จิตเกิดดับ หรือ ไม่เกิดไม่ดับ

 
นิรมิต
วันที่  8 ก.ย. 2555
หมายเลข  21697
อ่าน  5,053

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

มีความสงสัยใคร่จะถามว่า ที่ว่ามีผู้ศึกษาธรรมะหลายท่านให้ความเห็นว่า ตามนัย พระสุตตันตปิฎก จิตนั้นไม่เกิดไม่ดับ และวิญญาณ ในขันธ์ ๕ นั้น ไม่ใช่จิต และ ตามนัย พระอภิธรรมปิฎก จิตเกิดดับ และวิญญาณ ในขันธ์ ๕ นั้น ก็คืออย่างเดียวกันกับจิต เพราะเป็นชื่อเรียกหนึ่งของจิต ทำให้เกิดความขัดแย้งกัน ว่า สรุปจิตนี้คือสภาพธรรมที่เกิดดับหรือไม่

มีความสงสัยว่า ที่เกิดความเห็นขัดแย้งกันแบบนี้ เพราะเหตุไร

เพราะพระไตรปิฎกกล่าวขัดแย้งอย่างนั้นจริงหรือเปล่า แล้วมีกล่าวอย่างไร ที่ชี้ให้เห็นชัดว่าจิตเกิด-ดับ ในพระสุตตันตปิฏก หรือกล่าวถึงปรมัตถธรรม ๔ คือ รูป จิต เจตสิก นิพพาน ในพระสุตตันตปิฎกที่ไหนบ้างหรือเปล่า

ทีนี้ ได้พบพระพุทธพจน์ที่ว่า (ข้อความบางส่วนจากทั้งหมด)

ตถาคตเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง ทั้งนี้ พระพุทธพจน์ดังกล่าวนี้ท่านหมายถึงอย่างไร เพราะจากที่เขียนไว้ หมายถึง กล่าวว่าร่างกาย เป็นจิต จิตเป็น ร่างกาย อย่างนั้นหรือ หรืออย่างไรครับ

แล้วสรุปแล้ว จิตเกิดดับจริง-หรือไม่เกิดดับ พิจารณาอย่างไร ทั้งสองปิฎกนี้จึงจะตรงกัน

ขออนุโมทนาและขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 10 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นสัจจะความจริง ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะกาลเวลาใด หรือ ที่ไหน และ เมื่อไหร่

สัจจะ ก็ไม่เปลี่ยนแปลง และที่สำคัญ เมื่อเป็นสัจจะความจริงแล้ว พระธรรมของพระพุทธเจ้า ก็จะไม่ขัดแย้งกันเอง หมายความว่า เมื่อกล่าวว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ แต่อีกที่ ความจริงเป็นอีกอย่างเท่ากับว่า สิ่งนั้นไม่จริงแล้ว เพราะ เปลี่ยนแปลงไป ไม่คงที่ แต่ในความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม จะไม่ขัดแย้ง แต่สามารถกล่าวได้ว่า สอดคล้องกันทั้ง ๓ ปิฎก คือ พระวินัย พระสูตร และ พระอภิธรรมสอดคล้องกัน ไม่ขัดแย้งกัน

แม้แต่ สภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิก รูป หรือ เรียกโดยนัยพระสูตรที่พระองค์ทรงแสดงบ่อยๆ คือ ขันธ์ ๕ ซึ่ง ก็มีคำว่า วิญญาณขันธ์ อันมุ่งหมายถึง จิต

ดังนั้น เมื่อเราจะกล่าวว่า สภาพธรรมอะไรเกิดดับ สภาพธรรมอะไรไม่เกิดดับ ก็จะต้องเข้าใจ ทำไมถึงเกิดดับ ทำไมไม่เกิดดับ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงครับว่า ที่สภาพธรรม บางอย่างเกิดดับที่เรียกว่า สังขารธรรม เพราะ มีสภาพธรรมอื่นๆ มาปรุงแต่งประกอบกัน จึงเกิดขึ้น และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ก็ต้องเสื่อมและดับไป ส่วนสภาพธรรมที่ไม่เกิดดับ ก็เพราะ ไม่มีสภาพธรรมอื่นๆ มาทำให้เกิด จึงไม่เกิดขึ้น เมื่อไม่เกิดขึ้น ก็ไม่ดับไป ที่เรียกว่า วิสังขารธรรม สภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง

ซึ่งสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เกิดขึ้นและดับไป ก็คือ จิต เจตสิก รูป ส่วนสภาพธรรมที่ไม่เกิดขึ้นและไม่ดับไป ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง คือ พระนิพพาน

ดังนั้น ที่กล่าวว่า โดยนัยพระสูตร จิตไม่เกิดดับ ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็แสดงว่า จิตนั้น เที่ยง ยั่งยืน ก็เป็นความเห็นผิดประเภทหนึ่ง คือ สัสสตทิฏฐิ ที่เห็นว่า จิตนั้น มั่นคง ยั่งยืน และที่สำคัญ หากมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ในเรื่องจิต ก็จะรู้ว่า จิตก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ขณะนี้ใครเห็น ถ้ากล่าวว่า เรา ก็สำคัญผิดด้วยความเห็นผิด แต่ในความเป็นจริง คือ จิตเห็น ถ้ากล่าวว่าจิตไม่เกิด ไม่ดับ โดยนัยพระสูตร นั่นก็แสดงว่า ขณะนี้เห็นมีได้อย่างไร เพราะ เห็นเป็นจิตประเภทหนึ่ง ไม่ใช่ เรา ที่เห็น แสดงว่า เมื่อมีการเห็น ก็ต้องมีการเกิดขึ้นของการเห็น ถ้าไม่เกิด การเห็นจะมีไม่ได้

เพราะฉะนั้น เห็นจึงมีการเกิดขึ้น ซึ่งเป็นจิตเห็น จึงเกิดขึ้น และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จิตเห็นจะต้องดับไป เพราะ ถ้าจิตเห็นไม่ได้ดับไป ก็ไม่สามารถที่จะได้ยินเสียงได้ เพราะยังเห็นอยู่ไม่ได้ดับไป จิตอื่นๆ ก็เกิตต่อ นี่แสดงให้เห็นว่า จิตเกิดขึ้น และจิตนั้นก็ดับไปด้วย ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 10 ก.ย. 2555

ส่วนที่กล่าวว่า วิญญาณ ไม่ใช่จิต นั้น ถ้าวิญญาณไม่ใช่จิต แล้ววิญญาณจะหมายถึงอะไร ซึ่งก็เป็นความเข้าใจผิด ที่สำคัญว่าวิญญาณ คือ สิ่งที่ล่องลอย เป็นสิ่งที่ออกจากร่าง เที่ยงแท้ แต่ในความเป็นจริง วิญญาณ ก็คือ จิต ที่เกิดขึ้นและดับไป ครับ

ซึ่งในพระไตรปิฎก แม้ในพระสูตร ก็ แสดงว่า รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ ที่เป็นจิต ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ครับ

และจากคำกล่าวที่ว่า

ตถาคตเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง. ทั้งนี้ พระพุทธพจน์ดังกล่าวนี้ท่านหมายถึงอย่างไร เพราะจากที่เขียนไว้ หมายถึง กล่าวว่า ร่างกาย เป็นจิต จิตเป็น ร่างกาย อย่างนั้นหรือ หรืออย่างไรครับ


- สำคัญ คือ เราจะต้องเข้าใจคำว่ากายให้ถูกต้องครับว่า หมายถึงอะไร

เข้าใจคำว่ากายก่อนนะครับ

กาย หมายถึง การประชุม การรวมกันของสิ่งใด สิ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงแต่คำว่ากาย ไม่ได้หมายถึง ร่างกายของเราเท่านั้น แต่หมายถึง การประชุม การรวมกันของสิ่งใด สิ่งหนึ่งก็ได้ ดังนั้น คำว่า กาย คือการประชุม รวมกัน

กาย มี ๒ อย่าง คือ นามกายและรูปกาย

นามกาย คือการประชุมกัน รวมกันของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ซึ่งก็ได้แก่ ขันธ์ ๔ มี เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ

ส่วนรูปกาย ก็คือ สภาพธรรมทั้งหมด ที่เป็นรูปธรรม มี ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี ... เป็นต้น อันเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย ที่เป็นรูปธรรม เป็นรูปกาย คือ การประชุมของสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม

เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวคำว่าร่างกาย ก็หมายรวมถึง ทั้ง นามกาย ที่เป็น จิต เจตสิกและรูปกาย ด้วย คือ รูปธรรม มีธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม ครับ

ดังนั้น รูป ไม่ใช่ จิต เจตสิก แต่ ร่างกาย หมายถึง การประชุมรวมกัน ของ รูปกาย และนามกาย ครับ

ซึ่งขอยกข้อความในพระไตรปิฎกโดยตรง ที่แสดงว่า คำว่า วิญญาณ หมายถึง จิต และ แสดงถึงความเห็นผิดว่า วิญญาณ หรือ จิต ว่าเที่ยง ไม่เกิดดับ แท้ที่จริงเกิดดับ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 28

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางพวกในโลกนี้ เป็นนักตรึก เป็นนักตรอง กล่าวแสดงปฏิภาณของตนตามที่ตรึกได้ ตามที่ตรองได้อย่างนี้ว่า สิ่งที่เรียกว่าตาก็ดี หูก็ดี จมูกก็ดี ลิ้นก็ดี กายก็ดี นี้ ชื่อว่าอัตตา เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่คงทน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา.

ส่วนสิ่งที่เรียกว่าจิต หรือ ใจ หรือ วิญญาณ นี้ชื่อว่าอัตตาเป็นของเที่ยง ยั่งยืน คงทน มีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เที่ยงเสมอไปอย่างนั้นทีเดียว.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นฐานะที่ ๔ ที่สมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้ว จึงมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติ อัตตา และโลก ว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง.


- ดังนั้น การพิจารณาธรรมที่จะต้องสอดคล้องทั้ง ๓ ปิฎก คือ เป็นผู้ละเอียดที่จะศึกษา ไม่ขัดแย้ง โดยการเข้าใจเหตุผลว่า สภาพธรรมที่เกิดดับเพราะอะไร และ สภาพธรรมที่ไม่เกิดดับ เพราะอะไร ดังนั้นเมื่อเข้าใจดังนี้ จิต มีขึ้นได้ ก็แสดงว่าจะต้องเกิด

ถ้าปรากฎขึ้นก็จะต้องเกิด หากไม่ปรากฎ ก็ไม่เกิด เพราฉะนั้น ขณะนี้กำลังเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส เป็นใคร แต่ในความเป็นจริง คือ เป็นจิต เป็นวิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้น เมื่อกำลังเกิดอยู่ในชีวิตประจำวัน ก็แสดงว่าจะต้องเกิด เมื่อเกิดก็ต้องดับไป แสดงว่า ไม่เที่ยง แต่ไม่ใช่ไม่เกิด ไม่ดับ ครับ

ดังนั้น การศึกษาที่จะทำให้เข้าใจถูก ไม่เข้าใจผิด และสอดคล้องกับ ๓ ปิฎก คือ การไม่ติดในคำ ในภาษา และศึกษาอย่างกว้างขวางทั้ง ๓ ปิฎก เพราะ จะไม่ทำให้สับสนและไม่ทำให้คิดเอาเอง อันจะทำให้เข้าใจผิดได้ และ ที่สำคัญ การศึกษาที่ถูกต้องที่จะทำให้สอดคล้องทั้ง ๓ ปิฎก คือ น้อมเข้ามาในตน คือ น้อมเข้ามาในชีวิตประจำวัน ว่าขณะนี้มีจิตไหม มีรูปไหม หรือ มีสภาพธรรมไหม กำลังปรากฏ เมื่อกำลังปรากฏ ก็แสดงว่า กำลังเกิดขึ้น และ ก็ต้องดับไป ที่เป็นการแสดงถึงสภาพธรรมที่เป็นขันธ์ ๕ อายตนะ ก็ล้วนแล้ว แต่เป็นชีวิตประจำวัน เพราะ กำลังเกิดในชีวิตประจำวัน ก็จะทำให้เข้าใจถูก ด้วยปัญญา เพราะเข้าใจความจริงที่ไม่ใช่พิจารณาตามตัวหนังสือ แต่ พิจารณาสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 10 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เพราะไม่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ความคิดเห็นจึงคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง, เมื่อศึกษาพระธรรมไปตามลำดับ จะเข้าใจได้ว่า สิ่งที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงนั้น เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และสิ่งที่มีจริงนั้น ก็จำแนกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ นามธรรม และ รูปธรรม

(นามธรรม มีทั้งนามธรรมที่เกิดดับ ได้แก่ จิตและเจตสิก และนามธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ คือ พระนิพพาน)

เพราะฉะนั้นแล้ว ถ้ากล่าวถึงจิตแล้ว มีอายุที่สั้นแสนสั้น เพียงแค่ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเท่านั้น ไม่มีจิตแม้แต่ขณะเดียวที่เที่ยง หรือ ยั่งยืนไปตลอด เมื่อจิตขณะหนึ่งดับไป ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ และเป็นมานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ และยังจะต้องเป็นอย่างนี้ต่อไป

และเมื่อกล่าวถึงจิตแล้ว ก็ต้องกล่าวถึงสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ด้วย ซึ่งได้แก่ เจตสิก ประเภทต่างๆ ที่เกิดร่วมกับจิต ตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ทั้งจิตและเจตสิก ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ

ส่วนรูปธรรม ก็เป็นธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นตามสมุฏฐานของตนๆ แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน รูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย

ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าจากการที่ได้เริ่มศึกษาพระธรรมบ้างแล้ว ก็พอจะเข้าใจได้ว่า อะไรบ้างที่เป็นรูปธรรมเช่น ตา เป็นรูปธรรม หู เป็นรูปธรรม เป็นต้น เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจว่า เมื่อกล่าวถึงอะไร ก็ไม่พ้นไปจากธรรม ไม่พ้นไปจากรูปธรรมและนามธรรมเลย เมื่อเป็นธรรมก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีจริงแต่ละอย่างๆ เท่านั้น ครับ

ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเิติมได้ที่นี่ครับ

จิต และ อารมณ์

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
นิรมิต
วันที่ 10 ก.ย. 2555

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนา อ.ผเดิม และ อ.คำปั่น ที่ให้ความกระจ่างครับ

พระธรรมละเอียดยิ่งนัก จะอบรมต่อไปไม่ทิ้งเด็ดขาดครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ