สักกายทิฏฐิ กับความยินดีในรูปสมบัติ
กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพอีกครั้งครับ
ผมอยากทราบว่า ความปรารถนาในรูปสมบัติ หรือความปรารถนาเพื่อเกิดในภพภูมิใดภพภูมิหนึ่งใน มนุษย์-สวรรค์-พรหมโลก นี้ถือเป็นสักกายทิฏฐิหรือเปล่า
เพราะเวลาเกิดเห็นคนมีรูปร่างน่าดูน่าชมน่าชื่นใจ ก็ปรารถนาอยากจะเป็นอย่างนั้นบ้าง พอสติระลึกได้ ก็เห็นว่าเกิดตัวตน ตัวเรา อยากจะมีตัวตนที่มีรูปแบบนั้นบ้าง (บางทีก็เกิดอิสสา หรือมัจฉริยะ เกิดสลับเหมือนกัน ในรูปสมบัติผู้อื่นและของตน)
หรือเวลาพิจารณา อยากเกิดบนสวรรค์ชั้นนั้นชั้นนี้ พอระลึกได้ ก็เห็นว่า มีตัวตนของเรา อยากจะเกิดเสียแล้ว
แต่พอมาพิจารณาอีกที มันก็คล้ายๆ กับอยากจะได้ ในเสื้อผ้า หรือ พึงพอใจ ในรูปารมณ์ที่มีทรวดทรงสีสันวัณณะอย่างนั้น หรือพึงพอใจในความเพลิดเพลินในสวรรค์แต่ละชั้น ตามที่ได้ยินได้ฟังมา
แต่เพราะมันไอ้ตอนโลภะเกิด อยากจะได้อย่างนั้นๆ มันมีลักษณะของการ อยากจะถืออัตภาพอย่างนั้นบ้าง ก็เลยรู้สึกเหมือนกับมีตัวเราที่อยากจะมีอัตภาพแบบนั้น อยากจะเป็นแบบนั้น ในกรณีนี้ เกิดได้ทั้งโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ที่มีความเห็นว่าเป็นเรา ก็ได้ หรือเป็นโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ก็ได้ ใช่หรือเปล่า
เพราะพระโสดาบัน ก็มีความปรารถนาจะเกิดในสวรรค์ได้ หรืออยู่บนสวรรค์แล้ว ก็พึงใจที่จะเกิดสูงขึ้นไปได้
แต่เรื่องความปรารถนาในรูปสมบัติ อันนี้พระโสดาบันยังอยากจะได้รูปสมบัติสวยๆ งามๆ ดูดี ได้หรือไม่ครับ อย่างเช่น พระโสดาบันอาจจะชอบการเป็นบุคคลรูปร่างงาม ก็อยากจะเป็นบุคคลรูปร่างงาม อยากจะถืออัตภาพอย่างนั้น โดยไม่มีความเห็นเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ที่ถืออัตภาพนั้น จะเกิดจิตอย่างนี้กับพระโสดาบันได้บ้างไหม
แต่พระโสดาบันก็ไม่เกิดอิสสา ว่าผู้นั้นรูปงามกว่าเรา หรือเกิดมัจฉริยะ ว่าเราควรจะมีรูปงามแต่เพียงผู้เดียว ใช่ไหม
แล้วยังสามารถจะมีอาการ เปรียบเทียบรูปสมบัติตนกับผู้อื่น แต่ไม่ได้เกิดอิสสาหรือมัจฉริยะ แต่เกิดโทสมูลจิตอ่อนๆ ประมาณว่าน้อยใจ ที่รูปสมบัติตนไม่งามแบบรูปสมบัติของผู้อื่น หรือเกิดโลภะ มีมานเจตสิก ว่า รูปสมบัติที่เราถืออยู่นี้ งามกว่าคนนั้น (แต่ไม่ได้มีมัจฉริยะ เพราะไม่ได้เกิดโทสมูลจิตที่มีมัจฉริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย)
โดยทั้งสองกรณี ไม่มีความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล อย่างนี้จะเป็นไปได้ไหม?
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดที่ยึดถือว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล ซึ่งเป็นโลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิด ซึ่งขณะที่สักกายทิฏฐิเกิดขึ้น ขณะนั้นจะต้องมีความเห็น คือ มีความเห็นผิดว่า มีเรา มีสัตว์ บุคคลจริงๆ ในขณะนั้น
ซึ่ง โลภะ มี ๘ ดวง ประกอบด้วยความเห็นผิด ๔ ดวง และ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด อีก ๔ ดวง
ในขณะที่เพียงชอบ สิ่งต่างๆ เช่น ชอบ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะนั้น ไม่ได้มีความเห็นผิดก็ได้ เพราะ ขณะนั้นไม่ได้มีความเห็นว่า มีเรา มีสัตว์ บุคคลจริงๆ เพียงแต่ชอบในสิ่งนั้นเท่านั้น
แต่ถ้าเมื่อใด เกิดมีความเห็นขึ้นมาว่า มีเราจริงๆ มีสัตว์ บุคคลจริงๆ ขณะนั้นพอใจในความเห็นผิด มี สักกายทิฏฐิเกิดในขณะนั้น ครับ
เพราะฉะนั้น ในขณะที่ปรารถนา การเกิดในภพภูมิดีๆ อยากเกิดเป็นเทวดา เป็นต้น ขณะนั้น เพียงยินดีพอใจ ในภพภูมิที่อยากเกิด หรือ ในรูปสมบัติต่างๆ ที่ดี เท่านั้น ก็เป็นโลภะที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เพราะ ขณะนั้น ไม่ได้มีความเห็นที่ว่า มีเรา มีสัตว์ บุคคล คือ ไม่ได้มีความเห็นผิดเกิดขึ้นนึกขึ้นมาว่า มีสัตว์ มีเรา จริงๆ ในขณะนั้น เพียงยินดีพอใจ ในความอยากจะเป็นบุคคลนั้น ในภพภูมินั้น ครับ
ซึ่งเมื่อว่าโดยละเอียดแล้ว ความเป็นเรา มี ๓ อย่าง คือ เป็นเราด้วยตัณหา มานะ และทิฏฐิ ความยึดถือด้วยความเป็นเรา มี ๓ อย่าง คือ
เป็นเราด้วย ตัณหา (โลภะ)
เป็นเราด้วย มานะ
เป็นเราด้วย ทิฏฐิ
ซึ่งจะขออธิบายความเป็นเราแต่ละอย่างดังนี้
ความเป็นเราด้วยตัณหา หรือ โลภะ ยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้เห็น เห็นบุคคลอื่นแล้วเกิดความติดข้อง ขณะนั้น เป็นเรา หรือ เป็นเขาด้วยความติดข้องหรือ ขณะเห็นตนเองในกระจก เกิดความยินดีพอใจ ในรูปร่างกายของตนเอง ขณะนั้นมีเราแล้ว แต่มีเราด้วยความติดข้องในความเป็นเราในขณะนั้น
และแม้อยากเกิดเป็นเทวดา เกิดในภพภูมิที่ดี ก็เป็นเราด้วยตัณหาแต่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เพราะเพียงยินดีพอใจในภพภูมิ แต่ไม่ได้มีความเห็นผิดเกิดขึ้นมา
ความเป็นเราด้วยมานะ คือ ขณะใดที่เปรียบเทียบ ว่าเราสูงกว่าเขา เสมอคนอื่น หรือ ด้อยกว่าคนอื่น จะเห็นนะครับว่า มานะ เป็นการเปรียบเทียบ แล้วอะไรจะเปรียบเทียบ นอกจากว่า จะต้องมีเราที่ไปเปรียบเทียบ มีเขา มีคนอื่น
ดังนั้น เพราะเป็นอกุศลที่คิดว่าเราสูงกว่า มีเราแล้ว แต่เป็นเราด้วยมานะที่เป็นการเปรียบเทียบ ครับ
ความเป็นเราด้วยทิฏฐิ คือเป็นเราด้วยความสำคัญผิดที่เป็นความเห็นผิด คือ ขณะนั้น เป็นอกุศลที่เป็นโลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิด เช่น ยึดถือว่า ดอกไม้มีจริง เที่ยง ยั่งยืน และ ยึดถือว่ามีเราจริงๆ มีสัตว์ บุคคลจริงๆ ขณะนั้น มีเรา มีเขา มีสิ่งต่างๆ ด้วยความเห็นผิด เพราะยึดถือด้วยความเห็นผิดว่าเที่ยง เป็นสุขและเป็นตัวตนจริงๆ ครับ
ดังนั้น ความเป็นเรา ด้วยการยึดถือ จึงมีรายละเอียด หลากหลายนัย ครับ เพราะฉะนั้น จึงไม่จำเป็นจะต้องมีสักกายทิฏฐิ ตามที่กล่าวมา เพราะเป็นเราด้วยตัณหาก็ได้ ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาครับ
ดังนั้นสักกายทิฏฐิ ก็คือ เป็นเราด้วยทิฏฐิอย่างสุดท้าย แต่ไม่ใช่เป็นด้วยตัณหา หรือมานะ แต่กระนั้น ความเป็นเราที่เป็นทิฏฐิ ก็เกิดร่วมกับทั้งตัณหา และมานะ ด้วยก็ได้ใช่ไหมครับ หรือจะไม่เกิดด้วยก็ได้ ดังเช่นถ้าเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ก็มีทั้งทิฏฐิเจตสิก โลภเจตสิก มานเจตสิก เกิดร่วมกันหมดก็ได้ หรือจะ ทิฏฐิ+โลภะ เฉยๆ ก็ได้ แต่ถ้าเป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ก็เป็นโลภเจตสิกเฉยๆ หรือ โลภะ+มานเจตสิก ก็ได้ แต่ไม่มีทิฏฐิเกี่ยวด้วยเลย แบบนี้ใช่ไหมครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เรียน ความคิดเห็นที่ 3 ครับ
สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม และสิ่งที่มีจริงนั้น มีจริงในชีวิตประจำวัน ทุกขณะมีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ แต่เพราะยังไม่ได้ดับความเห็นผิดได้อย่างเด็ดขาด ยังมีพืชเชื้อของความเห็นผิดอยู่ ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล (สักกายทิฏฐิ) ก็ย่อมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เป็นธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรมที่เห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นจริง และที่ตั้งที่จะให้ทิฏฐิประเภทนี้เกิดขึ้น ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่จริงที่เกิดดับในขณะนี้ ที่เป็นขันธ์ ๕ ได้แก่รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์และวิญญาณขันธ์ ซึ่งล้วนเป็นธรรมที่มีจริงในขณะนี้
ตราบใดก็ตาม ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ก็ยังไม่สามารถดับความเห็นผิดใดๆ ได้เลย แต่ความเห็นผิดทุกประการจะถูกดับได้อย่างหมดสิ้น เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบัน
พระโสดาบัน ดับความเห็นผิดได้อย่างหมดสิ้น สักกายทิฏฐิซึ่งเป็นความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ก็ดับได้ ไม่เกิดขึ้นอีกเลย พระโสดาบันไม่มีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล
กิเลสที่มี ที่เคยสะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ก็จะสามารถถูกดับได้ตามลำดับมรรค อย่างเช่น ความเห็นผิดทุกประเภท ดับได้ด้วยโสดาปัตติมรรค กิเลสใดๆ ที่ดับได้แล้ว ก็จะไม่เกิดขึ้นอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ หนทางที่จะเป็นไปเพื่อดับกิเลส ก็คือ หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา
ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ประเด็นที่ควรจะได้พิจารณาเพิ่มเติม คือ จิตที่มี โลภะ เป็นมูล ที่เรียกว่า โลภมูลจิต นั้น มีทั้งประเภทที่ประกอบด้วยความเห็นผิด กับ ประเภทที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด
เมื่อใดก็ตามที่มีความเห็นผิดเกิดขึ้นเป็นไป ขณะนั้น จะไม่มีมานะเกิดร่วมด้วย เพราะขณะที่มีความเห็นผิดเกิดขึ้นเป็นไปนั้น ไม่ได้มีความสำคัญตน ไม่ได้มีการเปรียบเทียบกับผู้อื่นแต่อย่างใด มีเฉพาะเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เท่านั้น ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาครับ
ดังนั้นสักกายทิฏฐิ ก็คือเป็นเราด้วยทิฏฐิอย่างสุดท้าย แต่ไม่ใช่เป็นด้วยตัณหาหรือมานะ แต่กระนั้น ความเป็นเราที่เป็นทิฏฐิ ก็เกิดร่วมกับทั้งตัณหา และมานะด้วยก็ได้ใช่ไหมครับ หรือจะไม่เกิดด้วยก็ได้ ดังเช่นถ้าเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ก็มีทั้งทิฏฐิเจตสิก โลภเจตสิก มานเจตสิก เกิดร่วมกันหมดก็ได้ หรือจะ ทิฏฐิ+โลภะ เฉยๆ ก็ได้ แต่ถ้าเป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ก็เป็นโลภเจตสิกเฉยๆ หรือ โลภะ+มานเจตสิก ก็ได้ แต่ไม่มีทิฏฐิเกี่ยวด้วยเลย แบบนี้ใช่ไหมครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
- โลภมูลจิต ที่เกิดร่วมด้วยกับความเห็นผิด ในขณะนั้น จะไม่มีมานเจตสิกเกิดร่วมด้วย และ ขณะใดที่เป็นมานะเกิด ขณะนั้นก็ไม่มีความเห็นผิด แต่ทั้งสองเกิดร่วมกับโลภมูลจิต ครับ
ซึ่ง ก็แสดงโดยนัยว่า หากมีความเห็นผิดเกิดขึ้น ขณะนั้น เป็นเรา ด้วยทิฏฐิ ขณะใดที่มานะเกิดขึ้น เป็นเราด้วยมานะ และ ขณะใดที่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ ไม่ได้มีความเห็นผิด และ ไม่ได้มีมานะ ในขณะนั้นเป็นเราด้วยตัณหา ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา