บริจาคของ ทำให้ผู้อื่นเกิดโลภะหรือเปล่า

 
นิรมิต
วันที่  16 ก.ย. 2555
หมายเลข  21744
อ่าน  1,331

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

คือกำลังจะบริจาคของกระจุกกระจิก (ส่วนมากจะเป็นพวกของเล่น-ตุ๊กตา) ที่ซื้อมา ด้วยกำลังโลภะทั้งหลายของตน ให้กับญาติและเด็ก ทั้งนี้เพราะพิจารณาเห็นว่า หากยังมีอยู่ก็จะติดข้อง และมีความปราถนาจะละโลภะ จึงได้คิดว่า ถ้าเอาไปบริจาค ก็จะเป็นการดี เด็กๆ ก็จะได้มีความสุข

แต่ทีนี้พอมาพิจารณาอีกที ของเหล่านี้เป็นสิ่งนำมาซึ่งความติดข้อง นำมาซึ่งโลภะที่เราให้เขาไป เขาก็มีสุขด้วยโลภะ ที่ได้ของเหล่านี้ ก็จะเหมือนกับ การไปยิ่งเพิ่ม ให้เขาติดข้องมากขึ้นๆ หรือเปล่า แล้วอย่างนี้ สมควรแน่หรือที่จะนำไปให้เขา ในเมื่อของเหล่านี้นำมาซึ่งความติดข้อง

เกิดอกุศลจิตรู้สึกเหมือนว่า กำลังกำจัดโลภะของตน ด้วยการหยิบยื่นโลภะไปให้ผู้อื่น ไม่ทราบว่าควรจะวางจิตอย่างไร จึงจะเป็นกุศลจิต แล้วจะพิจารณาในส่วนนี้อย่างไรให้ถูกต้อง และเหมาะควรดีครับ

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 16 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตามธรรมดาของปุถุชนแล้ว ก็ยังมีกิเลส เป็นธรรมดา ไม่ว่า จะให้ หรือ ไม่ให้อะไรเลย ก็เกิดกิเลสมากมายเป็นปกติ ในชีวิตประจำวัน เพียงแต่ว่า กิเลสที่มีกำลัง ที่ไม่ควรอย่างยิ่ง ก็คือ การทำอกุศลกรรม มีการล่วงศีล เพราะ จะเป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นได้ ทางกาย วาจา มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ซึ่ง ความสุขจากการทำอกุศลกรรม ย่อมเป็นความสุข ที่อิงอาศัยกิเลสที่มีกำลัง อันจะนำมา ซึ่งความเดือดร้อนกับผู้อื่นด้วย ดังที่มักกล่าวว่า มีความสุขในความทุกข์ของผู้อื่น

แต่ในชีวิตประจำวัน ก็มีความสุขที่อิงอาศัย กิเลสที่ไม่ล่วงศีล เป็นธรรมดา เกิดขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น ก็เกิดความสุข ที่เป็นเวทนาเจตสิกที่เป็น โสมนัสเวทนา ได้ เป็นธรรมดา แม้จะให้ หรือ ไม่ให้อะไรเลยก็ตาม ซึ่ง สำหรับผู้ให้ ก็มีเจตนาให้ผู้อื่นมีความสุขใจ แต่ไม่ได้มีเจตนาให้เกิดโลภะ จึงให้ของที่สมควรกับอายุ เพื่อพัฒนาการทางสมอง ทางสติปัญญา การเรียนรู้ของเด็ก ย่อมจะทำให้เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิต เพราะ ทำให้เกิดการเรียนรู้ในสิ่งที่ได้ นี่แสดงว่า มีเจตนาให้ ด้วยความหวังดี ไม่ใช่มีเจตนาให้ เพื่อให้เขาเกิดโลภะ แต่ หวังดี เพื่อให้เกิดความสุขใจ เกิดเวทนาที่ดี ก็เป็นเมตตา ความหวังดี ในขณะนั้น

ส่วนโลภะ ก็เกิดได้เป็นธรรมดาอยู่แล้ว แม้จะให้ หรือไม่ให้ก็ตาม และ ที่สำคัญ ของที่ให้ ก็เหมาะสมกับวัยของเด็ก ที่จะเกิดการพัฒนาของเด็กได้ด้วย ก็เป็นของที่เหมาะสม ไม่ได้ให้เหล้า สุรา บุหรี่ อันเป็นของที่ไม่เหมาะสม

และที่สำคัญ สุขทางใจนั้น ตามได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ก็ไม่ได้เป็นความสุขใจที่เป็นไปในการทำอกุศลกรรมที่มีโทษในการเบียดเบียนผู้อื่น ครับ

ดังนั้น การให้ของที่สมควร ด้วยเจตนาที่ดี ก็เป็นเมตตา เป็นกุศลของผู้ให้ และของที่ให้ ก็พิจารณาด้วยความเหมาะสม ที่จะเป็นประโยชน์กับวัยของบุคคลนั้นเหมือนดังเรา ให้ของขวัญกับใคร ก็ด้วยความหวังดี ปรารถนาให้เขามีความสุข จึงให้ของที่เหมาะสม และไม่เป็นโทษ ที่จะทำให้ ไปทำทุจริต มีการทำอกุศลกรรม เมื่อให้ของที่ดี ประณีต บุคคลนั้นก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ ซึ่ง ก็ย่อมต้องเกิดอกุศล ติดข้องได้เป็นธรรมดาอยู่แล้ว เมื่อได้ของที่ดี ก็ติดข้อง

เพราะฉะนั้น หากพิจารณาถึงการดำรงชีวิต การพัฒนาการของเด็ก หากไม่ให้ เพราะกลัวว่ากิเลสจะเกิดติดข้อง ก็จะทำให้ชีวิตนี้ไม่มีการให้ เพราะ ยังไงๆ กิเลสก็ต้องเกิดแน่นอน แต่ที่มีการให้ ให้อุปกรณ์เครื่องเขียน ให้อาหารที่ดี ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดกิเลสได้เป็นธรรมดา เพราะ มีกิเลสอยู่ แต่สิ่งเหล่านี้ก็จำเป็นต่อการดำรงชีวิต นี่แสดงให้เห็นว่า จะให้ หรือไม่ให้ กิเลสเกิดได้เป็นธรรมดา เพราะ เหตุให้เกิดกิเลส คือ ตัวกิเลสเป็นสำคัญ แม้จะให้ธรรม แต่ผู้นั้นมีความเห็นผิด แทนที่จะเห็นถูกเกิดกุศล กลับต่อต้าน เกิดโทสะ นี่แสดงว่า โทษ มาจากกิเลสเป็นสำคัญ ครับ

จากที่อธิบายมา หากพิจารณาก็ควรให้ด้วยเจตนาของผู้ให้ ที่มีความหวังดี ของที่ให้เหมาะสม ไม่มีโทษกับผู้อื่น ที่จะทำให้ทำอกุศลกรรม ทุจริต และเหมาะกับวัย เป็นต้น ก็ควรให้ ครับ

- ในประเด็นการวางจิตอย่างไรนั้น

จิตเป็นธรรมบังคับบัญชาไม่ได้ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

ส่วนการละกิเลส หรือ ไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น ไม่ได้อยู่ที่ การไม่ให้ของที่เกิดกิเลส จึงจะทำให้กิเลสน้อยลง เพราะ กิเลสก็ไปติดสิ่งอื่นๆ แทน เพราะ ยังมีกิเลส แต่หนทางที่ถูก คือ การสอนให้เข้าใจ ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม นี่คือหนทางละกิเลสที่ถูกต้อง

ขออนุโมทนาในกุศลจิตครั้งนี้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
นิรมิต
วันที่ 16 ก.ย. 2555

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาสาธุครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 17 ก.ย. 2555

ส่วนการละกิเลส หรือ ไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น ไม่ได้อยู่ที่การไม่ให้ของที่เกิดกิเลส จึงจะทำให้กิเลสน้อยลง เพราะ กิเลสก็ไปติดสิ่งอื่นๆ แทน เพราะ ยังมีกิเลส แต่หนทางที่ถูก คือ การสอนให้เข้าใจ ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม นี่คือหนทางละกิเลสที่ถูกต้อง

ขออนุโมทนาในกุศลจิตครั้งนี้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ. ผเดิม ด้วยค่ะ...

การที่จะละโลภะนั้น เป็นเรื่องที่ยากที่สุด เพราะพระอรหันต์เท่านั้นที่จะละได้เป็นสมุจเฉท สำหรับปุถุชนอย่างเรา กิเลสที่จะต้องละเป็นอย่างแรกคือ ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เห็นก็เป็นเราที่เห็น โลภะก็เป็นเรา ...

ท่านอาจารย์กล่าวไว้ว่า ...

วันหนึ่งๆ เราคิดถึงเรื่องราวต่างๆ มากมาย คิดเป็นกุศลบ้าง คิดเป็นอกุศลบ้าง ผู้ที่ฟังพระธรรมเข้าใจพระธรรม สติปัฏฐานสามารถเกิดระลึก แม้ขณะที่คิดเป็นกุศล หรือคิดเป็นอกุศล เป็นโลภะ เป็นโทสะได้ สภาพธรรมเกิดขึ้น เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครได้ ต้องมั่นคงในความเป็นอนัตตาของธรรมที่เกิดขึ้น โดยไม่มีการเจาะจง หรือต้องการที่จะทำ

เพราะทำไม่ได้แน่นอน แต่สามารถที่จะเข้าใจได้ ... เป็นคนดี ... ที่เข้าใจธรรม ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 17 ก.ย. 2555

สิ่งที่อกุศล คือโลภะไม่สามารถ ที่จะติดข้องได้ หรือเป็นอารมณ์ได้ มีอยู่ ๙ อย่าง เรียกว่า นวโลกุตตรธรรม ... เจตนาของผู้ให้ ต้องการให้เด็กมีความสุข เป็นกุศลจิตขณะนั้น กำจัดโลภะของตน ... วัตถุอย่างเดียวกัน บางคนติดข้องมาก น้อย หรือไม่ติดข้อง ตามการสะสม เช่น บางคนได้รับของเล่น-ตุ๊กตา บางคนติดข้องในของที่ได้รับ ไปไหนเอาไปด้วย แต่บางคนไม่ติดข้อง แต่ระลึกถึงความเมตตาของผู้ให้ ซึ่งเป็นกุศลจิต. จึงไม่ได้เป็นการกำจัดโลภะของตน ด้วยการหยิบยื่นโลภะไปให้ผู้อื่น

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 17 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในชีวิตประจำวัน การที่กุศล (ความดี) ในด้านใดๆ จะเกิดขึ้นนั้น ก็ย่อมเป็นไปตามการสะสมมา ของแต่ละบุคคล ซึ่งจะเห็นได้ว่า อัธยาศัยในการเจริญกุศล ของแต่ละบุคคลจึงมีความแตกต่างกันออกไป บางคนมีอัธยาศัยในการให้ทาน บางคนมีอัธยาศัยในการรักษาศีล และบางคนมีอัธยาศัยใน ภาวนา (การอบรมเจริญปัญญา) และ ควรที่จะพิจารณาว่า ทาน (การให้) การสงเคราะห์อนุเคราะห์บุคคลอื่น มีเป็นครั้งคราว ไม่สามารถให้ทานได้ตลอดเวลา เพราะกุศลขั้นทาน จะเกิดขึ้นได้ เมื่อมีวัตถุที่จะให้ มีศรัทธาที่จะให้ และ จะต้องมีผู้รับด้วย ดังนั้น กุศลขั้นทาน จึงไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา

กุศลในขั้น ทาน ก็เป็นไปเพื่อขจัดขัดเกลากิเลส คือ ความตระหนี่ของตนเองเป็นสำคัญ และมุ่งไปที่ประโยชน์ของผู้รับด้วย เป็นประโยชน์แก่ผู้รับ ขึ้นอยู่กับว่า ผู้รับจะเป็นใคร ถ้าเป็นบุคคลผู้ควรแก่การเคารพบูชาอย่างยิ่ง การให้นั้น ก็เป็นไปเพื่อบูชาในพระคุณของผู้รับด้วย ไม่ใช่เพื่อให้ผู้รับติดข้อง อย่างเช่น ในพระไตรปิฎก จะมีข้อความที่แสดงไว้อย่างชัดเจนว่า พระราชา เป็นต้น ก็น้อมถวายโภชนะอันประณีตแด่พระภิกษุสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระประมุข แม้จะให้สิ่งที่ดีเลิศเพียงใด สำหรับผู้ที่ดับกิเลสหมดแล้ว ก็ไม่ติดข้อง เพราะ การติดข้อง เป็นเรื่องของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่

สำหรับ บุคคลผู้ที่เห็นโทษภัยของกิเลส เห็นโทษภัยของกุศล ก็ย่อมจะเป็นผู้เจริญกุศลประการต่างๆ เท่าที่ตนมีโอกาส ไม่ว่าจะเป็นโอกาส ของกุศลประเภทใดก็ตาม กล่าวคือ ถ้าเป็นโอกาสของการให้ทาน ก็ให้ทาน สละวัตถุสิ่งของ เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น, ถ้าเป็นโอกาสของ การวิรัติงดเว้น จากทุจริตประการต่างๆ ก็งดเว้น ซึ่งเป็นการรักษาศีล (รวมถึงกุศล ประการอื่นๆ ที่สงเคราะห์ลงในศีลด้วย เช่น ความอ่อนน้อมถ่อมตน การขวนขวายกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นต้น)

และถ้าเป็นโอกาสของ การอบรมเจริญปัญญา ก็อบรมเจริญปัญญา เพิ่มพูนปัญญาด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม บ่อยๆ เนืองๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเท่านั้น และถ้ากุศลไม่เกิดแล้ว ก็ย่อมจะเป็นโอกาสของอกุศลที่จะเกิดขึ้น ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
rrebs10576
วันที่ 17 ก.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pat_jesty
วันที่ 17 ก.ย. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นิรมิต
วันที่ 18 ก.ย. 2555

กราบอนุโมทนา และขอบพระคุณทุกๆ ท่านครับ

แจ่มแจ้งยิ่งนักครับผม _/\_

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
wannee.s
วันที่ 18 ก.ย. 2555

ปกติปุถุชน ถ้าไม่ได้เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ก็เป็นอกุศลอยู่แล้ว มีโลภะตั้งแต่เกิด

การให้ของที่เป็นประโยชน์กับผู้รับ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า ของเล่น หนังสือเรียน ให้ได้ เป็นบุญ เป็นกุศลจิตของผู้ให้ กิเลสเป็นไปตามการสะสม ไม่ได้อยู่ที่ใครทำให้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
jaturong
วันที่ 19 ก.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
เซจาน้อย
วันที่ 20 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"กุศลในขั้นทานก็เป็นไปเพื่อขจัดขัดเกลากิเลส

คือ ความตระหนี่ของตนเองเป็น สำคัญ

และมุ่งไปที่ประโยชน์ของผู้รับด้วย เป็นประโยชน์แก่ผู้รับ"

"เพราะการติดข้อง เป็นเรื่องของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่"

"ไม่ทราบว่าควรจะวางจิตอย่างไร จึงจะได้เป็นกุศล

แล้วจะพิจารณาในส่วนนี้อย่างไรให้ถูกต้องและเหมาะควรดีครับ"

"จิตเป็นธรรมบังคับบัญชาไม่ได้"

"สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 22 ก.ย. 2555
ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ