท คือ การทำบาป มีการลักทรัพย์ เมื่อถูกจับได้ ย่อมต้องเสื่อมจากที่อยู่ คือ ติดคุก ติดตารางและเสื่อมทรัพย์ด้วย เสื่อมญาติ ห่างจากญาติ และที่สำคัญที่สุด คือเสื่อมจากคุณธรรม คือ เสื่อมจากกุศลธรรม เพราะเป็นอกุศลธรรมในขณะนั้นที่ทำบาปครับ และย่อมเสื่อมจาก สุคติ เพราะไม่สามารถไปสุคติได้เพราะต้องไปอบายภูมิ และเสื่อมจากการบรรลุธรรม เพราะอาศัยความประมาท คือ อกุศลธรรมที่เกิดขึ้น ครับ

ความประมาทจึงมีตั้งแต่เบื้องต้นและสูงสุดตามที่กล่าวมา สรุปได้ว่า ความประมาทจะต้องเป็นอกุศลธรรม อกุศลจิตที่เกิดขึ้นเพราะปราศจากสติรู้ในสิ่งที่ควรทำ แต่ทำในสิ่งที่ไม่สมควร อันมีอกุศลเป็นเหตุ นั่นเอง ขณะใดที่อกุศลเกิด ชื่อว่าประมาท เมื่อประมาทแล้วย่อมเสื่อมจากคุณความดี เสื่อมจากกุศลธรรม และเสื่อมจากบ้านเรือน ทรัพย์สิน และญาติ อื่นๆ ด้วย ครับ

ความไม่ประมาท ก็มีหลายระดับ คือ กุศลธรรม มีหลายระดับ ขณะใดที่กุศลจิตเกิดชื่อว่าไม่ประมาท ความไม่ประมาทที่ประเสริฐที่สุด คือ กุศลธรรมที่ทำให้ถึงความไม่เกิด คือ ถึงการดับกิเลส คือขณะที่สติปัฏฐานเกิดรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ ชื่อว่าไม่ประมาท ถึงการไม่เกิดอีกครับ ซึ่งก็เริ่มจากความไม่ประมาทในชีวิตประจำวันคือ การเจริญกุศลทุกประการ อบรมปัญญา ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม แม้ชีวิตยังประมาทอยู่ คืออกุศลเกิดบ่อยๆ แต่ เพราะอาศัยการอบรมความไม่ประมาทีละน้อย ย่อมถึงความไม่ประมาทที่สมบูรณ์ และดับเหตุที่ทำให้ประมาท คือ กิเลสประการต่างๆ ได้หมดสิ้น ครับ ซึ่งก็ต้องอาศัย การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่เป็นเหตุให้ความไม่ประมาทเจริญขึ้นนั่นเอง

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

เหตุที่ประมาทไม่ใส่ใจฟังธรรม เพราะลืมความตาย [วัฑฒิสูตร]

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 15 มิ.ย. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมครับ

เรื่องความมัวเมาและความประมาทนี้ ผมเคยฟังที่ท่านอาจารย์สุจินต์ยกตัวอย่างบางส่วนมาบรรยาย มีความละเอียดลึกซึ้งมาก จะขออนุญาตยกเอาเรื่องความมัวเมาและความประมาทนี้มาร่วมสนทนาด้วยนะครับ

๗๘.พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 759

๑๗. ขุกทกวัตถุวิภังค์

เอกกนิทเทส [๘๖๐] ในเอกกมาติกาเหล่านั้น ความมัวเมาในชาติ เป็นไฉน?ความมัวเมา กิริยาที่มัวเมา สภาพที่มัวเมา ความถือตัว กิริยาที่ถือตัว สภาพที่ถือตัว การยกตน การเทิดตน การเชิดชูตนดุจธง การยกตนขึ้น ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยชาติ นี้เรียกว่า ความมัวเมาในชาติ. [๘๖๑] ความมัวเมาในโคตร เป็นไฉน?ความมัวเมา ฯลฯ ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยโคตรนี้เรียกว่า ความมัวเมาในโคตร.ความมัวเมาในความไม่มีโรค เป็นไฉน?ความมัวเมา ฯลฯ ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยความไม่มีโรค นี้เรียกว่า ความมัวเมาในความไม่มีโรค.ความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาว เป็นไฉน?ความมัวเมา ฯลฯ ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยความเป็นหนุ่มสาว นี้เรียกว่า ความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาว.ความมัวเมาในชีวิต เป็นไฉน?ความมัวเมา ฯลฯ ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยชีวิตนี้เรียกว่า ความมัวเมาในชีวิต.ความมัวเมาในลาภ เป็นไฉน?ความมัวเมา ฯลฯ ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยลาภ นี้เรียกว่า ความมัวเมาในลาภ.

ความมัวเมาในสักการะ เป็นไฉน?ความมัวเมา ฯลฯ ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยสักการะนี้เรียกว่า ความมัวเมาในสักการะ.ความมัวเมาในการทำความเคารพ เป็นไฉน?ความมัวเมา ฯลฯ ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยการทําความเคารพ นี้เรียกว่า ความมัวเมาในการทำความเคารพ.ความมัวเมาในความเป็นหัวหน้า เป็นไฉน?ความมัวเมา ฯลฯ ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยความเป็นหัวหน้า นี้เรียกว่า ความมัวเมาในความเป็นหัวหน้า.ความมัวเมาในบริวาร เป็นไฉน?ความมัวเมา ฯลฯ ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยบริวารนี้เรียกว่า ความมัวเมาในบริวาร.ความมัวเมาในโภคสมบัติ เป็นไฉน?ความมัวเมา ฯลฯ ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยโภคสมบัตินี้เรียกว่า ความมัวเมาในโภคสมบัติ.ความมัวเมาในวรรณะแห่งสรีระและคุณความดี เป็นไฉน?ความมัวเมา ฯลฯ ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยวรรณะแห่งสรีระและคุณความดี นี้เรียกว่า ความมัวเมาในวรรณะแห่งสรีระและคุณความดี.ความมัวเมาในการศึกษา เป็นไฉน?ความมัวเมา ฯลฯ ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยการศึกษา นี้เรียกว่า ความมัวเมาในการศึกษา.

ความมัวเมาในปฏิภาณ เป็นไฉน?ความมัวเมา ฯลฯ ความทีจิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยปฏิภาณนี้เรียกว่า ความมัวเมาในปฏิภาณ.ความมัวเมาในความเป็นผู้รัตตัญญู เป็นไฉน?ความมัวเมา ฯลฯ ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยความเป็นผู้รัตตัญญู นี้เรียกว่า ความมัวเมาในความเป็นผู้รัตตัญญู.ควานมัวเมาในความถือบิณฑบาตเป็นวัตร เป็นไฉน?ความมัวเมา ฯลฯ ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยความเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร นี้เรียกว่า ความมัวเมาในความถือบิณฑบาตเป็นวัตร.ความมัวเมาในความไม่มีใครดูหมิ่น เป็นไฉน?ความมัวเมา ฯลฯ ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยความไม่มีใครดูหมิ่น นี้เรียกว่า ความมัวเมาในความไม่มีใครดูหมิ่น.ความมัวเมาในอิริยาบถ เป็นไฉน?ความมัวเมา ฯลฯ ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยอิริยาบถนี้เรียกว่า ความมัวเมาในอิริยาบถ.ความมัวเมาในอิทธิฤทธิ์ เป็นไฉน?ความมัวเมา ฯลฯ ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยอิทธิฤทธิ์นี้เรียกว่า ความมัวเมาในอิทธิฤทธิ์.ความมัวเมาในยศ เป็นไฉน?ความมัวเมา ฯลฯ ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยยศนี้เรียกว่า ความมัวเมาในยศ.

ความมัวเมาในศีล เป็นไฉน?ความมัวเมา ฯลฯ ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยศีล นี้เรียกว่า ความมัวเมาในศีล.ความมัวเมาในฌาน เป็นไฉน?ความมัวเมา ฯลฯ ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยฌาน นี้เรียกว่า ความมัวเมาในฌาน.ความมัวเมาในศิลปะ เป็นไฉน? ความมัวเมา ฯลฯ ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยศิลปะ นี้เรียกว่า ความมัวเมาในศิลปะ.ความมัวเมาในควานมีทรวดทรงสูง เป็นไฉน?ความมัวเมา ฯลฯ ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยความมีทรวดทรงสูง นี้เรียกว่า ความมัวเมาในความมีทรวดทรงสูง.ความมัวเมาในความมีทรวดทรงสันทัด เป็นไฉน?ความเมา ฯลฯ ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยความมีทรวดทรงสูง นี้เรียกว่า ความมัวเมาในความมีทรวดทรงสันทัด.ความมัวเมาในความมีทรวดทรงงาม เป็นไฉน?ความมัวเมา ฯลฯ ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยความมีทรวดทรงงาม นี้เรียกว่า ความมัวเมาในความมีทรวดทรงงามความมัวเมาในความมีร่างกายบริบูรณ์ เป็นไฉน?ความมัวเมา กิริยาที่มัวเมา สภาพที่มัวเมา ความถือตัว กิริยาที่ถือตัวสภาพที่ถือตัว กายยกตน การเทิดตน การเชิดชูตนดุจธง การยกตนขึ้นความที่จิตต้องการเป็นดุจธง เพราะอาศัยความมีร่างกายบริบูรณ์ นี้เรียกว่าความมัวเมาในควานมีร่างกายบริบูรณ์

[๘๖๒] ความมัวเมา เป็นไฉน? .ความมัวเมา กิริยาที่มัวเมา สภาพที่มัวเมา ความถือตัว กิริยาที่ถือตัว สภาพที่ถือตัว การยกตน การเทิดตน การเชิดชูตนดุจธง การยกตนขึ้น ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง อันใด นี้เรียกว่า ความมัวเมา.

[๘๖๓] ความประมาท เป็นไฉน?

ความปล่อยจิตไป ความเพิ่มพูนการปล่อยจิตไป ในกายทุจริตวจีทุจริต มโนทุจริต หรือในกามคุณ ๕ หรือความกระทำโดยไม่เคารพ ความกระทำโดยไม่ติดต่อ ความกระทำไม่มั่นคง ความประพฤติย่อหย่อน ความทอดทิ้งฉันทะ ความทอดทิ้งธุระ ความไม่เสพให้มาก ความไม่ทำให้เจริญความไม่ทำให้มาก ความไม่ตั้งใจจริง ความไม่ประกอบเนืองๆ ความประมาท.ในการเจริญกุศลธรรมทั้งหลาย ความประมาท กิริยาที่ประมาท สภาพที่ประมาท สภาพที่ประมาท อันใด มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่า ความประมาท. ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 15 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนาคุณ ผู้ร่วมเดินทางเช่นกัน ครับ ที่นำข้อความในพระไตรปิฎก มาอธิบายเพิ่มเติม ก็ขอเสริม ด้วยคำบรรยายของท่านอาจารย์ สุจินต์ ในเรื่อง ความประมาท และไม่ประมาท ดังนี้ ครับ

เชิญคลิกฟังคำบรรยายท่านอาจารย์ สุจินต์ที่นี่ ครับ

ถ้าไม่รู้สิ่งที่ปรากฏกล่าวว่าเป็นผู้ประมาท

ไม่ควรประมาทในการเจริญกุศล ฟังพระธรรม อบรมปัญญา

ควรจะไม่ประมาทในชีวิตประจำวัน

กิเลสมีมากกว่านั้น ไม่รู้ละเอียดก็เป็นผู้ประมาท

อริยสาวกผู้อยู่ด้วยความประมาท

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 15 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เพียงชาติเดียว หรือ สองชาติเท่านั้น ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนาน ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย และในแต่ละชาติก็สั้นมาก ชีวิตของคนเราซึ่งเป็นผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส (ปุถุชน) หมดไปกับการนอน การทำงาน การบริโภค การชำระล้างร่างกาย การเดินทาง เป็นต้น ถ้าหากว่าจะมีการฟังธรรมศึกษาพระธรรมบ้าง เจริญกุศลประการต่างๆ เช่น ให้ทาน รักษาศีล เป็นต้นบ้าง ระลึกรู้สภาธรรมที่กำลังปรากฏบ้าง ก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวของชีวิตเท่านั้นเอง

จะเห็นได้ว่าในแต่ละวัน กุศลจิตเกิดน้อยมาก เทียบส่วนกับอกุศลจิตไม่ได้เลย ยิ่งถ้ามีความประมาทในการใช้ชีวิตแล้ว ก็ยิ่งจะเกื้อหนุนให้อกุศลเกิดเพิ่มมากขึ้นไปอีก แต่ละคนเหลือเวลากันอีกไม่มากแล้วที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เพราะชีวิตสั้นมากจริงๆ ควรที่จะได้พิจารณาอยู่เสมอเพื่อเป็นเครื่องเตือนตนเอง ดังข้อความบางตอนที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ได้กล่าวไว้ ว่า “เกิดมาแล้ว จะทำอะไรกับชีวิตที่สั้นๆ นี้” เพื่อเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้ไม่ประมาท พร้อมทั้งให้เวลากับการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับชีวิต ให้มากๆ แม้แต่วาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ยังตรัสเตือนให้พุทธบริษัทตั้งอยู่ในความไม่ประมาท

เพราะความไม่ประมาทนำมาซึ่งกุศลธรรมทั้งปวง ป้องกันไม่ให้ตกไปในฝ่ายเสื่อม พระโอวาทที่ทรงประทานมาตลอด ๔๕ พรรษา แห่งการประกาศพระศาสนาของพระองค์ รวมลงในบทคือความไม่ประมาท พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เป็นเครื่องเตือนให้เป็นผู้ไม่ประมาทจริงๆ ครับ

ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้

"การอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องที่ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาทจริงๆ เพราะถ้าลดโอกาสของกุศลลง ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้อกุศลเกิดขึ้นอีก และ อกุศลที่มีกำลังอยู่แล้ว ก็จะมีกำลังเพิ่มขึ้นอีก ทุกๆ วันนี้อกุศลสะสมไปที่จะมีกำลังเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อทราบว่า ยังไม่สามารถที่จะชนะกิเลสได้ ก็ขอเพียงฟังพระธรรม อย่าขาดการฟังพระธรรม แต่ถ้ารู้ตัวเองว่า แม้แต่เพียงการฟัง ก็ยังจะไม่สนใจ หรือว่าไม่มีกำลังศรัทธาพอที่จะฟัง ขณะนั้นก็แสดงให้เห็นกำลังของการคบหาสมาสมาคมกับอกุศล ซึ่งมีกำลังเพิ่มขึ้นมหาศาลขึ้นอีกเรื่อยๆ

ถ้าทุกคนจะมีชื่ออีกชื่อหนึ่ง ก็คงจะชื่อว่า "คุณประมาท" เพราะว่าตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าไม่ระวังจริงๆ กุศลที่เคยมี เคยเป็นปกติ แล้วเสื่อมไป ขณะนั้นก็เห็นชัดว่า เป็นผู้ที่ประมาทแล้ว และบางคนก็ประมาทมาก เพราะฉะนั้นจึงควรเตือนตัวเองว่า อีกชื่อหนึ่งของทุกคน ไม่ว่าจะชื่ออะไรกันก็ตามแต่ แต่อีกชื่อหนึ่งคือ "คุณประมาท" บางคนก็มีความประมาทในการเข้าใจพระธรรม หรือว่าในกุศลที่สะสมมา คิดว่ามั่นคงแล้ว จนกระทั่งถึงกับอยากจะทดลองกำลังของกิเลส นี่ก็เป็นผู้ที่ประมาทเพิ่มขึ้นไปอีก คือไม่รู้เลยว่าอวิชชาและโลภะ มีกำลังมากแค่ไหน ไม่ควรเลยที่ใครจะไปทดลองกำลังของอวิชชาและโลภะ เพราะว่าอวิชชาและโลภะมีกำลังอยู่ตลอดเวลาที่สติปัฏฐานไม่เกิดไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม

ถ้าจะอุปมาภพภูมิข้างหน้าเป็นอบายภูมิ พระธรรมและกุศลทั้งหลายในชาตินี้เหมือนเชือกที่ทุกคนกำลังจับอยู่ที่จะไม่ปล่อยให้ตัวเองตกลงไปสู่อบายภูมิ แต่ถ้ากำลังที่จับนั้นอ่อนลง จนกระทั่งปล่อยมือจากพระธรรม ก็เป็นที่แน่นอนว่าไม่มีทางที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม และ อกุศลธรรมที่ได้กระทำแล้วก็มีโอกาสที่จะกระทำให้ตกไปสู่อบายภูมิได้ โดยเฉพาะตกไปสู่เหวของอวิชชา ซึ่งยากแสนยากที่จะขึ้นมาได้ เพราะว่าเป็นเหวลึก

เพราะฉะนั้น ทางที่ดีทางหนึ่ง ก็อย่าลืมอีกชื่อหนึ่งของทุกคน คือ คุณประมาท ถ้าจะถามว่ามีใครไม่ได้ชื่อนี้บ้าง คำตอบคือ ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู ก็ยังเป็นผู้ประมาท แต่ถ้าเตือนตัวเองอย่างนี้บ่อยๆ ก็มีประโยชน์ ตราบใดที่ปัญญายังไม่ได้อบรมเจริญจนกระทั่งถึงขั้นที่จะดับกิเลสได้โดยเด็ดขาด จะเป็นผู้ที่ประมาทกำลังของอกุศลไม่ได้เลย บุคคลผู้ที่มีปัญญา ท่านจะเป็นผู้ไม่ประมาทในการอบรมเจริญปัญญา ไม่ประมาทในการขัดเกลากิเลส ชาตินี้มีกิเลสมาก ก็ยิ่งที่จะต้องเป็นผู้ขัดเกลาให้เบาบางด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูก ชาตินี้ปัญญายังน้อย ก็ยิ่งจะต้องเป็นผู้มีความมั่นคง และ จริงใจในการที่จะศึกษาธรรม ฟังธรรม เพื่อสะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก ในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงให้ยิ่งๆ ขึ้นไป"

ขอเชิญคลิกคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ธรรมเตือนใจแด่คุณประมาท

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 15 มิ.ย. 2555

ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ว่า โลกไม่ปรากฏเพราะความตระหนี่ และ ความประมาท

หมายความว่า ขณะที่อกุศลเกิดขึ้น มีอวิชชาเกิดด้วย ปิดบังไม่ให้รู้ธรรมะตามความ

เป็นจริง อกุศลเป็นธรรมะที่เศร้าหมอง ปิดกั้นและเป็นทางเสื่อมของกุศลทั้งหลายค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
nong
วันที่ 15 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Noparat
วันที่ 15 มิ.ย. 2555

เพราะมีความไม่รู้ จึงทำให้เราประมาทอยู่เสมอ

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pat_jesty
วันที่ 15 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
เมตตา
วันที่ 15 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
fam
วันที่ 16 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
เซจาน้อย
วันที่ 16 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย"

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
wirat.k
วันที่ 18 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
Boonyavee
วันที่ 10 ก.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
akrapat
วันที่ 13 ก.ค. 2555

ชีวิตที่ขาดสติ คือความประมาททั้งหมด การปล่อยตัวเองไปตามกระแสของกาม หรือกามสุขัลลิกานุโยค จึงเป็นการปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม แล้วแต่วิบากใดจะให้ผล ในขณะเดียวกัน แม้แต่ชีวิตที่ดำเนินไปในทางอัตตกิลมัตถานุโยค ที่ประกอบไปด้วยมิจฉาทิฏฐิ ย่อมเป็นไปในทางเสื่อมเช่นกัน เพราะในโลกนี้ ไม่มีอะไร เที่ยงแท้ ยั่งยืนแน่นอนเลย และที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ